ชีวิตที่พอเพียง 3287. ร่วมงาน MOPH R2R Forum ประจำปี 2561 ที่เชียงใหม่ : ๑. วันแรก (๑๒ กันยายน ๒๕๖๑)


กระทรวงสาธารณสุข จัดงาน MOPH R2R Forum ประจำปี 2561 ที่โรงแรมกาดสวนแก้ว เชียงใหม่ งานนี้จัดทุกปีในชื่อที่เราเรียกกันติดปากว่า R2R ประเทศไทย ()    แต่ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขขอเป็นเจ้าภาพ โดยจัดผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับงานประชุมวิชาการของกระทรวง ที่จัดปลายปีงบประมาณ   ที่ควบเอางานเลี้ยงขอบคุณผู้เกษียณอายุราชการเข้าไปด้วย    ยิ่งปีนี้ท่านปลัดกระทรวง นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข เกษียณ พร้อมกับอธิบดีอีก ๔ คน    ยิ่งดึงดูดคนไปร่วมงานมากขึ้น      

งานนี้สำนักวิชาการ เป็นเจ้าภาพดำเนินการ โดยมี “ดร. ณัฐ” (ณัฏฐญา พัฒนะวาณิชนันท์) เป็นแม่งาน    จากเอกสารการประชุม ผมได้เรียนรู้ แผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปีด้านสาธารณสุข ว่ามียุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ๔ ด้าน คือ

  • ด้านส่งเสริมสุขภาพ  ป้องกันโรค  และคุ้มครองผู้บริโภค
  • ด้านบริการ
  • ด้านบุคลากร
  • ด้านบริหารด้วยธรรมาภิบาล

โดยมีค่านิยมองค์กรว่า MOPH

  • M – Mastery    เป็นนายตนเอง  
  • O – Originality    สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ
  • P – People-Centered Approach    ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
  • H – Humility   ความอ่อนน้อมถ่อมตน

เพื่อไปสู่เป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี  เจ้าหน้าที่มีความสุข  และระบบสุขภาพยั่งยืน”   

โครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยระดับประเทศ (R2R ประเทศไทย) (http://www.r2rthailand.org) ในปัจจุบัน เป็นความร่วมมือ ๔ ฝ่าย  คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สสส., สปสช., และ กระทรวงสาธารณสุข   

การประชุมนี้น่าจะถือได้ว่า เป็น “งานช้าง”    คือมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมงาน ๔,๐๐๐ คน    แม่งานด้านวิชาการเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว จัดประจำทุกปี    มีสำนักงาน R2R ศิริราช ผสานกับทีมงาน R2R ประเทศไทย เป็นคณะเลขานุการกิจด้านวิชาการ    ภารกิจสำคัญคือรับสมัครผลงานเข้าประกวดรับรางวัล และตัดสินรางวัล () สำหรับใช้เป็น Best Practice แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงาน    ดังนั้น สำหรับผม เป้าหมายไปเรียนรู้คือผลงานระดับรางวัลเหล่านี้ ซึ่งปีนี้มีถึง ๓๑ รางวัล จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดเกือบ ๑,๐๐๐ ผลงาน    มากเป็นประวัติการณ์

การประชุมจัดพร้อมกันถึง ๖ ห้อง    วันนี้ผมอยู่ในห้องใหญ่ คือห้องประชุมบ้านล้านตอง ตลอดทั้งวัน

ในช่วงเช้า มี ๓ รายการ เด็ดๆ ทั้งนั้น  

 

  • การบรรยายพิเศษ เรื่อง R2R กับการสาธารณสุขไทยในอนาคต  โดย นพ. เจษฎา โชคดำรงสุข  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข    ท่านพูดปากเปล่า โดยไม่มี PowerPoint ช่วย    ทำให้การพูดมีพลังมาก    สะท้อนความเข้าใจเรื่อง R2R อย่างลึกซึ้ง    ประเด็นที่น่าจะมีผู้นำมาดำเนินการส่งเสริมต่อคือการเชื่อมโยง R2R กับการทำผลงานเลื่อน ซี   นอกจากนั้น ท่านยังกล่าวถึงการวิจัยที่นำผลไปใช้ได้   ซึ่งผมนึกถึงคำว่า R2I (Research to Innovation)
  • การบรรยายเรื่อง R2R กับการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทย สู่สังคม ๔.๐  โดย ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ. อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ    เป็นการบรรยายที่มีพลังมาก  สะท้อนความเข้าใจเรื่องคุณภาพคนในยุคใหม่ และความล้าหลังของอุดมศึกษาไทย อย่างลึกซึ้ง    นำมาเชื่อมโยงกับ R2R ได้อย่างดีเยี่ยม    ดู PowerPoint ที่ท่านใช้บรรยาย ที่นี่      
  • “R2R ตีแตก” นำเสนอนวัตกรรม  โดย (๑) คุณปรีชา มะโนยศ  (๒)​ รศ. ดร. อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ วิพากษ์โดย (๑) ศ. ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธาน Aging Society Innovation Hub  และ Executive Director บริษัทสยามไบโอไซแอนซ์  (๒) คุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์  รองกรรมการผู้จัดการ และ ผอ. ศูนย์นวัตกรรม กลุ่ม ซีพี ออลล์   บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)   (๓) ดร. ภก. ชาญณรงค์ เตชะอังกูร ผู้จัดการบริษัท มิลลิเมด จำกัด  

รายการนี้จัดเป็นนวัตกรรมของการจัดประชุม R2R ประเทศไทยในครั้งนี้    เป็นการแสดงให้เห็นว่า งาน R2R สามารถพัฒนาต่อยอดสู่นวัตกรรมที่เป็นสินค้าออกสู่ตลาดได้    โดยผลิตภัณฑ์ของ คุณปรีชา มะโนยศ   ได้รับรางวัล R2R ปี ๒๕๕๙  คือ ผ้าพันศีรษะฉุกเฉินใช้ในผู้บาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุจราจร    พัฒนามาจนเป็นรุ่นที่ ๖ โดยรุ่นที่ ๖ ร่วมมือกับบริษัท Freetech Elastic Thailand ทำให้พันเสร็จภายใน ๓๐ วินาที  

ผลิตภัณฑ์ของ รศ. ดร. อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ และคณะ แห่งคลังเลือดกลาง  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น    คือ การพัฒนา Gel Test  เพื่อตรวจหาการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง   ซึ่งก็คือชุดทดสอบกลุ่มเลือด และทดสอบการเข้ากันได้ของเลือดแบบอัตโนมัติ นั่นเอง    จัดเป็น high tech R2R    ได้รับทุนสนับสนุนหลายทาง  ทำมา ๒๐ ปี  

ทั้งสองผลิตภัณฑ์ มีการจดสิทธิบัตรไว้อย่างดี เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม

วิทยากรผู้วิพากษ์ให้ข้อคิดเรื่องการนำผลการวิจัยสู่ตลาดอย่างดีเยี่ยม   และให้ประเด็นสำหรับพิจารณาคัดกรองผลงานนวัตกรรม ๑๒ ด้าน ที่มีประโยชน์มาก ดังในรูป    สรุปประเด็นสำคัญของการนำผลงานวิจัยออกสู่ตลาด (เป็นผลงานนวัตกรรม) นอกจาก ๑๒ ข้อในเกณฑ์คัดกรองแล้ว ต้องเน้นใช้ open innovation  ไม่ใช่ closed innovation    คือต้องไม่คิดพัฒนาเองทั้งหมด ต้องเอาเทคโนโลยีจากที่อื่นมาใช้เพื่อให้ผลผลิตออกตลาด หรือพัฒนาต่อเนื่องได้เร็ว    เพื่อสู้กับคู่แข่ง    และเมื่อจะเอาสินค้าเข้าตลาด ใช้หลัก 5A ตามในรูป    ซึ่งสำหรับนักวิจัย คำแนะนำคือ ต้องร่วมมือกับนักการตลาด

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต้องขอจดทะเบียนเป็นนวัตกรรมกับ อย. เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อภาครัฐ    ต้องได้ ISO 13485   และได้มาตรฐาน GMP   

สำหรับ Gel Test  ควรมีการทดสอยโดย third party เพื่อยืนยันผล 

ในช่วงบ่าย เป็นพิธีเปิด และบรรยายพิเศษโดย รมต. สาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร เรื่อง R2R กับแผนพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ ระยะ ๒๐ ปี    ท่านเล่ากำเนิดของ R2R ที่ศิริราชเมื่อ ๑๔ ปีก่อน สมัยที่ท่านเป็นคณบดี    ที่เริ่มจากเป้าหมายทำผลงานบริการผู้ป่วยให้กลายเป็นผลงานวิจัยด้วย โดยยุทธศาสตร์สำคัญคือ ใช้คนนอกเข้าไปช่วย (คือ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กับผม)    ท่านพูดเรื่องความเป็นเลิศ ๔ ด้าน  และค่านิยม ๔ ประการ ของกระทรวงสาธารณสุข โยงสู่ R2R ที่ทำหน้าที่สร้าง people excellence    ท่านเน้นอีก ๒ เป้าหมายคือ (๑) การใช้เทคโนโลยีดิจิตัล  และ (๒) การปฏิรูประบบโดยให้อำนาจหน่วยงานย่อยลงไป คือเขตสุขภาพ    ดังนั้นเขตสุขภาพต้องสนับสนุน R2R    ท่านเน้นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว     “สมัยนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก  แต่เปลี่ยนเป็นปลาเร็วกินปลาช้า“

รายการสุดท้ายของวันคือ R2R at Scale in Singapore  Prof. Eugene Fidellis Soh, Chairman CHI Co-Learning Network, Chief Executive Officer Tan Tock Seng Hospital and Central Health    ที่ทางโรงพยาบาลตัน ต็อก เส็ง ของสิงคโปร์ มาเรียนรู้เรื่อง R2R จากศิริราช   เอาไปปรับใช้ในบริบทของสิงคโปร์    เกิดผลเน้นไปทางพัฒนาคน  พัฒนาองค์กร  พัฒนาระบบงานด้านสุขภาพ   และพัฒนาประเทศ     เห็นได้ชัดเจนว่าเขาคิดเชื่อมโยงสู่ภาพใหญ่เก่งมาก    ผมเอารูปสไลด์ ppt ที่เขาตีความ collective leadership  ที่คนหน้างานมีส่วนเป็นผู้นำ ผ่านการทำงาน R2R มาให้ดูด้วย    ผมเสียดายที่ไม่มีผู้ใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขฟังรายการนี้เลย

ทำให้ผม AAR กับตัวเองว่า    หากผมมีโอกาสเสนอแนะต่อกระทรวงฯ  ผมจะเสนอให้ผู้บริหารทำ KM จากงานแบบนี้    คือแบ่งกันไปฟัง session และห้องต่างๆ    แล้วตกเย็นมา AAR แก่กัน มีเจ้าหน้าที่จด    จะได้ประเด็นไปส่งเสริมต่อเป็นอันมาก   ผมดูรายการในแต่ละห้องย่อยแล้ว พบว่าเต็มไปด้วยสาระของงาน R2R 

งานกลางคืน เป็นงานเลี้ยงแสดงมุทิตาจิตแก่ผู้เกษียณอายุราชการ    คนมากแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน    ประธานในพิธีคือ ศ. คลินิกพิเศษ นพ. เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรี    โดย พญ. มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรี และ นพ. ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี มาร่วมด้วย    มีคนเอาของขวัญมามอบแก่ผู้เกษียณอายุราชการมากมาย    งานกลางคืนเป็นงาน socialization  

เนื่องจากผมไม่ชอบงานที่คนมากวุ่นวายและเสียงดัง    เมื่อ นพ. เสรี กล่าวอวยพรเสร็จ ผมก็เลี่ยงกลับขึ้นห้องพัก   

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ย. ๖๑

ห้อง  ๒๐๙๔๙  โรงแรมกาดสวนแก้ว. เชียงใหม่

Udom moph from Pattie KB

1 นพ. เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวง กล่าวปาฐกถาพิเศษ

2 บรรยากาศในห้องประชุม

3 ศ. นพ. อุดม คชินทร

4 สองเจ้าของผลงานนวัตกรรม

5 สามผู้วิพากษ์

6 เกณฑ์คัดกรองผลงานนวัตกรรม

7 หลัก 5A ด้านการตลาด

8 รัฐมนตรีปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวปาฐกถา

9 ผู้ฟังแน่นขนัด

10 รศ. นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ กล่าวแนะนำ Prof. Eugene

11 R2R สู่ Collective Leadership

12 นพ. เสรี กล่าวอวยพร

หมายเลขบันทึก: 656040เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2018 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท