สอนวิธีเรียนรู้ ไม่ใช่สอนวิชา



หนังสือ Most Likely to Succeed : Preparing Our Kids for the Innovation Era (1)  เขียนโดย Tony Wagner & Ted Dintersmith บอกว่า ต้องเปลี่ยนเป้าหมายการศึกษา จากสอนความรู้ ไปเป็นสอนวิธีเรียนรู้   


หนังสือเล่มนี้เล่าสภาพการศึกษาของโลก และของอเมริกันย้อนไปหลายศตวรรษ


การศึกษาในรูปแบบเดิม ก่อนมีระบบการศึกษาภาคบังคับของรัฐ (ที่นำโดยปรัสเซีย ที่สมัยนี้คือเยอรมนี) เป็นระบบ “เรียนโดยการเป็นลูกมือฝึกงาน” (apprenticeship)    การศึกษาของไทยเราก่อนมีระบบการศึกษาภาคบังคับ ก็เป็นระบบฝึกงาน ทำกันเองภายในครอบครัว หรือสำนักช่าง  

ต่อมาในโลกตะวันตก ยุคกลาง (คริสต) ศาสนาเฟื่องฟู    ต้องการสร้างคนไปเป็นหมอสอนศาสนา    จึงเกิดระบบการศึกษา เกิดโรงเรียน

 

การศึกษาอย่างเป็นระบบอย่างในปัจจุบัน เริ่มที่ประเทศ ปรัสเซีย    เมื่อแพ้สงครามนโปเลียน ตอนต้นศตวรรษที่ ๑๙   จึงจัดให้พลเมืองเข้าโรงเรียน ใช้เวลาเรียน ๘ ปี  เน้นการอ่าน  คณิตศาสตร์ และมีวินัยเชื่อฟัง    เพื่อยกระดับคุณภาพของพลเมือง ให้สู้ประเทศอื่นได้   


ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ ๑๙   การศึกษามีเป้าหมายสร้างคน ให้มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา และทำงานตามรูปแบบตายตัวของสายการผลิต    รูปแบบการศึกษาจึงเน้นการมีความรู้ความคิดตายตัวตามแบบแผนที่กำหนด    เพื่อ “ประสิทธิภาพ” ของการผลิต    ซึ่งก็คือระบบการศึกษาที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน


ระบบการศึกษาในปัจจุบันจึงเป็นระบบที่ล้าสมัย  เป็นระบบสร้างคนแห่งอดีต  ไม่ใช่สร้างคนแห่งอนาคต   ที่ต้องการคนที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการปรับตัว ต่อสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงและรวดเร็ว         


เวลานี้เข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ระบบการศึกษาของทั้งโลก (ยกเว้นบางประเทศ) ก็ยังคงรูปแบบของศตวรรษที่ ๑๙    ทำให้ผู้คนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต (unsuccessful)  ไม่มีความสุข (unhappy)   ไม่รับรู้ (uninformed) เรื่องราว (ที่ VUCA ของโลก)    และมี คุณลักษณะ (characters) ทักษะ (skills) และความรู้ (knowledge) ไม่เหมาะต่องาน และการดำรงชีวิตในปัจจุบัน  

เพราะระบบสังคมเปลี่ยน  แต่ระบบการศึกษาไม่เปลี่ยน    ระบบการศึกษาจึงล้าหลัง  


Peter Drucker ได้เตือนเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ในปี 1959  ว่าโลกต้องการ knowledge worker   ไม่ใช่ manual worker อีกต่อไป    แต่ระบบการศึกษาก็ไม่เปลี่ยน  


การศึกษาในรูปแบบเดิม เน้นให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาความรู้   เอาไว้ “สำรอก” ตอบข้อสอบ (ที่เน้นถามความจำ)   


มีงานวิจัยในเด็กนักเรียนโรงเรียน Lawrenceville   เมื่อเรียนจบปีการศึกษา มีการสอบไล่ปลายปี ผลสอบเฉลี่ย B+   หลังจากนักเรียนหยุดภาคฤดูร้อน ๓ เดือน   ให้ตอบข้อสอบเดิมอีกครั้งหนึ่ง    ผลสอบเฉลี่ยคือ F   แสดงว่าความจำที่ใช้ในการสอบไล่นั้น เป็นความจำชั่วคราว    ไม่ยั่งยืน   ไม่เป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง   


“รู้” ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาในปัจจุบัน    ต้องนำความรู้นั้นไปแก้ปัญหาได้    คือการศึกษาต้องนำสู่การเรียนรู้ระดับสูง (higher order learning)    ตามแนวทางของ Bloom    

ผมขอเสนอความเห็นส่วนตัวว่า  ผลลัพธ์สูงสุดของการศึกษา/เรียนรู้ ในยุคปัจจุบัน คือการเกิดแรงบันดาลใจ (inspiration) ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อทำประโยชน์ยิ่งใหญ่ในอนาคต   


บัดนี้ หมดยุคของการสอนแบบถ่ายทอดความรู้    การเรียนรู้ที่ถูกต้องในยุคปัจจุบันคือ การฝึกตีความสร้างกรอบคิดใหม่ๆ ต่อเรื่องราว/ปัญหา ต่างๆ    นำมาสื่อสารแลกเปลี่ยน   และดำเนินการริเริ่มทำตามกรอบคิดนั้นๆ   


โปรดสังเกตว่า active learning  ที่เน้นใช้กรอบคิดเดิมๆ    ไม่ใช่การศึกษาที่พึงประสงค์สำหรับศตวรรษที่ ๒๑   active learning เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ    ต้องการกระบวนการสร้างและทดลองประยุกต์กรอบคิดใหม่ๆ ที่มีตกร่องเดิมๆ ด้วย   


ฝีกสร้างกรอบคิดใหม่   ฝึกทำตามกรอบคิดใหม่ ก็ยังไม่เพียงพอ    ต้องฝึกสื่อสารข้อมูลหลักฐานการดำเนินการตามกรอบคิดใหม่ด้วย  

ในยุคอุตสาหกรรม การศึกษาทำหน้าที่สร้างผู้ตาม    ในยุคปัจจุบัน การศึกษาต้องเน้นสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง 


วิจารณ์ พานิช        

๒๗ พฤษภาคม ๖๑ 


 

 

หมายเลขบันทึก: 648664เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2018 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2018 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

This “… ฝีกสร้างกรอบคิดใหม่ ฝึกทำตามกรอบคิดใหม่ ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องฝึกสื่อสารข้อมูลหลักฐานการดำเนินการตามกรอบคิดใหม่ด้วย

ในยุคอุตสาหกรรม การศึกษาทำหน้าที่สร้างผู้ตาม ในยุคปัจจุบัน การศึกษาต้องเน้นสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง…” is worth reflecting on. Thank you. (I recall a pep talk for postgrad candidates in a nutshell: build (knowledge), prove (it) then ‘make’ people understand. ;-)

ติดตามความรู้นะคะ ชอบอ่านแนวคิดใหม่ๆเพื่อสร้างสรรค์งานต่อไปนะคะ ขอบคุณนะคะข้อความดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท