การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน


บทที่ 1 บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

        การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานเป็นการใช้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสมอง เป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์โดยเชื่อว่าโอกาสทองของการเรียนรู้อยู่ระหว่างแรกเกิดถึง 10 ปีสมองของเด็กอนุบาลมีเซลล์อยู่ข้างไหนจำนวนประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ที่รอการเรียนรู้หรือรอประสบการณ์ยิ่งโรงเรียนจัดประสบการณ์หลากหลายเซลล์สมองก็จะถูกใช้งานซึ่งทำให้มีโอกาสฉลาดกว่าการไม่ใช้และสูญเสียเซลล์สมองไป เซลล์ทั้งหลายในสมองทำงานเชื่อมโยงกันเมื่อเซลล์ 2 เซลล์เชื่อมโยงกัน ณ จุดซินแนปส์การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจำนวนซินแนปส์จะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ที่สมองได้รับซินแนปส์จะสร้างขึ้นไม่ได้ถ้าเด็กไม่ได้รับประสบการณ์ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551, หน้า 6) ความก้าวหน้าทางวิทยาการทำให้เราเข้าใจกลไกการทำงานของสมองโดยละเอียดแล้วก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และจากความรู้เรื่องสมองทำให้นักการศึกษาพยายามปรับกระบวนการการเรียนรู้ของเด็ก ปรับอย่างไรให้มีประสิทธิผลสูงสุดก็ต้องปรับให้อยู่บนพื้นฐานการทำงานของสมองที่เรียกกันว่า Brain based learning หรือ BBL สมองเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ของร่างกายที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในวัยแรกของชีวิตคือช่วง 0-6 ขวบ กล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาสมองของเด็กแรกเกิด สมองของเด็กจะกระหายการเรียนรู้ในอัตราเร่งที่สูงสุดมีความสามารถในการเรียนรู้สูงและจะสามารถจำความรู้นั้นได้ตลอดชีวิต นี่คือคำบอกกล่าวจากสถาบันเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ในสหรัฐอเมริกาด้วยใจที่ตื่นรู้เจ้าอวัยวะมหัศจรรย์นี้จะหลั่งสารแห่งการเรียนรู้ที่เรียกว่าโดพามีนออกมาทุกครั้งที่เราได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่หรือแม้แต่ได้ของใหม่ทำให้คนคนนั้นรู้สึกสดชื่นเบิกบานใจแล้วถ้าสมองหลั่ง โดพามีนออกมาบ่อย ๆ มันก็จะหลั่งออกมาง่ายง่ายในครั้งต่อไปความสุข ความหวัง ความมีพลัง จนเกิดขึ้นกับคนผู้นั้นอย่างไม่รู้จักโรยรา สมองเป็นตัวควบคุมและจัดระเบียบของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นต้องได้รับการกระตุ้นโดยใช้สมองจึงจะมีพัฒนาการตามปกติและหากในช่วงปฐมวัยสมองได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมก็จะทำให้สมองมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ส่งผลถึงพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาอย่างเต็มที่ (ถิรนันท์ อนวัชศิริพงษ์, 2553, หน้า 17)

สถานการณ์ปัจจุบัน

          จากข้อมูลของประเทศไทย ผนวกกับองค์ความรู้เรื่องการเรียนรู้ของสมองเด็ก เป็นภาพสะท้อนให้เห็นปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยว่า ขาดการกระตุ้นอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู อันเนื่องจากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งยังมีแนวคิดแบบดั้งเดิมที่ฝากความหวังการพัฒนาสมองไว้กับโรงเรียนและครู โดยเข้าใจว่าเขาจะทำได้ดีกว่า จึงทำให้ช่วงวัยทองของสมองเด็ก (ก่อนอายุ 6 ปี) ถูกละเลยทอดทิ้ง อีกทั้งยังได้รับการกระตุ้นในทางที่อาจขัดขวางพัฒนาการของสมอง คือ การใช้เวลากับการดูโทรทัศน์ หรือ เล่นเกมคอมพิวเตอร์มาก ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กลดลงมาก และใช้โทรทัศน์ในการเลี้ยงดูเด็กทดแทนการมีปฏิสัมพันธ์แบบเดิม เช่น เล่น เล่านิทาน ปั้นวัวปั้นควาย โดยเฉพาะหลังอายุ 1 ปี พัฒนาการด้านภาษา การคิดสร้างสรรค์ จึงไม่ถูกกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นทิศทางการฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กไทย จึงจะต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมองของเด็ก เช่น ความแตกต่างระหว่างสมองของชายและหญิง

          สิ่งสำคัญก็คือ เด็กเรียนรู้ได้ดีด้วยการฝึกฝนทักษะ การรับความรู้สึก รับรู้จากทุกส่วนประสานกัน พัฒนาการทางสติปัญญาก็เช่นเดียวกัน ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาความรู้สึกกล้ามเนื้อและเมื่อเด็กรู้จักใช้คำ (พัฒนาการภาษา) ในการทำความเข้าใจสิ่งรอบตัวและคิดได้ ก็จะต้องค่อยเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน คือ ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้มาก่อน ขั้นต่อมามีประสบการณ์ใหม่เข้ามาก็จะทำความเข้าใจสิ่งต่างๆชัดเจนขึ้น     และการเรียนรู้ในขั้นตอนเดิมจะมีผลต่อการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามา แต่ละขั้นตอนก็จะช่วยให้เด็กสามารถทำความเข้าใจโลกของความคิด เด็กรวบรวมความคิดเข้าด้วยกันและสามารถเกิดความคิดใหม่ ๆ    ขึ้นได้ ปัจจัยที่กระตุ้น “ความคิด” ของเด็ก คือ ความกระตือรือร้น เด็กทุกคนถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดให้กระตือรือร้นที่จะทำความเข้าใจโลก ผู้คน สิ่งของ และความคิด แต่ละขั้นตอนของการเติบโตเด็กจะสร้างทฤษฎีของเด็กเอง ซึ่งแม้ว่าจะอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังไม่ได้แต่ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจเด็กได้ด้วยการสังเกต เด็กจะเรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ ทิ้งทฤษฎีเก่า และสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมา จนกว่าจะแน่ใจว่ามันเหมาะสมหรือถูกต้องกับการดำเนินชีวิตของตน สิ่งที่เด็กต้องการก็คือ “ผู้ใหญ่ที่เข้าใจและให้โอกาส” เข้าใจความรู้สึกของเขาในแต่ละขั้นของการเจริญเติบโต ดังนั้นผู้ใหญ่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครูอาจารย์ แพทย์ ฯลฯ   ก็สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเด็กได้

          ในปี 2561  สพฐ. มี “โครงการพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี” สาเหตุจากรัฐบาลพบว่าเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สพฐ. จึงใช้แนวคิด BBL เป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กผ่านการทำกิจกรรมที่ใช้แนวคิด Brain based learning หรือ BBL

หมายเลขบันทึก: 658568เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท