๗๖๒. คิดไปได้..เรื่อยๆ


วันที่เริ่มรู้สึกว่า..ใช่เลย..แปลงเกษตรที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ต้องเป็นแบบนี้ อยู่ในช่วงปี ๒๕๕๔..ผมจึงทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมชื่อเรื่อง “ปลูกผักที่หนองผือ” เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ต้นทุนต่ำมาก มีนักเรียนเป็นคนวาดภาพให้

        ผมเขียนเรื่องนี้ มา ๒ – ๓ ครั้ง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการปลูกผักปลอดสารพิษ..ตั้งแต่ปีแรกที่ย้ายมาอยู่โรงเรียนนี้ ตอนนั้นยังไม่มีแปลงผัก มีแต่สระน้ำกับเนินดินและมีหญ้าปกคลุมเต็มไปหมด..

    ผมปรับเนินดินแล้วทำแปลงเกษตรแบบถาวร ที่ช่วยให้นักเรียนปลูกผักได้ง่าย พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ จนรู้สึกว่าดูดีมากขึ้นเป็นลำดับ..

        วันที่เริ่มรู้สึกว่า..ใช่เลย..แปลงเกษตรที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ต้องเป็นแบบนี้ อยู่ในช่วงปี ๒๕๕๔..ผมจึงทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมชื่อเรื่อง “ปลูกผักที่หนองผือ” เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ต้นทุนต่ำมาก มีนักเรียนเป็นคนวาดภาพให้

        เป้าหมายเพื่อ..บันทึกและถอดบทเรียน ให้เห็นที่มาที่ไป และตั้งใจจะสอนคำประพันธ์ “กาพย์ยานี ๑๑”ให้นักเรียนด้วย..

        ประมาณปีละครั้ง..ที่ผมหยิบมาอ่านทบทวน..วันก่อนหยิบขึ้นมาอ่านส่งท้ายปี มีแนวคิดขึ้นมาอีก..ถามตัวเองว่า”คิดได้ไงเนี่ย..?”

        เนื้อหาในเล่ม..มันเนื้อเพลงลูกทุ่งชัดๆ เป็นเพลงแหล่ร่วมสมัยของชาวสุพรรณบุรี บ้านใกล้เรือนเคียง..ผมรีบโทรหาลูกชายที่เป็นครูสอนดนตรีในทันที..

        “โน้ตเพลงแหล่มันว่ายังไงนะลูก” ลูกชายกำลังสอนหนังสืออยู่ ออกอาการนิ่งไปพักนึง จนผมต้องเลียนเสียงดนตรีให้ฟัง...”แทน แท๊น แท๊น แทน แทน แท๊น..” ลูกชายจึงตอบกลับมาเหมือนว่าจะเข้าใจแล้ว  “มี ลา ลา ซอล ซอล ลา”

        ผมกับนักเรียนซ้อมเพลง “ปลูกผักที่หนองผือ”มาสองวันแล้ว ไปได้สวยทีเดียว เริ่มจากให้นักเรียนทำเสียงดนตรีด้วยปาก “มี ลา ลา ซอล ซอล ลา” สามครั้งเป็นการ “เกริ่นนำ” จากนั้นผมก็ร้องเป็นการทดลองคีย์

        เด็กป.๖ อมยิ้มกันใหญ่..คงตลกในเสียงผม หรือไม่ก็ขำที่ครูทำอะไรก็ไม่รู้ เนื้อร้องในช่วงแรก บอกว่า...

        “จับจ้อง/มองหนองผือ  แท้จริงคือ/โรงเรียนเล็ก  แน่นัก/รู้จักเด็ก  รายบุคคล/น่าสนใจ  เมื่อรู้/จึงเร่งรัด  ที่ข้องขัด/จัดแก้ไข  อ่านเขียน/เรียนรู้ไว  คำนวณได้/ฝักใฝ่ธรรม”

        การฝึกซ้อมให้นักเรียนเป็นไปอย่างหลากหลาย บางครั้งผมก็ให้นักเรียนร้องส่วนผมก็ทำเสียงดนตรี..เดินทำนองเป็นเพลงแหล่เพื่อให้นักเรียนจับจังหวะให้ได้..

        บางช่วงผมก็นึกสนุก พอร้องจบในแต่ละบท ก็ให้นักเรียนทำเสียงดนตรี "มี ลา ลา ซอล ซอล ลา”  ๒ ครั้ง..ก่อนที่จะขึ้นบทต่อไป เช่น

        “อาคาร/สะอาดเอี่ยม  ห้องเรียนเยี่ยม/สวยเลิศล้ำ  ต้นไม้/ได้หนุนนำ  มองสระน้ำ/ชื่นฉ่ำเย็น “ (มี ลา ลา ซอล ซอล ลา)

        ผมกลัวเด็กจะไม่เชื่อว่า นี่คือเพลงแหล่ที่เป็นจังหวะสามช่าขนานแท้ ก็เลยนำกลองทอมใบเล็กมาให้นักเรียนทดลองตี..สูตรของการตีมีไม่ยาก นับเลขได้ก็ตีได้..

        ผมให้นักเรียนพูด หนึ่งสอง..สามสี่..ห้า โดยมือขวาตีกลองที่อยู่ทางขวาสองครั้งขณะที่ตีก็พูดว่า “หนึ่งสอง” มือซ้ายตีกลองที่อยู่ทางซ้ายสองครั้งและพูดว่า “สามสี่” สุดท้ายที่มือขวาตีครั้งเดียวที่กลองขวามือแล้วพูดว่า “ห้า”

        เสียงกลองจะดัง “ตึงตึง ตึ๊งตึ๊ง ตึง” หรือ ที ลา ลา ซอล ซอล ลา นั่นเอง เด็กตีกลองไปเรื่อยๆ จนรู้สึกสนุกครื้นเครง กระหยิ่มยิ้มย่องที่ตีได้

        ผมแจกบทเพลงให้ไปซ้อมเป็นการบ้าน เชื่อว่า..ฝึกหัดอีกสัก ๒ วันเด็กคงร้องได้ และเข้าใจความหมายดียิ่งขึ้น..จากนั้นผมจะถามนักเรียนว่า..

        ตอนใดในเนื้อร้องที่แสดงว่านักเรียนมีความสามัคคีในการปฏิบัติงานร่วมกัน.

        (นักเรียน/ลงไปด้วย  เอื้ออำนวย/ช่วยงานกัน  จวบจบ/เสร็จครบครัน  ได้แปลงผัก/น่ารักจัง”

        ตอนใดในเนื้อร้องที่แสดงว่านักเรียนมีความอดทนและขยันหมั่นเพียร..?

        (คุณครู/คอยช่วยเหลือ  เด็กไม่เบื่อ/ไม่หมดแรง  รู้เรียน/เพียรขันแข็ง ครูจัดแบ่ง/แปลงเพียงพอ”)

        ผมจึงได้บทสรุปว่า..การที่จะปรับวิธีเรียน มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วยเหมือนกัน อย่างน้อยก็ต้องหมั่นปรุงรสการสอนด้วยบทเพลงบ้าง..จะได้สุขใจทั้งผู้ให้ สบายใจทั้งผู้รับ..อย่างแน่นอน

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๘  ธันวาคม  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 659001เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2018 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2018 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท