ทัศนะเรื่องชีวิตในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา


ทัศนะเรื่องชีวิตในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา มีกล่าวถึงในพระสูตรหลายพระสูตร ที่นำมากล่าวถึงเป็นเพียงบางพระสูตร

ทัศนะเรื่องชีวิตในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

นายธนสาร  บัลลังก์ปัทมา

          การดำเนินชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มักพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นที่ยึดเหนี่ยว ขาดศีลธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต เมื่อพบอุปสรรคหลายคนจึงเลือกจบชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ต่าง ๆ อีกทั้งความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยังส่งผลให้คนที่เผชิญปัญหาในการดำเนินชีวิตเลือกใช้เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมหรือโซเซียลมีเดีย(Social media) ให้ผู้อื่นได้รับรู้เหมือนเป็นการประชดชีวิตและเรียกร้องความสนใจจากคนที่รัก คุณค่าและความหมายของชีวิตมักเปลี่ยนไปตามพัฒนาการทางสังคม ศาสนาและปรัชญา เทคโนโลยีและพัฒนาการทางสติปัญญา แนวคิดเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายของชีวิตจึงมีความหลากหลาย พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหนึ่งที่มีหลักธรรมคำสอนจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่สอนเกี่ยวกับชีวิตตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งคำสอนทั้งปวงของพระพุทธศาสนามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ชีวิตมนุษย์ เป็นคำสอนที่แสดงความจริงและธรรมชาติของชีวิต ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจและพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง (มหิธร        โคกเกษม, 2549 : 2) โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้รู้จักตนเอง การรู้จักตนเอง รู้ในหลายแง่มุม หลายด้าน รู้ในทุกแง่มุม ตั้งแต่การเกิดของชีวิต  องค์ประกอบของชีวิต ชีวิตของเราเกิดขึ้นได้อย่างไร  พระพุทธเจ้าทรงอธิบายให้รายละเอียดตั้งแต่การก่อกำเนิดชีวิตในท้องแม่ พรรณนาให้เห็นพัฒนาการเป็นสัปดาห์ ลักษณะหรือธรรมชาติของชีวิต เป้าหมายของชีวิต ความดี ความสุขของชีวิต ทำให้เราสามารถนำหลักธรรมคำสอนของพระองค์มาใช้พัฒนาตนเอง ตลอดจนใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้อยู่บนสังคมอย่างมีความสงบสุขจากการเรียนรู้ชีวิตตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

        ในทัศนะของพุทธศาสนามองสิ่งทั้งหลาย (รวมทั้งชีวิตและสิ่งอื่นๆ) ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการมีส่วนประกอบต่างๆ มารวมกันเข้า และมีความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและความอิงอาศัยกันนี้ นับว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่และดำเนินไปได้ หมายความว่า ถ้าจะให้มีชีวิตเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินต่อไปได้ ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นจะต้องไม่ใช่สักแต่ว่ามา “กองรวม” กันอยู่ โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องแบบอิงอาศัยกันเท่านั้น แต่ต้องมีความเชื่อมโยงและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกันอย่างเหมาะสมด้วย

       โดยเหตุที่ชีวิตเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินไปได้ เพราะอาศัยการประกอบกันเข้าของส่วนต่างๆ ดังกล่าวมา พุทธศาสนาจึงถือว่า ตัวตนที่แท้จริง ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้น “ไม่มี” เพราะ ประการแรก ตัวสิ่งที่ถือว่าเป็นชีวิตนั้น มาจากการรวมกันของส่วนประกอบต่างๆ และ ประการที่สอง แม้ส่วนประกอบต่างๆ ที่มารวมกันเข้าเป็นชีวิตนั้นเอง แต่ละส่วนก็เป็นผลมาจากการมีส่วนประกอบอื่นๆ มารวมกันเข้าเช่นเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่เราเรียกว่า ส่วนประกอบแต่ละส่วนนั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีตัวตนของมันจริงๆ เป็นแต่เพียงการประกอบกันเข้าอย่างเหมาะสมของส่วนต่างๆ เท่านั้น (ชาย โพธิสิตา, มปป., : 1)

          ในเรื่องของชีวิตนั้น พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญเรื่องกรรมมาก เพราะกรรมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการก่อเกิดชีวิตใหม่ และความเป็นชีวิตในปัจจุบัน (สุเชาว์ พลอยชุม, 2560, 35) ซึ่งคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้แบ่งชีวิตเป็น 2 ระดับ คือ ชีวิตที่มีจิตวิญญาณและชีวิตที่ไม่มีจิตวิญญาณ โดยมีลักษณะร่วมกันตามที่อธิบายไว้ในอรรถกถาพระวินัยซึ่งแปลได้ว่า เพราะเกิดและเจริญเติบโต จึงอาจนิยามความหมายของชีวิตตามนัยคำสอนในพระพุทธศาสนาว่า ชีวิต คือ สิ่งที่มีการเกิด การเจริญเติบโต และการตาย (สุเชาว์ พลอยชุม, 2560, 22)

 

กำเนิดชีวิตและองค์ประกอบของชีวิต

       ในทัศนะเรื่องชีวิตในพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของชีวิตมนุษย์ ประกอบด้วยองค์ประกอบใด มีลักษณะอย่างไร มีขึ้นหรือปรากฏขึ้นอย่างไร องค์ประกอบที่กลายเป็นชีวิตมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยในการเป็นชีวิต ในการเกิดขึ้นของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงอธิบายให้รายละเอียดตั้งแต่การก่อกำเนิดชีวิตในท้องแม่ พรรณนาให้เห็นพัฒนาการเป็นสัปดาห์

       มหาตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา สูตรใหญ่ กล่าวถึง "เหตุแห่งการเกิดในครรภ์" พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า การถือกำเนิดแห่งครรภ์ เพราะเหตุ 3 อย่าง คือ 1. มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน  2. มารดามีระดู และ 3. สัตว์ที่จะมาเกิดปรากฏ จึงมีการตั้งครรภ์ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่มีการตั้งครรภ์  มารดาต้องคอยรักษาครรภ์ตลอดเวลา 9 เดือน หรือ 10 เดือน แล้วคลอดและเลี้ยงเด็กที่เกิดนั้นด้วยโลหิตของตน น้ำนมมารดา.คือโลหิตในอริยวินัย การที่เด็กนั้นเจริญวัยจนเติบใหญ่ด้วยกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ(สัมผัส)

          ในติตถสูตร พุทธพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นความสืบต่อเนื่องตามเหตุผลจากอดีตไปถึงอนาคตกำหนดชะตากรรมของตนเอง พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นความเกี่ยวโยงกับชีวิตทั้ง 4 อย่างว่าเป็นกระบวนการให้เกิดทุกข์ได้อย่างไร ได้กล่าวเกี่ยวกับการเกิดหรือการตั้งครรภ์ไว้ว่า เพราะอาศัยธาตุ 6  ประกอบเข้ากันความตั้งครรภ์จึงมี เมื่อมีการตั้งครรภ์ นามรูปจึงมี เพราะนามรูป จึงมีอายตนะ 6              เพราะอายตนะ 6 จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะจึงมีเวทนา เพราะเวทนาจึงมีอริยสัจ 4 คือการเกิด ดับของทุกข์

          อินทกสูตร ว่าด้วยสัตว์ตั้งอยู่ในครรภ์อย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มารดาไว้ว่า ในสัปดาห์แรก (7 วัน) แห่งการปฏิสนธินั้น เกิดเป็นกลละรูป คือเป็นหยาดน้ำใสเหมือนน้ำมันงา ในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากกลละรูป เกิดเป็นอัพพุทะรูปขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นฟองสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ ในสัปดาห์ที่ 3 หลังจากอัพพุทรูป ก็ได้เกิดเป็นเปสิรูป ซึ่งมีลักษณะเหมือนชิ้นเนื้อที่เหลวๆ สีแดง ในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากเปสิรูป ก็ได้เกิดเป็นฆนะรูปขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อน มีสัณฐานเหมือนไข่ไก่ ในสัปดาห์ที่ 5 หลังจากฆนรูป จึงได้เกิดปัญจสาขาขึ้น คือรูปนั้นงอกออกเป็น 5 ปุ่ม คือ เป็นศีรษะ 1 แขน 2 ขา 2 ต่อจากนั้น คือในระหว่างสัปดาห์ที่ 12 ถึงสัปดาห์ที่ 42 ผม ขน เล็บ ก็ปรากฏขึ้น “

       คำสอนในพระพุทธศาสนา ชีวิต คือ ผลรวมของขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยขันธ์ 5 สามารถย่อลงเป็น 2 รูป คือ รูป คงเป็นรูป ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงเป็นนาม ส่วนที่เป็นรูปสามารถจับต้องได้ ส่วนที่เป็นนาม จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในตัวมนุษย์ ได้แก่ ความรู้สึก ความจำได้หมายรู้ การปรุงแต่ง และการรู้แจ้งสิ่งต่าง ๆ  เมื่อองค์ประกอบทั้ง 5 แตกสลายไป ชีวิตก็จะสิ้นสุดลงด้วย (ประยงค์  อ่อนตา, 2555, 35) คำสอนในพระพุทธศาสนาได้แสดงให้เห็นเหตุปัจจัยทั้งทุกข์และสุขของชีวิตทั้งกระบวนการ ความสุข ทุกข์ในชีวิตของมนุษย์ มีสาเหตุมาเหตุต่าง ๆ

       ในธาตุวิภังคสูตร กล่าวถึงองค์ประกอบคน เมื่อพิจารณาจากธาตุ 6 ได้แก่ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ประกอบเป็นรูป-นาม กาย-ใจ เมื่อพิจารณาจากประสาทสัมผัส คือ อายตนะ 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประสาทสัมผัส สิ่งมีชีวิตคิด รับรู้ หรือมีความหน่วงนึกของใจ 18 ประการ มีความหน่วงนึกของใจ 18 อย่าง แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ คิดแล้วดีใจ 6 คิดแล้วเสียใจ 6 คิดแล้วเฉยๆ 6 แสดงให้เห็นว่า ความเป็นไปของชีวิตทั้งในทางลบและทางบวก คือทั้งทุกข์และสุขของชีวิตเกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัย โดยทรงแสดงให้เห็นเหตุปัจจัยทั้งทุกข์และสุขของชีวิตทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของชีวิตไปจนกระทั่งถึงกระบวนการดับทุกข์ของชีวิตว่า มนุษย์ประกอบด้วยธาตุ 6 มนุษย์อายตนะ 6 มนุษย์มีแดนคิด มโนปวิจาร 18 กระบวนการเกิดและดับทุกข์ของชีวิต คือ อริยสัจ 4

          สิวกสูตร เวทนาอันบุคคลเสวยในโลกนี้ บางเหล่าเกิดขึ้นมีดีเป็นสมุฏฐานก็มี มีสวนต่าง ๆ เหล่านั้นรวมกันเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดแต่ความแปรแห่งฤดูก็มี เกิดแต่การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดแต่ความพยายาม (ของตน) ก็มี เกิดแต่วิบากแห่งกรรมก็มี บุคคลเสวยเวทนาทั้งปวง (สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์) เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำแล้วในก่อน เขาย่อมเพิกเฉยข้อที่ตนเองก็รู้ดี ย่อมเพิกเฉยต่อข้อที่โลกสมมติว่าเป็นจริง  ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์  ไม่ได้เกิดจากผลของกรรมเท่านั้นเกิดจากกิเลสก็มี..โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัย เช่น ลมฟ้าอากาศหรือธาตุทั้ง 4 ไม่สมดุล(รูป) เรื่องดี 1 เสมหะ 1 ลม 1 ดี เสมหะ ลม รวมกัน 1  ฤดู 1 รักษาตัว           ไม่สม่ำเสมอ 1 ถูกทำร้าย 1 ผลของกรรม 1 เป็น 8 เหตุ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสุข ทุกข์ ของชีวิต มิใช่ผล     ของกรรมอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสาเหตุหลายอย่างที่กล่าวมา กล่าวโดยสรุป คือ ความสุข ทุกข์ในชีวิต    ของมนุษย์ มีสาเหตุมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ธรรมชาติแวดล้อม การดูแลสุขภาพ การกระทำของผู้อื่น และผลกรรมของตน

 

ชีวิตดำเนินไปตามกรรมลิขิต

          คำสอนในพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์ เป็นผลต่อเนื่องหรือเป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องกรรม คือให้เห็นความสืบต่อเนื่องตามเหตุผลจากอดีตไปถึงอนาคต กำหนดชะตากรรมของตนเอง เราทำกรรมอย่างไรไว้ ก็จะส่งผลต่อชีวิต สะท้อนถึงธรรมชาติ ความเป็นไปของชีวิต

       ในติตถสูตร: ว่าด้วยลัทธิเดียรถีย์ 3 อย่าง สมณพราหมณ์เชื่อว่า บุคคลจะได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์(อทุกขมสุข) อย่างใดอย่างหนึ่งเพราะผลกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน หรือจากการสร้างสรรของอิสรชน หรือ อิศวร คือ พระเจ้าเป็นผู้สร้าง หรือ “พรหมลิขิต” หรือไม่มีเหตุปัจจัย “เกิดขึ้นเอง” ซึ่งไม่ใช่แนวความคิดของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนต่างออกไป คือให้เห็นความสืบต่อเนื่องตามเหตุ-ผลจากอดีตไปถึงอนาคต พระพุทธเจ้าทรงตำหนิความเชื่อว่าสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดจากกรรมเก่า จะทำให้คนประมาทในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ทรงให้เชื่อมั่นและยอมรับที่ที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่ตนเองได้กระทำมา พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นไปตามแนวความเชื่อว่าเป็นเพราะผลกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน การที่มนุษย์ฆ่าสัตว์หรือลักทรัพย์ มนุษย์ก็ไม่น่าจะต้องรับผิดชอบอะไร หรือเหตุการณ์ทั้งปวงเป็นไปทั้งทางดีทางชั่ว มนุษย์ไม่ต้องคิดอะไร เพราะทุกสิ่งถูกกำหนดมา

       ในสิงคาลกสูตร พระพุทธเจ้าได้อธิบายว่าเวทนาทั้งหลายที่บุคคลได้เสวยทั้งสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดมาจากเหตุหลายประการ ทั้งจากกรรมเก่าในอดีตและเหตุจากปัจจัยอื่นในปัจจุบัน และทรงตำหนิว่าเวทนาที่เกิดจากกรรมเก่าเพียงอย่างเดียวไม่ถูกต้อง ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การรักษาร่างกาย ฤดูกาล ฯลฯ

       วัตถุนานัตตญาณนิเทศ ปัญญาในการกำหนดธรรมเป็นภายใน เป็นวัตถุนานัตตญาณ วัตถุนานัตตญาณ  คือ การพิจารณาภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ การพิจารณาธรรมภายใน กำหนดใจเป็นภายในอย่างไร ย่อมกำหนดว่า ใจเกิดเพราะอวิชชา เกิดเพราะตัณหา เกิดเพราะกรรม เกิดเพราะอาหาร อาศัยมหาภูตรูป 4

 

หน้าที่ของชีวิต

       ทัศนะในคำสอนพระพุทธศาสนา ยังได้กล่าวถึงหน้าที่ของชีวิตมีสิ่งควรทำควรปฏิบัติเช่นไร :ซึ่งตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้ 2 แบบ คือ การปฏิบัติ

       ในสิงคาลกสูตร เป็นพระสูตร ว่าด้วยทิศ 6 คือ บุคคล 6 ประเภทที่มีความสัมพันธ์ต่อบุคคลๆ หนึ่ง และวิธีการปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น ควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร กล่าวถึงมิตรแท้และมิตรเทียม กรรมกิเลส 4 อบายมุข 6 และการไม่ทำความชั่วโดยฐานะ 4 รวมทั้งหมด 14 ประการ โดยผู้ที่ปราศจากความชั่ว 14 ประการ ถือเป็นผู้ปกปิดทิศ 6 ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกทั้งสอง คือโลกนี้และโลกหน้า เมื่อตายไปก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

       ในสิงคาลกสูตร กล่าวไว้ว่า "กรรมใดที่คฤหัสถ์ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กรรมนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ ย่อมไม่มี กรรมกิเลส 4 คือ การกระทำที่เศร้าหมอง มี 4 อย่างที่อริยสาวกละได้ คือ  ละจากการฆ่าสัตว์ ละจากการลักทรัพย์ ละจากการประพฤติผิดในกาม ละจากการพูดปด

       การไม่ทำความชั่วโดยฐานะ 4 คือ อริยสาวกไม่ทำกรรมชั่วโดยฐานะ 4 คือความลำเอียง เพราะรัก , เพราะชัง , เพราะหลง , เพราะกลัว ทำกรรมชั่ว

        อบายมุข 6 คือ อริยะสาวกไม่เสพปากทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ 6 อย่าง คือ เป็นนักเลงสุรา, เที่ยวกลางคืน, เที่ยวการเล่น,  เล่นการพนัน,  คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้าน

       มิตรเทียม 4 ประเภท คือ มิตรปอกลอก มิตรดีแต่พูด มิตรหัวประจบ และมิตรชวนในทางเสียหาย

       มิตรแท้ 4 ประเภท คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มิตรแนะประโยชน์ และมิตรอนุเคราะห์ (อนุกัมปกะ)

       ทิศ 6 คือ บุคคล 6 ประเภท ตามนิยามของอริยสาวก คือ ทิศเบื้องหน้า ได้แก่มารดาบิดา,  ทิศเบื้องขวา ได้แก่อาจารย์,  ทิศเบื้องหลัง ได้แก่บุตรภรรยา,  ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่มิตรอำมาตย์,  ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ทาส กรรมกร และทิศเบื้องบน ได้แก่สมณพราหมณ์

 

ลักษณะหรือธรรมชาติและเป้าหมายของชีวิต

       เป้าหมายของชีวิต ความดี ความสุขของชีวิต เรามีชีวิตเพื่ออะไร เป้าหมายของชีวิตอยู่ที่ไหน ชีวิตควรจะมี ควรจะเป็นอย่างไร ในทัศนะของพุทธศาสนา สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” มีองค์ประกอบใหญ่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นรูปธรรม กับส่วนที่เป็นนามธรรม อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไปว่า เป็นเรื่องของกายกับเรื่องของจิต องค์ประกอบใหญ่ทั้งสองส่วนนี้ รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ 5ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ

       อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ 3 ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ 5 ใน 3 กาล รูปที่เป็นอดีต รูปที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา รูปที่เป็นปัจจุบัน เป็นผู้ไม่มีความอาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน

          นวสูตร ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งภพทั้ง 3 ธาตุอย่างเลว ธาตุอย่างกลาง ธาตุอย่างประณีตของพวกสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกกรรม จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก

          มหานิทานสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นต้นเหตุใหญ่กล่าวถึงประวัติปฏิจจสมุปบาท หรือกฏแห่งเหตุผลที่เกี่ยวโยงกันเป็นลูกโซ่ รวมทั้งทฤษฎีเรื่องอัตตา. ขยายความมหาตัณหาสังขยสูตร การเกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยมีสังขาร เพราะผัสสะ ( ความถูกต้อง ) เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะรูปนาม (สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มีแต่ชื่อ เรียกว่านาม ได้แก่เวทนา ความรู้สึกอารมณ์, สัญญา ความจำได้หมายรู้, เจตนา ความจงใจ, ผัสสะ ความถูกต้อง, มนสิการ ความทำไว้ในใจ ส่วนสิ่งที่เป็นรูป คือธาตุ 4 และรูปอันปรากฏเพราะอาศัยธาตุ 4) เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ  เพราะวิญญาณ (ปฏิสนธิวิญญาณ) คือธาตุรู้ที่ถือกำเนิด 4 เป็นปัจจัย จึงมีรูปนาม เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป.

          เวฬุทวารสูตร ว่าด้วยธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตน เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เราพึงปลงคนอื่นผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ด้วยการงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาต กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงถึงการเว้นชั่วที่ครบถ้วนว่าต้องทำให้ครบ 3 ด้าน คือ ตนเองไม่ทำเอง ชักชวนคนอื่นไม่ให้ทำด้วย และยกย่องการไม่ทำชั่วนั้น ๆ

       ราชสูตร ว่าด้วยพระราชาองค์ไหนมีสมบัติมากกว่ากัน กล่าวถึงการสนทนาของภิกษุว่า พระราชาองค์ใดมีพระราชทรัพย์มากกว่ากัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การที่เธอทั้งหลายพึงกล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้นั้น          ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายประชุมกันแล้ว ควรทำเหตุสองประการ คือ ศึกษาพระธรรม กล่าวธรรม หรือทำนิ่งอย่างพระอริยะ               ในพระสูตรนี้ แสดงทัศนะให้เห็นว่าการมั่งมีทรัพย์ที่คิดว่าเป็นความสุข แท้จริงมิใช่ความสุข กามสุขในโลกและทิพยสุข ยังไม่เท่าเสี้ยวหนึ่งของความสิ้นตัณหา เป็นการจำแนกความสุข เป็น 3 ระดับ คือ กามสุข ทิพยสุข (สุขในรูปฌานและอรูปฌาน) และตัณหักขยสุข (สุขจากผลสมาบัติมีนิพพานเป็นอารมณ์)

          สัมมาทิฎฐิสูตร  อาหารวาระ ได้แก่ อาหาร 4 อย่าง คือ คำข้าว หยาบหรือละเอียด, ผัสสะ ความคิดอ่าน(จงใจ) และวิญญาณ (ความรู้แจ้งทางทวาร 6) โดยมีตัณหาเป็นเหตุให้เกิดอาหาร อาหารดับเพราะตัณหาดับ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 คือทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์นั้นหล่อเลี้ยงด้วยอาหาร 2 ประเภท คือ อาหารที่เป็นวัตถุ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิต เสริมสร้างรูปหรือวัตถุ และอาหารที่เป็นจิตใจ ทำหน้าที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิต เสริมสร้างชีวิตในส่วนที่เป็นนามหรืออสสาร

           หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อธิบายถึงเรื่องชีวิตไว้ ตั้งแต่การเกิด องค์ประกอบของชีวิต ธรรมชาติ หน้าที่ และเป้าหมายของชีวิต ความดี ความสุขของชีวิต สอนให้รู้ว่าเรามีชีวิตเพื่ออะไร เป้าหมายของชีวิตอยู่ที่ไหน ชีวิตควรจะมีควรจะเป็นอย่างไร ช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสันติสุข แนวคิดหรือทัศนะเรื่องชีวิตอธิบายไว้ใน 2 ลักษณะ ที่เป็นผลจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอน คือเป้าหมายระดับธรรมดา(กามสุข) สุขจากกามคุณ 5 หรือความสุขทางโลก เป็นความสุขที่แฝงด้วยความทุกข์มากกว่าสุข และเป้าหมายสูงสุด(เนกขัมมสุข) คือความสิ้นกิเลสตัณหา

 

เอกสารอ้างอิง

ชาย โพธิสิตา (มปป.) ชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนา. นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากร

และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.ipsr.mahidol.ac.th/

        IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article05.htm. (18 พฤษภาคม 2561).

ประยงค์  อ่อนตา. 2555. “กำเนิดและองค์ประกอบชีวิตมนุษย์ตามนัยแห่งพุทธศาสนา”. วารสารวิชาการ

          มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. ปีที่ 6(1) : มกราคม-

          มิถุนายน 2555. หน้า 30-41.

มหิธร  โคกเกษม, 2549. ชีวิตในอุดมคติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. สาขาวิชา

ปรัชญาและศาสนา. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สุเชาว์ พลอยชุม, 2529. หัวใจพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

________. 2560. พุทธปรัชญาในสุตตันตปิฎก. พิมพ์ครั้งที่ 2 : กรุงเทพฯ : สาละพิมพการ.

_______ . 2560ข. สัมมนาพระไตรปิฎก. นครปฐม : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

 


หมายเลขบันทึก: 647481เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2018 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท