ศาสตร์แห่งการให้ : ให้อย่างไร?


ทุกอย่างเริ่มจากใจ ใจที่คิดจะให้ เมื่อใจคิดจะให้ เราก็จะเริ่มใช้ศาสตร์หรือวิชาที่เกิดจากความห่วงใยและเอื้ออาทร

ศาสตร์ หรือ วิชา ที่จำเป็นที่สุดสำหรับปัจจุบันคือ ศาสตร์แห่งการให้ ซึ่งอาจจะขาดหายหรือจางไปจากจิตใจของคนในสังคมทั่วไปพอสมควร

การให้... ให้อย่างไร?

เริ่มต้น คือ คิดที่จะให้

เราลืมตาตื่นขึ้นมาตอนเช้า ก่อนที่จะลุกจากที่นอน เราตั้งสติแล้วพึงระลึกว่า "วันนี้เราจะให้อะไรแก่ใครบ้าง..?" ให้เป็นปณิธานแห่งชีวิต

เราลืมตาตื่นขึ้นมา เราเจอคนข้าง ๆ เจอคนในครอบครัว เราก็ให้รอยยิ้มแก่กัน 

มงคลตอนเช้าอยู่ที่ใบหน้า... ตื่นขึ้นมาเจอคนในบ้าน ในครอบครัว เราก็ให้ความสุขซึ่งกันและกัน ด้วยรอยยิ้ม ยิ่งถ้ามีคำพูดที่ดี ๆ แม้อาจจะไม่ไพเราะแสนหวาน แต่เป็นคำพูดที่ให้กำลังใจ และแสดงความห่วงใย ก็จะเป็นพลังใจให้กับทุก ๆ คนในครอบครัว

เมื่อเราจะออกจากบ้านไปทำงาน เราก็ตั้งปณิธานไว้อีกว่า หน้าที่ของเราวันนี้ เราจะได้ให้อะไรแก่ใครบ้าง

ทุก ๆ คนมีหน้าที่ มีการงาน มีความรับผิดชอบ เราต้องเอาตำแหน่ง หน้าที่ การงานนั้นมาเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ

ยกตัวอย่าง

อย่างเราเป็นคุณครู เมื่อเราไปโรงเรียน เราก็ต้องคิดว่า วันนี้เราจะให้อะไรกับเด็ก ๆ ที่มาโรงเรียนได้บ้าง จะให้ความรู้แก่เด็กในเรื่องไหน จะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนของเรามีความรู้ ความสามารถ ให้คุ้มค่ากับเวลาที่เขามาเรียนในแต่ละวัน

หรือเราเป็นผู้บริหาร เราก็คิดไว้เสมอว่า เราจะให้อะไรแก่ลูกน้องของเราได้บ้าง ให้เขาได้มีความสุขที่ได้มาทำงานกับเรา เราจะทำอย่างไรให้เขามีความสุข..?

เราประกอบธุรกิจส่วนตัว การค้าการขาย เราก็คิดไว้อีกว่า ทำอย่างไรลูกค้าของเราถึงจะมีความสุข ทำอย่างไรให้เขาได้สินค้าดี ๆ ได้รับบริการที่ดี ๆ ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการมาซื้อหรือค้าหรือบริการของเรา

เราทำอาชีพเกษตรกร เราก็คิดไว้เสมอว่า ผลผลิตที่เราปลูกนั้น ทำอย่างไรที่จะให้คนที่บริโภคนั้นเขามีความสุข ไม่มีพิษ ไม่มีโทษ ไม่มีภัย ให้เขาได้รับสิ่งที่ดี ๆ ที่ส่งออกมาจากใจของเรา

เราทำหน้าที่ขับรถ ขนส่ง เราก็คิดไว้อีกว่า ทำอย่างไรให้ผู้โดยสารเขามีความสุข มีความปลอดภัย เดินทางถึงที่หมายได้ทันเวลา

เมื่อเริ่มต้นเราคิดอย่างนี้ อย่างเราเป็นคนขับรถ เราก็ต้องคิดว่าแล้วว่า เอ่... ถ้าเขาจะเดินทางปลอดภัย ถึงจุดหมายได้ รถของเราก็ต้องพร้อมนะ เราก็ต้องเริ่มกลับมาตรวจสอบสมรรถภาพรถ ลมยาง ตรวจดูน้ำมันเครื่อง น้ำในหม้อน้ำ แล้วทุก ๆ อย่างก็จะหมุนกลับมาหา "ความรู้" หรือศาสตร์ที่จะต้องใช้

ต้องใช้ระดับลมยางเท่าไหร่ล่ะ ใช้น้ำมันเครื่องอะไรดี ผ้าเบรกยี่ห้อนี้สมรรถภาพดีไหม แทนที่เราจะคิดว่า สตาร์ทรถออกมา จะทำอย่างไรให้เรามีผู้โดยสารมาก ๆ ได้สตางค์เยอะ ๆ ต่อเติมที่นั่งให้ได้มาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เป็นการขวนขวายหาความรู้มาเพื่อเอาเปรียบกัน โดยคิดจะเอาจากผู้อื่นเป็นหลัก

สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญ...

เราเป็นคุณครู ถ้าเราคิดว่าอยากให้เด็กได้ความรู้ เราก็จะขวนขวายในการหาองค์ความรู้ หาวิธีการสอน สื่อการเรียนการสอน มาเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจ

ผู้บริหาร... เราก็จะใส่ใจสารทุกข์สุขดิบของลูกน้องพ้องบริวารเรามากขึ้น ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร ลูกเมียเขาเจ็บป่วยอะไรไหม ปัจจัย ๔ ของเขาบกพร่องไปตรงไหนหรือเปล่า..?

เมื่อเราคิดอย่างนี้ จิตใจของเราก็จะทำงานเป็นอัตโนมัติต่อไปว่า แล้วเราจะทำอย่างไร..? 

อย่างไรนี้แหละคือศาสตร์ หรือ ความรู้ที่เราจะต้องใช้

ความรู้เพื่อใช้ที่จะให้ ให้ผู้อื่นได้รับความรู้ ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ไม่ต้องใช้หลักการ ทำเอกสารวิชาการ หรือถ้อยคำที่สวยหรู นี้แหละเป็นสุดยอดของความรู้...

ทุกอย่างเริ่มจากใจ ใจที่คิดจะให้ 

เมื่อใจคิดจะให้ เราก็จะเริ่มใช้ศาสตร์หรือวิชาที่เกิดจากความห่วงใยและเอื้ออาทร

เมตตาเป็นสิ่งสำคัญของคนทุก ๆ คนที่อยู่ร่วมรวมกัน

เริ่มต้นจากการเมตตาตนเอง โดยรู้จักให้ความสุขที่แท้จริงกับตนเอง

ความสุขของคนเราที่อิ่มเอิบอย่างแท้จริงนั้น คือความสุขจากการให้ ความสุขจากการเสียสละ เป็นความสุขที่อิ่มนาน คิดเมื่อไหร่ก็อิ่ม 

หรือเราจะไปประชุมระดมความรู้ ประชุมเพื่อพัฒนาวิชาการต่าง ๆ ถ้าเราตั้งใจไปเพื่อให้ คือ ให้ความรู้ประกอบการที่เรามี แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และนำความรู้นั้นกลับมาให้ตามหน้าที่ของเรา อย่างเราเป็นครู เราก็นำความรู้กลับมาให้เด็ก ๆ เราเป็นเจ้าหน้าที่ที่บริการประชาชน เราก็นำความรู้ความสามารถมาบริการประชาชน 

เราจะเห็นปัญหาที่แท้จริงว่า ปัญหาของคนตามองค์กรต่าง ๆ ในสังคมวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาที่ไม่รู้ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ ทุกคนมีความรู้ แต่ทุกคนไม่คิดจะให้

บางคนตื่นขึ้นมา ก็คิดว่าวันนี้ไปทำงานจะได้เงินเท่าไหร่ จะได้ผลงานอะไร จะได้สิ่งใดตอบแทน ดังนั้นเมื่อไปทำงานก็สักแต่ว่าทำ ไม่ได้นำความรู้ความสามารถที่มีออกมาใช้งานอย่างเต็มที่

หน่วยงานส่งไปเรียน ไปอบรม ก็คิดว่า ไปเพื่อวุฒิ ดีกรี ใบประกาศนียบัตร ใบปริญญา มาเพื่อปรับวุฒิ ปรับระดับ ปรับฐานเงินเดือน ทำไปเพื่อ ลาภ ยศ และสรรเสริญ

เพียงแต่เราคิดที่จะให้มากกว่าที่จะเอา สมัยนี้เราแทบไม่ต้องเดินทางไปอบรม เข้าหลักสูตรที่ไหนเลย

เพียงแต่เรามีอินเตอร์เนท เราก็สามารถขวนขวายหาความรู้จากทั่วโลกมาเพื่อ "ให้" ตั้งใจศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจ และสามารถนำไป "ให้" ได้กับทุก ๆ คน

ดังนั้น ทุก ๆ คน ทุก ๆ เวลา ทุก ๆ นาที เราน่าจะคิดไว้เสมอว่า วันนี้เราจะได้ให้อะไรแก่ใครบ้าง เราจะเสียสละอะไรบ้าง


วันนี้เราได้ให้อะไรแก่ใครบ้างแล้วหรือยัง...?

หมายเลขบันทึก: 659430เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2019 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2019 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท