ประถมศึกษาในทศวรรษหน้า


ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมเขียนบันทึก Gotoknow รวม 52 เรื่อง ถ้าไม่นับเรื่อง 'เมื่อหมาท้องผูก' เขียนเมื่อสามปีที่แล้ว เรื่องที่มีคนเปิดมากที่สุดคือ 'กฏของปีเตอร์ - วิธีคิดของคนยุค 4.0' เขียนเมื่อสามเดือนที่แล้ว  ที่เกริ่นนำมานี้ก็เพื่อจะบอกว่าเรื่อง ประถมศึกษาในทศวรรษหน้า มีที่มาจากคุณปีเตอร์คนเดียวกันนี้ 

คุณปีเตอร์ หรือ Peter Diamandis เรียนแพทย์ที่ Harvard ระหว่างเรียนแพทย์ ขอลาไปเรียนวิศกรรมศาสตร์เกี่ยวกับอวกาศที่ MIT จนได้ปริญญาโทจึงกลับมาเรียนแพทย์ต่อจนจบ หลังจากนั้นก็ทำงานเป็นผู้ประกอบการ (ที่จริงเป็นผู้ประกอบการหลายอย่างมาตั้งแต่ก่อนเรียนจบแล้ว) เช่น เป็นผู้ก่อตั้ง X - Price Foundation ที่จัดการแข่งขันให้รางวัลผู้ประกอบการ รวมทั้งการแข่งขันการท่องอวกาศของภาคเอกชนที่ทำให้ Elon Musk มีชื่อเสียง คุณปีเตอร์มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมาแล้วสองแห่ง แต่เรื่องที่จะนำมาเสนอวันนี้คือ ข้อเสนอของคุณปีเตอร์ในเรื่องการศึกษาระดับ ประถมศึกษา เมื่อเข้าใจภูมิหลังของคุณปีเตอร์บ้างแล้วน่าจะทำให้เข้าใจแนวคิดที่เสนอไว้ได้ดียิ่งขึ้น

คุณปีเตอร์บอกว่า การศึกษาระดับประถมในปัจจุบันมีประเด็นปัญหาสำคัญ 5 ประการ

  1. การให้คะแนน (Grading) - ระบบปัจจุบันถือว่านักเรียนเริ่มต้นด้วย A เมื่อทำไม่ถูกก็ถูกหักคะแนนไปเรื่อยๆ วิธีนี้เป็นการทำลายแรงจูงใจในการเรียน ควรเปลี่ยนเป็นเริ่มต้นด้วย 0 เมื่อทำถูกคะแนนก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ     
  2. การสอนแบบครูคนเดียวหน้าห้องเรียน (Sage on the stage) - ทำให้นักเรียนครึ่งหนึ่งไม่รู้เรื่อง อีกครึ่งหนึ่งเบื่อ
  3. การนำเรื่องที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ (Relevance) - มองไม่เห็นว่ามีอะไรบ้าง
  4. จินตนาการ (Imagination) -  การเรียนรู้แบบให้จำเป็นหลักไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์จินตนาการ
  5. ฉันทะ (Passion) - การสอนปัจจุบันน่าเบื่อหน่าย ไม่เอื้อให้นักเรียนเกิดฉันทะ (ความอยากที่จะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ)

คุณปีเตอร์จึงเสนอหลักการที่ใช้ชี้นำการศึกษาในอนาคต 5 ประการ

  1. ฉันทะ (Passion)  - ความอยากที่จะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จอยู่เสมอ เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของคน 
  2. ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) -  เด็กๆมีกันอยู่แล้วทุกคน แต่โตขึ้นทำไมหายไป
  3. จินตนาการ (Imagination) - ต้องมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์จึงจะเกิด
  4. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) -  ข้อนี้ทำได้ยากที่สุด แต่ก็ต้องทำให้เกิด
  5. ใจสู้ (Grit/Persistent) - ผู้ประสบความสำเร็จ ต้องมีฉันทะและความอดทนเพื่อเป้าหมายระยะยาว

คุณปีเตอร์ จึงเสนอโครงสร้างหลักสูตรสำหรับอนาคตเป็น 12 Modules ดังนี้   

Module 1: การเล่าเรื่อง/การสื่อสาร (Storytelling/Communication)

เป็นทักษะในการนำเสนอความคิด ต้องฝึกการพูดในที่สาธารณะ เช่น ให้ดูตัวอย่างจาก TED Talk

Module 2: ฉันทะ (Passion)

ช่วยให้นักเรียนค้นพบตัวเองว่าชอบอะไร โดยเพิ่มโอกาสให้ได้เห็นโลกอย่างกว้างขวาง เช่น ใช้สื่อประเภท YouTube 

Module 3: ความอยากรู้อยากเห็น และการได้ทดลอง (Curiosity & Experimentation)

ยอมให้นักเรียนตอบว่า 'หนูไม่รู้' ที่ตามด้วย 'มาหาคำตอบกันเถอะ' เพื่อนำไปสู่การสอนทักษะการตั้งคำถาม การเสนอสมมุติฐาน ออกแบบการทดลอง การเก็บข้อมูล และการสรุปคำตอบ

Module 4: วิริยะ​ อดทน/ใจสู้ (Persistent/Grit)

เช่น ทุกสัปดาห์มีการนำเสนอประวัติการทำงานของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ โดยเน้นให้เห็นรูปธรรมของฉันทะและความอดทน ที่นำไปสู่ความสำเร็จ

Module 5: เข้าใจเทคโนโลยี (Technology Exposure) 

ให้นักเรียนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผ่านการสาธิตและการเล่น เพื่อให้เกิดจินตนาการ

Module 6: เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) 

ปัจจุบันสามารถเรียนรู้ได้ง่ายผ่านการเรียนรู้จากสภาพเสมือนจริงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 

 Module 7: เข้าใจสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจทางจริยธรรม/คุณธรรม (Ethics /Moral Dilemmas)  

สอนด้วยตัวอย่างจริง และการเล่นแสดงบทบาท (Roleplay)

Module 8: การอ่าน การเขียน และเลขคณิต (The 3R Basics - Reading, wRiting & aRtihmetic)  

แนะนำให้ใช้การสอนแบบ ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped classroom) หรือที่ผมเรียกว่า การเรียนการสอนแบบกลับตาลปัตร

Module 9:  แสดงความคิดสร้างสรรค์ (Creative Expressions & Improvisation )

แสดงให้นักเรียนเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์มีได้หลากหลายในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ศิลปะถึงวิศวกรรม ดนตรีถึงคณิตศาสตร์ ให้นักเรียนมีโอกาสเลือกเรื่องที่สนใจมากที่สุดซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งเรื่อง และครูจัดการเรียนรู้ให้เข้ากับความสนใจของนักเรียนจากแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายบนเว็บ

ในประเด็นการความสามารถในการแสดงออกโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน อาจใช้เกมการแสดงบทบาท ที่กำหนดให้นักเรียนต้องต่อบทด้วยความคิดของตนเอง เป็นต้น

Module 10: เข้าใจแนวคิด​ Coding, Algorhythm

Coding เป็นเครื่องมือสำคัญของวิทยาการคอมพิวเตอร์ นักเรียนศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องรู้จัก Coding, algorithm เพื่อรู้ว่า App และ Internet ทำงานอย่างไร และลงมือสร้างเกมขึ้นมาเองได้

Module 11: ความเป็นผู้ประกอบการ & การขาย (Entrepreneurship & Sales) 

ความเป็นผู้ประกอบการ เป็นเรื่องของการมองเห็นปัญหา (โอกาส) พัฒนาวิสัยทัศน์เพื่อแก้ปัญหา และทำงานกับทีมเพื่อเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้เป็นความเป็นจริง  

ใหันักเรียนฝึกการขาย ทั้งขายของ และขายความคิด (โยงไปถึงทักษะการเล่าเรื่องข้างต้น)

Module 12: การใช้ภาษา (Languge) 

คำตอบในเรื่องการเรียนภาษาในอนาคตน่าจะอยู่ที่ การใช้เกมและสภาพเสมือนจริง    

นี่คือ การเปลี่ยนแปลงของประถมศึกษาที่คุณปีเตอร์มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นภายในทศวรรษหน้านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยเทคโนโลยี ซึ่งบางส่วนยังอยู่ระหว่างการพัฒนา อย่างไรก็ตามมีบางเรื่องอาจทำได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มการลงทุนและไม่ต้องรอคอย เช่น การเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน หรือแบบกลับตาลปัตรที่กล่าวไว้ข้างต้น และอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์  ก็เคยเสนอโมเดลรูปแบบห้องเรียนกลับทางอย่างง่ายระดับประถมไว้แล้ว

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

21 กันยายน 2561

(ปรับปรุุงเล็กน้อย 10 กรกฎาคม​ 2563)

หมายเลขบันทึก: 653384เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2018 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ… ผมได้ไอเดียที่จะไปสร้างกิจกรรม พัฒนานิสิต ในหลักสูตร เลยครับ

การเรียนแบบจำหลักการไม่ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ … วิธีการสอนทางการศึกษาของเราเป็นแบบนั้นเลยครับ ผมวิพากษ์เรื่องนี้ไว้ตอนท้ายของบันทึกเรื่อง ๙ มาตรฐานวิชาชีพครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท