จุดเริ่มต้นของการเขียนบทความวิชาการครั้งแรก


บทความวิชาการ

…ประสบการณ์ในการเขียนบทความวิชาการครั้งแรก …. เรียนรู้กับครูผู้เป็นต้นแบบในใจ  ศาสตราจารย์ ดร.รัตนะ บัวสนธ์

บันทึกเมื่อ 30 มิ.ย 61 

(ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาความร่วมมือในการผลิตผลงานวิชาการที่มีคุณภาพของอาจารย์ วพบ.แพร่ เจ้าภาพ)

            ความอึดอัด ความคับข้องใจ การไม่พร้อมและสาระพันปัญหาต่างๆนา พรั่งพรูมาพร้อมกับคำว่าเริ่มต้น..... เขียนบทความวิชาการ แต่…. คำพูดหนึ่งที่ศาสตราจารย์รัตนะ บัวสนธ์ ผู้เป็นไอดอลของผู้เขียน คำพูดนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนความคิดมุมมองและความรู้สึกในขณะนี้ของผู้เขียน ท่านพูดว่า

            “จะเสียเวลาอ่านอยู่ไย ทำไมไม่เริ่มต้นเขียนเสียที” มาเริ่มกันนะคะ 

เริ่มจากบทเรียนที่ได้เรียนรู้กับครูผู้เปลี่ยนแปลง....

            ศาสตราจารย์รัตนะ บัวสนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาที่เป็นที่รู้จักดี ด้วยผลงานวิชาการที่มากล้น ในส่วนตัวผู้เขียนขอเรียกท่านว่า "ครู" เพราะเป็นคำที่คู่ควรและแทนความหมายทั้งหมดของความเป็นท่านได้ บทเรียนที่ครูสอนวันนี้ คือ เราจะเริ่มต้นเขียนบทความวิชาการอย่างไรดี สิ่งแรกที่ท่านสอนไว้ คือ เริ่มต้นจากประสบการณ์และองค์ความรู้ของผู้เขียน บนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการที่สามารถสืบค้นได้ทั่วไป เริ่มด้วย การตั้งชื่อ ชื่อเรื่อง ควรเป็นชื่อที่กระชับ  ใช้ภาษาถูกต้อง ทำให้ผู้อ่านสนใจ สร้างความอยากรู้และน่าติดตามให้กับผู้อ่าน แต่ต้องสอดคล้องครอบคลุมเนื้อหาสาระที่มุ่งนำเสนอ ตัวอย่างของชื่อเรื่องที่ครูยกตัวอย่าง  เช่น  วิธีการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงผสมผสาน,ตัวแปรการวิจัย.....แน่ใจหรือว่ารู้จัก , การวิจัยแบบไร้ไชกำแพงทางวิชาการ ลำดับต่อมาคือ สมดุลของการเขียน ควรแบ่งเป็นสัดส่วนเป็น บทนำ 1/4 ส่วน  เนื้อหา 2/4 ส่วน สรุป 1/4 ส่วน และสิ่งสำคัญที่ควรพึงระลึกไว้ให้มี ในการเขียนบทความวิชาการคือ  

                             - มีความเป็นเอกภาพ  : ในย่อหน้าต้องมีใจความสำคัญหรือประเด็นหลักที่ต้องนำเสนอเพียงประเด็นเดียว

                             - มีความเป็นสัมพันธภาพ : ความต่อเนื่องสัมพันธ์ต่อเนื่องของเนื้อหาสาระที่นำเสนอในแต่ละย่อหน้าต้องเชื่อมโยงกัน

                             - มีสารัตถภาพ : สัดส่วนของเนื้อหาสาระนำเสนออย่างเหมาะสม

กรอบการเขียนบทความวิชาการ ดังนี้

ชื่อเรื่อง..................................................................................

Outline  : บทคัดย่อ

                           บทนำ   ส่วนที่เป็นการวางพื้นฐานเพื่อบอกที่ไปที่มา ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านและวัตถุประสงค์ ลักษณะการเขียนควรเขียนจากภาพกว้างและลงให้ถึงถึงประเด็นสำคัญของเรื่องในตอนท้าย

                   เนื้อหา นำเสนอเกี่ยวกับความรู้ ข้อเท็จจริง การศึกษาค้นคว้า  นำเสนอบนหลักฐานทางวิชาการ และประสบการณ์การดำเนินงานหรือบทเรียนที่ผ่านมา โดยแบ่งนำเสนอเป็นแต่ละหัวข้อหลักและหัวข้อรอง

                          บทสรุป  : นำเสนอสรุปประเด็นเนื้อหาสาระ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าผู้เขียนนำเสนอประเด็นสำคัญอะไรบ้าง      

               **** การสรุป เป็นการอภิปรายสอดแทรกข้อคิดเห็นของผู้เขียน และสรุปควรสอดรับกับส่วนนำหรือบทนำ ****

สัดส่วนความยาวของการเขียนเนื้อหาสาระในส่วนนำในบทความวิชาการ ดังรูป 


 

    ท้ายสุดของการเขียน ครูเน้นย้ำเรื่องข้อควรระวังในการเขียนทั้งในเรื่องของความสม่ำเสมอ ความซ้ำซ้อนหรือฟุ่มเฟือย ของการใช้คำในแต่ละข้อความ ท้ายสุด ลีลาในการเขียนที่แสดงถึงตัวตนของผู้เขียนจะสร้างเสน่ห์ให้กับงานน่าติดตามมากขึ้น

          ที่สุดนี้ ประสบการณ์ขั้นต่อไป ที่อาจได้มีโอกาสมาเล่าสู่กันฟัง คือ ผลงานวิชาการของผู้เขียนที่ได้ฤกษ์ เริ่มต้นเสียที มีโอกาสจะมาแลกเปลี่ยนให้ฟังนะคะ และที่จะลืมไม่ได้ต้องขอขอบพระคุณครูผู้เป็นแรงบันดาลใจในวิชาชีพครู ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ และเป็นต้นแบบที่ดีของครู สำหรับทุกท่านที่อ่านจบขออนุญาตยกคำของศ.รัตนะ บัวสนธ์ เป็นแรงบันดาลใจอีกครั้ง  

                              “จะเสียเวลาอ่านอยู่ไย ทำไมไม่เริ่มต้นเขียนเสียที” แล้วพบกันในวารสารวิชาการคะ"



หมายเลขบันทึก: 648609เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2018 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2018 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท