ชีวิตที่พอเพียง 3215. สวิส ๒๕๖๑ : ๙. สมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ ๗๑ วันที่สอง



๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑

วันนี้หมอวิโรจน์ชวนไปสังเกตการณ์การประชุมROV –Regional One Voice  ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้๑๑ ประเทศ    เพื่อร่วมกันปรับปรุงร่างของ ROVIntervention ของ SEAR 

ผมติดตามคณะของหมอวิโรจน์ออกจากโรงแรมเวลา๗.๓๐ น.  เดินผ่านโบสถ์และท่ารถเมล์แล้วเลี้ยวซ้ายไปที่ป้ายรถเมล์ จับรถสาย ๘ไปองค์การสหประชาชาติ    คนแน่นมากโดยเฉพาะที่ป้ายหน้าสถานีรถไฟ  เราไปถึงห้องประชุม IV ช้ากว่ากำหนด ๘.๐๐ น.   เขาประชุมกันไปแล้ว    ไปถึงหมอวิโรจน์ก็สวมหน้าที่ประธานทันที    และไม่ใช่ทำหน้าที่ประธานชี้ให้คนพูดแต่เป็นประธานชี้ประเด็นสำคัญ   แล้วบอกให้เอาบางส่วนที่เยิ่นเย้อออก  ดูว่าประเด็นสำคัญมีครบถ้วนไหม  เขียนชัดไหม  ส่วนไหนเป็นประเด็นร้อนที่ต้องตัดออก หรือเปลี่ยนโทนเสียง    เช่นวาระ11.2 Public Health Preparedness and response   กรณีโรฮิงยา ที่เป็นประแด็นร้อนของพม่า    ต้องขอให้บังคลาเทศปรับถ้อยคำและเปลี่ยนประเทศคู่เสนอจากภูฏานเป็นอินโดนีเซียที่เป็นประเทศอิสลามเหมือนคนโรฮิงยา   

คนแน่นห้องประชุม   และบรรยากาศเอาจริงเอาจัง  โดยมีเจ้าหน้าที่ของ SEARO คอยให้ข้อมูลเรื่องนั้นๆและเรื่องที่เกี่ยวข้อง   เห็นชัดเจนว่าที่ประชุมมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันสูงมาก    มีการอลุ้มอล่วย และช่วยเหลือกัน    ที่สำคัญเขานับถือหมอวิโรจน์มาก   

หลังการประชุม ผมบอกหมอวิโรจน์ว่าการทำหน้าที่ประธานการประชุมนี้ของหมอวิโรจน์ไม่เหมือนการทำหน้าที่ประธานการประชุมทั่วไป   คือประธานลงเนื้อสาระการประชุมมาก   ประธานรู้ดีกว่าใครๆ โดยต้องทำการบ้านมาก   ในขณะที่คนอื่นบางคน ที่เป็นผู้แทนของบางประเทศไม่ทำการบ้านมาก่อนเลย    ประธานทำหน้าที่คล้ายๆ หัวหน้าคณะทำงานบวกกับหน้าที่ดำเนินการประชุม และสรุปข้อตกลง   กว่าครึ่งประธานเป็นผู้สรุปข้อตกลง   หมอวิโรจน์บอกว่า คนที่มาประชุมส่วนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของตน  จึงเคารพกัน และตกลงกันง่าย   

หลังจากนั้นผมไปเข้าประชุมที่ COM A   ซึ่งประชุมเรื่อง 11.4 Health, environment and climate change ต่อจากเมื่อวาน   เมื่อหมดผู้ขอแสดงความเห็น ผู้แทนองค์การอนามัยโลกกล่าวสรุป สามสี่นาที    แล้วประชุมเรื่อง 11.5 Addressing theglobal shortage of, and access to, medicines and vaccines (1) ต่อ    ผมนั่งฟังสักครู่ก็ออกมา    ไปหยิบเอกสารและแผ่นแม่เหล็กรณรงค์ Applythe FIVE keys to Safer Food ขององค์การอนามัยโลก ()    ซึ่ง ๕กุญแจคือ (๑) ความสะอาด  (๒)แยกอาหารดิบกับอาหารสุก  (๓)ปรุงให้สุกทั่วถึง  (๔) เก็บอาหารในอุณหภูมิเหมาะสม  (๕) ใช้น้ำ และวัตถุดิบที่สะอาด  

  ผมออกไปนั่งทำงานที่ThaiVillage   เมื่อถึงเวลาเที่ยงก็มีอาหารบุฟเฟ่ต์ตามเคย     พอเวลาเที่ยงเศษๆ อ. บุ๋มชวนไปซื้อของปลอดภาษีที่ร้านซาฟี่ในบริเวณองค์การสหประชาชาติ   เพื่อรับใช้ใบสั่งของสาวน้อย    กลับออกมาจ๊ะเอ๋ท่านรัฐมนตรีปิยะสกลพอดี    ท่านเพิ่งมาถึง    ท่านทูตเสข วรรณเมธีเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ไปรับ    และเวลาบ่ายสองโมงมีนัดคุยกับทีมรัฐมนตรีญี่ปุ่น    เรื่องความร่วมมือ UHC ที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะขอจัดเป็น2nd UHC High Commission Forum ไปพร้อมกัน   ท่านรัฐมนตรีบอกว่าเวลานี้ไทยเนื้อหอมมากในเรื่อง UHC   หลายประเทศต้องการมาขอความช่วยเหลือ    ผมเสนอว่าควรเป็นความร่วมมือ   โดยมีองค์ประกอบพัฒนาคนสำหรับทำงานด้านวิจัยหรือ evidence generation / synthesis ด้วย    ให้เป็นความร่วมมือแบบ win – win   โดยเขาส่งคนมาเรียนปริญญาเอก – โท กับหมอวิโรจน์ หมอยศ และในมหาวิทยาลัยไทย   

ในการประชุมมีหน่วยงานทำกระดุมติดเสื้อว่าBeat NCD  เอามาติดให้ผม    ทำให้ผมเถียงในใจว่ากระบวนทัศน์นี้ผิด    เราไม่ควรคิดเอาชนะ NCD   แต่ควรคิดอยู่กับ NCD อย่างเป็นมิตร   ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน   อย่างที่ผมทำมากว่าสิบปีแล้ว   ภายใต้คำขวัญว่า “สุขภาพดี โดยมีโรค”    คือแม้มีโรคอยู่ในตัวก็มีสุขภาพดี   

ในเอกสาร ระบุว่าในวันพฤหัสที่ ๒๔ เวลา๑๘.๐๐ - ๑๘.๕๐ น. มีรายการ From burden to solution – endingtuberculosis, beating non-communicable diseases and achieving Health For Allthrough alcohol policy best buys implementation จัดโดยผู้แทนจากประเทศบ็อทสวานา, ลิธัวเนีย, สโลวีเนีย, ไทย และ IOGT International    โดยผู้พูดจากไทยคือ ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.   ทำให้ผมสงสัยว่า แอลกอฮอล์เกี่ยวกับโรคทีบี และ NCD ด้วยหรือ    ค้นพบรายงานนี้ พบว่าผลการวิจัยแบบ meta-analysisยืนยันชัดเจนว่า   หากจะแก้ปัญหาวัณโรค ต้องแก้ปัญหาสุรา   จะเห็นว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องซับซ้อนและเชื่อมโยงกันยุ่งเหยิง  

ตอนเย็น ท่านทูตเสขและคณะเลี้ยงต้อนรับท่านรัฐมนตรีและทีมไทยเวลา๑๘.๓๐ น. ณ Commissionที่เราไปกินอาหารเที่ยงแบบบุฟเฟต์กันแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์   แต่คราวนี้จัดแบบ sit down buffet dinner    อ. บุ๋มกับผมนั่งรถสาย เอฟไปลงที่ Broken Chair  แล้วต่อรถรางไปสองป้าย    แล้วเดินกรำฝนไป   ไปถึงได้ข่าวว่าท่านรัฐมนตรีติดเรื่องด่วนทางเมืองไทย ที่กระทรวงการคลังออกระเบียบกีดกันลูกจ้างชั่วคราว    ทำให้พนักงานรวมตัวกันประท้วง     ท่านทูตบอกว่า ได้จัดอาหารไปให้แล้ว   

ยืนคุยกันสักครู่ก็ได้เวลาไปตักอาหาร    ผมได้รับเกียรติเป็นคนแรกตามความแก่   และได้นั่งตรงข้ามท่านทูตแทนท่านรัฐมนตรี    คราวนี้มีการจัดโต๊ะนั่งรับประทานอย่างสวยงาม    อาหารอร่อย ไวน์ก็อร่อย    ท่านทูตบอกว่าไวน์สวิสต้องไวน์ขาว    แต่ผมขอไวน์แดง ซึ่งก็อร่อยมาก   

ทีมทำงานประชุมจำนวนหนึ่งติดอยู่ในที่ประชุม    กว่าจะไปถึง Commission ก็เกือบสองทุ่ม    และได้กินอาหารอร่อย    แต่ก็มีบางคนล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปกินอาหารไทยเพราะฝนตกเดินทางลำบาก   

กินอาหารเสร็จ หมอสุวิทย์ทำหน้าที่มอบของจากกระทรวงสาธารณสุขแทนท่านรัฐมนตรี    หมอสุปรีดามอบชองที่ระลึกจาก สสส.    แล้วทาง Commission  กรุณาจัดรถไปส่ง เพราะฝนตก              

วิจารณ์ พานิช

๒๓ พ.ค. ๖๑

ห้องรับรอง สวิสแอร์ สนามบินเจนีวา    


1 นพ. วิโรจน์ทำหน้าที่ประธานการประชุม SEAR ROV




2 ห้องเดียวกัน ถ่ายไปทางอีกมุมหนึ่ง

3 ใน Com A ประชุมเรื่อง climate change ต่อ

4

 

หมายเลขบันทึก: 648863เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2018 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2018 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท