ชีวิตที่พอเพียง 3271a. ภพภูมิใหม่ของมูลนิธิสยามกัมมาจล


หากจะให้เกิด impact ในภาพใหญ่ต่อการพัฒนาเยาวชนของประเทศ ต้องขยับไปทำงานในลักษณะ macro มากขึ้น

เช้าวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล    โดยการประชุมมีวาระเดียว คือ ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลในระยะต่อไป    

คุณเปา ผจก. มูลนิธิ เสนอสรุปผลการประเมินผลงานของมูลนิธิในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา    ที่ประเมินโดยทีมจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ มน.    นำไปสู่การเสนอยุทธศาสตร์เด็กปฐมวัย    ซึ่งหมายความว่า เป็นข้อเสนอว่าต่อจากนี้ไปมูลนิธิจะทำงานพัฒนา character ของเด็กและเยาวชนทั้งในระดับวัยรุ่น และวัยเด็กเล็ก    โดยการดำเนินการในระดับวัยรุ่นจะลดลง    งานหลักจะไปอยู่ที่วัยเด็กเล็ก    ผมตีความเอาเองว่าในสัดส่วน  เด็กเล็ก : วัยรุ่น  = 80:20   โดยน่าจะฝึกวัยรุ่นเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ โดยใช้แนวทางที่ถูกต้อง   

กรรมการมูลนิธิบอกว่า ทีมงานของมูลนิธิยังสรุป (สังเคราะห์) ผลงานนำเสนอต่อสาธารณชนไม่ชัด   ว่าเกิด impactที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง   นำไปสู่คำแนะนำวิธีทำงานที่ได้ทั้ง impact ด้านการทำงานในลักษณะcatalyst    และได้ visibility แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย    เรื่องนี้ทั้งคุณเปาและผม มีประสบการณ์สมัยผมเป็นผู้อำนวยการ สกว. 

ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า สิบปีที่ผ่านมางานของมูลนิธิฯ มีลักษณะเป็นงาน micro    หากจะให้เกิด impact ในภาพใหญ่ต่อการพัฒนาเยาวชนของประเทศ ต้องขยับไปทำงานในลักษณะ macro มากขึ้น    โดยงาน macro ลักษณะหนึ่งคือ ทำงานเสาะหาเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเป็นผลงานของหน่วยงานหรือภาคีต่างๆ    นำมาตีความเชิงคุณค่าในการเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐   และชี้/ชวน/เชื่อม ช่องทางขยายผล ทั้งขยายแนวกว้างและแนวลึก    นำมาเป็นรายการทีวี และยูทูบ รวมทั้งจัด “มหกรรมคุณภาพคนไทย ๔.๐”   และ“มหกรรมพัฒนาเด็กปฐมวัย”  ร่วมกับภาคีที่หลากหลาย   เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี    

ภาคีของการทำงานต้องครบด้าน คือ ด้านนโยบาย  ผู้ดำเนินการ ท้องถิ่น/พื้นที่ และด้านวิชาการ   

ท่านประธานมูลนิธิฯ คือคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม สรุปว่า ต่อไปนี้มูลนิธิเน้นทำงานสร้างและใช้เครื่องมือ (tool) เพื่อการพัฒนาเยาวชน  มากกว่าทำงานสร้างผลผลิต (product)    ซึ่งจะทำให้ทำงานสร้างผลงานเชิง macro ได้    

เป็นการประชุมที่ผมได้เรียนรู้มากจริงๆ   โดยเฉพาะด้านการทำงานแล้วต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน    

ออกมาจากการประชุม ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ซึ่งเป็นกรรมการมูลนิธิฯ ท่านหนึ่งด้วย    และเป็นกรรมการสำคัญๆ ระดับประเทศอีกมากมาย    เอาหมวกงานของท่านที่สภาพัฒน์มาให้    บอกว่าเป็นงานสร้าง impact ในเชิง macro  และภาคี (เจ้าของงาน) คือสภาพัฒน์    งานดังกล่าวคืองานแปรแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๕๖๑ -๒๕๘๐  เป็นแผนปฏิบัติ ๑๐ ปี    ในด้านคุณภาพคน     ซึ่งผลงานและประสบการณ์ รวมทั้งภาคีของมูลนิธิฯ สามารถร่วมกันทำให้แก่บ้านเมืองได้    งานนี้สภาพัฒน์ฯ เรียกว่า การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์   ซึ่งผมเรียกง่ายๆ ว่า พัฒนาคุณภาพคน     เป็นความท้าทายให้มูลนิธิฯ ผสมผสานงาน macro กับงาน micro    และผสมผสาน impact ด้านสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม  กับด้าน visibility ของธนาคาร

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๖๑

 

หมายเลขบันทึก: 654115เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2018 05:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2018 05:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท