ภาระผูกพันงบประมาณรายจ่าย 2550 ที่รัฐบาลทักษิณได้ทำไว้


ภาระผูกพันงบประมาณรายจ่าย 2550 ที่รัฐบาลทักษิณได้ทำไว้

ภาระผูกพันงบประมาณรายจ่าย 2550 ที่รัฐบาลทักษิณได้ทำไว้

ตามบันทึกหลักการ และเหตุประกอบร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2550 เป็นดังนี้

1.  ตั้งงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เป็นจำนวนไม่เกิน 1,566,200,000,000 บาท เพื่อให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 สำหรับใช้เป็นหลัก     ในการจ่ายเงินแผ่นดิน   นโยบายงบประมาณ ปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้นำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ประกอบในการปฏิบัติงาน โดยการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายต้องพิจารณาถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และจะต้อง   สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เกิดเสถียรภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ และได้ดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล จำนวน 146,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น

2.  ได้มีการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 41,967,875,447 บาท เพื่อเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณที่กำหนดให้ตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง ตามที่ได้จ่ายไปแล้ว จำนวนเงิน 41,967,875,447 บาท เป็นเงินนอกงบประมาณที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้สั่งจ่ายไปจากเงินคงคลัง โดยที่ฝ่ายรัฐสภามิได้เป็นผู้อนุมัติ เป็นการจ่ายโดยใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร อ้างว่ามีความจำเป็นรีบด่วน เมื่อได้จ่ายไปแล้ว จึงนำมาให้ฝ่ายนิติบัญญัติทราบภายหลัง เรียกเป็นคำเทคนิคว่า "การตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง" ซึ่งมิได้มีการชดใช้จริงตามชื่อแต่ประการใด เพราะรายการนี้แยกตั้งไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากงบประมาณรายจ่าย  ปี 2550 โดยให้ถือว่าเป็นรายจ่ายของปีงบประมาณที่ได้จ่ายเงินคงคลังนั้น ๆ ไป

3.  นอกจากนี้ยังมีภาระผูกพันงบประมาณข้ามปี ที่เกิดจากการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีที่อ้างว่ามีความจำเป็นและเร่งด่วน อันจะเป็นผลผูกพันงบประมาณปี 2551, 2552 และ 2553        มีรายละเอียดดังนี้     

3.1                 ภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีรายการใหม่ที่เริ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 มีภาระผูกพันงบประมาณรายการใหม่ของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจที่จะเริ่มดำเนินการ คิดเป็นวงเงินรวม 119,445.5 ล้านบาท จำแนกเป็นเงินงบประมาณ 85,868.3 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณ 27,889.2 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาดอีก 5,688.0 ล้านบาท    

3.2                 ภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีทั้งสิ้น ภาระผูกพันงบประมาณจากรายการที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 รวมกับภาระผูกพันงบประมาณจากรายการใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 แล้ว จะเป็นวงเงินที่ผูกพันทั้งสิ้น 438,039.2 ล้านบาท จำแนกเป็นเงินงบประมาณ 289,232.1 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณ 143,119.1 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 5,688.0 ล้านบาท   สำหรับภาระผูกพันงบประมาณรวมทั้งสิ้นจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ.2550 จำนวน 438,039.2 ล้านบาท ดังกล่าว ประกอบด้วย ภาระผูกพันงบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้วจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 จำนวน 318,593.7 ล้านบาท และเป็นภาระผูกพันงบประมาณรายการใหม่ที่เริ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จำนวน 119,445.5 ล้านบาท

นอกเหนือจากวงเงิน ตาม 1, 2 และ 3 แล้ว รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ยังได้ใช้อำนาจสั่งจ่ายเงินจากสลากกินรวบ 2 ตัว และ 3 ตัว รวมทั้งเงินจากกองทุนต่าง ๆ ที่เป็นเงินนอกงบประมาณ นอกเหนือจาก     เงินคงคลังดังกล่าวอีกเป็นจำนวนนับเป็นหมื่นๆ ล้านบาท อันเป็นภาระผูกพัน หรือหนี้ค้างจ่ายของรัฐบาล ที่จะต้องตั้งรายจ่ายชำระหนี้ในงบประมาณ ปี 2550 นี้   ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายตามข้อผูกพันที่เป็นหนี้สาธารณะคงค้างทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มียอดรวม 2,617,812.4 ล้านบาท

นี่แหละคือข้อจำกัดที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบพอเพียง ที่เป็นผลมาจากนโยบายประชานิยมที่ละเมิดหลักวินัยทางงบประมาณ และการคลังที่รัฐบาลทักษิณได้ก่อไว้ให้เป็นกรรมของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และชุดต่อ ๆ มาอีก   แต่สุดท้ายก็คือ ภาระที่หนักของประชาชนที่ต้องมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งไม่ใช่ทักษิณ และบริวารแต่อย่างใด

                                แนวหน้า (คอลัมน์ปรีชาทัศน์)   6   ธ.ค.  2549

หมายเลขบันทึก: 65500เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท