ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ


ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ (อ.สายฝน อินศรีชื่น)

             การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้สูงอายุ รวมถึงความสามารถในการรับเสียงแย่ลง ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลง  ซึ่งพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 40-60 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี และเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี

สาเหตุ เกิดจากความผิดปกติของกลไก 2 ส่วน คือ

           1. ส่วนนำเสียงและขยายเสียง พบความผิดปกติของหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง โดยเมื่อคลื่นเสียงจากภายนอกผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปกระทบแก้วหู และส่งต่อไปยังกระดูกหู 3 ชิ้นที่ทำหน้าที่ขยายเสียงในหูชั้นกลาง ไปยังส่วนของหูชั้นใน ทำให้เกิดภาวะหูอื้อ หรือหูตึงได้ โดยความผิดปกติจะเกิดจากสาเหตุต่างๆ ตามตำแหน่ง ดังนี้

           - หูชั้นนอก เช่น ขี้หูอุดตัน เยื่อแก้วหูทะลุ หูชั้นนอกอักเสบ เนื้องอกของหูชั้นนอก

           - หูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ น้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง ท่อยูสเตเซียน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ โรคหินปูนในหูชั้นกลาง

           2. ส่วนประสาทรับเสียง พบความผิดปกติส่วนของหูชั้นในจนถึงสมองเป็นส่วนที่เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่างๆ ทำให้เกิดภาวะหูตึง หรือหูหนวกถาวร ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของ

          - หูชั้นใน  พบได้บ่อยสุด คือ ประสาทหูเสื่อมจากอายุ ซึ่งการเสื่อมของเส้นประสาทหู อาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด พันธุกรรม พัฒนาการผิดปกติ โรคระหว่างตั้งครรภ์ของมารดา เช่น โรคหัดเยอรมัน การได้รับเสียงที่ดังมากๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน เช่น เสียงปืน เสียงระเบิด หรือเสียงประทัด การได้รับเสียงที่ดังปานกลางในระยะเวลานานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ในโรงงาน ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหูเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์ ยาขับปัสสาวะ ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง  ยาแอสไพริน การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะ การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อซิฟิลิส หรือไวรัสเอดส์ การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลาง และหูชั้นใน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

       - สมอง โดยมีสาเหตุจากโรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง จากไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง

       - สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตต่ำ หรือสูง ไขมันในเลือดสูง

 

 ภาวะหูตึงในผู้สูงอายุ คือ การเสียการได้ยินจากประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย (age-related hearing loss หรือ presbycusis)

อาการ มีเสียงรบกวนในหู ฟังไม่รู้เรื่อง หรือได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้   มีการแบ่งระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน ดังนี้

 

 ระดับการได้ยิน                 ระดับความพิการ              ความสามารถในการเข้าใจคำพูด

0-25     dB                         ปกติ                                    ไม่ลำบากในการรับฟังคำพูด

26-40   dB                         หูตึงน้อย                               ไม่ได้ยินเสียงกระซิบ

41-55   dB                         หูตึงปานกลาง                        ไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ

56-70   dB                         หูตึงมาก                                ไม่ได้ยินเสียงพูดที่ดังมาก

71-90   dB                         หูตึงรุนแรง                             ได้ยินไม่ชัด แม้ต้องตะโกน

>90      dB                        หูหนวก                                   ตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยิน

 

 

แนวทางการดูแลเมื่อผู้สูงอายุมีปัญหาการได้ยิน

        1. อธิบายให้ผู้สูงอายุ เข้าใจสาเหตุของปัญหาการได้ยิน อันตราย และการรักษา

        2. ในกรณีที่มีปัญหาการได้ยิน แต่ยังพอสื่อสารกับผู้อื่นได้ หรือเป็นเพียงหูข้างเดียว ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ทำใจยอมรับ แต่ควรหาสาเหตุดังกล่าว

        3. ในกรณีมีปัญหาการได้ยินมาก ไม่ค่อยได้ยินเสียง โดยเฉพาะถ้าเป็น 2 ข้าง ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ และเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ควรฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ร่วมกับการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การแยกแยะเสียงได้ชัดเจนขึ้น เช่น  ลดเสียงรบกวน และให้คู่สนทนาอยู่ตรงหน้า ไม่พูดเร็ว หรือพูดประโยคยาวเกินไป

        4.  หากปัญหาการได้ยิน เกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อมควรป้องกันไม่ให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากขึ้น

         -  หลีกเลี่ยงเสียงดัง

         -  ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด ต้องควบคุมโรคให้ดี         

        

-  หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู

          -  หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู

          -  หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

          -  ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน) งดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน) สารคาเฟอีน และนิโคติน ทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหูน้อยลง ทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อม

          - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เอกสารอ้างอิง

ชูศักดิ์ เวชแพศย์. (2538). สรีรวิทยาของผู้สูงอายุ. กรุงเทพ: ศุภวนิชการพิมพ์.

Carigan, A. M. (1955). Gerontologic Nursing. New York: Delmar Publishers.

         

 

หมายเลขบันทึก: 653164เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2018 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2018 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท