Capital Records v Redigi (2nd Cir 2018): ลิขสิทธิ์ในไฟล์เพลงดิจิตอล ไม่ระงับไปเพราะการขายสำเนาโดยถูกกฎหมาย


มีคดีลิขสิทธิ์ที่สำคัญเรื่องนึงมาจากศาลอุทธรณ์เขตที่ 2 (2nd Circuit) ของสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนที่แล้ว (ธันวาคม 2018) เป็นข้อพิพาทระหว่างบริษัทเพลง Capital Records ยักษ์ใหญ่วงการเพลง กับ Redigi ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งโดยนักวิชาการ/วิจัยของสถาบัน MIT ที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยี "Data Migration System" ที่สามารถจำหน่ายซ้ำ (re-distribute) สำเนาเพลงดิจิตัลที่มีผู้ซื้อ/ดาวน์โหลดไปแบบถูกกฎหมาย. ฝ่ายจำเลยสู้ว่าการ rediatribute ไฟล์เพลงดิจิตัล เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายภายใต้หลักการระงับซึ่งสิทธิ (17 USC § 109) และยังต่อสู้ในประเด็นการใช้โดยชอบธรรมหรือ (fair use) ด้วยโดยอ้างว่าธุรกิจ redistribution ของระบบ data migration ของจำเลยไม่ได้กระทบต่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์เกินสมควร.

ในประเด็นหลักการระงับซึ่งสิทธิ – ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับข้อต่อสู้จำเลย เพราะมองว่า หลักการระงับซึ่งสิทธิไม่อนุญาตให้มีการ "ทำซำ้" โดยไม่ขออนุญาต เป็นเพียงให้ขายส่งมอบตัวสำเนาเท่านั้น ดังนั้นกฎหมายปัจจุบันจึงไม่รองรับการระงับซึ่งสิทธิของการส่งต่อไฟล์ดิจิตัล ซึ่งต้องมีการทำซ้ำเสมอ. โดยศาลตัดสินว่าเทคโนโลยี data migration ของ Redigi ที่สนับสนุนให้ผู้ใช้ส่งต่อไฟเพลงดิจิตัล ยังคงมีผลเป็นการทำซ้ำ "งานสิ่งบันทึกเสียง" ขึ้นใหม่ เพราะระบบ data migration (เป็นระบบที่ทำงานคล้ายๆ file sharing แต่จะส่ง transfer ข้อมูลกันได้ครั้งเดียว ถ้าการเชื่อมต่อขัดข้องระหว่าง transfer ไฟล์จะเสียไปเลย และเมื่อการส่งไฟล์สำเร็จแล้ว ซอฟต์แวร์ของระบบจะออกคำสั่งให้ลบทิ้งไฟล์ต้นฉบับในเครื่องเล่นของผู้ใช้โดยอัตโนมัติ) เป็นเพียงการสแกนตรวจดูว่าไฟล์เพลงที่จะส่งต่อ เป็นของที่ผู้ใช้โหลดมาถูกกฎหมาย แต่กระบวนการส่งต่อยังคงต้องมีการทำซ้ำ.

อย่างไรก็ดีศาลชี้ว่า หากกรณีเป็นการส่งมอบตัวฮาร์ดดิสก์ หรือ flash drive ที่ผู้ซื้อดาวน์โหลดเพลง หรือภาพยนตร์มาโดยถูกกฎหมาย อย่างนี้ย่อมเข้าหลักการระงับซึ่งสิทธิตามกฎหมายปัจจุบันได้.

ส่วนประเด็น Fair Use ศาลก็ปัดข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นกัน โดยบอกว่าเมื่อชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆ แล้ว ต้องถือว่าธุรกิจของจำเลยกระทบถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยชอบธรรมของบริษัทโจทก์/เจ้าของลิขสิทธิเกินสมควร และลักษณะการใช้ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของงาน หรือว่าไม่มี transformativeness นั่นเอง 

สรุป: จากคำพิพากษานี้ เมื่ออ่านโดยรวมแล้ว พอจะมองได้ว่าศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิเสธว่าการขายซ้ำ หรือ redistribute ดิจิตัลมิวสิคเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาด ... แต่ศาลมองว่าบริษัทจำเลย ไม่สมควรที่จะใช้ข้อยกเว้นเรื่องการระงับซึ่งสิทธิ อันเป็นเรื่องของผู้ซื้อแต่ละคน มาสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่เพื่อหาประโยชน์จากค่าใช้บริการระบบ/เทคโนโลยีของจำเลย ซึ่งก็ยังต้องอาศัยการทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่.

เทคโนโลยี data migration นับว่ามีความน่าสนใจ เพราะมีการบังคับให้ลบทิ้งไฟล์ต้นฉบับหลังจากมีการส่งต่อและยังบังคับให้ต้อง transfer กันในครั้งเดียว ไม่เหมือนกับกรณี file sharing แบบโหลดบิตที่เรารู้จักกัน. ซึ่งถือว่ามีเจตนาเคารพสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ค่อนข้างชัดเจน.
หากคดีนี้เกิดขึ้นในประเทศอื่น ศาลในประเทศอื่นอาจจะมีมุมมองต่างไปจากศาลอเมริกันก็ได้ ... แต่ Redigi เป็นเพียงผู้ประกอบการเล็กๆเท่านั้น ลองคิดดูว่าหากจำเลยเป็นยักษ์ใหญ่โลกไซเบอร์แบบ facebook หรือ Google ศาลอาจจะเปลี่ยนธงในการพิจารณาเรื่อง fair use ก็ได้ เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศาลอเมริกันค่อนข้าง สนับสนุนโมเดลทางธุรกิจของพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ใช้เป็นหลายร้อยล้าน หรือเป็นพันล้านคน.
http://www.ipwatchdog.com/2018...

หมายเลขบันทึก: 659058เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2019 02:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2019 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท