ใจน้อย หรือน้อยใจ เกี่ยวอะไรกับซึมเศร้า


                                 อาการ“ใจน้อย”ในผู้สูงวัย   

การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่คนทั้งหลายไม่ปรารถนา โดยเฉพาะผู้สูงวัย จนมีคำกล่าวว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำอย่างไรจะยอมรับปรับใจ ให้ไม่เกิดความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง จนป่วยจิต ป่วยใจ ร่างกายแปรปรวนตาม อีกทั้งการที่อายุที่มากขึ้น ย่อมเห็นคนใกล้ตัวเจ็บป่วย ล้มหายไปจากชีวิต ซึ่งบางครั้งก็ยากจะทำใจ เหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุต้องรับมือกับภาวะที่จิตใจตกต่ำย่ำแย่ได้ง่าย หากประคองจิตใจไม่มั่นคง เช่นเรื่องราวที่ดิฉันจะเล่าต่อไปนี้

คุณยายน้อยป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมากว่า 5 ปี ยายผู้มีรูปร่างท้วม เดินอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวด้วยความลำบาก เนื่องจากน้ำหนักตัวมาก และมีปัญหาปวดเข่ามานาน บางครั้งนั่งรถเข็น บางครั้งเดินโดยใช้รถเข็นที่มีที่จับให้พยุงเดิน คุณยายน้อยเป็นคนที่ร่าเริง ทุกครั้งที่มารับบริการที่ห้องตรวจ คุณยายจะทักทาย หยอกล้อ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด้วยความเป็นกันเอง

เช้าวันพุธที่ค่อนข้างวุ่นวายในคลินิกจิตเวชสูงอายุที่ฉันทำงาน คุณยายน้อย (นามสมมุติ) เดินมาพร้อมลูกสาว ลูกสาวมีสีหน้าไม่สู้ดี ส่วนคุณยายก็ดูหน้าตาหม่นเศร้า ไม่ทักทายเช่นครั้งก่อน ๆ ฉันรู้สึกแปลกใจ จึงได้ขอพูดคุยกับแม่ลูกคู่นี้ก่อนใคร คุณยายทำไมดูไม่สดชื่นเหมือนทุกครั้ง ดิฉันถามไป คุณยายตอบพร้อมก้มหน้า สีหน้าเท่าที่ดิฉันลอบสังเกต คุณยายกลั้นน้ำตา ทำท่าคล้ายจะร้องไห้ ส่วนลูกสาวที่ติดตามแม่มาทุกครั้งที่มารับการตรวจรักษาก็กล่าวว่า “ไม่รู้แม่เป็นอะไร พูดนิดพูดหน่อยก็ไม่ได้ ขี้ใจน้อย” ดูลูกสาวไม่ได้มีสีหน้าหงุดหงิดรำคาญแม่ แต่น้ำเสียงแกมสงสัย ดิฉันเลยถามลูกสาวคุณยายว่า “เป็นมานานหรือยังคะ” ลูกสาวตอบว่า “สักเดือนหนึ่งได้แล้วค่ะ” ดิฉันก็แปลกใจเลยถามต่อว่าก่อนนหน้านี้มีเหตุการณ์อะไร ขึ้นมาก่อนคะ ลูกสาวตอบว่า “แม่ดูเปลี่ยนไปตั้งแต่หลานชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ” “หลานคนนี้ยายเลี้ยงมากะมือ แกรักมาก” ตั้งแต่เขาเสียไป ยายก็ดูซึม ๆ อารมณ์หงุดหงิดง่าย บ่นแต่อยากตาย ได้เช่นนั้นดิฉันก็เริ่มเห็นเค้าลางบางอย่าง จึงถามต่อไป แล้วมีเรื่องราวอะไรอีกมั้ยคะ มีค่ะลูกสาวรีบบอก คุณยายไปห้องตรวจอายุรกรรม แล้วหมอบอกว่าไตวายระยะที่สาม แต่จริง ๆ หมอก็บอกอยู่ว่า ยังไม่จำเป็นต้องฟอกไต แต่ยายก็ยังดูเครียด ร้องไห้ง่าย กลัวตาย ตื่นเช้ามากินไข่ขาวไปน้ำตาไหลไป คือ กลัวได้ฟอกไต เลยฝืนกินไข่ขาว ค่อยยังชั่วฉันคิด คุณยายไม่มีความคิดอยากตาย คงแค่เครียดเรื่องการเจ็บป่วย และเศร้าจากการสูญเสีย สัญชาตญาณความเป็นพยาบาลกระซิบขึ้นมา 

ขณะที่พูดคุยคุณยายยังคงก้มหน้า ไม่ค่อยสบตา บางครั้งน้ำตาคลอ ฉันลองนำแบบประเมินซึมเศร้าสำหรับผู้สูงอายุมาลองประเมิน "ใจน้อย คนเว่าผิดหูกะเคียด" คุณยายบอกว่าใจน้อย ใครพูดนิดพูดหน่อยก็โกรธ หงุดหงิด คุณยายว่า "เบิดหวัง บ่เห็นอนาคต" แถมรู้สึกสิ้นหวังกับการมีชีวิตอยู่ ปรากฏว่า ผลการทดสอบพบว่าคุณยายมีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลาง หลาย ๆ คำพูดสะท้อนให้เห็นว่าคุณยายรู้สึกย่ำแย่กับการเจ็บป่วย และการสูญเสีย ไม่อยากกินแต่ก็ฝึนกินกลัวตาย “ใจน้อย”กลัวแต่ลูกจะไม่เอา กลัวเป็นภาระลูกหลาน เพราะการฟอกไตดูยุ่งยาก ในความคิดมีแต่เรื่องลบ ๆ  คิดแต่ว่าคงไม่มีทางหาย คงต้องได้ฟอกไต แม้ว่าแพทย์จะยืนยันว่า ยังไม่ต้องฟอกไต แต่ใจก็คอยกลัวอยู่ตลอดเวลา.....ดิฉันเลยส่งต่อคุณยายให้จิตแพทย์ดูแลต่อ โดยไม่ลืมบอกวิธีดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าแก่ลูกสาวเพื่อคลายกังวล 

      ใจน้อยในภาษาอีสาน แปลว่า ใจเปราะบาง ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ส่วนมากผู้สูงอายุมักมาด้วยหงุดหงิด ฉุนเฉียว ถ้าเราเห็นอาการเหล่านี้ พยายามเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็จะช่วยให้อธิบายการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ และให้การช่วยเหลือผู้สูงวัยได้แน่นอน ส่วนใจน้อยอาจมีบางส่วนเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าแต่น้อยกว่า ส่วนมากมักมาจากความรู้สึกที่ไม่ได้รับการดูแล หรือสนใจจากครอบครัว คนใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ดี ใจน้อยก็ทำให้น้อยใจได้ง่าย น้อยใจก็ทำให้กลายเป็นใจน้อยได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรอย่าลืมดูแลใจของผู้สูงอายุที่ท่านรักด้วยนะคะ ........

.............22 มิถุนายน 2561 ..................

หมายเลขบันทึก: 648427เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2018 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ใจน้อย ถือเป็นเรื่องสำคัญในผู้สูงอายุ

และอีกประเด็นคือ หลง

ได้เเล้วน้องขวัญ เปิดเรื่องดี เดินเรื่องเห็นภาพ ตัวละคร เห็นฉาก ชัดเจน

ค่อยๆ เขียนนะ เขียนบ่อยๆจะคมขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญสิ่งที่ขวัญเขียนจะเป็นประโยชน์กับคนทั้งหลาย 

ให้เข้าใจและมีทัศนคติที่ดีกับโรคซึมเศร้า 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท