๗๘๑. การศึกษา (Study)


การศึกษา (Study)

การศึกษา (Study) ในความคิดของผู้เขียน หมายถึง การที่คนเราเกิดมาเพื่อได้เรียนรู้ การฝึกให้ได้รับความรู้ เพื่อให้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน หรืออาจรู้มาบ้าง แต่ไม่รู้ลึก เพื่อให้รู้มากยิ่งขึ้น เมื่อรู้แล้วก็เพื่อนำความรู้นั้น นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และส่วนตน แต่ควรต้องนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนส่วนตน...และสามารถนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด...มิใช่รู้แล้ว ก็นำมาใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะการนำมาประยุกต์ใช้ความรู้นั้น ถือว่าเป็นการพัฒนามนุษย์ พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ...

การศึกษา แบ่งออกเป็นระดับชั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปฐมวัย...ระดับชั้นประถมศึกษา...มัธยมศึกษา...ระดับอุดมศึกษา ซึ่งอุดมศึกษา ก็แยกออกเป็น ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก...ถือว่าสูงสุดของการศึกษา สำหรับชีวิตของคน ๆ หนึ่ง...ซึ่งในคน ๆ หนึ่ง อาจเรียนได้อยู่ในระดับไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางด้านการเงินและโอกาสของแต่ละคน ...บางคนก็สามารถศึกษาได้ปริญญาตรี โท เอก ได้หลายใบ ขึ้นอยู่กับความเพียร มานะ และโอกาสของคน ๆ นั้น

เมื่อจบการศึกษาในแต่ละระดับกันมาแล้ว...ใช่ว่า คน ๆ นั้น จะสำเร็จการศึกษาชีวิตกันเลย ขอให้รู้ว่า คนเรายังต้องเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายในชีวิตมนุษย์...การจบการศึกษาในแต่ละระดับ ถือเป็นเพียงความรู้พื้นฐานที่ตัวเองจะต้องรู้มาเพื่อประกอบวิชาชีพในการทำงานอีก...เมื่อเข้ามาทำงานแล้ว ยังต้องแสวงหาความรู้ในเรื่องราวขององค์กรที่ตัวเราเองต้องทำงาน เกี่ยวกับบริบทขององค์กร วัฒนธรรมองค์กร ประเพณี ค่านิยมขององค์กร รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับขององค์กรนั้น ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย มิใช่จบการศึกษาระดับสูงแล้ว จบเลย...หากคิดแบบนั้น เรียกว่า "จบเห่" ของชีวิตท่านเอง...

หน้าที่ของเราเมื่อเข้ามาทำงานในองค์กรนั้น ๆ จำเป็นต้องเรียนรู้หน้าที่ที่ตัวเราเองได้รับมอบหมายจากองค์กรนั้น ๆ ให้ทำการศึกษา ทำความเข้าใจให้มาก ๆ ไม่เข้าใจควรถามผู้ที่อยู่มาก่อน เช่น หัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชา เรียนรู้เรื่องการงานจากท่านเหล่านั้น เมื่อรู้แล้ว หากมีความคิด Create ความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ที่เราคิดว่าดี มีประโยชน์และสามารถพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นได้ ควรนำมาประยุกต์เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้น ทั้งนี้ ควรถามท่านข้างต้นก่อนด้วย เพราะความคิดของตัวเราอาจไม่เหมือนกับความคิดของท่านข้างต้น...ให้เข้าใจว่า "ทุกคนจะมีเหตุผลของตนเอง แต่เหตุผลนั้นต้องมาจากหลักการของการทำงาน...มิใช่เหตุผลจากส่วนตนของแต่ละคน"...ยิ่งทำงานของส่วนราชการ เราจำเป็นต้องเข้าใจให้มาก ๆ เพราะส่วนราชการ คือ ส่วนหนึ่งของประเทศชาติ

การเข้ามาทำงาน มิควรนำเรื่องวุฒิการศึกษาเข้ามาเปรียบเทียบกับคนอื่น...เพราะความรู้ก็คือ ความรู้ เป็นความรู้ของเราเอง ความรู้ที่ตัวเราได้รับจากการศึกษาที่เรามีโอกาสได้ศึกษา ได้เรียนจนจบวุฒิการศึกษาไม่ว่าในระดับใด...แต่มีสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถือว่า การเรียนรู้ในเรื่องหลังนี้ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิตของตัวเราเอง...หากใครที่มีอุปสรรค ปัญหา ในเยาว์วัย มีประสบการณ์ชีวิตมามากกว่าคนไม่มีประสบการณ์ชีวิต มักจะเข้าใจเรื่องชีวิตได้ดีกว่าคนที่ไม่มีปัญหา อุปสรรคในครั้งเยาว์วัย...การอยู่ร่วมกันในสังคมการทำงานนั้น ขึ้นอยู่กับที่ตัวของเราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน...เรียนรู้ความเหมือนบนความแตกต่าง และต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะนี่คือ สังคมของการทำงาน...

ในการทำงานร่วมกัน...ควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรของการทำงานร่วมกัน เช่น หากมีการประชุม ควรพูด โต้เถียง หากมีการขัดแย้งกัน ให้จบในที่ประชุม ไม่ควรนำเรื่องดังกล่าวมาพูดต่อหลังจากจบการประชุม...เพราะนี่คือ มารยาทของการประชุม...งานก็คือ งาน ควรแยกแยะออกจากเรื่องส่วนตัว...คนเรามีความคิดแตกต่างกันได้ แต่มิควรคิดที่จะแตกแยก...เพราะในองค์กร คือ การทำงานเป็นทีมขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

ในสังคมการทำงาน สิ่งที่ผู้นำควรสร้าง คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมขององค์กร การทำงานเป็นทีมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ความสามัคคีในองค์กร มิควรฝักใฝ่เล่นการเมือง โดยเฉพาะในอุดมศึกษา เพราะทุกขั้นตอน ทุกเรื่องราว ให้ทราบว่า นี่คือ การพัฒนาประเทศชาติ...สำหรับคนเป็นผู้ใหญ่ก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ๆ รุ่นน้อง...สำหรับรุ่นน้องก็ควรเคารพ ศรัทธาให้เกียรติกับรุ่นพี่ที่ทำงานมาก่อน...หากความคิดไม่ตรงกัน ก็ควรชี้แจงให้กันด้วยเหตุด้วยผล สิ่งสำคัญคือ "ต้องฝึกให้มีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนว่า...คนเรามิได้สมบูรณ์แบบกันทุกคน...คนเราเกิดมาแตกต่างกัน...แต่ทำเช่นไรเราจะอยู่ร่วมกันได้มากกว่า"...เพราะสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น คือ การสร้างความสุขให้กับองค์กร...เมื่อองค์กรหรือส่วนราชการทุกส่วนเกิดความรัก สามัคคีกัน สุดท้ายจะเป็นภาพรวมของประเทศชาติที่มีความรัก สามัคคีของแต่ละองค์กร

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๕ มกราคม ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 659122เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2019 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2019 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท