เก็บตกวิทยากร (54) : ประชุมในแบบกระบวนการ (ทบทวนตัวตน-ทบทวนองค์กร)


เอาจริงๆ เลยนะ ผมเจตนาชัดเจนว่านี่คือกระบวนการให้แต่ละคนทบทวนตัวเอง ชำระตัวเอง ฝึกวิเคราะห์ตัวเอง ฝึกความคิดรวบยอดด้วยการนิยามความเป็นตัวเอง และฝึกการสื่อสารต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่กำลังร่วมชะตากรรมเป็น “ทีม” เดียวกัน ใช่ครับ-จริงๆ ก็คือ “รู้เขา รู้เรา รู้ทีม” หรือจะเรียกว่าเป็นกิจกรรม "รู้จักฉันรู้จักเธอ" ในอีกเวอร์ชั่นก็ว่าได้ และเป็นเวอร์ชั่นที่ยังยึดมั่นในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา" เช่นเดียวกับการต้องการวิเคราะห์ว่าแต่ละคนมีทักษะความสามารถใดๆ มีนิสัยอย่างไร จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร ทำงานร่วมกันอย่างไร – จะต้องมอบหมายงานให้ตรงกับความสนใจและความสามารถของกันและกันอย่างไร นั่นเอง

วันนี้ (พฤหัสบดีที่  20 กันยายน 2561)  ผมจัดเวทีพบปะกับแกนนำนิสิตเพียงไม่กี่คน  หลักๆ แล้วคือกลุ่มแกนนำที่กำลังขับเคลื่อนกิจกรรม  2 กลุ่ม นั่นคือ เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม  (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) และกลุ่ม ๙ ต่อ Before After  

ห้องที่ใช้ประชุม คือ ห้องนิทรรศการของกองกิจการนิสิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   เพราะอยากให้เป็นบรรยากาศของการพบปะพูดคุย-โสเหล่แบบไม่เป็นทางการ  เป็นการนั่งพื้นเหมือน “คนบ้านเดียวกัน” กำลังนั่งคุยกัน 

รวมถึงเจตนาให้เขาได้เห็นสื่อต่างๆ ในห้องนี้  เผื่อจะมีแรงบันดาลใจในการศึกษาเรื่องราวกิจกรรมนอกหลักสูตรและการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและความหมายให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
 

นอกจากนิสิตแกนนำจาก 2 กลุ่มข้างต้น  ผมเชิญเจ้าหน้าที่กลุ่มงานกิจกรรมนิสิตเข้ามาร่วมพบปะด้วย  แต่เน้นการเชื้อเชิญมากกว่าการ “สั่งการ”  เพียงเพราะนั่นคือการพบปะหลังเวลาทำงาน (17.00 น.)  อีกทั้งต้องการ “วัดใจ” คนทำงานไปในตัว  ว่าใครจะเข้ามาพบปะในเวทีนี้ด้วย  

สรุปว่า  มีเพียงคุณสุริยะ  สอนสุระ (หัวหน้างานกิจกรรมนิสิต) เท่านั้นที่ว่างและสะดวกเข้ามา – 

หลักๆ ของวันนี้  มีเรื่องสำคัญเพียงสองเรื่องที่ต้องพูดคุย ประกอบด้วย 

  • เรื่องการเตรียมทีมงานขึ้นทำงานอย่างเป็นรูปธรรม 
  • การเตรียมตัวเปิดศูนย์เครือข่ายจิตอาสาฯ 


ทบทวนการเติบโตองค์กร :  ทบทวนตัวเอง สื่อสารเพื่อนร่วมทีม


เบื้องต้น  ผมพานิสิตและเจ้าหน้าที่ทบทวนกระบวนการเกิดของกลุ่มทำงานจิตอาสาในสังกัดกิจกรรมนอกหลักสูตร  โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นมาทำงานช่วยชาวบ้านที่ประสบภัยพิบัติ  ซึ่งกลุ่มแรกส่วนใหญ่เป็นผู้นำชมรมต่างๆ เน้นรับบริจาคสิ่งของ-เงินทอง เพื่อส่งมอบไปยังชุมชน  รวมถึงผ่องถ่ายข้าวของไปยังองค์กรนิสิต  เพื่อนำไปออกค่ายอาสาพัฒนาในรูปแบบต่างๆ 

ส่วนกลุ่มที่สองมาจากกลุ่มที่ทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยพี่น้องชาวใต้ที่ประสบอุทกภัยและการเดินทางไปเป็นอาสาสมัครที่ท้องสนามหลวง เมื่อคราวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต  จนในที่สุดก็ผลิบานอย่างเป็นรูปธรรมในชื่อใหม่ว่า “เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม” (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อสังคม)

หรือกระทั่งกลุ่มล่าสุดที่แตกตัวออกมาทำงานจิตอาสาในชื่อ “๙ ต่อ Before After”

 

ผมใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงในการพูดถึงข้อเท็จจริงเพื่อให้เห็นวิวัฒนาการเหล่านี้  เพราะเชื่อว่า  ก่อนการเดินทางครั้งใหม่  นิสิตกลุ่มนี้จำต้องรู้เรื่องราวของตนเองให้มากที่สุด  จะได้รู้ว่าตนเองคือใคร  มาจากที่ใด และจะทำอะไร – อะไรคือหมุดหมายของการขับเคลื่อนงาน 

โดยเฉพาะการเจาะลึกลงสู่การทำงานของกลุ่ม ๙ ต่อ Before After  ที่เป็น “น้องใหม่”  ซึ่งมีพันธกิจของการงานที่ต้องแยกแยะว่างานไหนงานหลัก งานไหนงานรอง  หรือในแต่ละเดือนต้องมีกิจกรรมของตนเองอย่างไรบ้าง  พร้อมๆ กับการผูกโยงถึงเครือข่ายการทำงานกับองค์กรอื่นๆ เช่น ชมรมยุวกาชาด 

ทั้งนี้ผมใช้การประชุมกึ่งกระบวนการไปในตัว  ให้แต่ละคนแนะนำตัวเองสั้นๆ หรือเปิดเปลือยตัวเอง ทบทวนตัวเองไม่เกินหนึ่งนาที  

  • ให้บอกชื่อจริง ชื่อเล่น  คณะ สาขาวิชา
  • ให้บอกความสามารถพิเศษ  หรือคุณลักษณะสำคัญๆ ของตนเอง  คล้ายๆ การหานิยามคำจำกัดความให้ตนเองนั่นแหละ  เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้โดยสังเขปว่าตนเองคือใคร และมีบุคลิกอย่างไร 

แต่มิได้ให้บอกเล่าแบบวิชาการ เคร่งขรึม  หากแต่เน้นย้ำ ให้บอกเล่าแบบไม่เป็นทางการ  เหมือนการเล่าสู่กันฟัง  และเน้นแบบสบายๆ ฮาๆ ...

 


เอาจริงๆ เลยนะ  ผมเจตนาชัดเจนว่านี่คือกระบวนการให้แต่ละคนทบทวนตัวเองนั่นแหละ  -
เป็นกระบวนการชำระตัวเอง  ฝึกวิเคราะห์ตัวเอง  ฝึกความคิดรวบยอดด้วยการนิยามความเป็นตัวเอง  และฝึกการสื่อสารต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่กำลังร่วมชะตากรรมเป็น “ทีม” เดียวกัน 

ใช่ครับ-จริงๆ ก็คือ “รู้เขา รู้เรา รู้ทีม”  

หรือจะเรียกว่าเป็นกิจกรรม "รู้จักฉันรู้จักเธอ"  ในอีกเวอร์ชั่นก็ว่าได้  และเป็นเวอร์ชั่นที่ยังยึดมั่นในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา"

เช่นเดียวกับการต้องการวิเคราะห์ว่าแต่ละคนมีทักษะความสามารถใดๆ  มีนิสัยอย่างไร  จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร  ทำงานร่วมกันอย่างไร – จะต้องมอบหมายงานให้ตรงกับความสนใจและความสามารถของกันและกันอย่างไร นั่นเอง

ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก กล่าวคือ  เป็นคนพูดน้อย แต่ทำงานจริงจัง ทุ่มเท  หรือแม้แต่ส่วนหนึ่งก็บอกว่าตนเองเป็นคนอัธยาศัยดี  มองโลกในแง่บวก  ฯลฯ


บัตรคำ : ทบทวนชีวิตและการทำงาน



อีกหนึ่งกระบวนการที่ผมนำมาใช้ในการประชุมครั้งนี้ก็คือ “บัตรคำ” 

บัตรคำที่ผมนำมาใช้  ผมได้รับความอนุเคราะห์และเมตตาจากผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งที่อยู่ไกลถึงกรุงเทพฯ  ด้วยหมายใจว่าผมจะใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือของการพัฒนาตนเอง และพัฒนาคนในสาระบบของผมได้บ้าง – 

บัตรคำที่ผมหยิบมาใช้ในวันนี้เป็นบัตรคำว่าด้วย “สำนวน สุภาษิต คำพังเผย” ในแบบไทยๆ  ซึ่งผมให้ทุกคนทบทวนเรื่องราวการทำงานร่วมกันในหลายๆ กิจกรรมที่ผ่านมาว่า ...

  • พบเจออะไร
  • เห็นอะไร
  • รู้สึกอย่างไร
  • ได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวเหล่านั้นบ้าง

ใช่ครับ-เน้นให้ทบทวนเรื่องราวกิจกรรมเสียก่อน  จากนั้นก็ให้เลือกบัตรคำที่ตรงกับประเด็นคำถาม  

ผมไม่ได้อธิบายว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนั้น  ครั้นพอเลือกเสร็จก็ให้วิเคราะห์ภาพและสุภาษิตอีกครั้ง  จากนั้นก็ให้แต่ละคนเล่าสู่กันฟัง  เป็นการเล่าในแบบผ่อนคลายๆ  เล่าโดยมิให้มีการซักถามใดๆ  จะว่าสื่อสารทางเดียวก็ไม่ผิด 

ในบรรดาบัตรคำที่แต่ละคนเลือกมานั้น  มีหลายสำนวน  เช่น  

  • หนีเสือปะจระเข้  
  • สีซอให้ควายฟัง 
  • งมเข็มในมหาสมุทร  
  • หว่านพืชหวังผล  
  • หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ฝน
  • ลงเรือลำเดียวกัน
  • ฯลฯ 

การเล่าของแต่ละคน  หลักๆ คือให้แต่ละคนเล่าถึงสาเหตุของการเลือกบัตรคำนั้นๆ  แต่ไม่บังคับว่าต้องเล่าหยั่งลึกลงถึงขนาดกรณีเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยง  แต่ก็มีบางคนพยายามยกตัวอย่างในแบบกรายๆ ว่ามาจากเรื่องใด –กรณีใด   

ครับ-เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะทำกระบวนการนี้  เพราะผมมองว่าเป็นการชวนแต่ละคนทบทวนพฤติกรรมการทำงานร่วมกันในองค์กรนั่นเอง  เป็นการทบทวนและเปิดใจกรายๆ ในตัวเอง  มิได้หยั่งลึกสู่การคลี่ปมและคลี่คลายร่วมกัน   ส่วนหนึ่งเพราะผมเน้นกระบวนการภายในเวลาอันน้อยนิด  เพื่อให้พวกเขาได้ทบทวนแล้วสื่อสารออกมา  เสมือนการสำรวจข้อมูลกว้างๆ ไว้ก่อน  มีเวลาค่อยกลับมายกระดับกระบวนการให้ลึกลงไป  เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน 

หรือปล่อยให้พวกเขานำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับพฤติกรรมกันเอง ทั้งปรับส่วนบุคคลและการปรับแต่งในรูปของทีม 

แต่ที่แน่ๆ  กระบนการนี้ ผมเชื่อว่าเป็นการสะท้อนทัศนคติของแต่ละคน และการสะท้อนปมประเด็นการทำงานในองค์กรไปในตัวด้วยเช่นกัน

 


นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการที่ผมนำมาใช้กับการ “ประชุม”

เป็นการประชุมในแบบกระบวนการ  มิใช่นั่งบรรยาย โสเหล่แบบทางการ  แต่เน้นการละลายพฤติกรรมทางความคิดร่วมกันไปในตัวแบบนุ่มๆ เนียนๆ  โดยใช้การเล่าเรื่องและบัตรนำเป็นเครื่องมือ 

ส่วนเรื่องประเด็นการพูดคุยนั้น – ไว้มีโอกาส  ผมจะมาเล่าสู่กันฟังอีกรอบก็แล้วกัน นะครับ


หมายเหตุ
เขียน : อาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2561
ภาพ : สุริยะ  สอนสุระ/ธัญวรัตม์ มีชาติ 


หมายเลขบันทึก: 653512เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2018 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2018 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คุ้น ๆ นะครับ การ์ดชุดนี้ ;)…

ครับ อ.Wasawat Deemarnคุ้นๆ เหมือนเคยใช้ที่แม่ฮ่องสอนหรือเปล่าน้อ….เอ ว่าแต่ที่ทักมา ผมค้างบันทึกใดๆ หรือเปล่าครับ 555

มิมีครับ ผมต่างหากที่ค้างงานอยู่ 555

เก็บ ๆ ๆ ๆ เก็บกระบวนการไว้ในคลังกิจกรรม เลือกใช้ในเวลาจังหวะที่เหมาะสม

มิสงวนลิขสิทธิ์ ใช่ไหมคะ … รวบรัด ขอบคุณนะคะ ๕ ๕ ๕ ^_,^

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ผมมีประเด็นต้องเขียนถึงกระบวนการที่แม่ฮ่องสอนอีกเรื่องสองเรื่องนะครับ รอสักครู่ ช่วงนี้วุ่นวนเหลือเกิน 555

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิ

ผมพินิจพิเคราะห์แล้วว่าจะประชุมในเชิงกระบวนการครับ เน้นการสังเคราะห์ตนเองและทบทวนการทำงาน หรือการใช้ชีวิตร่วมกันของนิสิตกลุ่มแกนนำ เวลาที่มีในวันนั้นเล็ดเสร็จ 1 ชั่วโมง ผมใช้กระบวนการในราวๆ ครึ่งชั่วโมง ที่เหลือก็ประชุมหารือ มอบหลักการ และให้นิสิตได้โสเหล่กันต่อด้วยตนเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท