หลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน "กลจักรสำคัญสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบิน" Sqn.Ldr.Somchanok Tiamtiabrat Ph.D.


ความสับสนของคำว่า Engineer เพราะคำว่า Aircraft License Engineer มีคำว่า Engineer ที่แปลว่าวิศวกร จึงทำให้เกิดความสับสนระหว่างวิศวกรที่ออกแบบอากาศยานกับ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความชำนาญเฉพาะแบบหรือ Aircraft License Engineer ซึ่งลงท้ายด้วยคำว่า Engineer เหมือนกัน และหลายคนชอบคำว่า Engineer ครับ และนำมาสู่ความสับสนทั้งในวงการวิชาการและการศึกษาครับ ในหลายสถาบันการศึกษาจึงเปิดหลักสูตรวิศวกรรมอากาศยาน และคิดว่าทั้งสองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกันครับ "คนออกแบบอากาศยาน และคนซ่อมบำรุงอากาศยาน" "ทั้งสองสิ่งแตกต่างกันครับ" "อีกคนอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตและอีกคนอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานครับ"

หลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน
"กลจักรสำคัญสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบิน"            

Sqn.Ldr.Somchanok Tiamtiabrat Ph.D. 

..

.......บุคลากรที่กำลังทำหน้าที่ของเขาอย่างหนัก ตั้งใจ และจริงจัง กับเครื่องบินที่เขารัก เรามักจะเห็นภาพนี้เสมอ เมื่อเราเข้าไปในโรงเก็บอากาศยานที่มีอากาศยานกำลังเข้าซ่อมครับ
ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานมีความสำคัญมากในการปฏิบัติการบินของอากาศยานครับ เพราะพวกเขาคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความพร้อมต่อการบินของอากาศยาน ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจะเป็นผู้ทำการซ่อมบำรุงอากาศยานและตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าอากาศยานลำนั้นทำการซ่อมบำรุงได้ตามมาตรฐานและสามารถทำการบินนำอากาศยานและผู้โดยสารถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยครับ ที่ผมกล่าวมาจะเห็นว่าภายใต้ชุดช็อบที่เปื้อนคราบนำ้มัน มือที่ถือประแจหรือเครื่องมือห้ามลวดหน้าที่ของช่างซ่อมบำรุงอากาศเป็นหน้าที่สำคัญและเป็นอาชีพที่มีเกียรติมากครับ
เรามารู้จักช่างซ่อมบำรุงอากาศยานกันและทำให้ทุกคนเห็นว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่น่าสนใจมากๆครับ และน่าสนใจไม่แพ้อาชีพนักบินเลยครับ....

...

หนึ่งในอาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตตามมาตรฐานสากล
ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการบินที่ต้องมีใบอนุญาตครับ ใบอนุญาตนี้ผมขอเรียกตามหลักสากลก็คือใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ก็คล้ายกับใบอนุญาตของนักบินครับ ซึ่งใบอนุญาตนี้จะต้องออกโดย"หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน"ของประเทศนั้นครับ ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินก็ต้องอยู่บนพื้นฐานมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ International Civil Aviation Organization,ICAO ครับ
ตัวอย่างที่ผมขอยกเพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนก็คือ
หากใบอนุญาตซ่อมบำรุงอากาศยานนั้นออกโดยประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศรัฐภาคีของ ICAO ใบอนุญาตก็ต้องออกโดยมาตรฐานการบินของประเทศไทย ซึ่งก็คือใบอนุญาตนั้นก็จะออกโดยสำนักงานการบินพลเรือนของประเทศไทยหรือ CAAT ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนด 
หรือในกรณีเดียวกันหากใบอนุญาตซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น ออกโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ใบอนุญาตนั้นก็จะออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งก็คือสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติหรือ Federal Aviation Administration, FAA ซึ่งคุณสมบัติ ข้อกำหนดของช่างซ่อมบำรุงอากาศยานก็จะถูกกำหนดตามกฏหมายทางการบินของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งก็คือ Federal Aviation Regulation หรือ FAR
หรือในทำนองเดียวกันของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปหรือ EU มาตรฐานของช่างซ่อมบำรุงอากาศยานก็จะถูกกำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของยุโรปซึ่งก็คือ European Aviation Safety Agency หรือ EASA เช่นเดียวกันครับช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในกลุ่มนี้ก็จะถือใบอนุญาตที่ออกโดย EASA ครับ..

..

...

เส้นทางที่น่าสนใจ
อยากเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานทำอย่างไร
เราก็มาศึกษาเส้นทางของช่างซ่อมบำรุงอากาศยานกันครับ
ในประเทศไทยเส้นทางของช่างซ่อมบำรุงอากาศยานสามารถเป็นได้สองเส้นทางครับ
1. เส้นทางแรก จบหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยรับรอง ซึ่งหลักสูตรนั้นในปัจจุบันมีเพียงหลักสูตร AM ของสถาบันการบินพลเรือนครับ ผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวจะต้องปฏิบัติงานการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งในสายการบินหนือในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นเวลา "2ปี" จึงจะมีสิทธิ์สอบใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินซึ่งเป็นหน่วยงานออกใบอนุญาตครับ
2. เส้นทางที่สอง ปฏิบัติงานในการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นเวลา "สี่ปี" ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่จบหลักสูตรอื่นๆที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งก็หมายถึงหลักสูตรอื่นๆ สถาบันอื่นๆ และหลักสูตรทั้งอนุปริญญาและปริญญาจากสถาบันการศึกษา รวมทั้งมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งผู้ที่จบหลักสูตรในกลุ่มนี้จะต้องปฏิบัติงานในการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นเวลาสี่ปีจึงจะสามารถสอบใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ครับ ลองมาพิจารณาในหลักสูตรนี้จะเห็นว่าหากผู้ที่สนใจต้องการเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานและถือใบอนุญาตโดยเรียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะต้องใช้เวลาถึง "แปดปีครับ" นั่นคือสี่ปีในการเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้จบปริญญาตรีและอีกสี่ปีครับในการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงอากาศยานจึงจะสามารถสอบใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ครับ
ซึ่งการสอบกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเพื่อออกใบอนุญาตนั้นก็จะมีการสอบทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติครับ

...

....

ก้าวต่อไปกับ Aircraft License Engineer
ตามข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินนั้น ผู้ที่ถือใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานหรือในประเทศไทยเราจะเรียกใบอนุญาตนี้ว่า"ใบอนุญาตช่างภาคพื้นดิน"ครับ ผู้ที่ถือใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานนี้จะสามารถซ่อมและเซ็นรับรองการซ่อมได้กับเครื่องบินขนาดเล็กเช่น Cessna 172 หรือ Piper Warrior เท่านั้นครับ
แล้วเครื่องบินขนาดใหญ่เช่นเครื่องบินโดยสารของสายการบิน เช่นเครื่องบินโดยสารกลุ่มโบอิ้งหรือกลุ่มแอร์บัส
"ใครละครับ จะมีความสามารถในการซ่อมบำรุงและเซ็นรับรองในการซ่อมได้ครับ"
เขาคือคนที่ถือใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความชำนาญเฉพาะแบบในการซ่อมเครื่องบินโดยสารแบบนั้นๆครับ
เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจน ผมขอเสนอภาพนี้เปรียบเทียบกับนักบินครับ
ในเรื่องใบอนุญาตนักบิน หากถือใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ บุคคลผู้นั้นจะสามารถบินได้เฉพาะกับเครื่องบินขนาดเล็กครับ หากต้องการจะบินเครื่องบินขนาดใหญ่ เช่นเครื่องบินโดยสารของสายการบิน นักบินคนนั้นจะต้องผ่านการเรียนและการสอบทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติเพื่อให้มี Type Rating หรือมีความชำนาญกลับเครื่องบินแบบนั้นประทับอยู่ในใบอนุญาตนักบินของเขาครับ
และเมื่อเขาจะต้องเปลี่ยนแบบของเครื่องบินโดยสารในการบิน เขาก็จะผ่านกระบวนการเดิม เพื่อให้มีความชำนาญหรือ Type Rating ของเครื่องบินอีกแบบประทับอยู่ในใบอนุญาตนักบินของเขาครับ
เช่นเดียวกันครับ
หากช่างซ่อมบำรุงอากาศยานคนนั้น อยากซ่อมเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ เขาจะต้องมีความชำนาญในการซ่อมบำรุงกับเครื่องบินโดยสารแบบนั้นๆ และมีความชำนาญในการซ่อมเครื่องบินโดยสารแบบนั้นประทับอยู่ในใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานของเขาครับ และเช่นเดียวกันเมื่อเขาจะต้องเปลี่ยนไปซ่อมเครื่องบินโดยสารอีกแบบ เขาก็ต้องผ่านกระบวนการเพื่อให้มีความชำนาญเพื่อให้มีความชำนาญในการซ่อมบำรุงอากาศยานของเครื่องบินแบบนั้นประทับอยู่ในใบอนุญาตซ่อมบำรุงอากาศยานของเขาครับ ซึ่งกระบวนการนี้จะประกอบด้วยการเรียนทั้งภาควิชาการและการฝึกปฏิบัติ รวมทั้งการสอบทั้งในภาควิชาการและภาคปฏิบัติครับ เช่นเดียวกันครับเราก็เรียกเขาว่าช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่มี Type Rating ในการซ่อมเครื่องบินแบบนั้นครับ
และเมื่อช่างซ่อมบำรุงอากาศยานมี Type Rating ความชำนาญในการซ่อมเครื่องบิน เราจะเรียกเขาอีกชื่อว่า " Aircraft License Engineer" โดยชื่อนี้จะเป็นชื่อเรียกทั่วไป ซึ่งอาจแตกต่างกันเล็กน้อยตามชื่อเรียกของแต่ละประเทศครับ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะหมายความถึงช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่ถือใบอนุญาตซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความชำนาญในการซ่อมเฉพาะแบบครับ
ซึ่งบุคลากรส่วนนี้ละครับ เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการบินมากๆไม่แพ้นักบินเลยนะครับ เพร่ะเขามีความชำนาญในการซ่อมเครื่องบินโดยสารในแบบนั้นๆ เช่นมีความชำนาญในการซ่อมบำรุงเครื่องบินโดยสารแบบ Boeing 737,777 หรือ Airbus A320 ครับ
ถึงตรงนี้สายการบินที่มีเครื่องบินโดยสารแบบนั้นใช้งาน รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความสามารถในการซ่อมเครื่องบินแบบนั้นๆ ต่างก็มีความต้องการตัว Aircraft License Engineer ทั้งนั้นครับ มาถึงตรงนี้อาชีพนี้มีความต้องการสูงมากในอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะสถานการณ์ขณะนี้ที่อุตสาหกรรมการบินขยายตัว สายการบินขยายตัว ยอดจองและยอดการผลิตของเครื่องบินโดยสารทั้งของโบอิ้งและแอร์บัสที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ความต้องการของ Aircraft License Engineer ที่มีความชำนาญในการซ่อมบำรุงเครื่องบินแบบนี้ต่างก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวครับ และแอบกระซิบว่ารายได้ของ Aircraft License Engineer ดีถึงดีมากๆครับ

..

...

...

ความสับสนของคำว่า Engineer
เพราะคำว่า Aircraft License Engineer มีคำว่า Engineer ที่แปลว่าวิศวกร จึงทำให้เกิดความสับสนระหว่างวิศวกรที่ออกแบบอากาศยานกับ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความชำนาญเฉพาะแบบหรือ Aircraft License Engineer ซึ่งลงท้ายด้วยคำว่า Engineer เหมือนกัน และหลายคนชอบคำว่า Engineer ครับ และนำมาสู่ความสับสนทั้งในวงการวิชาการและการศึกษาครับ ในหลายสถาบันการศึกษาจึงเปิดหลักสูตรวิศวกรรมอากาศยาน และคิดว่าทั้งสองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกันครับ
"คนออกแบบอากาศยาน และคนซ่อมบำรุงอากาศยาน"
"ทั้งสองสิ่งแตกต่างกันครับ"
"อีกคนอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตและอีกคนอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานครับ"

ซึ่งวิศวกรอากาศยานที่เรียนมาในการออกแบบอากาศยานจะต้องทำงานในโรงงานที่ออกแบบและผลิตอากาศยานซึ่งในประเทศไทยน้อยมากจนแทบไม่มีครับ บ้านเราไม่มีโรงงานผลิตเครื่องบินโดยสารโบอิ้งหรือแอร์บัสเหมือนในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปครับ
ขณะที่ความต้องการ Aircraft License Engineer มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกวันตามการขยายตัวของสายการบินครับ บินมากขึ้นเครื่องครบอายุการซ่อมบำรุงเร็วขึ้น เข้าซ่อมเร็วขึ้น จำนวนของ Aircraft License Engineer ที่ต้องซ่อมบำรุงและเซ็นรับรองการซ่อมบำรุงก็ต้องเพิ่มเป็นเงาตามตัวครับ
มีน้องบางคนมาสอบถาม ซึ่งน่าตกใจมากเพราะเขาคิดว่าเรียนวิศวกรรมอากาศยานและออกมาเป็น Aircraft License Engineer เลยครับ หรือเขาเข้าใจว่าเรียน Aeronautical Engineet จบมาเป็น Aircraft License enginnerเลย และยังมีน้องๆอีกมาซึ่งมีความเข้าใจแบบนั้น
"ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องและควรให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครับ"

..

...

การกลับเข้าสู่เส้นทาง
ใบอนุญาตรวมกับการศึกษา
แล้วทั้งสองสายอาชีพกลับมาเชื่อมกันได้อย่างไรครับ
น้องๆที่จบหลักสูตรวิศวกรรมอากาศยานที่ต้องการถือ Aircraft License Engineer ก็ต้องเลือกเส้นทางเดินที่สองครับคือผู้ที่จบหลักสูตรที่ไม่ได้รับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านมาตรฐานการบินของรัฐก็ต้องทำงานในการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งจากในสายการบินหรือในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นเวลาอีกสี่ปีครับ นั่นคือจะใช้เวลาทั้งหมดแปดปีอย่างตำ่คือสี่ปีในมหาวิทยาลัยและสี่ปีในการซ่อมบำรุงอากาศยานในการที่จะมีสิทธิ์ในการสอบใบอนุญาตซ่อมบำรุงอากาศยานอันเป็นปราการด่านแรกครับ รวมทั้งใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งครับกว่าจะสามารถสอบความชำนาญเฉพาะแบบที่ได้จากการทำงานการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งจากสายการบินแบะศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานครับ
เวลาที่ใช้เป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรเลยครับ กว่าจะถึงเส้นทางที่ต้องการนั่นก็คือ Aircraft License Engineer ของน้องๆในกลุ่มนี้ครับ เพราะการนำเอาระบบการศึกษาแบบ Education กับ Technician มารวมกันอาจทำให้ใช้เวลานานเกินไปครับ เพราะ qualification หรือคุณสมบัติที่สายการบินต้องการคือมี license ช่างครับ ไม่ใช่จบวิศวกรรมครับ คนที่ทำงานกับเครื่องบินหลักคือต้องมี license ช่างครับจึงมีสิทธิในการเซ็นรับรองการซ่อมได้ครับ ซึ่งต่างจากใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือ กว.ที่ใช้ในการเซ็นรับรองแบบครับ และอีกข้อที่เป็นความจริงซึ่งสำคัญมากคือในประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเครื่องบินเหมือนแอร์บัสในฝรั่งเศสหรือโบอิ้งในอเมริกาครับ
ขอแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากคนที่จบวิศวกรรมอากาศยานและการบินครับ เราเรียนกันลึกมาก ลึกจนกระทั่งสมการทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ออกแบบแพนอากาศของอากาศยานครับ เราเรียนขนาดแผนแบบอากาศยาน เลือกแพนอากาศ สร้างปีก ทดสอบอุโมงค์ลม จนกระทั่งทำออกแบบอากาศยานออกมาเป็นลำครับ ซึ่งเข้ามาความจริงเดิมครับ บ้านเราไม่มีโรงงานที่ออกแบบและผลิตเครื่องบินครับ ความรู้ดังกล่างจึงเป็นความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติงานครับ เป็นความรู้พื้นฐานที่ดีมากครับ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้มากนักในการปฏิบัติงานในบ้านเราซึ่งเน้นการซ่อมและการแก้ปัญหาหรือ trouble shooting ครับ
ดังนั้นการที่จะเป็น Aircraft License Engineer บุคคลนั้นจะต้องผ่านการเรียน การสอบเพื่อออกใบอนุญาต"ในระบบการออกใบอนุญาตตามมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลจากรัฐ" เพื่อให้ถือใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน และมีการเรียนและสอบเพื่อเพิ่มศักย์และความสามารถในการซ่อมบำรุงเครื่องบินเฉพาะแบบครับ

..

...

....

กรณีศึกษา
การผลิตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศสหรัฐอเมริกา
หลายคนเริ่มสงสัยครับว่าเส้นทางการเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานโดยถือใบอนุญาตการซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น หากเป็นประเทศอื่นเขามีเส้นทางที่เหมือนหรือแตกต่างจากของเราหรือไม่
ผมขอยกกรณีศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ผมพอมีข้อมูลและประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศสหรัฐอเมริกามีชื่อว่า Aircraft Maintenance Technician หรือ AMT ครับ ซึ่ง FAA เป็นผู้ออกใบอนุญาตตามข้อกำหนด FAR ของประเทศสหรัฐอเมริกาครับ เราจึงเรียกพวกเขาว่า FAA AMT ครับ ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่ถือใบอนุญาต AMT ของ FAA แบ่งเป็นสองประเภทครับซึ่งก็คือ Airframe และ Powerplant ครับ
ช่าง AMT ที่ถือใบอนุญาต Airframe ก็ทำการซ่อมเครื่องบินและระบบพื้นฐานของเครื่องบิน ส่วนช่าง AMT ที่ถือใบอนุญาต Powerplant เขาก็ทำการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของอากาศยานอย่างเดียวครับ
ดังนั้นเพื่อให้สามารถซ่อมได้ทั้ง Airframe และ Powerplant ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน AMT ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงถือทั้งใบอนุญาตทั้ง Airframe และ Powerplant เราจึงเรียกเขาว่า AMT A and P ครับ
เรามาดูเส้นทางของการเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศสหรัฐอเมริกากันครับ
1.เส้นทางแรกเป็นการเรียนหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยานจากสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองจาก FAA ครับ ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรฐานการรับรองสถาบันการฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ในมาตรฐานของ FAR 147 ครับ ซึ่งระยะเวลาในการเรียนจะใช้เวลา 2 ปีทั้ง Airframe and Powerplant จึงจะสำเร็จหลักสูตรตามที่สถาบันกำหนดและจะต้องผ่านการทดสอบทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติจาก FAA เพื่อออกใบอนุญาตครับ โดยสำหรับนักเรียนต่างชาติก็สามารถเข้าเรียนได้ โดยสถาบันจะออกเอกสาร I20 ให้กับนักเรียนต่างชาติในการออกวีซ่าให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ครับ
2.เส้นทางที่สองเป็นการฝึกงานในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยทำงานกับผู้ที่ถือใบอนุญาต FAA AMT เป็นเวลา สองปีครึ่งเพื่อให้ได้ประสบการณ์ทั้ง Airframe และ Powerplant โดยจะทำงานและเก็บชั่วโมง ซึ่งในแบบที่สองจะนิยมปฏิบัติในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือ MRO ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรฐาน FAR 145 ซึ่งในกลุ่มนี้มักเป็นคนอเมริกัน ไม่ค่อยมีคนต่างชาติครับ
แต่ข้อสังเกตในข้อได้เปรียบจากการเรียน FAA AMT ทั้งสองกลุ่มจะเห็นว่าเนื่องจากช่างซ่อมบำรุงอากาศยานผ่านหลักสูตรการเรียนและการฝึกปฏิบัติงานจริงอย่างเข้มข้น ทั้งในมาตรฐานของหลักสูตรและมาตรฐานของFacility ทำให้การเรียนเพื่อสอบ FAA AMT "สามารถเรียนจบและสอบเพื่อออกใบอนุญาตได้เลย" โดยไม่ต้องรอการปฏิบัติงานการซ่อมบำรุงอากาศยานจริงเป็นระยะเวลาสองปีหรือสี่ปี และทำให้ข้อกังวลของผู้ที่มีเป้าหมายจะเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานที่ว่าถ้าผมไม่สามารถเข้าทำงานในสายการบินหรือศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อเก็บประสบการณ์จะทำอย่างไร
คำตอบคือ ถ้าไม่สามารถเข้าทำงานได้ ก็ไม่สามารถสอบใบอนุญาตได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ครบครับ
ต่างกับการเรียน FAA AMT ในสหรัฐอเมริกาที่ผู้จบการศึกษาสามารถสอบเพื่อออกใบอนุญาตจาก FAA ได้เลย ทำให้ประหยัดเวลาได้อย่างมากครับ

...

...

"เวลา"
ปัจจัยที่สำคัญ 
จากการวิเคราะห์และมุมมองส่วนตัวของผมนะครับ ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของเราคือ "ปัจจัยด้านเวลา"ครับ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่การขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคและในประเทศไทยส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสายการบินในภูมิภาค การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารและที่สำคัญการเพิ่มขึ้นของจำนวนเครื่องบินโดยสาร โดยเครื่องบินโดยสารจะมีแผนการซ่อมตามระยะเวลาครับ ยิ่งบินมาก จำนวนชั่วโมงการใช้งานยิ่งมากขึ้น และเครื่องบินโดยสารลำนั้นก็จะครบวงรอบการตรวจซ่อมเร็วมากขึ้น การตรวจขั้นต้นสุดระดับ Line Maintenance ก็เป็นการตรวจระดับ A Check ครับ และแน่นอนครับ
"เราต้องการ Aicraft License Engineer ครับ"
และหากในอนาคต หากประเทศ ต้องการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อรองรับการตรวจซ่อมในระดับที่สูงขึ้น "เราก็ต้องการ Aircraft License Engineer อีกจำนวนมหาศาล เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานในอนาคตครับ 
Aircraft License Engineer คือทรัพยากรบุคคลหลักที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศครับ
แต่การผลิต Aircraft License Engineer เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาครับ และเวลานั้นเราไม่สามารถทำให้สั้นลงได้เพราะกระบวนการทั้งหมดถูกกำกับด้วยการรับรองมาตรฐานของหลักสูตรตามมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน รวมทั้ง Facility ในการฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกัน
ดังนั้นการผลิต Aircraft License Engineer จึงเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและการวางแผนครับ
ความสามารถในการผลิตคนกลุ่มแรกซึ่งก็คือ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศของเรายังค่อนข้างจำกัดครับ ทั้งความสามารถในการผลิตของสถาบันที่หลักสูตรผ่านการรับรองจากรัฐและการผลิตจากแหล่งอื่นๆที่ต้องใช้เวลาในการปฏิบัติงานอย่างน้อยสี่ปี หรือหากมีสถาบันในอนาคตที่ต้องการในการเปิดหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยาน ท่านต้องวางแผนในการจัดทำหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติตามมาตรฐานสากล รวมทั้งวางแผนด้านงบประมาณอีกมหาศาลเพื่อจัดสร้าง Setup ห้องในการปฏิบัติงานเพื่อฝึกการปฏิบัติในการซ่อมบำรุงอากาศยาน อีกทั้งการวางแผนจัดเตรียมงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือในการฝึกการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งเครื่องมือแบบ Handtools และเครื่องมือพิเศษหรือ Specialtools ครับ ทุกอย่างคือการลงทุนและการะวางแผนงบประมาณครับ
การที่จะเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือการวางแผนที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือแม้แต่การวางแผนเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
การวางแผนด้าน Facility ในการซ่อมบำรุง อาจใช้งบประมาณในการสร้างในระยะเวลาอันสั้นได้แต่"ปัญหาหลักก็คือทรัพยากรบุคคลที่จะปฏิบัติงานในศูนย์ซ่อมอากาศยานครับ"

..

...

การมองทะลุปัญหา
ท่ามกลางการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินทั้งของประเทศไทยและภูมิภาค หากเรายังมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาและขีดความสามารถในการผลิต โดย"ความต้องการจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยังรอเราอยู่"
เราต้องมองและเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองจากสิ่งที่มีในปัจจุบันครับ เรายังมีกลไกหลักของการ Convert License ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่ถือใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงจากต่างประเทศจะสามารถ Convert ใบอนุญาตเป็นใบอนุญาตของประเทศไทยได้ เช่นเดียวกับนักบินครับ ผู้ที่จบและถือใบอนุญาตนักบินจากสหรัฐอเมริกาสามารถจะ Convert License เป็นใบอนุญาตนักบินของประเทศไทยได้ครับ และผู้ที่เรียนจบและถือใบอนุญาต FAA AMT ก็สามารถ Convert License เป็นใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยได้
การเรียน FAA AMT ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่ตัดสินใจเลือกทางเดินเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยานครับ การเรียน FAA AMTเป็นการเรียนที่ประหยัดเวลาซึ่งสามารถสอบเพื่อขออกใบอนุญาตจาก FAA ได้เลยหลังจากจบการศึกษาของหลักสูตรภายใต้มาตรฐานที่เป็นสากลของ FAA ที่สามารถ Convert License เป็นใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทย และที่สำคัญมาตรฐานของความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจะเป็นมูลค่ามหาศาลของผู้ที่จบหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยาน FAA AMT จากประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นศักยภาพและโอกาสของผู้ที่จบหลักสูตรนี้หากต้องการทำงาน Aircraft License Engineer ต่างประเทศในอนาคต
การเข้าใจและมองให้เห็นทางออกของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองความต้องการจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคภายใต้ขีดจำกัดที่มีอยู่ ทางเลือกในการเรียนหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในสภาวการณ์ปัจจุบันที่จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในระยะเวลาอันสั้นนี้ได้ครับ....
Cr
ข้อมูลจาก
Sqn.Ldr.Somchanok Tiamtiabrat Ph.D.
Facebook Fanpage เพื่อการบินและความปลอดภัย by somchanok

หมายเลขบันทึก: 659152เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2019 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2019 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความตระหนักรู้แก่กิจการอุตสาหกรรมการบินและคนทำงานรุ่นใหม่ๆร่วมกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท