Mouth More : More than word @KKU


Mouth More : More than word @KKU

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน KKUL Open House 2018 เพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ในวันพุธที่ 29 สิงหาคม 2561 ณ ห้องโถงอาคารศูนย์สารสนเทศ สำนักหอสมุด มข. มีผู้ส่งผลงานร่วมนำเสนอผลการปฏิบัติ จำนวน 33 แบ่งเป็น 3 หมวด คือ 1. การจัดการสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (IT) 2. การบริการสารสนเทศ การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) และ 3. การบริหารองค์กร การจัดการความรู้ (KM) ผมร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในหมวดที่ 2. เรื่องการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ จากการจัดรายการวิทยุที่สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นในรายการ Mouth More เรื่องเล่าของชาว มข. Mouth More : More than word @KKU

 

ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ร่วมในเวทีวิชาการ แม้ไม่ใช่เวทีวิชาการขนาดใหญ่ มีผู้ทรงคุณวุฒิแบบเข้ม แต่คงเป็นเวทีเล็ก ๆ ที่มีเรื่องราวอันงดงามแฝงอยู่ และงานนี้ ธีมหลักคือการพัฒนางานเพื่อ “ความยั่งยืน” ให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ  17 ประเด็น ซึ่งสำนักหอสมุดตั้งหัวข้องานว่า Innovation Device for Customer Engagement การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความผูกพันกับผู้ใช้บริการ

ผมดีใจผนวกกับตื่นเต้นที่เรื่องเล็ก ๆ ที่ผมทำคือรายการวิทยุ Mouth More จะได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งในเวทีวิชาการ ผมตัดสินใจส่งผลงานโดยคำรบเร้าของพี่ ๆ ที่สำนักหอสมุด ผมจึงเร่งปั่นชิ้นงาน “เขียน” แบบมั่วได้ใจ แม้ฝ่ายจัดงานจะมีแบบฟอร์ม รูปแบบและกรอบการนำเสนอมาให้แล้วก็ตาม เพราะเรื่องที่ผมลำบากใจกว่าคือ งานนี้ไม่มีการนำเสนอโปสเตอร์ แต่เปลี่ยนเป็นวีดิโอความยาวไม่เกิน 5 นาที... แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสมาให้ก้าวข้ามความท้าทายนั้น เพราะมีคนอาสาช่วยทำวีดิโอเพื่อไปนำเสนอ

การนำเสนอต้องระบุลักษณะของผลงาน วิธีดำเนินการ (How to)  แนวคิด การดำเนินการ ผลสัมฤทธิ์ ความภาคภูมิใจ  ปัจจัยแห่งความสำเร็จและความยั่งยืน...ผมจึงเขียนร่ายยาวเอาข้อมูลในหัวมาใส่ลงในกระดาษเพื่อเร่งส่งให้ฝ่ายจัดงานในวันสุดท้าย (เอาไว้นำเสนอเสร็จจะนำมาบันทึกลงใน gotoknow)  กรรมการอ่านคงพลิกหน้าพลิกหลังแล้วอุทานว่า “นี่งานวิชาการเหรอ เขียนได้ไก่กามาก”

และวันที่ 15 สิงหาคม 61 ได้รับแจ้งจากฝ่ายจัดงานว่าผลงานของผมได้ถูกจัดหมวดหมู่อีกครั้งโดยใช้ 17 ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เป็นตัวกำหนด ผมถูกจัดให้อยู่ในหมวดสุดท้ายคือ 17 PARTNERSHIPS FOR THE GOALS การสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ (ระดับสากล) ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และผมก็ค้นข้อมูลในเว็บไซต์ของ UN จึงมีคำอธิบายว่า “ในโลกยุคปัจจุบันมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิม การพัฒนาในการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการแบ่งปันความคิดและสนับสนุนนวัตกรรม การประสานงานด้านนโยบายจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถจัดการหนี้ได้ เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประสบผลในการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ที่มา :  https://www.un.or.th/globalgoals/th/global-goals/partnerships-for-the-goals/

จึงทำให้เห็นประเด็นการเชื่อมโยงมากมายในการทำงานว่าอะไรคือ “การสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ” รวมถึง “การพัฒนาในการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการแบ่งปันความคิดและสนับสนุนนวัตกรรม” จะช่วยเป็นแนวทางที่ช่วยให้ “ชัด” ในเชิงผลลัพธ์ในการทำงาน

อยากเชิญชวนแฟนคลับมาให้กำลังใจผมด้วยนะครับในวันที่ 29 สิงหาคม 61 ที่จะถึงนี้ หลังการนำเสนอหาไม่หลงลืมเสียก่อน จะมาถอดบทเรียน...เพื่อ ลปรร. นะครับ

 

ณ มอดินแดง

16 สิงหาคม  2561

 

หมายเลขบันทึก: 649799เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2018 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2018 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท