วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู : 6. เสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่อง



บันทึกชุด วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู นี้ ตีความจากหนังสือ Enhancing Practice through Classroom Research : A teacher’s guide to professional development (2012)  เป็นหนังสือที่เขียนด้วยครูในประเทศไอร์แลนด์ ๔ คน    หนังสือนี้ไม่มีดาวใน Amazon Book  แต่เมื่อผมอ่านแล้ววางไม่ลง     เพราะเป็นหนังสือที่ให้มุมมองใหม่ต่อการวิจัยชั้นเรียน    และให้มุมมองใหม่ต่อชีวิตความเป็นครู

ตอนที่ ๖ เสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่อง นี้ ตีความจากบทที่ 5 How do I show the situation as it is and as it evolves    ซึ่งเป็นบทแรกของ Part 3 : What to do about the questions identified? เขียนโดย Caitriona McDonagh, Learning Support and Resource Teacher, Rush National School, Co. Dublin, Ireland  

 สาระหลักของตอนที่ ๖ นี้ มี ๓ ประการคือ

  • แนวทางคิดแผนวิจัย และการทำให้งานวิจัยสำเร็จ ผ่านวงจร ๕ ขั้นตอน คือ การทำกิจกรรม,  การใคร่ครวญสะท้อนคิด,  การเรียนรู้,  การประเมิน,  และการวางแผนดำเนินการต่อไป
  • วิธีการเก็บข้อมูลและการขออนุญาตเก็บข้อมูลให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมในการวิจัย
  • ความสำคัญของคุณค่าต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วต่อการตัดสินใจเลือกวิธีทำวิจัย

บทนำ   

ตามประสบการณ์ของผู้เขียน (Caitriona McDonagh) มี ๕ ขั้นตอนที่นำไปสู่การนำเรื่องราวในห้องเรียนไปสู่การวิจัย ได้แก่

  • มองหาโอกาสทำวิจัยในประเด็นที่ตนสนใจ
  • วางแผนว่าตนจะทำอะไร
  • ทำตามแผน
  • ประเมินผล
  • ติดตามว่าผลกระทบต่อเนื่องจากการดำเนินการมีอะไรบ้าง 

ผู้เขียนอาศัยข้อมูลจาก ๕ ขั้นตอนนี้ นำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ตนปฏิบัติ กับคุณค่าภายในใจของตนเอง  

 

วิธีทำวิจัยในประเด็นที่ตนสนใจ    

ขั้นตอนแรกของการวิจัยปฏิบัติการคือ หาทางทำวิจัยในประเด็นที่ตนสนใจ    งานวิจัยที่ครูคุ้นเคยคือ วิจัยผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของนักเรียน โดยวัดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ก่อนและหลังการดำเนินการ (intervention)    วิธีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี    และควรนำไปสู่การตั้งคำถามในแนวที่กล่าวมาแล้ว  ได้แก่  ทำไมฉันจึงทำสิ่งนี้?   อะไรเป็นตัวสร้างแรงจูงใจ?   ความรู้แบบไหนที่เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของฉัน?    คำถามเหล่านี้จะช่วยการเลือกเครื่องมือประเมินในโครงการวิจัย

คำถาม  ทำไมฉันจึงทำสิ่งนี้? จะนำไปสู่การคิดใคร่ครวญเรื่องนโยบายของรัฐบาล,  ข้อกำหนดของหลักสูตร, นโยบายและข้อปฏิบัติที่กำหนดโดยโรงเรียน,  และทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสอนและการเรียน     ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่ช่วยบอกบริบทสภาพแวดล้อมที่กำหนดการกระทำของตัวเรา   

คำถาม  อะไรเป็นตัวสร้างแรงจูงใจให้ฉันทำสิ่งนี้? เกี่ยวข้องกับคุณค่าที่ครูนักวิจัยยึดถือในชีวิต    และความสัมพันธ์กับประเด็นวิจัย    ทำให้การออกแบบการวิจัยอยู่บนฐานคุณค่าที่ครูนักวิจัยยึดถือ    ผู้เขียนยกตัวอย่างกรณีงานวิจัยของตนเอง ว่าอยู่บนฐานคุณค่าด้านความเท่าเทียม, ประชาธิปไตย, และเสรีภาพ   เน้นที่ขีดความสามารถ (ability) ไม่ใช่ที่ความบกพร่อง (disability)    กรอบคุณค่าเหล่านี้นำไปสู่การค้นคว้าเอกสารวิชาการมากมาย    หากครูนักวิจัยมีฉันทะ (passion) แรงกล้า การอ่านเอกสารเหล่านี้ก็จะเป็นความสนุกและประเทืองปัญญายิ่ง    คือนำไปสู่การตั้งคำถามต่อเนื่อง    แต่ถ้าไม่มีฉันทะ การอ่านหนังสือก็จะเป็นภาระหนักมาก 

 ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ในการทำหน้าที่ครูสอนเด็กอายุ ๔ – ๑๒ ขวบ ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ    และทำวิจัยปฏิบัติการโดยมีคำถามวิจัยว่า ฉันจะพัฒนาวิธีสอนภาษาพูดแก่เด็กที่มีความยากลำบากในการเรียนได้อย่างไร   

 เรื่องเล่าชิ้นนี้ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ครูไทยที่ใฝ่พัฒนาศิษย์และพัฒนาตนเองอย่างมาก    ผมจึงตั้งใจจับประเด็นมาเสนอโดยละเอียด   

นักเรียนที่ผู้เขียนดูแล มีความยากลำบากด้านการพัฒนาภาษาพูด ซึ่งเป็นเหตุให้เรียนได้ไม่ดี    เด็กเหล่านี้อาจได้รับการวินิจฉัยว่า มีปัญหาในการอ่าน (dyslexia), มีปัญหาด้านการคำนวณ (dyscalculia), มีปัญหาการเรียนโดยทั่วไป, มีปัญหาการได้ยิน, กลุ่มอาการ ดาวน์, Asperger Syndrome, ออทิสติก, มีปัญหาพฤติกรรม, มีปัญหาในการพูดและความเข้าใจภาษา    นำไปสู่ปัญหาในการสื่อสาร  

ประเด็นในรายละเอียดได้แก่   เด็กแต่ละคนรับข้อมูลจากภาษาพูดอย่างไร   นำมาตีความ ทำความเข้าใจ และจดจำ อย่างไร    และสื่อสารกับคนอื่นอย่างไร   แต่ละขั้นตอน อาจเป็นตัวอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก    มีผลการวิจัยบ่งชี้ชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้ภาษาพูด กับผลการเรียนในภาพรวม    และเด็กที่มีคลังคำในสมองมาก มีแนวโน้มจะมีผลการเรียนดี    

ผู้เขียนเริ่มด้วยการใช้แบบทดสอบที่มีจำหน่าย  เอามาทดสอบนักเรียนจำนวน ๑๔ คนของตน เพื่อหาสาเหตุของความบกพร่องด้านภาษา  นำมาดำเนินการสอนเพื่อแก้จุดอ่อนที่พบในเด็กแต่ละคน แล้วทดสอบซ้ำเพื่อดูผล   โดยมีแผนที่ร่างไว้คร่าวๆ ในเวลาประมาณ ๑ ปี ดังนี้  เดือนแรก เก็บข้อมูลของเด็ก และทดสอบความสามารถด้านภาษา,  สามเดือนต่อมา ดำเนินการสอนเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของเด็กแต่ละคน,    เดือนที่ห้า ทดสอบผล,    ตามด้วยการดำเนินการและทดสอบผลอีกรอบหนึ่งในเดือนที่ ๖ – ๙,    อีกสามเดือนที่เหลือใช้เขียนรายงาน       

 ผู้เขียนพบด้วยความอึดอัดใจว่าแบบทดสอบที่ซื้อมาใช้ ล้วนมุ่ง “จับผิด” หรือ “หาจุดอ่อน” ของเด็ก    โดยให้เด็กทำข้อสอบไปเรื่อยๆ จนพบคำตอบที่ผิดจำนวนหนึ่ง    ผู้เขียนพบว่า วิธีทดสอบสร้างความไม่ชอบไม่มีความสุขให้แก่เด็ก   ในขณะที่ตัวผู้เขียนเองมุ่งส่งเสริมให้เด็กสนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้ ผ่านการปฏิบัติที่ให้ผลสำเร็จ   ผู้เขียนรู้สึกว่าแบบทดสอบเหล่านั้นทำอันตรายต่อเด็ก คือมุ่งทำให้เด็กเป็นโรค  แทนที่จะช่วยสร้างขีดความสามารถให้แก่เด็ก    แบบทดสอบบังคับให้ผู้เขียนมุ่งหาโรคของเด็กเพื่อดำเนินการบำบัด    ทำให้ผู้เขียนรู้สึกคับข้องใจ    เพราะสภาพเช่นนี้ขัดกับคุณค่าที่ตนยึดถือ 

โชคดีที่สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นจากการมี “กัลยาณมิตร” คือ ครูแอนน์    ผู้เขียนเรียกกัลยาณมิตรร่วมเรียนรู้ว่า critical friend หรือ learning partner    

ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลจากการวิจัย เอาไปปรึกษา หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับครูแอนน์    ข้อมูลเหล่านี้ได้แก่ เอกสารแบบทดสอบ,  ผลการทดสอบ,  เอกสารการตีความผลการทดสอบ,  และเอกสาร reflective journal ของผู้เขียน  

ครูแอนน์เป็นเพื่อนครูอาวุโส ที่สนใจและยินดีคุยลงรายละเอียดกับผู้เขียน    คือไม่ใช่แค่เอาผลการทดสอบมาดูและตีความร่วมกันเท่านั้น    ยังให้ความสนใจภาษากายของเด็กระหว่างทำแบบทดสอบ    ตีความภาษากายตอนทำแบบทดสอบได้ถูกต้องและคล่องแคล่ว  กับภาษากายตอนทำแบบทดสอบที่ทำไม่ได้    โดยผู้เขียนสารภาพว่า ตอนแรกตนเองรู้สึกไม่สะดวกใจ ไม่มั่นใจจะให้ครูคนอื่นรับรู้การทำงานของตน    แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ว่า กัลยาณมิตรแท้จริงและมีความรู้และประสบการณ์มากกว่า มีคุณค่าต่องานวิจัยและการเรียนรู้อย่างยิ่ง 

การนำข้อมูลการทำงานของเด็กมาร่วมกันตีความทำความเข้าใจ ไม่เป็นวิถีของโรงเรียนที่ผู้เขียนทำงาน และทำงานวิจัย    ประสบการณ์นี้จึงเป็นการเรียนรู้ใหม่ที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้เขียน   และช่วยให้ผู้เขียนรู้จักทำความเข้าใจเด็ก   ที่เดิมผู้เขียนเข้าใจในภาษาด้านการสอน  ขยับไปเข้าใจภาษาทางวิชาการ เพิ่มขึ้น   ผู้เขียนพบว่าการอ่านช่วยเพิ่มคลังคำทางวิชาการแก่ครูได้มาก          

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้เข้าใจคุณค่าของ ข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative data) ที่ช่วยเสริมความเข้าใจต่อข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative data) ให้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น    

ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ ช่วยให้ผู้เขียนออกแบบงานวิจัยใหม่    โดยออกแบบการทดสอบภาษาของนักเรียนด้วยตนเอง  เพื่อหาสาเหตุที่เด็กแต่ละคนสื่อสารถ้อยคำได้ไม่ดี   สำหรับนำข้อมูลจากการทดสอบมาใช้ปรับปรุงการสอนเพื่อให้นักเรียนบรรลุความสามารถในการทำความเข้าใจความหมายของคำ  และการสื่อสารเพื่อให้คนอื่นเข้าใจตน   ซึ่งเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในการเรียน

ช่วงของการทำงานวิจัยนี้ ผู้เขียนอ่านเอกสารวิชาการมาก และพบว่ามีเอกสารแนะนำสภาพที่ตนกำลังเผชิญอยู่พอดี คือ “ความวุ่นวายสับสน” (messiness) ในห้องเรียน    ที่ต้องมองหาผลกระทบด้านบวกของสภาพวุ่นวายสับสนให้ได้ และนำมาใช้    อย่าตกเป็นเหยื่อของด้านลบของมันเพียงส่วนเดียว    ด้านบวกที่สำคัญคือ ช่วยให้มองเห็นประเด็นที่ลึกซึ้ง     และผมตีความว่า เรื่องราวในห้องเรียนมีสภาพ “วุ่นวายสับสน” อยู่เป็นธรรมชาติ     การวิจัยชั้นเรียนมีคุณค่าที่การนำเอาข้อมูลที่วุ่นวายสับสนนั้น มาหาความหมาย หาคุณค่า    เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีเอื้อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูง   

ผู้เขียนบอกว่า ในระหว่างนั้น ตนได้เข้าใจว่า การเขียนรายงานวิจัยนั้น เขียนบอกเฉพาะเป้าหมายของงานวิจัยที่ทำ (what)  และวิธีทำ (how) รวมทั้งข้อค้นพบ (what) ไม่เพียงพอ    ต้องอธิบายว่า ทำไมจึงทำเช่นนั้น  ทำไมจึงได้ข้อค้นพบเช่นนั้น (why) ด้วย    จะเห็นว่า การทำงานวิจัยปฏิบัติการเป็นกระบวนการ unlearn และ relearn ไปในตัว    หรือกล่าวใหม่ว่า เป็น transformative learning นั่นเอง  

  ผู้เขียนแนะนำคำถามช่วยการเลือกหัวข้อวิจัย ดังต่อไปนี้

  • ฉันควรทำอะไรบ้างเพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ และความคิดของฉัน
  • ฉันจะแสดงการใคร่ครวญสะท้อนคิดของฉันต่อสถานการณ์นั้น ให้ผู้อื่นรับรู้ ได้อย่างไร
  • จัดทำรายการวิธีการเก็บข้อมูลแสดงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
  • กิจกรรมที่ฉันเสนอ มีความสัมพันธ์กับเหตุผลให้ทำเช่นนั้น และแรงขับดันภายในที่จูงใจให้ทำ อย่างไร 

 

วางแผนตรวจสอบประเด็นที่เลือก

นี่คือขั้นตอนที่ ๒ ของการวิจัยปฏิบัติการ    ซึ่งเป็นการวางแผนเพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงของตนเอง    ประกอบด้วยการตัดสินใจว่าจะเก็บข้อมูลใดบ้าง    วิธีเก็บข้อมูล    และการขออนุญาตจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ สามารถนำข้อมูลไปเปิดเผยได้    เพราะการเปิดเผยข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัย    โดยต้องคำนึงถึงประเด็นเชิงจริยธรรมอย่างจริงจัง

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง เพื่อให้เห็นประเด็นอย่างเป็นรูปธรรม

รวบรวมข้อมูล

มี ๓ ประเด็นที่ต้องคำนึงถึง

  • ในภาคปฏิบัติ การเก็บข้อมูลต้องไม่รบกวนการเรียนรู้ของนักเรียน และการปฏิบัติงานของครู
  • ในภาคความสอดคล้อง  วิธีเก็บข้อมูลต้องสอดคล้องกับกรอบความคิดที่ใช้ในการกำหนดหัวข้อวิจัย
  • ในภาคคุณค่าของการวิจัย  ต้องตรวจสอบว่าวิธีวิทยาการวิจัยและวิธีเก็บข้อมูล สอดคล้องกับคุณค่าดังกล่าว  

ผู้เขียนบอกว่า ต้องทบทวนประเด็นดังกล่าวบ่อยๆ ตลอดระยะเวลาของการทำวิจัย   

ที่จริงในการเก็บข้อมูลวิจัยระหว่างทำหน้าที่ครูตามปกตินั้น  ครูนักวิจัยใคร่ครวญสะท้อนคิดไปพร้อมๆ กันกับการทำกิจกรรม   เขาเรียกกิจกรรมนี้ว่า reflection-in-action   ซึ่งหมายความว่า ครูปรับปรุงการทำหน้าที่ของตนไปพร้อมๆ กัน    กระบวนการนี้แตกต่างจาก reflection – on action ซึ่งเป็นการใคร่ครวญสะท้อนคิดหลังกิจกรรมผ่านไปแล้ว 

ผู้เขียนบอกว่า ระหว่างทำงานในขั้นตอนเก็บข้อมูล ตนเกิดความตระหนักว่า  การวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอนนี้ ไม่มีเป้าหมายเพื่อเสนอทฤษฎีที่ใช้ได้ทั่วไป    แต่เป็นการสร้างทฤษฎีที่ใช้ได้จำเพาะบริบท เท่านั้น 

ตรวจสอบและเก็บข้อมูล

ข้อมูลที่เก็บได้ต้องได้รับการตรวจสอบจากกัลยาณมิตร    โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงคุณภาพ    การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยการสอบทานข้อมูลจากมุมมองที่ต่างกัน เรียกว่า triangulation   ช่วยให้เห็นภาพของข้อมูลที่ครบด้าน   

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเองว่า    เมื่อถึงขั้นตอนที่สองของการวิจัยนี้     ข้อมูลที่เก็บได้จะมีปริมาณมากมาย และมีความซับซ้อนมาก   ต้องมีวิธีจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ    สำหรับนำมาทบทวนใคร่ครวญได้ยามต้องการ   ข้อมูลเหล่านี้ได้แก่  แฟ้มของนักเรียนแต่ละคน,  บันทึกการเรียนและการมาเรียนของนักเรียน,   เอกสารเช็คลิสต์แสดงผลสัมฤทธิ์,   reflective journal ของครู,   บันทึกการสอน,   ภาพ,  ภาพถ่าย,  วีดิทัศน์,  ใบแสดงผลการศึกษา,  แบบสอบถาม,  บันทึกการพูดคุยกัน,  บันทึกการสอบทาน (triangulation) กับเพื่อนครูและกัลยาณมิตร,   บันทึกเหตุการณ์เฉพาะเรื่อง,  การประเมินตนเองและประเมินโดยเพื่อนครู,  และ กระดาษข้อสอบ    ครูนักวิจัยต้องเก็บเอกสารเหล่านี้ไว้อย่างเป็นระบบ เป็นที่เป็นทาง สำหรับใช้เป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้    และทำสำเนารายการเอกสารแนบไว้กับรายงานผลการวิจัย       

ขออนุญาตใช้ข้อมูลที่รวบรวมได้

ข้อกำหนดเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับข้อมูลจากเอกสารการทดสอบเพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment)    กับข้อมูลเพื่อการวิจัย มีความแตกต่างกัน    ข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ครูนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต    แต่ข้อมูลด้านการวิจัยต้องมีการขออนุญาตใช้จากครูใหญ่หรือผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการโรงเรียน เพื่อนครู ผู้ปกครอง และนักเรียน    โดยมีเอกสารอธิบายเป้าหมายของการวิจัยและมีใบแสดงความยินยอมให้ลงนาม    โดยหลักการสำคัญคือ ต้องเคารพศักดิ์ศรีและความเป็นส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้อง    ในกรณีของเพื่อนครูมักอาจต้องมีข้อตกลงให้ไม่เปิดเผยชื่อ    และในใบแสดงความยินยอมนั้น มีข้อความระบุว่าผู้ให้ความยินยอมอาจขอยกเลิกการยินยอมนั้นได้ในภายหลัง  

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยจริยธรรมในการวิจัยของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ด้วย    

คำถามที่ช่วยการวางแผนเก็บข้อมูลได้แก่

  • ฉันจะเก็บข้อมูลประเภทไหนบ้าง
  • ฉันจะเก็บข้อมูลไว้อย่างไร
  • มีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของฉัน
  • ฉันจะขอความเห็นชอบให้เขาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้อย่างไร

เขาแนะนำให้ยกร่างจดหมายถึงผู้ที่จะเกี่ยวข้องกับงานวิจัย    โดยคำนึงถึงคุณค่าที่ระบุไว้ในบันทึกก่อนๆ    และหาทางเชื่อมโยงกับการเก็บข้อมูล และแผนดำเนินการอื่นๆ    ระบุประเด็นที่พึงระมัดระวัง  และทำ mindmap โดยมีประเด็นพึงระวังแต่ละประเด็นเป็นโจทย์   ตั้งคำถามต่อไปนี้

  • มีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะทำ
  • ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
  • ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อมูล

 

ดำเนินการตามแผนและเก็บข้อมูลเพื่อบอกความก้าวหน้า

นี่คือขั้นตอนที่ ๓ ของงานวิจัยปฏิบัติการ    โดยครูนักวิจัยต้องรู้จักใช้ประสบการณ์ตรงของตนเองเป็นทรัพยากรสำหรับการวิจัย   โดยหาทางทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในใจมีความชัดเจน    ที่หนังสือใช้คำว่า problematize ตัวตนของตนเอง    เพื่อหาทางสร้างกรอบความคิดใหม่ 

คำถามเพื่อช่วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด ได้แก่

  • ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไร เรื่องวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน
  • ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับการสอนของฉัน

ในฐานะครูนักวิจัย    ครูต้องเปลี่ยนบทบาทและท่าที เป็น

  • เปิดเผยสิ่งที่ตนทำต่อสาธารณะ    ไม่ใช่เก็บงำไว้เป็นความลับของชั้นเรียน
  • แสดงผลการใคร่ครวญสะท้อนคิด และการตั้งข้อวิพากษ์ต่อการกระทำของตนเอง
  • ตรวจสอบวิธีการสอนของตน กับคุณค่าด้าน ontological และ epistemological ที่ชี้นำการวิจัย    

เปิดเผยสิ่งที่ตนทำต่อสาธารณะ   

อ่านข้อเขียนของผู้เขียนในตอนนี้แล้ว    ผมตีความว่า ครูนักวิจัยต้องจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ พร้อมที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการการศึกษา    โดยที่ข้อมูลจะมีมากมายและหลายส่วนเป็นข้อมูลที่อ่านรู้เรื่องเฉพาะนักวิจัยเองเท่านั้น  

แสดงผลการใคร่ครวญสะท้อนคิด และการตั้งข้อวิพากษ์ต่อการกระทำของตนเอง

การใคร่ครวญสะท้อนคิดกับกลุ่มผู้ตรวจสอบ (validation group)    จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่ครูนักวิจัย    รวมทั้งช่วยยืนยันการปฏิบัติงานวิจัย

ผู้เขียนแนะนำคำถามที่นำไปสู่การแสดงผลการใคร่ครวญสะท้อนคิด และการตั้งข้อวิพากษ์ต่อการกระทำของตนเองดังต่อไปนี้

  • ฉันทำอะไรบ้าง เพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงจุดยืนหรือความเข้าใจของตนเอง
  • ฉันได้แสดงสิ่งที่ตนได้ทำไปแล้วต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง
  • ฉันได้แสดงการใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อการกระทำของตนเองอย่างไรบ้าง   และได้รับคำวิพากษ์อย่างไร
  • วิธีเก็บข้อมูลสอดคล้องกับคุณค่าของงานที่ฉันกำหนดไว้อย่างไร 

 

ประเมินวิธีวิทยาการวิจัยอย่างเข้มงวด

ในช่วงที่ ๔ ของการวิจัยปฏิบัติการ ครูนักวิจัยสามารถตรวจสอบการปฏิบัติและการเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นโดยประเมิน ๓ แบบ คือ

  • ประเมินตามแนวของการวิจัยแบบจารีตนิยม (traditional)
  • โดยนำเสนอข้อค้นพบต่อเพื่อนครู / นักวิจัย    เพื่อขอรับการประเมิน หรือคำแนะนำ
  •  โดยนำข้อมูลเสนอต่อวงการการศึกษาในวงกว้าง 

เขาแนะนำคำถามต่อไปนี้ สำหรับตรวจสอบวิธีดำเนินการวิจัย

  • การดำเนินการของฉันบอกอะไรบ้างในเรื่องวิธีเรียนของนักเรียนของฉัน
  • จากการดำเนินการของฉัน ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีสอนของตนเองอย่างไรบ้าง
  • ฉันจะแสดงได้อย่างไรว่า งานวิจัยดำเนินไปตามคุณค่าของงานที่กำหนดไว้ 

ผู้เขียนเล่าเรื่องที่ตนจัดวงให้นักเรียนทำความเข้าใจวิธีที่ตนเองใช้จดจำเสียง (auditory memory) และแลกเปลี่ยนกับเพื่อน   โดยนักเรียนแต่ละคนวาดรูปแสดงวิธีที่ตนใช้ช่วยความจำ    แล้วนำมาอธิบายให้เพื่อนๆ ฟัง    และร่วมกันเปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง    นักเรียนคนหนึ่งกล่าวว่า    “เราทำต่างกัน    เซเวียร์และยูริใช้วิธีจดเพื่อช่วยความจำ    โซและฉันใช้วิธีสร้างภาพขึ้นในสมอง    ภาพในสมองของโซเป็นภาพเคลื่อนไหวคล้ายวีดิทัศน์    แต่ภาพของฉันเป็นภาพนิ่งหลายๆ ภาพต่อกันคล้ายภาพในอัลบั้ม”   

นักเรียนคนหนึ่งเอ่ยว่า “เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้เพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นฟังด้วย จะดีไหม”    และครูประจำชั้นให้นักเรียนคนนี้ไปเล่าให้เพื่อนในชั้นเรียนจำนวน ๓๐ คนฟัง    โดยผู้เขียนเข้าร่วมด้วยและถ่ายวีดิทัศน์ไว้ด้วย   

กิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นข่าวเล่าลือในโรงเรียน    ครูคนหนึ่งสนใจมาก จึงได้รับเชิญไปเยี่ยมห้องเรียนเพื่อฟังนักเรียนอธิบายเรื่องราวการค้นพบยุทธศาสตร์การจำ    หลังฟังแล้วเป็นกิจกรรมใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกันระหว่างนักเรียนกับครู    นักเรียนคนหนึ่งบอกว่าตนมีความสุขมากที่ได้มีโอกาสพูดกับครูในบรรยากาศเช่นนั้น   แต่ตอนนั้นรู้สึกกลัวที่จะพูด    แต่ก็ตัดสินใจพูด เพราะคิดว่าจะทำให้ครูรู้วิธีช่วยเหลือตนในเรื่องการเรียนให้ได้ผลดี   ครูก็ตื่นเต้นแปลกใจมากเช่นเดียวกัน    และพูดว่า แปลกใจที่ได้เห็นวิลเลียม (นักเรียน) อธิบายเรื่องราวอย่างชัดเจนว่าตนทำความเข้าใจละจดจำเรื่องต่างๆ อย่างไร  

จะเห็นว่า การเผยแพร่เรื่องราวนี้ภายในโรงเรียน เป็นการตรวจสอบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง    และส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และต่อครูนักวิจัย รวมทั้งเพื่อนครูที่ทำหน้าที่ triangulation ต่อการตีความข้อมูลวิจัย   ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติไม่เฉพาะของครูผู้วิจัย    แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวิธีเรียนของนักเรียน  วิธีสอนของครูที่ร่วมรับรู้    รวมทั้งเปลี่ยนความเข้าใจว่าด้วยกลไกการเรียนรู้  

งานวิจัยนี้จะมีผลต่อการดำเนินการ และต่อความเข้าใจ ของวงการศึกษาในอนาคตหรือไม่ 

คำถามในหัวข้อนี้ นำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัยปฏิบัติการ    คือการตรวจสอบผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ

  • วิจัยประเด็นหน้าที่ครูที่ตนสนใจ
  • วางแผนดำเนินการวิจัยประเด็นที่กำหนด เพื่อยกระดับผลงาน
  • ดำเนินดำเนินการตามแผน และเก็บข้อมูลเพื่อดูผล
  • ประเมินวิธีวิทยาการวิจัยของตนอย่างเข้มงวด
  • ประเมินว่าผลงานของตนจะมีผลเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือความเข้าใจในอนาคตหรือไม่ 

งานวิจัยปฏิบัติการมีธรรมชาติเป็นวงจร ไม่ได้เป็นเส้นตรง    คือเป็นวงจรของ การวางแผน – ปฏิบัติ -  ใคร่ครวญสะท้อนคิด – ประเมิน - และตัดสินใจดำเนินการประเด็นต่อไป     รวมเป็นวงจร ๕ ขั้นตอน  

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ว่าผลงานวิจัยมีผลต่อนักเรียน  มีผลต่อวิถีปฏิบัติของตัวผู้เขียนเอง  มีผลต่อเพื่อนครู  และต่อการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เขียนที่เป็นครูนักวิจัยเองด้วย    และเมื่อมีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ ก็อาจมีผลกระทบต่อวงการศึกษาในวงกว้างได้

ผมขอเพิ่มเติมว่า  หากมีการทำการวิจัยปฏิบัติการในลักษณะนี้อย่างกว้างขวาง    ก็จะเข้าลักษณะ R2R (Routine to Research) ในชั้นเรียน    กลายเป็นขบวนการที่ยกระดับคุณภาพการศึกษา และยกระดับศักดิ์ศรีครู ในวงกว้าง   

วิจารณ์ พานิช        

๓ ก.ค. ๖๑


 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท