ป้อมวิไชยประสิทธิ์.....เคยมีคู่และมีประวัติชวนติดตาม


                  ป้อมที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ไม่ใช่ป้อมยามหรือป้อมตำรวจแต่อย่างใด แต่เป็นป้อมที่อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ แม้ในปัจจุบันจะมิได้มีการกล่าวขานถึงกันมากนัก แต่ในอดีตป้อมนี้มีประวัติศาสตร์ที่เป็นคุณกับชาติและชนชาวไทยของเราทุกคน ป้อมนี้เดิมชื่อว่าป้อมวิไชยเยนทร์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่บางครั้งชาวบ้านนิยมเรียกว่าคลองบางหลวง ความเป็นมาของการสร้างป้อมนี้ เริ่มเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราข การค้าขายกับชาวต่างชาติทางทะเลมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส โปตุเกศ ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น แม้กระทั่งแขก เรือกำปั่นค้าขายของไทยเราเองก็ออกไปค้าขายในประเทศต่างๆอย่างมากมาย
            ในช่วงนั้นพวกฮอลันดาได้ติดต่อค้าขายอยู่กับญี่ปุ่น เมื่อทราบว่าไทยจะเอาสินค้าไปขายแข่งก็ไม่พอใจจึงหาเหตุวิวาทและเอาเรือรบเที่ยวทำลายเรือพระคลังสินค้า จับเอาไปเสียบ้าง แล้วให้กองทัพเรือของตน มาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยามิให้เรือไทยเข้าออก จนไทยต้องทำสัญญาปรองดองกับฮอลันดา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่าจะวางใจฝรั่งไม่ได้อีก จึงสร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่ง เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกที่มาทางทะเลและดำริจะสร้างป้อมปราการขึ้นที่เมืองธนบุรี เพื่อไว้ป้องกันข้าศึกที่จะขึ้นมากรุงศรีอยุธยาด้วย
            ชาติฝรั่งเศสเองก็ไม่ถูกกับฮอลันดาเพราะนับถือศาสนาลัทธิต่างกัน เวลานั้นมีบาทหลวงฝรั่งเศสกับบิฉอบคนหนึ่งชื่อโทโทมาส์ เป็นผู้ได้เคยเรียนรู้วิชาสร้างป้อมปราการ จึงรับอาสาช่วยสร้างป้อมปราการที่เมืองลพบุรี ในช่วงดังกล่าวไทยได้มีการเจริญทางพระราชไมตรีและมีสัมพันธ์ทางการทูตกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส จนกระทั่งพวกฝรั่งเศสมาถวายตัวให้ทรงใช้สอยราชการและทำการอันเป็นประโยชน์หลายอย่าง เช่นตั้งโรงเรียนสอนภาษา ตั้งโรงพยาบาล สร้างถังประปาในพระราชวังหลวงและป้อมวิไชยเยนทร์ที่ธนบุรี
            ชาวครีกผู้หนึ่งชื่อ เยรากี แปลว่า เหยี่ยวนกเขา เห็นบิดามารดาต้องได้รับความลำบากเพราะเลี้ยงดูตน จึงหนีไปรับจ้างเป็นลูกเรืออังกฤษลงเรือกำปั่นออกมาค้าขายกับประเทศตะวันออก และมาตั้งรกรากอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เรียนรู้ภาษาไทย สมาคมคุ้นเคยกับพ่อค้าในกรุงศรีอยุธยา จนมาเป็นหุ้นส่วนกับพวกแขกเทศ และทำการเดินเรือค้าขายกับทางอินเดีย จนกระทั่งเรือถูกพายุอับปางพร้อมกับราชทูตไทย จึงรับอาสาพาราชทูตกลับกรุงศรีอยุธยามีความชอบได้เข้ารับราชการเป็นพระคลังสินค้า ต่อมามีพวกพ่อค้าแขกเทศมาทวงเงินซึ่งอ้างว่าเกี่ยวค้างพระคลังอยู่เป็นอันมาก ตรวจสอบได้หลักฐานว่าที่จริงพวกพ่อค้าแขกเป็นหนี้พระคลังเป็นอันมาก จึงกลับได้เงินหลวงมาเข้าพระคลังมากขึ้น การทำงานของพระคลังสินค้าไม่เสียเปรียบพวกพ่อค้า กับทั้งรู้จักนิสัยใจคอของฝรั่งเป็นอย่างดี สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นพระวิชเยนทร เมื่อเจ้าพระยาโกษาฯขุนเหล็ก ผู้ซึ่งสันทัดงานต่างประเทศและเกี่ยวข้องกับฝรั่งถึงแก่อสัญกรรม งานราชการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศจึงมาตกอยู่ในหน้าที่วิชเยนทร แต่เนื่องจากวิชเยนทรเป็นฝรั่งคนทั้งหลายจึงไม่เชื่อถือและไว้วางใจเหมือนอย่างเจ้าพระยาโกษาฯขุนเหล็ก
               ต่อมาเมื่อวิชเยนทรได้ว่าการต่างประเทศจึงไปชวนพวกอังกฤษให้มารับเดินเรือกำปั่นหลวงของไทย โดยประสงค์จะให้มีเรือไทยไปค้าขายยังนานาประเทศและให้ได้กำไรเหมือนชาติฝรั่งที่มาค้าขายกับเราบ้าง จนมีเหตุกระทบกระทั่งกับบริษัทของอังกฤษที่ลูกเรือลาออกมา จนในที่สุดรัฐบาลอังกฤษจึงเรียกคนของตนทั้งหมดกลับประเทศ ขณะเดียวกันทหารอังกฤษได้เข้ารื้อป้อมเมืองมะริดและแย่งเอาเรือกำปั่นรบของไทยไปด้วยลำหนึ่ง พระยาตะนาวศรีเห็นว่าอังกฤษก่อเรื่องก่อนจึงยกกองทัพเข้าปล้นเมืองมะริดและยึดเมืองคืนได้ อีกทั้งแย่งเรือรบอังกฤษได้ลำหนึ่ง เมื่อข่าวทราบถึงในกรุงฯสมเด็จพระนารายณ์จึงประกาศสงครามกับบริษัทอังกฤษ  อังกฤษกับไทยจึงเลยเป็นข้าศึกกันมาจนตลอดรัชกาลพระนารายณ์
               ครั้งนั้นทูตไทยที่ไปเจริญพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสเป็นที่เลื่องลือมากในยุโรป พระเจ้าหลุยส์ทรงรับรองยกย่องเกียรติยศเป็นอย่างสูง ถึงกับให้ตีเหรียญและเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้าไว้เป็นที่ระลึกและทรงจัดทหารฝรั่งเศส จำนวน ๑,๔๐๐ คน มีนายพลชื่อเดส์ฟาส เป็นผู้บังคับบัญชา เข้ามารับราชการของสมเด็จพระนารายณ์แต่ทรงแบ่งส่งไปรักษาป้อมที่เมืองมะริด ๒ กองร้อย นอกนั้นให้อยู่ประจำรักษาเมืองธนบุรี จึงได้สร้างป้อมใหญ่ขึ้นอีกป้อมหนึ่งทางฝั่งตะวันออก การที่ได้ทหารฝรั่งเศสเข้ามาในครั้งนั้นคงเป็นเพราะทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดทหารไทยตามแบบอย่างยุโรป ใช้สำหรับรักษาป้อมปราการที่ได้สร้างขึ้นใหม่ เพราะลำพังทหารที่มีอยู่เดิมคงรักษาไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากพวกแขกมักกะสันเป็นกบฏขึ้นในกรุงฯจน เกือบจะแย่งป้อมวิไชยเยนทร์ซึ่งเชวะเลียเดอฟอแบง นายทหารฝรั่งเศสอยู่รักษาเอาไปได้ จึงทรงให้แบ่งทหารฝรั่งเศสส่วนหนึ่งมารักษาป้อมนี้ และนับเป็นเวลาพอเหมาะแก่เหตุการณ์ที่ไทยรบกับบริษัทอังกฤษ จึงทำให้อังกฤษหาได้มาบุกรุกที่เมืองมะริดหรือที่ใดอีก
               ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ไม่มีราชโอรสที่จะรับรัชทายาท มีแต่เจ้าฟ้าราชธิดาและน้องเธออีก ๓ พระองค์ แต่ทรงเลี้ยงเจ้าราชนิกุลองค์หนึ่งทรงตั้งเป็นที่พระปีย์ซึ่งให้อยู่ปฏิบัติและใกล้ชิดพระองค์และทรงเมตตาอย่างราชบุตร วิชเยนทรเข้าใจว่าถ้าถึงเวลาจะทรงมอบราชสมบัติพระราชทานแก่พระปีย์ จึงรับอาสาเป็นครูสอนวิชาต่างๆทั้งยังเกลี้ยกล่อมพระปีย์ให้เป็นพรรคพวกข้างฝรั่ง นัยว่าจนถึงเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาคริศตังด้วย ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พวกข้าราชการพากันระแวงว่าวิชเยนทรจะคิดร้ายต่อบ้านเมืองจึงไปเป็นพวกพระเพทราชาซึ่งไม่ชอบฝรั่งกันมาก ทั้งสองฝ่ายมีความหวาดหวั่นในเรื่องรัชทายาทกันด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงต่างรีบกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันอันตราย แต่เนื่องจากพระเพทราชามีพวกมากและอยู่ใกล้กว่า จึงเรียกวิชเยนทรกับนายทหารฝรั่งเศสซึ่งไปอยู่ที่เมืองลพบุรี เอาตัวไปกักและคุมขังไว้ก่อน พอสอบสวนพระปีย์รับว่าวิชเยนทรได้พูดว่าจะให้เป็นรัชทายาทจึงให้ประหารพระปีย์เสีย ส่วนวิชเยนทรให้ไปประหารที่ทะเลชุบศรในอีกสามวันต่อมา ครั้นความดังกล่าวทราบถึงพระนารายณ์ก็ทรงโทมนัสน้อยในพระราชหฤทัย ทรงสาบแช่งพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ผู้ก่อการดังกล่าว
                แต่นั้นมาพระเพทราชาก็ตั้งหน้ากำจัดฝรั่งเศสโดยมีชาติฮอลันดาเข้าช่วยเหลือ ได้หลอกลวงนายพลเดส์ฟาซชาวฝรั่งเศสและบังคับให้เขียนหนังสือสั่งไปยังนายทหารฝรั่งเศสที่เมืองมะริด ให้ยกกำลังไปช่วยกองทัพไทยที่ยกไปทางเมืองลาว เดส์ฟาจึงเขียนหนังสือให้ดูเป็นที่ฉงนเสียแล้วจึงกลับมาเมืองธนบุรี โดยพระเพทราชาได้ยึดบุตรชายที่เป็นนายทหารไว้เป็นตัวประกัน เมื่อกลับมาถึงเมืองธนบุรีก็ให้ทหารฝรั่งเศสอุดชนวนปืนใหญ่ที่ป้อมวิไชยเยนทร์เสียทั้งหมด แล้วให้ขนเครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์ที่ยังใช้การได้ย้ายมาป้อมใหญ่ข้างฝั่งตะวันออกเพราะกำลังทหารฝรั่งเศสขณะนั้นเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถดูแลรักษาทั้งสองป้อมได้จึงมารวมกันคอยต่อสู้รักษาตัวที่ป้อมใหม่เพียงแห่งเดียว ครั้นพระเพทราชาทราบว่าทหารฝรั่งเศสเตรียมจะต่อสู้ที่เมืองธนบุรี จึงสั่งให้จับพวกสังฆราชบาทหลวงและพวกฝรั่งเศสไปกักขังเป็นตัวจำนำทั้งหมด พร้อมส่งกองทัพมาล้อมเมืองธนบุรีไว้ และให้ตั้งค่ายรายปืนที่เมืองสมุทรปราการและเมืองพระประแดงคอยดักเรือกำปั่นพร้อมทั้งจับเรือที่จะขึ้นมาช่วยทหารฝรั่งเศสได้ ๒ ลำ
                ช่วงเวลาที่กำลังรบกับฝรั่งเศสอยู่นั้น สมเด็จพระนารายณ์สวรรคตที่เมืองลพบุรีข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ กองทัพไทยก็ยังคงรบกับฝรั่งเศสต่อมา ฝรั่งเศสถูกล้อมอยู่ในป้อมนาน ๒ เดือนสิ้นเสบียงอาหารจึงมาขอเลิกรบกับนายทัพไทย แจ้งว่าไม่ได้คิดจะทำร้ายเมืองไทยปรารถนาจะกลับไปบ้านเมืองเท่านั้น พระเพทราชาจึงให้คืนเรือกำปั่นฝรั่งเศสที่ไทยยึดไว้ให้บรรทุกทหารกลับบ้านเมือง แต่ยึดตัวสังฆราชบาทหลวงกับพวกพ่อค้าชาวฝรั่งเศสไว้เป็นตัวจำนำ จนกว่าราชทูตไทยที่ไปอยู่ในเมืองฝรั่งเศสกลับมาถึงจึงจะปล่อยไป ทหารฝรั่งเศสที่เหลืออยู่ที่เมืองมะริด ๖๐ คนก็ปล่อยไปเช่นเดียวกัน เมื่อกำจัดทหารฝรั่งเศสไปแล้วจึงให้รื้อทำลายป้อมใหญ่ที่เมืองธนบุรีข้างฝั่งตะวันออกเสีย ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนราชินี )คงเหลือไว้แต่ป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่งสร้างไว้แต่ก่อนเพียงป้อมเดียว
                พอเสร็จจากเรื่องฝรั่งหลังสมเด็จพระเพทราชาทำการราชาภิเษกแล้ว เรื่องที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงสาบแช่งเมื่อเวลาประชวรแพร่หลายไป จึงมีผู้โกรธแค้นพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ซึ่งได้เป็นพระมหาอุปราชว่าเป็นขบถต่อสมเด็จพระนารายณ์ พระยายมราชผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมาและพระยารามเดโชผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชต่างตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเพทราชาทั้งสองเมือง  ต้องรบพุ่งปราบปรามกันอยู่หลายปีจึงราบคาบ อีกทั้งมีมอญปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศน้องยาเธอของสมเด็จพระนารายณ์ยกทัพเข้ามาถึงชานพระนครเพื่อชิงราชสมบัติแต่มาพ่ายแพ้ในภายหลัง บ้านเมืองวุ่นวายอยู่ช้านานจึงสงบ
                 คราวใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ มังมหานรธายกกองทัพมีจำนวนพลประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน หวังจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านใต้ จึงจัดกองทัพเป็น ๒ กองให้เมขะระโบคุมกองทัพเรือยกมาทางแม่กลอง ท่าจีน ตีเมืองธนบุรี เมืองนนทบุรีขึ้นไปตีกรุงศรีอยุธยาทางหนึ่ง ส่วนตัวมังมหานรธาคุมกองทัพบกยกมาทางเมืองสุพรรณบุรี พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งคุมพวกพลเมืองนครราชสีมารักษาเมืองธนบุรีอยู่นั้น เห็นกองทัพพม่ายกมามากก็ไม่ต่อสู้ พาพวกไพร่พลเมืองหนีกลับไปบ้านเมืองหมด ขณะนั้นนายเรือกำปั่นอังกฤษลำหนึ่งซึ่งมาค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา รับอาสาช่วยรบพม่าจึงเลื่อนเรือกำปั่นมาทอดที่เมืองธนบุรี แล้วเอาปืนใหญ่รายแคมยิงข้าศึก แต่เนื่องจากกองทัพที่รักษาเมืองธนบุรีหนีไปหมด พม่าก็ขึ้นบนป้อมวิไชยเยนทร์เอาปืนใหญ่ที่บนป้อมยิงเรือกำปั่นอังกฤษ  จนต้องถอยหนีกลับขึ้นไปขอปืนใหญ่ที่มีกำลังกว่าปืนแคมเรือพร้อมกำลังพลลงมาสู้กับพม่าอีก แต่มาแพ้กลอุบายของพม่า ล้าต้าอังกฤษตายหนึ่งคนกองทัพไทยก็แตกหนี นายเรืออังกฤษเห็นว่าจะต่อสู้พม่าไม่ไหวก็ล่องเรือกำปั่นแล่นออกทะเลไป
                 ครั้นถึงวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ เวลาบ่าย ๓ โมงพม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนคร พอพลบค่ำกำแพงเมืองบริเวณที่สุมก็ทรุดลงพม่าจึงเอาบันไดพาดปีนเข้าได้ พวกไทยที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้พม่าได้ ไทยจึงเสียกรุงให้แก่พม่าหลังจากที่ถูกล้อมอยู่นานหนึ่งปีกับสองเดือน เมื่อได้กรุงศรีอยุธยาแล้วพม่าพักอยู่เก้าวันสิบวัน จนพอรวบรวมเชลยและทรัพย์สิ่งของเสร็จแล้วเมื่อเลิกทัพกลับจึงตั้งให้สุกี้คุมพลพม่ามอญรวม ๓,๐๐๐ คนตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นเพื่อคอยสืบจับผู้คนและเก็บทรัพย์สิ่งของส่งต่อไป  ตั้งให้นายทองอินชึ่งเป็นคนไทยที่เข้ากับพวกพม่าให้เป็นเจ้าเมืองธนบุรี
                 เมื่อพระยาตากรวบรวมกำลังผู้คนได้มากแล้วก็ยกกองทัพเรือมาเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในข้างขึ้นเดือน ๑๒ นายทองอินที่พม่าตั้งให้รักษาเมืองธนบุรีจึงส่งข่าวไปบอกแก่สุกี้แม่ทัพที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกคนขึ้นรักษาป้อมวิไชยเยนทร์และที่เชิงเทินเมืองธนบุรีคอยจะต่อสู้ ครั้นกองทัพพระยาตากขึ้นมาถึง พวกรี้พลที่รักษาหน้าที่เห็นว่าเป็นกองทัพไทยยกมาก็ไม่มีใจที่จะต่อสู้ รบสู้กันเพียงหน่อยหนึ่งพระยาตากก็ตีได้เมืองธนบุรี จับตัวนายทองอินได้ให้ประหารชีวิตเสีย แล้วให้เร่งกองทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา ให้กองทหารจีนไปตั้งประชิดค่ายและระดมเข้าตีค่ายสุกี้รบกันตั้งแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพพระยาตากก็เข้าค่ายพม่าได้ฆ่าสุกี้แม่ทัพพม่าตายในที่รบ พวกไพร่พลที่เหลือตายหนีไปได้บ้างแต่ที่จับได้และที่เป็นไทยยอมอ่อนน้อมโดยดีนั้นมีเป็นอันมาก พระยาตากเมื่อได้ค่ายโพธิ์สามต้นก็ได้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาเป็นของไทย แต่เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเสียหายมากจึงทรงย้ายราชธานีมาตั้งขึ้นบริเวณที่ตั้งเดิมของป้อมวิไชยเยนทร์ พร้อมทั้งปรับปรุงป้อมและเปลี่ยนชื่อป้อมเสียใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีของไทยสืบต่อมา
                 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับใหม่ และได้ทรงแต่งตั้งพระราชวงค์ชั้นสูง ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับ พระราชดำรินี้ได้สืบทอดมาจนทุกรัชกาล จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงเรียนนายเรือจึงย้ายออกไปตั้งอยู่ที่สัตหีบ และย้ายมาตั้งที่สมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕
                กองทัพเรือได้ดัดแปลงแก้ไขอาคารเดิมของโรงเรียนนายเรือเป็นแบบทรงไทยและใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือและหน่วยงานในสังกัดอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งในบริเวณที่ตั้งดังกล่าว ยังมีโบราณสถานที่ปรากฏให้เห็นได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนักเก๋งคู่ พระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญซึ่งเรากล่าวมาตั้งแต่ต้นก็คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์นี่เอง
                                                             
                                                      โดย 
คนบ้านเดียวกัน
                
        อ้างอิง : ไทยรบพม่า พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุ ภาพ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๔๕.
                 : พระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระปิยมหาราช ที่ทรงมีต่อกองทัพเรือ.กรุงเทพฯ กองโรงพิมพ์ กรมสารบรรณทหารเรือ,๒๕๔๖.

หมายเลขบันทึก: 64991เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2006 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท