STEAM


บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมา

       การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร การขนส่ง การค้า และอื่นๆ ที่มีการเข้าถึงอย่างรวดเร็วทั่วโลก ดังนั้นการ เตรียมคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะศตวรรษที่ 21(21st century skills) ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การร่วมมือ และ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้  (พรทิพย์  ศิริภัทราชัย, 2556) เป็นสิ่งสำคัญและ หนึ่งในทักษะสำคัญ ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย คือ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับกันว่า หกขวบแรกของชีวิต เป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุด เพราะเด็กพัฒนาทุกด้านได้รวดเร็วที่สุดโดยเฉพาะสมอง คุณภาพของการพัฒนาเด็กจะมีผลต่อชีวิตในระยะยาวตราบจนถึงวัยผู้ใหญ่ ประเทศต่างๆ จึงถือเป็นนโยบายสำคัญของประเทศเพื่อการพัฒนาเด็กอย่างเต็มที่ในช่วงนาทีทองของชีวิตนี้ (ฉันทนา  ภาคบงกช, 2554)

          รวมถึงประเทศไทย มีนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็ก ปฐมวัย (0-5 ปี) ระยะยาว พ.ศ.2550-2559 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2550)   ที่มีแนวทางและมาตรการในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นตัวเด็กปฐมวัยเป็น สำคัญเน้นการคิดสร้างสรรค์ การคิดริเริ่ม จินตนาการ การมี ส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเรียนรู้ของตนเอง สามารถ แสดงออกได้อย่างเสรีและเหมาะสมในด้านความคิด หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546) ได้ให้ความสำคัญของความคิด สร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยเช่นกัน จึงได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้ ในมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ข้อ 11 ว่า ให้เด็กมี จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์  ในขณะที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเรียนรู้ซึ่งได้กล่าวในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 24  ข้อ 2 และ 3 ว่า ให้เด็กได้ฝึกทักษะกระบวนการ คิด ฝึกให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง

การศึกษาแนวคิดการจัด ประสบการณ์การเรียนรู้สตีมศึกษา (STEAM Education) เป็นรูปแบบการสอนใหม่ที่น่าสนใจและเหมาะสมในการนำมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก Yakman (2013) กล่าวว่า สตีมศึกษา คือ รูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะของ การบูรณาการการเรียนรู้ 5 ศาสตร์วิชาหลักเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T) วิศวกรรมศาสตร์ (E) ศิลปะ (A) ทั้งหมดอยู่ในองค์ประกอบทางคณิตศาสตร์ (M) ทั้งนี้เน้นจุดเด่นของธรรมชาติตลอดจนวิธีการสอนของแต่ละสาขาวิชามาผสมผสานกันอย่างลงตัว ทั้ง 5 ศาสตร์ ที่กล่าวมานั้นได้มีการส่งเสริมสาระและทักษะพื้นฐานต่างๆ ให้กับเด็กปฐมวัยอยู่แล้ว แต่ที่แปลกใหม่ และน่าสนใจว่าจะสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้นั้น มุ่งไปที่วิศวกรรมศาสตร์ (E) และศิลปะ (A) คือ การออกแบบและการวางแผนที่ต้องใช้ศิลปะ รวมกับศาสตร์อื่นๆบูรณาการเข้าด้วยกัน ซึ่งพบในงานวิจัยของ Yakman (2010) ที่ได้ศึกษา เรื่อง อะไรคือจุดเน้นของ สตีมศึกษา : สรุปภาพรวม พบว่า สตีมศึกษา ได้รับการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการศึกษาทฤษฎีใหม่ โดยมีพื้นฐานมาจาก STEM โดยการศึกษา พบว่า ในศาสตร์วิชาต่างๆ ต้องมีภาษามาเกี่ยวข้องและพยายามศึกษาต่อจนค้นพบการเชื่อมโยงของศิลปะในสาขาวิชาต่างๆ ทั้ง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์  โดยการบูรณาการการเรียนรู้

   STEAM เป็นการเพิ่ม ศิลปะ (Arts) เข้าไปใน STEM บนพื้นฐานของการสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นับเป็นการ “หล่อหลอม” (Nurture) สิ่งที่นักเรียนสงสัยใคร่รู้ (Curiosity) และช่วยให้เขาพัฒนาความคิดเชิงพิจารณ์ (Critical thinking) เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการแก้ปัญหา

    STEAM Education เป็นแนวคิดการศึกษาที่ต่อยอดไปจากการศึกษาแบบ STEM ในการบูรณาการกิจกรรมหรือการศึกษาต่าง ๆ จะมีลักษณะที่เชื่อมโยงกัน การบูรณาการด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ มีความสำคัญ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้ามีศิลปะช่วยเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ความสุขในการเรียนรู้ สู่การเติบโตอย่างสมดุล

     การแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) อาจนำไปสู่วินัยในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเพิ่มพูนทักษะในการแก้ปัญหา หากมองย้อนกลับไปกระบวนการทาง STEM ในหลาย ๆ กิจกรรม จะมีกระบวนการที่ต้องใช้ทักษะความคิดและการออกแบบ อาทิเช่น      การทำบัวลอยก็จะมีการให้ปั้นลูกบัวลอยตามรูปร่างที่อาจจะจินตนาการเป็นรูปทรงต่าง ๆ การทำว่าวก็มีการให้ออกแบบโครงหรือตัวว่าวให้เป็นรูปร่างที่เราอยากวาด เป็นต้น

มีข้อมูลกล่าวว่า คนเราแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ที่ใช้สมองข้างซ้าย (left-brained) ซึ่งมีความถนัดทางด้านการคิดการคำนวณ หรือกล่าวคือพวกถนัดทักษะทางด้าน STEM ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นหมอ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ กับ ผู้ที่ใช้สมองข้างขวา (right-brained) ซึ่งจะถนัดกับสิ่งที่ต้องใช้จินตนาการกับความคิดสร้างสรรค์ เหมาะที่จะเป็นศิลปิน

    นักการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านนี้มองว่า นักประดิษฐ์ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ใช่มีแค่นักวิทยาศาสตร์ แต่ยังมีนักศิลปะด้วย การบูรณาการทั้ง 4 (ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์) + 1(ทักษะทางศิลปะ) จะทำให้เกิดความคิดแบบองค์รวม (Holistic Way)

สถานการณ์ในปัจจุบัน    

       ประเทศสหรัฐอเมริกาเน้นการศึกษาแบบ STEAM เพราะ การเรียนผ่านระบบ STEAM จะทำให้นักเรียนรู้จักการรับมือกับความเสี่ยงโดยผ่านการคิดวิเคราะห์อย่าง ถี่ถ้วน เรียนรู้จากประสบการณ์ มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา รู้จักการทำงานเป็นทีม และทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนำพาไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ นักสร้างสรรค์นวัตกรรม ผู้ให้ความรู้ หรือผู้นำในอนาคต  ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงโลก เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

       ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มมีการปลูกฝัง STEAM ลงในหลักสูตรการศึกษา แต่ยังมีไม่มากองค์ประกอบสำคัญของ STEAM คือ  ต้องมีการเรียนรู้อย่างน้อย 2 หัวข้อเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  วิศวกรรมศาสตร์  คณิตศาสตร์ หรือ ศิลปะ และสามารถเกี่ยวโยงไปหัวข้ออื่นๆได้  เน้นในด้านการทดลอง ทำงานร่วมกัน และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับการนำศิลปะด้านต่างๆมาประยุกต์และใช้ประกอบกับการเรียนด้านอื่นๆ โดยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เดิมระบบการเรียนแบบ STEM ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีการรวมด้านศิลปะ ทำให้ขาดการสร้างความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาของระบบ STEAM ซึ่งรวม Art เข้าไปด้วย

        ปัจจุบันครูและนักเรียนในระบบ STEAM  จะต้องมีการสื่อสารและปฎิสัมพันธ์กันจริงๆ ทำให้โรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่สำหรับไปเรียน แต่เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาการเติบโตของการสร้างความคิด สร้างพื้นฐานการเข้าสังคม และเป็นรากฐานในการพัฒนาบุคคลให้กลายเป็นนักประดิษฐ์และผู้สร้างนวัตกรรมในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ฉัตรทราวดี  บุญถอม และ อรพรรณ  บุตรกตัญญู. (2558). การจัดประสบการณ์บรูณาการ

         การเรียนรู้สตีมศึกษาโดยการใช้วรรณกรรมเป็นฐานเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย. 30 (3):187

ณัฐดนัย เนียมทอง. คลังความรู้SciMath จาก STEM สู่ STEAM.  สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ.2561 จาก  

          www.botnlife.com

BotNLife Simplify Learning Tools. STEAM คืออะไร ใครเคยสงสัยแบบผมบ้าง. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม          

          พ.ศ.2561 จาก www.scimath.org

แปลน ฟอร์ คิดส์. จาก STEM TO STEAM.  สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน พ.ศ. 2561 จาก

          https://www.planforkids.com

หมายเลขบันทึก: 658563เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท