ชีวิตที่พอเพียง 3277. อารมณ์กับความลับของสมอง



หนังสือ How Emotions Are Made : The Secret Life of the Brain (2017)  เขียนโดย Lisa Feldman Barrett (ศาสตราจารย์ดีเด่นด้านจิตวิทยา, มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทอร์น  และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ด้านจิตเวชและรังสีวิทยา    และได้รับรางวัลจาก NIH ในฐานะผู้นำด้านการวิจัยอารมณ์กับสมอง) เสนอทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับอารมณ์ ที่ลบล้างความเข้าใจเดิมๆ  

ศาสตราจารย์ Barrett เสนอว่า อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองจากสมอง     แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม  สมอง  และการตีความผัสสะที่ร่างกายได้รับในขณะนั้น

อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น  ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง    ผู้สร้างคือวัฒนธรรม ร่วมกับสมอง     ย้ำว่า อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองจากสมอง    แต่มาจากสิ่งเร้าจากภายนอกในขณะนั้น และวัฒนธรรมที่เป็นความรู้เดิมในสมอง  มีปฏิสัมพันธ์กับสมองในขณะนั้น เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าอารมณ์       

ตามความเชื่อดั้งเดิม อารมณ์เป็นสิ่งที่พลุ่งขึ้นมาเอง     โดยไร้เหตุผล    ปราชญ์ในอดีตมาจนปัจจุบัน ต่างก็ยึดถือแนวคิดนี้    เขาเอ่ยถึง อริสโตเติ้ล,  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า,  ดาร์วิน,  เดการ์ดส์,  ฟรอยด์, สตีเวนส์ พิ้งเก้อร์, ดาไล ลามะ    ความเชื่อแนวนี้ทำให้เราจัดการอารมณ์แบบตั้งรับ    และมองว่ามนุษย์เราต่างก็มีอารมณ์แบบเดียวกัน    ซึ่งไม่จริง    คนในบางวัฒนธรรมไม่มีอารมณ์บางแบบ  

ความเชื่อดั้งเดิมนี้ มองว่าอารมณ์เป็นสิ่งสากลของมนุษยชาติ    และคนเราสามารถตรวจจับอารมณ์ของคนอื่นได้โดยอัตโนมัติ    แนวคิดนี้ภาษาวิชาการเรียกว่า essentialism     คล้ายกับว่าสมองคนเรามีการเชื่อมต่อใยประสาทเพื่อการแสดงออกทางอารมณ์  มีเซลล์ประสาทจำเพาะสำหรับอารมณ์แต่ละชนิด    เมื่อเซลล์สมองส่วนนั้นถูกกระตุ้น ร่างกายก็แสดงการตอบสนองตามอารมณ์นั้นๆ    สภาพเช่นนี้ภาษาวิชาการเรียกว่า fingerprints   

เมื่อเพื่อนมาพูดก่อกวน    เซลล์สมองส่วนความโกรธถูกกระตุ้น  เกิดอาการเลือดเดือด และปากตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าความเชื่อดั้งเดิมต่ออารมณ์นั้น ผิด    ในความเป็นจริง คนเราแสดงออกทางกายต่ออารมณ์แต่ละอารมณ์แตกต่างกันหลายแบบ    ขึ้นอยู่กับบริบท และวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้นๆ    ดังเราเคยได้ยินว่า ฝรั่งแปลกใจ ที่กำลังคุยกันเรื่องเศร้า  แต่คนไทยกลับมีสีหน้ายิ้มแย้ม แถมยังหัวเราะด้วย    และมีข้อสรุปชัดเจนว่า คนที่มีสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่ได้มีความสุขเสมอไป   เขาบอกว่าในปี ค.ศ. 2007 สหรัฐอเมริกาสูญเงินไป ๙๐๐ ล้านเหรียญในโครงการ SPOT (Screening Passengers by Observation Techniques)   ใช้กล้องจับใบหน้าให้คอมพิวเตอร์แปลผลตรวจกรองหาผู้ก่อการร้าย    ผลคือล้มเหลว

กล่าวง่ายๆ คือ ผลการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สมอง บอกว่ากลไกแสดงออกทางอารมณ์มีความซับซ้อนกว่าความเชื่อเดิมๆ    และไม่มีสมองส่วนจำเพาะที่ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์แต่ละชนิด    ซึ่งหมายความว่า ทฤษฎี fingerprints ก็ผิด  

ตามทฤษฎีใหม่ อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทันใด ตามพื้นฐานประสบการณ์เดิมของแต่ละคน    เรียกทฤษฎีนี้ว่า theory of constructed emotion    สิ่งที่ทำให้เกิดการสนองตอบทางอารมณ์มาจากประสบการณ์เดิม กับ ผัสสะ (sensory input) ที่ได้รับในขณะนั้น    โดยขณะเกิดอารมณ์นั้น สมองหลายส่วนทำหน้าที่พร้อมกัน    และอารมณ์แบบเดียวกัน (เช่น โกรธ) ที่เกิดขึ้นในคนคนเดียวกันในต่างกรรมต่างวาระก็ไม่เหมือนกันในลักษณะพิมพ์เดียวกัน    กล่าวคือมีความแตกต่างกันไปตามบริบทนั้นๆ

ร่างกายของคนเรามีระบบทำนายล่วงหน้า เอาไว้ใช้เผชิญสถานการณ์    เรื่องอารมณ์เราก็มีระบบทำนายล่วงหน้าด้วย    ในลักษณะของระบบ “อัตโนมัติ” (interoception) ให้การทำงานของสมอง  ฮอร์โมน  และระบบอิมมูน ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น     ช่วยให้เราอยู่ในสภาพผ่อนคลาย    ไม่ต้องใช้พลังงานกับสมองมากนัก    โดยที่ระบบ interoception  จะคอยเฝ้าระวังตรวจสอบสัญญาณความรู้สึกจากภายในและภายนอกร่างกาย    

มนุษย์เรามีกลไกธรรมชาติ ที่มีมาแต่กำเนิด ให้รับสัญญาณจากสิ่งเร้าต่างๆ และสามารถ “รับรู้” เป็น ความพอใจ หรือ ไม่พอใจ    การรับรู้นี้เรียกว่า affect   แต่ไม่ใช่ emotion   ขอย้ำว่า ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด

การรับรู้ (affect) นี้ เป็นชิ้นส่วนที่ประกอบกันเข้าเป็น อารมณ์  ความคิด  และความรู้สึก (perception)  

การรับรู้มีสองมิติ  มิติละสองด้าน   คือมิติ ความพอใจ (pleasure) กับ ไม่พอใจ (displeasure)     กับมิติด้าน ความตื่นตัว (agitation)  กับความสงบนิ่ง (calmness) 

ระบบ interoception ทำหน้าที่จัดสรร “เสบียง” (resources) ของร่างกาย    โดยที่ inreroceptive network มี ๒ องค์ประกอบ

  • Body-budgeting region  ทำหน้าที่ใช้ข้อมูลจากประสบการณ์เดิม  และจากการรับรู้สภาพปัจจุบัน    นำมาประมวลเป็นสัญญาณส่งไปให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายมีการเตรียมตัวล่วงหน้า    เช่นเมื่อออกกำลังกาย ก็มีสัญญาณไปบอกให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น  ให้มีการเผาผลาญกลูโคสเพื่อเป็นพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • Primary interoceptive cortex  เป็นการรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่นรับรู้ว่าหัวใจเต้นแรงขึ้น   

สององค์ประกอบนี้ส่งสัญญาณป้อนกลับซึ่งกันและกันเป็นวงจร    เพื่อควบคุม “เสบียง” ของร่างกาย เช่น กลูโคส  คอร์ติซอล  อัตราการเต้นของหัวใจ  

สภาพของ “เสบียง” ของร่างกายนี่แหละที่อารมณ์ก่อเกิดขึ้น   โดยเกิดขึ้นจากการที่มีความต้องการ “เสบียง” เพิ่มขึ้น จากการที่สถานการณ์ภายใน และ/หรือ ภายนอกร่างกายเปลี่ยนไปจากเดิมมาก   มีสัญญาณให้ร่างกายหาพลังงานมาเพิ่มขึ้น    และในบางกรณี จัดหาพลังงานไม่ทัน   เกิดความไม่สมดุล   โดยเรารู้สึกได้จากความรู้สึกไม่ปกติ    สมองก็จะส่งสัญญาณออกไปเป็นอารมณ์       

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 654875เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2018 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2018 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

It seems from your writing that…ศาสตราจารย์ Barrett เสนอว่า อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองจากสมอง แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม สมอง และการตีความผัสสะที่ร่างกายได้รับในขณะนั้น

อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง ผู้สร้างคือวัฒนธรรม ร่วมกับสมอง ย้ำว่า อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองจากสมอง แต่มาจากสิ่งเร้าจากภายนอกในขณะนั้น และวัฒนธรรมที่เป็นความรู้เดิมในสมอง มีปฏิสัมพันธ์กับสมองในขณะนั้น เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าอารมณ์

ตามความเชื่อดั้งเดิม อารมณ์เป็นสิ่งที่พลุ่งขึ้นมาเอง โดยไร้เหตุผล ปราชญ์ในอดีตมาจนปัจจุบัน ต่างก็ยึดถือแนวคิดนี้ เขาเอ่ยถึง อริสโตเติ้ล, สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ดาร์วิน, เดการ์ดส์, ฟรอยด์, สตีเวนส์ พิ้งเก้อร์, ดาไล ลามะ ความเชื่อแนวนี้ทำให้เราจัดการอารมณ์แบบตั้งรับ และมองว่ามนุษย์เราต่างก็มีอารมณ์แบบเดียวกัน ซึ่งไม่จริง คนในบางวัฒนธรรมไม่มีอารมณ์บางแบบ …and (later) …สององค์ประกอบนี้ส่งสัญญาณป้อนกลับซึ่งกันและกันเป็นวงจร เพื่อควบคุม “เสบียง” ของร่างกาย เช่น กลูโคส คอร์ติซอล อัตราการเต้นของหัวใจ

สภาพของ “เสบียง” ของร่างกายนี่แหละที่อารมณ์ก่อเกิดขึ้น โดยเกิดขึ้นจากการที่มีความต้องการ “เสบียง” เพิ่มขึ้น จากการที่สถานการณ์ภายใน และ/หรือ ภายนอกร่างกายเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีสัญญาณให้ร่างกายหาพลังงานมาเพิ่มขึ้น และในบางกรณี จัดหาพลังงานไม่ทัน เกิดความไม่สมดุล โดยเรารู้สึกได้จากความรู้สึกไม่ปกติ สมองก็จะส่งสัญญาณออกไปเป็นอารมณ์ …

are contradictory. To reconcile the two assertions, we would have to accept both sources of อารมณ์ : ‘trained/learned’ and ‘automated/physiological’ อารมณ์.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท