๗๖๖. การศึกษา..ที่ต้องเข้าใจ เข้าถึง จึงจะพัฒนา...


หาก “ผู้นำ” ยังไม่เข้าใจ และยังเข้าไม่ถึง “ศาสตร์พระราชา” สิ่งที่คิดขึ้นมาจึงสร้างความทุกข์แก่ผู้ปฎิบัติอยู่เสมอ และเกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา ตลอดจนไม่พัฒนาตามวัตถุประสงค์...

             ผมเป็นคนหนึ่ง..ที่สนใจเรื่องประเทศไทย 4.0 น้อย ถึงน้อยมาก แทบจะไม่มีความรู้เลย คิดเอาเองว่า นโยบายอะไรแปลกๆ ไม่ได้มีความโดดเด่น ที่แสดงถึงความเป็นไทยเลยแม้แต่น้อย

            ผมจึงไม่ติดตามนิยามหรือความหมาย ให้มันเสียเวลา..แต่ถ้าจะให้คาดเดา เขาคงอยากให้ประเทศไทยเป็น “เสือ” ที่ก้าวทันโลกมหาอำนาจ อะไรประมาณนั้น

            จึงพยายามทุกวิถีทาง ที่จะผลักดันโครงการฯต่างๆ รวมทั้งเน้นย้ำเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรม การค้าและเศรษฐกิจ

            รวมทั้งการศึกษาด้วย ที่จะให้พ่วงท้าย 4.0  ไปกับเขา  ซึ่งตอนนี้ เท่าที่ผมประมาณการ การศึกษาไทยเพิ่งอยู่ในขั้น 1.0 เท่านั้น (มั้ง)

            เพราะเรายังจัดการศึกษากันแบบหลอกๆกันอยู่เลย ยกตัวอย่าง..ให้เห็นด้านโครงสร้างทางการศึกษา ที่ยังบริหารจัดการแบบลงตัวได้ยาก ทั้งเขตพื้นที่ จังหวัดและระดับภาค..ที่มีแต่คนสั่งการ งานการศึกษาที่แท้จริง แทบไม่ได้ขับเคลื่อน..

            โครงสร้างที่ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาสังคมไทย รูปแบบบริหารที่ห่างไกลผู้คน และชุมชนในระดับรากหญ้า คนธรรมดาสามัญที่อยู่ในตำบลและอำเภอ ไม่รู้เรื่องเลยว่าการศึกษา เขากำลังทำอะไรกันอยู่

            เมื่อผู้คนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษา หรือเข้าไม่ถึงอยู่เช่นนี้ เขาจะอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและร่วมรับผิดชอบได้อย่างไร?

            ในส่วนของ “ครูและเด็กไทย” ผู้นำการศึกษาพยายามหยิบยื่นอะไรให้มากมายจิปาถะ เพียงเพื่อต้องการเห็น..เด็กเก่ง..ทุกสิ่งที่ลงทุนดูเป็นเรื่อง “พิเศษ” สุดๆ ที่จะเนรมิตอะไรก็ได้..ผมสงสัยเหลือเกิน ทำไมถึงคิดอะไรไปได้มากมายขนาดนั้น สุดท้ายมันก็ไม่ใช่ ฝันลมๆแล้งๆ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอยู่ตลอด..

            เอาแค่เรื่อง “คูปองครู” วันนี้..นายกฯสรุปแล้วว่า ประสบความสำเร็จ ในแง่มุมที่ครูสามารถนำความรู้จากการอบรมฯจากหน่วยพัฒนาครู ลงมาสู่เด็ก เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอน...

            ในความเป็นจริง..โครงการนี้ยังไม่เสร็จสิ้นเลย ยังไม่ได้มีการประเมินผล และที่สำคัญที่สุด.ยังเป็นปัญหาในระดับสพฐและเขตพื้นที่ฯ ที่ต้องมีการประกาศยกเลิกหลักสูตรฯและหน่วยอบรมให้ครูรับทราบ...นั่นคือ ครูยังเคว้งคว้างอีกมากมายนับหมื่นคน

            ครูหลายท่าน.เดินทางไกลไปต่างจังหวัด อบรมเสร็จแล้ว ได้เกียรติบัตรและเงื่อนไขเวลา มาใช้ในการพัฒนาวิทยฐานะ..แต่วันนี้มีการประกาศว่า หลักสูตรที่ครูไปอบรมมานั้น ไม่ได้รับการรับรอง ..

            กว่าจะประกาศยกเลิก..ครูก็ไปอบรมกันแล้วหลายพันคน งานนี้..หน่วยอบรมที่มีหน้าที่พัฒนาครูก็คงเจ็บปวดมากกว่าใคร..เพราะลงทุนไปเยอะ

            ยังไม่รวมครูบางท่าน ที่หาหลักสูตรที่ถูกใจไม่ได้ เพราะมันไม่มี หรือมีก็ไม่ตรงกับปัญหาของครูและเด็ก ก็ต้องเลือกหลักสูตรฯ พอให้แล้วๆไป..อย่างนี้หรือที่เรียกว่าความสำเร็จของ “คูปองครู”

            ประเทศไทย 4.0 ก็ว่ากันไป เอาที่สบายใจเถอะ..ในส่วนของการศึกษา ถ้ายังไม่หันมาเรียนรู้ “คำสอนของพ่อ” ยังไม่สำนึกที่จะปฎิบัติ ตาม “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แล้วล่ะก็..ผมคิดว่า..อย่าหวังไกล ในเมื่อเรายังไม่สอนให้เด็กไทยรู้จักตนเองให้มากพอ..ที่สุดแล้วเราก็ไปไม่ถึง 4.0 ทั้งระบบ

            พ่อสอนไว้ให้ “ทำให้ง่าย” แต่มิใช่มักง่าย พ่อให้ศึกษาบริบท แล้วทำแบบพอประมาณ ทำอย่างมีเหตุมีผล ทำแล้วมีความสุขและต้องซื่อสัตย์สุจริตด้วย การทำให้ง่ายจึงจะเกิดดอกออกผลที่งดงาม..

            หาก “ผู้นำ” ยังไม่เข้าใจ และยังข้าไม่ถึง “ศาสตร์พระราชา” สิ่งที่คิดขึ้นมาจึงสร้างความทุกข์แก่ผู้ปฎิบัติอยู่เสมอ และเกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา ตลอดจนไม่พัฒนาตามวัตถุประสงค์...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๔  สิงหาคม  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 649622เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2018 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2018 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รูปแบบบริหารที่ห่างไกลผู้คน

…เป็นวาทะของการคิดตามจริงๆ ครับ -ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท