เทคนิคการใช้ตัวการันต์


สวัสดีค่ะ พบกับครูสรอีกแล้วค่ะ วันนี้จะมาในเรื่องการใช้ตัวการันต์ ตัวการันต์ หรือเรียกอีกอย่างว่า ไม้ทัณฑฆาต คำว่า “ทัณฑฆาต” เป็นคำสมาส มาจาก ทัณฑ +ฆาต ทัณฑ แปลว่า โทษ ส่วนคำว่า ฆาต แปลว่า ฆ่า ดังนั้นคำว่าทัณฑฆาต จึงมีความหมายว่า ฆ่าตัวอักษรตัวนั้นไม่ให้ออกเสียงนั่นเองค่ะ วันนี้ครูสรมาสายโหดค่ะ

คำในภาษาไทยมีมากมาย ส่วนหนึ่งการเขียนตัวการันต์เป็นคำที่ มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาต่างประเทศ เช่น คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ การออกเสียงภาษาต่างประเทศมักอ่านออกเสียงยาก โดยเฉพาะคำมีหลายพยางค์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่เครื่องหมายตัวการันต์กำกับตัวที่ไม่ได้อ่านออกเสียงคำในคำนั้น ๆ เพื่อไม่ให้สับสนนั่นเอง ทุกคนเคยสงสัยกันไหมค่ะว่า แล้วหลักการเขียนตัวการันต์นั้น เขาเขียนกันอย่างไร เพราะที่เห็นโดยทั่วไป ตัวการันต์จะเขียนที่ตัวท้ายสุดบ้าง ตรงกลางของคำบ้าง ตามครูสรมาดูกันค่ะ

ตำแหน่งของตัวการันต์

การเขียนตัวการันต์ มักนำไปเขียนในคำทับศัพท์ที่มาจากภาษาต่างประเทศ หรือภาษาอื่น ๆ ที่อ่านออกเสียงยาก โดยจะใส่ตัวการันต์กำกับไว้ที่พยัญชนะตัวที่ไม่อ่านออกเสียง ตำแหน่งของตัวการันต์เขียนได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

1. เขียนไว้ที่พยัญชนะตัวหลัง

ตัวอย่าง

บุฟเฟ่ต์ มาจากคำว่า buffet

คอมมิวนิสต์ มาจากคำว่า communist

คอลัมน์ มาจากคำว่า column

บัลเลต์ มาจากคำว่า ballet

ฟิวส์ มาจากคำว่า fuse

เรดาร์ มาจากคำว่า radar

ฟิสิกส์ มาจากคำว่า physics

เต็นท์ มาจากคำว่า tent

สวิตช์ มาจากคำว่า switch

ฤทธิ์ มาจาก ภาษาสันสกฤต

จันทร์ มาจาก ภาษาสันสกฤต

ศิษย์ มาจาก ภาษาสันสกฤต

วิรุฬห์ มาจาก ภาษาบาลี

สัมพันธ์ มาจาก ภาษาบาลี

2. เขียนไว้ที่พยัญชนะตัวกลาง

ตัวอย่าง

ฟังก์ชัน มาจากคำว่า function

ไนต์คลับ มาจากคำว่า nightclub

เทอร์โมมิเตอร์ มาจากคำว่า thermometer

เสิร์ฟ มาจากคำว่า serve

ฮอร์โมน มาจากคำว่า hormone

วอลเลย์บอล มาจากคำว่า volleyball

ตัวการันต์ นอกจากมีหน้าที่ไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวที่มีเครื่องหมายการันต์กำกับไว้ตามตำแหน่งหลังสุดหรือตรงกลางคำแล้ว ยังทำหน้าที่กำกับพยัญชนะดังนี้

1. กำกับพยัญชนะ 1 ตัว

ตัวอย่าง สัปดาห์ ฤทธิ์ บริสุทธิ์ การันต์ แอมแปร์ เอนไซม์ ไวน์ อิเล็กทรอนิกส์ ทิงเจอร์ แท็งก์
บัลเลต์ นัมเบอร์ ทรานซิสเตอร์ แกรไฟต์ ไวยากรณ์ ครรภ์ ศูนย์ สดมภ์ สิงห์ นิมนต์ มโนทัศน์ มัคคุเทศก์ ราชูปถัมภ์ อภิสิทธิ์ นิรทุกข์

2. กำกับพยัญชนะ 2 ตัว

ตัวอย่าง ภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เอกลักษณ์ ไสยศาสตร์ พิเรนทร์ พักตร์ นรินทร์ อำมรินทร์ นวมินทร์ น้ำมนตร์

หมายเลขบันทึก: 654876เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2018 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2018 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท