๗๖๐. ปรุงรสการสอนด้วย..หัวใจ


“การเรียนรู้ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจของนักเรียนจะฝังรากลึก..การจะฝึกให้คิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง ครูจะต้องให้นักเรียนอธิบายและสรุปเนื้อหาบทเรียนด้วยตนเอง” ซึ่งผมใช้งานศิลปะที่เด็กชอบ..บนกระดาษแผ่นเดียว

        ผมหมายถึง..ใช้หัวใจนำพา..ใช้ศรัทธานำทาง..นั่นเอง เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน กระตุ้นให้เด็กสนใจอยากมาโรงเรียนและอยากเรียนรู้..

         ขณะเดียวกัน..ผมเองก็อยากทำงานสอน และทำทุกวันให้มีความสุข..สนุกกับกิจกรรมที่ผมพยายามคิดให้มันหลากหลาย..เพราะถ้าไม่หลากหลายก็ไม่ใช่โรงเรียน..

    หากคิดนอกกรอบได้..ผมจะรีบทำทันที ที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนและอยู่ในวิถีทางที่เป็นไปได้ สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก..ที่ต้องคิดเยอะกว่าเขา ทำได้ไม่หมดไม่เป็นไร เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเลือกปฏิบัติ

        ไม่ต้องคิดเลิศเลอเพ้อฝันให้มันทันสมัย..เอาแค่ธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา แบบที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน และมองที่ประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ..

        เพียงรู้เท่ารู้ทันกับนโยบายและโครงสร้างทางการศึกษา ตลอดจนเข้าถึง “นวัตกรรม”ทางความคิดของนักการศึกษาทั้งหลาย ที่พยายามนำพาสถานศึกษา ให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างแท้จริง..

        ที่สุดแล้ว..แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จะอยู่ที่โรงเรียนและอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น..นี่คืองานหลักที่แท้จริง..ที่บุคลากรทางการศึกษาต้องเข้าใจ ต้องเข้าถึง และต้องพัฒนา..

        ครูต้องพร้อมที่จะเป็น.”ผู้นำทางวิชาการ” ผู้บริหาร..ต้องพร้อมที่จะเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” คือ คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาได้...

        ผมไม่เคยหยุดคิดเรื่องการเรียนการสอน..ค้นคว้าและพัฒนา..ใจสั่งมาให้ต้องทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นแบบอย่างแก่ครู..แนวทางที่ทำเชื่อเหลือเกินว่า..เด็กต้องมีความสุข สนุกกับการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนของผม..

        เมื่อนักเรียนกลุ่มหนึ่งเล่นดนตรีได้ บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง”ได้จนจบ..นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่..ร้องเพลงได้..นำมาขับร้องหมู่ให้เข้ากับดนตรี..มีหลายบทเพลงที่ต้องนำพาให้ไปด้วยกันแบบนี้

        ทั้งเพลง..”หน้าที่เด็ก” เพลง “สยามมนุสติ” และเพลง “รักเมืองไทย”

        คำถามที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า..ทำแบบนี้ผมได้อะไร?แล้วเด็กได้อะไร? แน่นอนที่สุด..ทำแล้วจะต้องไม่สูญเปล่า..เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย..

        ผมได้ค้นพบเครื่องมือ..ในการทบทวนและวัดผลการเล่นดนตรีและการขับร้องเพลงของนักเรียนชั้นป.๔ – ป.๖..อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา

        นักเรียน..ทั้งนักดนตรีและนักร้อง..เกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น..ในเรื่องของจังหวะและทำนอง..เกิดความกล้าที่จะแสดงออกเป็นหมู่คณะ..

        ผลพลอยได้ในเชิงคุณธรรม..นำไปสู่ความรักใคร่กลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจ เนื้อเพลงปลุกใจ..ช่วยให้รู้รักสามัคคี

        เมื่อมีจังหวะที่จะปรับปรุงการสอน ผมจะไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย ลองผิดลองถูก และ “ทำทันที” ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง..ดีหรือไม่อย่างไร? ผลงานของผู้เรียนจะเป็นข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์อยู่แล้ว..

        วันนี้..ผลในระยะสั้นผมได้มองเห็นแล้ว..ในระยะยาว..คงเหลือแต่การ “ถอดบทเรียน” แต่บทสรุป ณ เวลานี้ มีใจความเพียงสั้นๆเท่านั้น..กล่าวคือ

        “การเรียนรู้ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจของนักเรียนจะฝังรากลึก..การจะฝึกให้คิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง ครูจะต้องให้นักเรียนอธิบายและสรุปเนื้อหาบทเรียนด้วยตนเอง” ซึ่งผมใช้งานศิลปะที่เด็กชอบ..บนกระดาษแผ่นเดียว

        นี่คือ..จุดเปลี่ยนในการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ท้าทายของผม..ที่ไม่ได้มุ่งหวังจะดีเด่นเป็นต้นแบบให้ใคร..แต่ในแง่ของอุปสรรคและความขาดแคลน ตลอดจนภาพรวมที่ด้อยโอกาส..มิอาจทำให้หยุดคิดได้เลย..

        ขอบคุณ “หัวใจ” ตัวเอง..ที่ไม่เคยถูกพันธนาการใดๆ กล้าหาญที่จะปรุงรสการสอนอย่างที่ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย.ก็แค่ไม่ท้อ..และพอใจในสิ่งที่ผมมี..เท่านั้น

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๖  ธันวาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 658959เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2018 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2018 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท