กลไกรัฐต้องสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง


กลไกรัฐต้องสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

28 กันยายน 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]  

 

ท้องถิ่นเว้นวรรคทางการเมือง

          สภาพการเว้นวรรคทางเมืองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สร้างความสับสนกังขาสงสัยแก่คนท้องถิ่นทั้งฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และฝ่ายประจำที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างส่วนท้องถิ่นใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) โครงสร้างและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการร่างประมวล อปท. ค้างไว้จากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน (2) การเลือกตั้ง อปท. ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อ (1) ด้วยมีการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน หากนับอายุการดำรงตำแหน่งของนายก อปท. และ สมาชิกสภา อปท.แล้ว บางรายดำรงตำแหน่ง นายก อปท. และ สมาชิกสภา อปท.มาร่วม 4-8 ปี (3) การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ที่เป็นกฎหมายหลักของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ยังไม่คืบหน้า ไปไม่ถึงไหน เพราะ พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีปัญหาความบกพร่องในระบบคุณธรรม (Merit System) เพราะอำนาจสิทธิขาดที่มากมายของนายก อปท. และ การเกิดระบบอุปถัมภ์อย่างกว้างขวาง มายาวนานกว่า 18 ปี

 

การขับเคลื่อนการบริการภาครัฐ

ปัญหากลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงว่า “จะทำอย่างไรให้กลไก (Mechanism) ของรัฐสามารถให้บริการประชาชน (Public Service) ได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว” เพราะการบริการสาธารณะเป็นหน้าที่ของราชการ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ 2 ประการ คือ (1) กลไกของรัฐหรือ อปท. นั้นคืออะไร (2) การบริการสาธารณะเพื่อบริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร

 

ประเด็นที่ 1 กลไกของรัฐที่สำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการท้องถิ่น

พิจารณาจากปัจจัยการบริหาร อันประกอบด้วย Man, Money, Materials, Management (1) Man หรือ คน = การบริหารกำลังคน จะใช้คนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลกับงานให้มากที่สุด (2) Money หรือ เงิน = การบริหารเงิน จะจัดสรรเงินอย่างไรให้ใช้จ่ายต้นทุนน้อยที่สุดและให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล (3) Materials หรือ วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ = การบริหารวัสดุในการดำเนินงาน ว่าจะทำอย่างไร้ให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด หรือเกิดประโยชน์สูงสุด (4) Management หรือ การจัดการ = การจัดการ คือกระบวนการจัดการบริหารควบคุมเพื่อให้งานทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่

 

บุคคลากรหลักในการขับเคลื่อน

คนหรือบุคคลเป็นหลักเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน ส่วนปัจจัยบริหารอื่นที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง หรือส่วนกลางที่ต้องดำเนินการ ใน อปท. นั้นมีบุคคลกรปฏิบัติหน้าที่อยู่ 2 ประเภทคือ (1) ฝ่ายประจำ มีหน้าที่ปฏิบัติราชการประจำของ อปท. ตามที่ฝ่ายการเมืองและรัฐบาลกลางได้มอบหมายวางกรอบนโยบายไว้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีหน้าที่ “นำนโยบายของฝ่ายการเมืองและรัฐบาลกลางไปปฏิบัติให้เป็นผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ” ประกอบด้วยข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งจะมีวาระการทำงานไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ มีระบบคุณธรรม มีระเบียบวินัยเป็นกรอบบังคับการปฏิบัติงาน และอีกฝ่ายคือ (2) ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น มีหน้าที่วางนโยบายการปฏิบัติงาน โดยการนำ “บริการสาธารณะ” ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภา ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเทอมหรือเป็นวาระ 4 ปี โดยมีการปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ในการบริหารการพัฒนา อปท. ตามที่ได้หาเสียงไว้เมื่อครั้งสมัครรับเลือกตั้ง

ความสำคัญของบุคลากรทั้ง 2 ฝ่าย ถือว่ามีสำคัญพอกัน ด้วยเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อน “การบริหารการพัฒนา อปท.” เหมือนกัน แต่บุคคลทั้งสองฝ่ายมีบริบทเนื้อหา (Context) ที่ค่อนข้างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะฝ่ายประจำมี “ระบบคุณธรรม” และมี “ระเบียบวินัย” เป็นที่ตั้ง  แต่ฝ่ายการเมืองขึ้นกับ “การเลือกตั้งและการเมือง” และ “คุณธรรมและจริยธรรม” ทางการเมือง

ฉะนั้นในการพิจารณา “กลไก” ที่มีประสิทธิภาพของรัฐ ในที่นี้ก็คือ “กลไกของ อปท.” จึงไม่พ้นที่จะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องนี้ คือ (1) ระบบคุณธรรมของฝ่ายประจำที่มีประสิทธิภาพ (2) ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจรวมถึงโครงสร้างอื่นหรือองค์ประกอบอื่นที่มีผลโดยตรงต่อระบบคุณธรรม และระบบการเลือกตั้ง เช่น รูปแบบการปกครองของ อปท.  ภารกิจอำนาจหน้าที่ของ อปท.  เป็นต้น

 

กลไกของ อปท. ในระบบคุณธรรม (Merit System)

ในการบริหารงานบุคคลของฝ่ายประจำท้องถิ่น โดยการออกแบบ หรือ ตรา “กฎหมายระเบียบบริหารงานบุคคล” ที่สามารถพิทักษ์คุ้มครองบุคคลกรฝ่ายประจำให้สามารถโตก้าวหน้าในชีวิตราชการได้อย่างมั่นคง อันจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้บุคลากรฝ่ายประจำมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้การขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบาย และ การจัดการบริการสาธารณะของ อปท. แก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

 

กลไกของ อปท. ในระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อให้ได้นักการเมืองท้องถิ่นที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่น และต่อประเทศชาติ ส่งผลให้การขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบาย และ การจัดการบริการสาธารณะของ อปท. แก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเช่นกัน

 

กลไกเกี่ยวเนื่องอื่น

นอกจากสองกลไกข้างต้นแล้ว กลไกที่เกี่ยวเนื่องอื่นที่สำคัญเช่น “โครงสร้างอื่นหรือองค์ประกอบอื่น” ได้แก่ รูปแบบโครงสร้างของ อปท.  ภารกิจอำนาจหน้าที่ของ อปท. เนื่องจากรูปแบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพของ อปท.  รวมถึงภารกิจอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม จะส่งผลถึง “การบริหารจัดการ” และ “การจัดบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ” ต่อไป  ดังผลการศึกษาวิจัยล่าสุดพบว่า ประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจต่อการจัดการบริหารสาธารณะของ อปท. ตามอำนาจหน้าที่ ไม่อยากให้มีการยุบเลิก อปท. ไป แต่ปรากฏว่า อปท.ประสบปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอแก่การจัดการบริหารสาธารณะในพื้นที่ ด้วยงบประมาณงบลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลกลางมีจำนวนน้อย ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาการจัดเก็บรายได้ ปัญหาการถ่ายโอนภารกิจอำนาจหน้าที่ ปัญหาการถ่ายโอนบุคลากรแก่ อปท. รวมถึงปัญหาการบริหารงานบุคคล

 

ประเด็นข้อสังเกตในกลไก อปท.

(1) ด้านโครงสร้าง ในรูปแบบและชั้นของ อปท. นั้น ควรเหลือเพียง 2 ระดับ คือ “อบจ.” เป็น อปท. ระดับบน (Upper Tier) โดยมี “เทศบาล” และ “อปท. รูปแบบพิเศษ” เป็น อปท. ระดับล่าง (Lower Tier) โดย อบต. ให้ยกฐานะเป็นเทศบาล และเทศบาลขนาดเล็ก ให้ยุบรวมหรือควบรวม (Amalgamation or Merging Local Unit) เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ขึ้น (2) ด้านภารกิจอำนาจหน้าที่ ควรมีการแยก “อปท. ที่มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง” (Urban) และ “อปท.ที่มีลักษณะเป็นชุมชนชนบท” (Rural) ไว้ให้ชัดเจนแตกต่างกันด้วย เพราะในบางพื้นที่ไม่มีลักษณะสภาพความเป็นเมือง (Urbanization) แต่อย่างใด เช่น มีพื้นที่เป็น ป่าเขา ธรรมชาติ อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร เป็นเกาะ ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมี “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ในพื้นที่พิเศษ (Special Economic Zone, Trade Zone) เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองชายแดน เมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เมืองอุตสาหกรรมและโลจีสติกส์ เมืองท่องเที่ยว เมืองไอที ฯลฯ (3) ด้านการบริหารจัดการ อปท. ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่า ด้านการคลัง การงบประมาณ รายได้ การบริหารงานบุคคล ควรมีการพิจารณาแก้ปัญหาเร่งด่วน อาทิ การบริหารงานบุคคลโดยเฉพาะ “ปัญหาระบบคุณธรรม” และ “ปัญหากรณียังไม่มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ฯลฯ ด้านรายได้ ควรเพิ่มอัตราและฐานภาษี เช่น ภาษีทรัพยากร ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ฯลฯ เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 2 การจัดการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว

การบริการสาธารณะ (Public Service) [2] หมายถึง การบริการงานในหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ดีมีสุข จำแนกลักษณะของบริการสาธารณะเพื่อสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นมีลักษณะ ดังนี้คือ [3] (1) เป็นกิจการมีลักษณะเพื่อสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นนั้น ที่สามารถแยกออก หรือมีลักษณะที่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นได้ (2) เป็นกิจการมีลักษณะใกล้ชิดเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่น สรุปว่า จำแนกประเภทของบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจของท้องถิ่น ได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) ประเภทสวัสดิการของคนในท้องถิ่นโดยตรง และ (2) ประเภทที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม และการอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น

 

รูปแบบการมอบหมายภารกิจบริการสาธารณะ

รูปแบบการมอบหมาย “ภารกิจ” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา มี 3 รูปแบบ [4] ได้แก่ (1) บริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเอง (2) บริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานราชการร่วมกันดำเนินการ (3) บริการสาธารณะที่รัฐไม่ได้ถ่ายโอนไป แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณะของ อปท. คือ

(1) “ภารกิจใดที่ควรเป็นภารกิจของท้องถิ่น” ก็ควรมอบหมายให้ท้องถิ่น หรือ อปท. เป็นผู้ดำเนินการ รัฐบาลกลางมีหน้าที่ “ถ่ายโอนภารกิจ” นั้นให้แก่ทั้งถิ่นเพื่อไปบริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป (2) เมื่อมีการมอบหมายภารกิจหรือการถ่ายโอนภารกิจ ต้องมีการถ่ายโอนงบประมาณ และกำลังคนด้วย เพราะที่ผ่านมา มีการถ่ายโอนภารกิจ แต่ไม่ถ่ายโอนงบประมาณ หรือ กำลังคน ทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ เช่น การถ่ายโนทางหลวงชนบท เป็นต้น (3) ขนาดของ อปท. ที่เหมาะในการจัดการบริการสาธารณะ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณา เนื่องจาก หาก อปท. มีขนาดเล็กมาก ไม่เหมาะสมที่จะได้รับการถ่ายโอนภารกิจ เนื่องจาก อปท.อาจไม่มีขีดความสามารถ หรือ ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการ เช่น การถ่ายโอนโรงเรียน ฉะนั้น ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย  อาจมีการเพิ่มขนาดของของ อปท. ทั้งในเชิงพื้นที่ หรือเชิงประชากรด้วยการ “ยุบรวม” หรือ “ควบรวม” (Amalgamation) อปท. ที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกัน (4) ภารกิจบางประการไม่ได้มีการถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดการศึกษาสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดต้องการจัดการศึกษาดังกล่าวก็สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้การพิจารณามาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนด (5) ในภารกิจขนาดใหญ่ หรือ ภารกิจที่คาบเกี่ยวพื้นที่ อปท. หรือภารกิจที่เป็นการบริการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ น้ำประปา ไฟฟ้า การศึกษา การสาธารณสุข การจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ มลพิษ น้ำเสียฯ เช่น ในปัจจุบัน อปท. ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต่างมีหน้าที่จัดเก็บขยะมูลฝอย และ ทำลาย เผา ฝังกลบ ขยะเหล่านั้นเอง ซึ่งในอนาคต หากมีการแบ่งหน้าที่ดังกล่าวไปให้ อปท.ขนาดใหญ่ หรือ อปท.ระดับบน (Upper Tier) จะจะเป็นลดภารกิจ และเป็นการสร้างประสิทธิภาพให้แก่ อปท.ได้ในอีกทางหนึ่ง เพราะมีการแบ่งสรรภารกิจในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ได้อย่างเหมาะสมได้สัดส่วนแล้ว (6) ควรมีการแบ่งภารกิจอำนาจหน้าที่ของ อปท. ให้ชัดเจน ระหว่าง “อปท. ที่มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง” (Urban) และ “อปท.ที่มีลักษณะเป็นชุมชนชนบท” (Rural) หลักการบริหารงาน อปท.ในรูปแบบเทศบาลเป็นการบริหารจัดการ อปท. “เขตพื้นที่เมือง” เป็นสำคัญ แต่เนื่องจากสภาพบ้านเมืองส่วนใหญ่ของ อบต. เป็นชนบท บ้านเมืองไม่แออัด การจราจรไม่วุ่นวาย ไม่จำเป็นต้องเอาระเบียบเทศบาลมาบริหารจัดการ จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะคนชนบทคนท้องถิ่นอยู่กินแบบพื้นบ้านชีวิตเรียบง่ายรักความสันติสุข และ อบต.เป็นหน่วยงานที่เข้าถึงประชาชนใกล้ชิดที่สุดมองเห็นปัญหาจริงๆ

 

ปัญหารอยต่อการทำกิจการร่วมกันระหว่าง อปท.

รอยต่อกิจการร่วม อปท. มีปัญหาล้มเหลวซ้ำซาก อาทิเช่น เรื่องขยะ เรื่องการศึกษา เรื่องการกีฬา เหล่านี้สะท้อนปรากฏพบเห็นตามภูมิภาคต่าง ๆ ในรูปของ (1) หน่วยงานภูมิภาค เช่น ศูนย์โยธาภาค ศูนย์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมภาค (2) งานเทศกาลบุญประเพณีต่าง ๆ ตามภูมิภาค เช่น งานบุญบั้งไฟยโสธร เทศกาลงานวันผ้าไหมปักธงชัย งานขึ้นเขาพนมรุ้ง (3) การเข้ากำกับดูแลของส่วนกลางเข้ามาแทรก มักล้มเหลว ไม่ประสบผลสำเร็จตามคาด มีการใช้งบประมาณที่มากมาย ที่จะขาดความคุ้มค่า มีเงินเหลือจ่าย กลับตกเป็นเงินของกลุ่มจังหวัด ที่สามารถนำเงินดังกล่าวไปถัวจ่ายเป็นค่าใช้สอยไปเที่ยวทัศนศึกษาดูงานได้ หรือ เอางบส่วนนี้ไปหาประโยชน์การจัดอบรมอื่น ๆ ปัญหาที่เกิดมองว่า เป็นปัญหาคนกลาง ที่แอบแสวงประโยชน์ หรือ มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องในกิจกรรมนั้นๆ การเล่นไม่ซื่อ ไม่โปร่งใส ตรงไปตรงมา การหาโอกาสการแสวงประโยชน์จากเม็ดเงินงบประมาณ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็เอา เหล่านี้ ทำให้โครงการงบประมาณหลวงหลายเรื่องไม่ประสบผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เรียกว่า “ไม่คุ้มค่า”  เพราะความฉ้อฉลไม่ซื่อตรงของคนผู้มีอำนาจทั้งหลาย

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 28 กันยายน -  วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 79   

[2] บริการสาธารณะ, http://th.wikipedia.org/wiki/บริการสาธารณะ , บริการสาธารณะ (Public service) หมายถึง บริการที่นิติบุคคลในกฎหมายมหาชน เช่น ฝ่ายปกครองจัดให้มีเพื่อตอบสนองความต้องการอันเป็นประโยชน์ของสังคมและปัจเจกชนของสังคม ตัวอย่างบริการสาธารณะ อาทิ การจัดให้มีทหาร ตำรวจ ตำรวจดับเพลิง การสร้างสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์  แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ (1) บริการสาธารณะปกครอง (2) บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (3) บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม   

[3] รศ. วุฒิสาร ตันไชย, “การกระจายภารกิจหน้าที่ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคใหม่”,

http://www.local.moi.go.th/webst/botfam1.htm    

[4] พรบ.ว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ. 2542    

หมายเลขบันทึก: 654120เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2018 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2018 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ติดตามอ่านผลงานของอาจารย์ตลอดครับ..เพียงแต่ไม่ได้เข้ามาเขียนในบันทึกเท่านั้น..

สวัสดีค่ะ ขออนุญาติขอคำปรึกษาด้วยนะค่ะคืออยากทราบว่า ทางสาธารณะประโยชน์ มีการบุกรุกปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ด้วยหรือค่ะ คือทางเรามีที่ดิน 2แปลงในโฉนดมีทางสาธารณะประโยชน์ผ่านทั้งสองแปลง แต่ทางเราไม่สามารถเข้าออกในเส้นทางนี้ได้ เราได้ร้องทุกข์ไปที่ศูนย์ดำรงธรรมแล้วค่ะ สำนักงานที่ดินก็ออกมาทำการรังวัดเรียบร้อยแล้ว ก็แจ้งว่าให้ทราบว่าตัวอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่บนพื้นที่ทางสาธรณประโยชน์ ให้อำเภอและ อบต.ท้องถิ่นจัดการ แต่ก็ยังมีการปลูกสร้างต่อ อย่างนี้เราต้องทำอย่างไรดีค่ะ ร้องไปทั้งจังหวัดแล้วด้วยนะค่ะ

ตอบคุณ [email protected] “ถนนหรือทางสาธารณะ” เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ประเภท “พลเมืองใช้ร่วมกัน” ตาม ปพพ. มาตรา 1304 ปล่อยให้ใครบุกรุกไม่ได้ ผิดกฎหมายอาญา อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษา เป็นของ “นายก อปท.” ร่วมกัน “นายอำเภอ”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท