ความทรงจำที่เป็นปัจจุบัน : พาหัวใจไปกราบพ่อ


บางกลุ่มถูกไหว้วานไปช่วยทหารทำกับข้าวและลำเลียงแจกจ่าย ขณะที่อากาศก็ร้อนอบอ้าว ผู้คนก็เนืองแน่น อะไรๆ ก็รุกเร้าท้าทายที่จะบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจอยู่ตลอดเวลา แต่เราและเราก็ยังหนักแน่นต่อภารกิจแห่งใจของการ “กราบพ่อ” และการ “ทำความดีเพื่อพ่อ”

ก่อนอื่นต้องขอบอกกล่าวว่า  เรื่องนี้ผมเขียนไว้ร่วมปีแล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาลงไว้ใน Gotoknow.org  จวบจนทำหนังสืออีกเล่ม จึงตัดสินใจนำมาลงไว้  เพราะจะได้เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของการสืบค้นในภายหน้า  อย่างน้อยก็ในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ผมคุ้นชินนี่แหละ


วันที่ 16-17 มกราคม 2560  ผมพร้อมด้วยทีมงานและนิสิตในราว 40 คนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เนื่องในโครงการ “มมส จิตอาสาทำดีเพื่อพ่อหลวง” เพื่อเป็นอาสาสมัครบริการประชาชนและเข้ากราบสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ ท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง  ตลอดจนการส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่พี่น้องชาวใต้ที่ประสบอุทกภัยผ่านศูนย์ประสานงานเครือข่ายจิตอาสาฯ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) 

กิจกรรมทั้งปวงนี้ หลักๆ แล้วคือการบำเพ็ญประโยชน์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหัวใจหลัก


ผม พร้อมด้วยทีมงานและนิสิตเดินทางถึงท้องสนามหลวงในเวลาประมาณเกือบๆ จะ 5 โมงเย็นของวันที่ 16 มกราคม 2560 ตลอดการเดินทางผมติดต่อกับส่วนกลางในเรื่องของการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร หรือแม้แต่การเข้าพักอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ติดต่อลำบากมาก เรียกได้ว่าติดต่อแทบไม่ได้เลยก็ไม่ผิด  

แต่นั่นไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายใดๆ ซึ่งผมพยากรณ์ล่วงหน้าอยู่แล้วและได้ชี้แจงกับนิสิตมาชัดเจนแล้วว่าการงานครั้งนี้จะยุ่งยาก ไม่มีความสะดวกสบาย ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว ทุกอย่างต้องพร้อมที่จะปรับตัวและปรับเปลี่ยนกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา  ด้วยเหตุนี้ ก่อนเข้าย่านรังสิต  เราทั้งหมดจึงเปลี่ยนเสื้อผ้าจากชุดลำลองมาเป็น “ชุดนิสิต” เพื่อเตรียมเกราบสักการะพระบรมศพ-

 

ทันทีที่ถึงท้องสนามหลวง นิสิตทุกคนเดินทางเข้าสู่การเข้าคิวเพื่อกราบสักการะพระบรมศพ  ผมเป็นเจ้าหน้าที่คนเดียวที่ตามเข้าไปดุแลนิสิต เจ้าหน้าที่ที่เหลืออีก 3 คนยังไม่สะดวกเข้ากราบพระบรมศพในวันนี้  ผมจึงฝากให้ดูแลรถบัสรอเราทุกคนอยู่ด้านนอกใกล้ๆ กองสลากกินแบ่งฯ

ผมเพียงคนเดียวกับภารกิจดูแลนิสิตอีก 40 คนในสถานการณ์เช่นนั้น ยอมรับว่าลำบากมาก  แต่ก็เอาใจสู้เสือ ทั้งแบกกล้อง ทั้งสอดส่วยสายตาดูนิสิตเป็นระยะๆ พร้อมๆ กับฝากเหล่านายกองค์การนิสิตและนายกสโมสรนิสิตช่วยดูแลนิสิตที่กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละส่วนอย่างใกล้ชิด  เพราะเราไม่รู้ หรือไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับกิจกรรมนี้เลย คนทุกคนที่มาต่างล้วนเป็นครั้งแรกที่มา “กราบพ่อ” เหมือนกัน


ผมจำได้แม่นยำมากในบรรยากาศของวันนั้น  เคลื่อนมหาชนหลั่งไหลเข้ากราบสักการะพระบรมศพอย่างเนืองแน่น  ผู้คนถูกเคลื่อนขยับเป็นจังหวะๆ ในบางครั้งมีอาสาสมัครนำอาหารเครื่องดื่มมาแจก  ขณะที่บางคนก็ลุกออกไปเข้าห้องน้ำห้องท่า  เฉกเช่นกับกลุ่มอาสาสมัครก็หมุนเปลี่ยนเข้ามาทำหน้าที่ไม่ขาดสาย ทั้งเก็บขยะ แจกยาดมยาหม่อง แจกของที่ระลึก ฯลฯ

ในห่วงเวลาประมาณ 3-4 ทุ่ม แทนที่นิสิตของเราจะนั่งรอเข้าสู่กระบวนการเพียงอย่างเดียว กลับกลายเป็นว่าส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาช่วยเก็บขยะในเต็นท์ต่างๆ อย่างไม่อิดออด เป็นการเก็บขยะในชุดนิสิตอย่างแสนสง่า เป็นการลุกขึ้นมาทำหน้าที่โดยที่ผมไม่ต้องสั่งการณ์ใดๆ  นั่นคือความดีงามและงดงามที่ติดตราตรึงใจผมอย่างที่สุด

จินดารัตน์ ประนนท์ 


และในราวเกือบๆ จะ 5 ทุ่ม  ปรากฏการณ์อันน่ารักก็เกิดขึ้นอีกรอบ คราวนี้เกิดในภาพกว้างกว่าการเก็บขยะทั่วไป  นิสิตลุกออกจากที่นั่งเดินข้ามฝั่งไปยัง

อีกเต็นท์หนึ่งที่ร้างคนนั่ง  ตอนแรกผมเข้าใจว่าจะไปห้องน้ำกัน  ซึ่งผมก็กังวลไปด้วย เพราะกลัวจะกลับเข้ามาไม่ทัน เนื่องจากช่วงนั้นการเคลื่อนตัวได้เคลื่อนเข้าใกล้จุดที่แตกแถว หรือกลับเข้า-ออกจากแถวไม่ได้แล้วนั่นเอง

ที่ไหนได้ นิสิตเพียงคนเดียว (นส.จินดารัตน์ ประนนท์) นายกสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้ลุกไปจัดเก็บเก้าอี้ที่ระเกะระกะอยู่อีกเต็นท์ช่วยแม่บ้าน  เท่านั้นละครับ อึดใจเดียวจริงๆ นิสิตของเราแตกฮืออกจากที่นั่งตรงดิ่งไปช่วยกันอย่างขยันขันแข็ง 

ใช้เวลาในไม่กี่อึดใจ เก้าอี้จำนวนหลักพันๆ ตัวถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบระเบียบ  ขยะเกลื่อนพื้นถูกจัดเก็บอย่างรวดเร็ว  จนผู้คนแสดงความชื่นชมและถามทักว่าเป็น “นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอะไร” และทันทีที่ถึงคิวอันเป็นแถวของนิสิตที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ตัวพระบรมมหาราชวัง นิสิตก็กลับสู่แถวและที่นั่งของตนเองอย่างรวดเร็วและเป็นระเบียบอย่างมหัศจรรย์ 


ที่สุดแล้วค่ำคืนนั้นเราเสร็จสิ้นการเข้ากราบพ่อในราวเที่ยงคืน  พอเสร็จนั้นก็แตกฮือออกมาขึ้นรถเมล์กลับมายังกองสลากฯ  ตอนนี้ยิ่งทำให้ผมวิตก เพราะไม่รู้ใครจะขึ้นรถคันไหน จะลงป้ายถูกไหม จะพลัดหลงกันหรือเปล่า – 

ทุกอย่างรุงรังในหัวสมองของผม  มันเป็นความห่วงใยมากกว่าคิดว่าเป็นภาระ  จึงได้แต่ฝากฝังแกนนำให้ดูแลกันและกันอย่างดียิ่ง ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี เข้าที่พักได้ในรายเกือบ จะตีสอง ไม่มีโรงแรมใดๆ เป็นพิเศษ เราทุกคนเข้านอนที่โรงยิมฯ ของศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)

นั่นคือคืนแรกที่เราเข้าพักในสถานที่แห่งนั้น  แม้จะไม่ได้สะดวกสบายอะไร แต่ก็มิใช่ประเด็นหลักของเรา เพราะเรายืนยันกันชัดเจนแล้วว่า “เรามากราบพ่อด้วยใจ” 

ใช่ครับ – มาด้วยใจ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีโรงแรมหรูๆ ให้เข้าพัก ไม่มีชั่วโมงจิตอาสา กยศ.-กรอ. ไม่มีอะไรจริงๆ นอกจาก “ใจนำพาศรัทธานำทาง” ล้วนๆ


วันที่ 17 มกราคม 2560  ผม พร้อมด้วยนิสิตเข้าสู่ท้องสนามหลวงในราว 9 นาฬิกา ยอมรับว่าการเข้าสู่พื้นที่รงนั้นยากลำบากมาก เพราะผู้คนเนืองแน่น รถราก็เยอะแยะ จราจรก็ติดขัดยุ่งเหยิง 

เราบริหารเวลาแบบดิบด่วน  แบ่งหน้าที่กันบนรถอีกรอบ กลุ่มแรกในราว 10 คนพร้อมเจ้าหน้าที่ 3 คนนำข้าวของไปบริจาคช่วยพี่น้องชาวใต้ผ่านศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ปะสบภัยน้ำท่วมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่เหลือทั้งหมดนำข้าวของไปปักหมุดในสนามหลวงเพื่อตั้งจุดบริการประชาชนในนาม “มมส ทำความดีเพื่อพ่อ”  ซึ่งมีทั้งที่ปักหลักในศูนย์ตัวเอง ส่วนหนึ่งตระเวนแจกตามเต็นท์ต่างๆ อีกกลุ่มไปช่วยงานศูนย์อาสาสมัครด้วยการแจกน้ำดื่ม

โดยหลักๆแล้วเรามีข้าวของไปแจกค่อนข้างมาก ทั้งที่เป็นน้ำดื่ม ลูกอม ขนม ยาดมยาหม่อง กระดาษชำระ ผ้าเย็น น้ำดื่มสมุนไพรตรีผลาจากคณะเภสัชศาสตร์ ฯลฯ  

นอกจากนั้นก็ส่งมอบน้ำดื่ม กาแฟ โอวัลตินให้กับกองอำนวยการ เพื่อให้พิจารณาใช้ประโยชน์ต่อประชาชนตามเห็นสมควร ซึ่งวันนี้เราทั้งหมดไม่ได้ใส่ชุดนิสิต  หากแต่ใส่เสื้อยึดสีดำเป็นยูนิฟอร์มเดียวกัน และนั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครๆ รู้จักเรามากขึ้นว่าเราคือนิสิตอาสาสมัครที่มาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม


จะว่าไปแล้วมองอย่างผิวเผิน  อาจรู้สึกว่าเป็นงานง่ายๆ ไม่เหนื่อยไม่ล้าก็ว่าได้ แต่ในความเป็นจริงเราทำงานกันแทบไม่ได้หยุดพัก แต่ละคนเดินแจกของไม่รู้กี่หลายร้อยรอบ ข้าวเช้าข้าวเที่ยงก็ไม่ได้ทาน 

บางกลุ่มถูกไหว้วานไปช่วยทหารทำกับข้าวและลำเลียงแจกจ่าย ขณะที่อากาศก็ร้อนอบอ้าว ผู้คนก็เนืองแน่น อะไรๆ ก็รุกเร้าท้าทายที่จะบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจอยู่ตลอดเวลา แต่เราและเราก็ยังหนักแน่นต่อภารกิจแห่งใจของการ “กราบพ่อ” และการ “ทำความดีเพื่อพ่อ”
  


และวันนั้นเราต่างทุ่มกายใจทำหน้าที่ “อาสาสมัครเพื่อพ่อ” อย่างเต็มที่ ก่อนตัดสินใจยุติบทบาทลงในราวบ่ายสามเศษๆ จากนั้นจึงกลับมารวมตัวสรุปงานอย่างสั้นๆ ที่ศูนย์ประสานงานที่เราติดตั้งเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีมติตรงกันคือใช้เวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้วยการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญๆ รายรอบสนามหลวง 

เอาตรงๆ เลยว่า  ถึงวินาทีนี้ผมก็ยังพะว้าพะวงอยู่ดี  เพราะมีหลายกลุ่มที่แยกย้ายกันไปทัศนศึกษาตามอัธยาศัย  ผมไม่รู้จะ “แยกร่าง”  ตามดูแลยังไง แต่ก็เชื่อว่าพวกเขาจะดูแลตัวเองได้  

ในอีกอารมณ์ผมก็มองว่านี่ คือโอกาสที่ “คนภูมิภาค” จะได้ “ใช้ชีวิต” ใน “เมืองหลวง” ด้วยตนเอง จึงควรให้เขาได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยตนเองบ้างก็น่าจะดี ยกเว้นกลุ่มที่ไม่รู้จะไปไหนดี  ผมจึงต้องดูแลกลุ่มนี้ด้วยตนเอง เป็นต้นว่า พาลัดเลาะเข้าเยี่ยมชม “เรือพระราชพิธี” ก่อนกลับมาขึ้นรถบัสกลับที่พักพร้อมกันในราว 2 ทุ่ม 

และเดินทางกลับสู่มหาวิทยาลัยในเช้ารุ่งของวันที่ 18 มกราคม 2560

พาหัวใจเดินทางไกลมากราบพ่อ
มาสานต่อความดีที่พ่อให้
มาเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป
มาด้วยใจเปี่ยมรักเปี่ยมศรัทธา

พ่อเสด็จกลับฟ้า
ก้มกราบด้วยน้ำตา
คืนเทวดาสู่สวรรคาลัย

....

หมายเลขบันทึก: 655946เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2018 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

-สวัสดีครับอาจารย์-อ่านบันทึกที่เขียนไว้นานแล้ว แต่ก็อ่านได้อย่างอิ่มอุ่นใจครับ-สำหรับครอบครัวเล็กๆ ของผมแล้ว มีโอกาสได้ไปกราบพ่อหลวงครั้งสุดท้ายในช่วงการขยายเวลา ถือเป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจมากๆ ครับ-มีหลายอย่างได้เกิดขึ้นในช่วงนั้น ทำให้ครอบครัวเล็กๆ ของเราคิดว่าคงจะไม่มีโอกาสได้ไปกราบพ่อหลวงแล้ว-แต่ท้ายที่สุด ด้วยบุญนำพา ศรัทธานำทาง เฉกเช่นเดียวกันคณะจิตอาสา เราจึงได้มีโอกาสดีๆ เช่นนี้ครับ-ประทับใจกับการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่าย แม้ว่าฝนจะตกแดดจะออกแต่เราก็ได้เห็นถึงพลังใจที่ส่งไปยังพ่อหลวงครับ-ด้วยความระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวง-ขอสืบสานต่อสิ่งที่พ่อสอน ขอน้อมนำมาสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ณ บ้านไร่ ของเราครับ-มิได้หวังใจให้ยิ่งใหญ่หรือโด่งดัง แต่สิ่งที่หวังคือ”กำไรชีวิต”ที่เรียกว่า”ความสุข”นั่นเองครับ-ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

การจากไปของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประหนึ่งเด็ดดอกไม้ดอกเดียว สะเทือนไปทั้งจักรวาล ก่อเกิดพลังของจิตอาสาอย่างเหลือเชื่อ แต่นั่นก็ชวนคิดครับว่า เราจำเป็นต้องสูญเสียผู้คนและสิ่งอันเป็นที่รักขนาดนั้นเชียวหรือ ถึงจะก่อเกิดมิติจิตอาสา …

ตอนนี้ ผมมีเครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำความดีเพื่อสังคมเป็นกลไกการทำงานแอบอิงไปกับระบบ ซึ่งก็ยังต้องค่อยๆ วางระบบไปเรื่อยๆ เพื่อให้เข้มแข็ง และยืนระยะให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขอบพระคุณครับ

บันทึกนี้สวยงามเอามาก ๆ ครับ ในความรู้สึกของผม

อยากเห็นลูกศิษย์ผมเป็นเช่นนี้เช่นกันครับ ;)…

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ทุกถิ่นที่ - และทุกคน ต่างล้วนมีความงดงามในตัวเอง งดงามและมีคุณค่าด้วยนิยาม หรือบริบทของตัวเองเสมอครับ ทว่าในระบบการศึกษานั้น เราต่างมีหน้าที่ที่ต้องหนุนเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้พวกเขาค้นพบคุณค่าและความหมายที่ว่านั้นให้เร็วที่สุด ใครสามารถค้นพบได้เร็ว ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เร็วขึ้น ครับ

พี่แก้วไปหลายครั้ง ถึงไม่ใช่จิตอาสา แต่จดจำได้ไม่เคยลืมค่ะ

ครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ด้วยนิยามใจเดียวกัน ภาพของพ่อจึงแจ่มชัดอย่างมหัศจรรย์ในความทรงจำของเราเอง - และเชื่อว่าจะเป็นเช่นนี้อีกนาน ครับ

น้ำตาซึม … นึกภาพตาม “ผู้นำ” ลุกจัดเก้าอีั … นิสิตอื่น ๆ ทำตาม … ทำดีเพื่อพ่อ

พระองค์ท่านเป็นยิ่งกว่าผู้นำทุกสิ่งอย่าง

สวัสดีครับ พี่หมอธิ

นี่ก็จะถึงเดือนธันวาคม แล้วความทรงจำบางอย่างก็หวนมาอีกครั้งขณะที่นิสิต ก็ยังมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์จากเรื่องใกล้ตัวค่อยเป็น ค่อยไปแต่ก็มีความงดงาม และมีพลังเล็กๆ พอให้ได้สัมผัส ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท