ชีวิตที่พอเพียง 3267. สมองคนดี



หนังสือ The Yes Brain : How to CultivateCourage, Curiosity and Resilience in Your Child (2018)  เขียนโดย Daniel J.Siegel (ศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวช, UCLA) และTina Payne Bryson  บอกว่าความเป็นคนดีสร้างได้    สร้างจารึกไว้ในสมองของเด็กได้    ที่เรียกว่า “สมองที่คิดเชิงบวก”(The Yes Brain)

ผู้เขียนเป็นนักเขียนหนังสือระดับ bestseller หลายเล่ม  เกี่ยวกับพัฒนาการด้านจิตใจของเด็ก   

หนังสือ The Yes Brain นี้ สื่อสารวิธีปลูกฝังจิตวิทยาเชิงบวกในเด็กแก่พ่อแม่และครูเด็กเล็ก   ผ่านคุณสมบัติหลัก ๔ ด้านคือ ดุลยภาพทางอารมณ์ (emotional balance),  ความสามารถในการปรับตัวผ่านสถานการณ์เลวร้าย(resilience), ความเข้าใจตนเอง (insight),  และความเข้าใจผู้อื่น (empathy)  

ข่าวดีสำหรับมนุษย์คือ สมองมนุษย์มีความยืดหยุ่น (neuroplasticity)สูงมาก    เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้พ่อแม่และครูเด็กเล็กปลูกฝังนิสัยแห่งความดีงามในตัวเด็กได้    โดยเฉพาะการสร้าง “The Yes Brain” ซึ่งหมายถึงการมีกระบวนทัศน์ที่เปิดกว้าง    ไม่มองความยากลำบากในชีวิตในแง่ลบ    กล่าวใหม่ว่า การเป็นคนมีจิตใจดี เกิดจากการเลี้ยงดูฝึกฝน(กรรมใหม่) มากกว่าพันธุกรรมหรือกรรมเก่า   

คนมี “สมองบวก” (yesbrain) เป็นคนรอบคอบ เมื่อเผชิญความท้าทายก็ไม่วู่วามโต้ตอบทันทีอย่างคนมี “สมองลบ” (no brain)    มองในมุมหนึ่ง คนมี “สมองบวก”คือคนมี EF แข็งแรง นั่นเอง    คือเป็นคนที่สมองส่วนรอบคอบมีเหตุผล(สมองส่วนหน้า) แข็งแรง    ส่วนคน “สมองลบ” เป็นคนที่สมองส่วนหน้าอ่อนแอ   สมองส่วนหลังที่ควบคุมอารมณ์จึงทำหน้าที่เด่น    มีผลให้พฤติกรรมเป็นไปตามอารมณ์วู่วาม 

เด็กที่มี “สมองบวก” กลไกการเชื่อมโยงใยประสาทระหว่างส่วนต่างๆ ของสมอง ที่เรียกว่า integrationจะเกิดง่าย     

ผู้เขียนแนะนำว่า หากพ่อแม่(และครูเด็กเล็ก) มีท่าทีเชิงบวก   เด็กจะได้รับการปลูกฝังท่าทีเชิงบวกติดตัวไปโดยไม่รู้ตัว    วิชาการด้านนี้เรียกว่าinterpersonalneurobiology (IPNB)    เป็นสาขาวิชาการที่กำลังก้าวหน้ารวดเร็ว    และประเด็นหนึ่งในความสนใจของ IPNB  คือ integration      

วิธีปลูกฝัง ดุลยภาพทางอารมณ์ ทำโดยผู้ใหญ่รับรู้ความรู้สึกหรืออารมณ์ของเด็ก   และปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ

ตัวอย่างสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนพบคือลูกอาละวาดในบางสถานการณ์    คำแนะนำคืออย่าลงโทษเด็กเป็นอันขาด    ให้ตระหนักว่าอาการดังกล่าวเกิดจากสมองเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่    สมองส่วนหน้ายังไม่ได้รับการฝึกดีพอ   และตัวเด็กเองก็ไม่ต้องการเข้าสู่สถานการณ์นั้น    เขาแนะนำให้พ่อแม่ทำ ๒ อย่าง   (๑) แสดงความรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  (๒) ช่วยเหลือให้เด็กรู้จักควบคุมตนเอง           

ตัวอย่างที่พบบ่อยพ่อแม่แทบทุกคนต้องประสบคือการพาลูกไปโรงเรียนครั้งแรก    แล้วลูกงอแงไม่ยอมให้แม่ (หรือพ่อ)จากไป    วิธีจัดการที่ผิดคือ บอกลูกว่าลูกโตแล้ว ต้องไปโรงเรียน แล้วจากมา   วิธีการที่ถูกต้องคือ แสดงให้ลูกรู้ว่า แม่รับรู้ความรู้สึกของลูก  และอยู่กับลูกต่อและชวนลูกวาดรูปสิ่งที่ลูกทำที่โรงเรียน    เพื่อลดความรู้สึกกังวลลงไป     ต่อจากนั้นอาจไปหาครู  ขออยู่กับลูกต่อไปอีกเล็กน้อย    เป็นการแสดงว่าแม่รับรู้ความรู้สึกกังวลของลูกและช่วยบรรเทาความรู้สึกนั้น   เป็นการช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์วิตกกังวล และเรียนรู้ที่จะเอาชนะมัน  

เขาแนะนำว่าผู้ใหญ่ต้องช่วยให้เด็กทำความรู้จักอารมณ์ของตนเอง     โดยไม่ตราว่าอารมณ์แบบใดดีหรือไม่ดี    ทำความเข้าใจว่า ยามจิตใจสบายถือว่าอยู่ในพื้นที่สีเขียว   ยามรู้สึกโกรธ กังวล หรือกลัว ถือว่าอยู่ในพื้นที่สีแดง     ยามหดหู่ อยากอยู่คนเดียวเรียกว่าอยู่ในพื้นที่สีฟ้า

วิธีสร้าง ความสามารถในการปรับตัวผ่านสถานการณ์เลวร้ายให้แก่เด็ก ทำโดยอธิบายความสำคัญของการปรับตัว (resilience)  และส่งเสริมให้เด็กกล้าเสี่ยง (risk-taking)    ไม่กลัวความล้มเหลว    ถือว่า “ผิดเป็นครู”    เขายกตัวอย่างเด็กผู้หญิงอายุ๙ ขวบ  ที่เหตุขัดข้องเล็กๆ น้อยๆ (เช่นลืมเอาอาหารเช้ามาโรงเรียน)  นำไปสู่ภาวะตื่นตระหนก(panic)    ผู้เขียนบำบัดโดยอธิบายให้เข้าใจสภาพพื้นที่สีเขียว  พื้นที่สีแดงและพื้นที่สีฟ้า    และแนะนำให้ทำใจให้อยู่ในพื้นี่สีเขียวให้มากที่สุด     แต่หากรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในพื้นที่สีแดงก็ให้ใช้เทคนิคหายใจเข้าออกลึกๆ    และเทคนิค “คุยกับตัวกังวล”    โดยสมมติว่า มีตัวกังวล (worry bully) เกาะอยู่ที่ไหล่   สามารถพูดคุยกับตัวกังวลได้   สำหรับเด็กคนนี้ เทคนิคดังกล่าวได้ผลดีมาก    หลังจากเด็กปลอดจากการเกิดภาวะตื่นตระหนกแล้วผู้เขียนได้อธิบายหลักการเรื่อง resilience    และบอกว่าหากสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีเพยงใด ก็จะมีความสามารถเผชิญและผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายได้ดีเพียงนั้น  

ผู้ใหญ่ต้องฝึก ความมีสติเข้าใจตนเอง(insight)    แล้วนำประสบการณ์นั้นไปฝึกลูก     เริ่มจากเมื่อรู้ว่าตนเองมีอารมณ์บูด ก็หายใจเข้าออกลึกๆ    และทำใจว่าตนเป็น “คนอื่น”ที่เฝ้าสังเกตความรู้สึกของตน     “คนอื่น” ในที่นี้น่าจะเรียกได้ว่า “ตัวสติ” ที่คอยบอกอารมณ์ความรู้สึกของตัวเราในขณะนั้น    รวมทั้งบอกว่าขณะนั้นเราเหนื่อย  คนอื่นในเหตุการณ์ก็เหนื่อยจึงอารมณ์เสีย    ลูกที่เป็นเด็กและอาละวาด ก็ยังเป็นเด็ก     “ตัวสติ” แนะให้ตัวเราตั้งสติสักครู่ จึงค่อยพูด หรือทำ    

เมื่อฝึกตนเองได้แล้ว  มีโอกาสมากมายในการนำไปใช้ฝึกลูกในสถานการณ์จริง    ทักษะนี้จะเป็นทักษะชีวิตในการดำรงความสัมพันธ์กับผู้อื่น และในการจัดการอารมณ์ของลูก ไปตลอดชีวิต

การฝึก ความเข้าใจผู้อื่น (empathy) ทำได้หลากหลายวิธี    ที่สำคัญคือพ่อแม่ฟังลูกฟังอย่างตั้งใจ  นิสัยนี้ของพ่อแม่จะติดไปยังลูกในไม่ช้า   

อย่าตกใจพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของลูกที่ยังเล็ก    เพราะนั่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดของเด็ก    แต่เมื่อโตขึ้นคนเราต้องฝึกความเข้าใจ และเห็นใจผู้อื่น 

วิธีการฝึกลูกให้สร้าง empathy ใส่ตน   ทำโดยพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง    นอกจากนั้นยังอาจฝึกด้วยเทคนิค role play    หรือคุยเรื่องเด็กอื่นที่ยากลำบากกว่า เช่นเด็กไร้บ้าน   รวมทั้งส่งเสริมให้ลูกพูดออกมาจากใจของตน   

หมั่นสร้างสมองคนดีที่มีนิสัยคิดเชิงบวก ให้แก่ลูก โดยเอาใจใส่คุณสมบัติสำคัญทั้ง ๔  คือ  ดุลยภาพทางอารมณ์ (emotional balance), ความสามารถในการปรับตัวผ่านสถานการณ์เลวร้าย (resilience),  ความมีสติเข้าใจตนเอง (insight),  และความเข้าใจผู้อื่น (empathy)          

วิจารณ์ พานิช

๕ ส.ค. ๖๑

ห้อง ๕๑๒๑๐  โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน


 

หมายเลขบันทึก: 653514เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2018 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2018 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

… ดุลยภาพทางอารมณ์ (emotional balance), ความสามารถในการปรับตัวผ่านสถานการณ์เลวร้าย(resilience), ความเข้าใจตนเอง (insight), และความเข้าใจผู้อื่น (empathy) …

I feel that “insight” in generally not used to mean ‘understanding of one’s self’ but for most time “insight” means ‘deep and clear perception of a [complex] situation’ or ‘grasping of the [intrinsic] nature of things [intuitively]’.

Perhaps, the book [The Yes Brain : How to CultivateCourage, Curiosity and Resilience in Your Child (2018) เขียนโดย Daniel J.Siegel (ศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวช, UCLA) และTina Payne Bryson] conveys the sense of ‘self awareness’ or ‘self understanding’ for “insight”, I’d have to read it ;-)

… ดุลยภาพทางอารมณ์ (emotional balance), ความสามารถในการปรับตัวผ่านสถานการณ์เลวร้าย(resilience), ความเข้าใจตนเอง (insight), และความเข้าใจผู้อื่น (empathy) …

I feel that “insight” in generally not used to mean ‘understanding of one’s self’ but for most time “insight” means ‘deep and clear perception of a [complex] situation’ or ‘grasping of the [intrinsic] nature of things [intuitively]’.

Perhaps, the book [The Yes Brain : How to CultivateCourage, Curiosity and Resilience in Your Child (2018) เขียนโดย Daniel J.Siegel (ศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวช, UCLA) และTina Payne Bryson] conveys the sense of ‘self awareness’ or ‘self understanding’ for “insight”, I’d have to read it ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท