ลานฝึกทักษะบนที่นาแปลงสุดท้ายที่ตำบลเทพนิมิต อ.เขาสมิง ระยอง


ลานฝึกทักษะบนที่นาแปลงสุดท้าย

 

          ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวของทุกๆ ปี เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านเกษมสุข ต.เทพนิมิต อ.เขาสมิง จ.ตราด จะช่วยกันคนละไม้คนละมือลงแรงเกี่ยว “ข้าว” อันเป็นผลผลิตจากความภูมิใจที่ได้ลงมือทำตั้งแต่หว่านกล้า ดำนา และคอยดูแลจนถึงวันเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปใช้รับประทานในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน

          ในปีนี้เช่นกันที่เด็กๆ กว่า 50 คน ช่วยกันถือเคียวเกี่ยวข้าวกันตั้งใจ แม้จะดูงุ่นง่าน ไม่คล่องแคล่วก็ตาม

          สำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว การทำนาสามารถพบเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่สำหรับการทำนาในภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นเมืองแห่งผลไม้ และแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การทำนามักจะพบเห็นได้ยาก และที่ตำบลเทพนิมิตก็เช่นกัน พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ สวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน

            ผืนนาที่นักเรียนโรงเรียนบ้านสุขเกษมกำลังช่วยกันเก็บเกี่ยว จึงเป็นที่นาแปลงสุดท้ายของตำบลเทพนิมิต ซึ่งมีพื้นที่แค่เพียงประมาณ 6 ไร่เท่านั้น และนาผืนนี้ก็ถูกหวงแหนไว้ให้เด็กรุ่นหลัง ได้เรียนรู้การทำนา เพื่อคอยเล่าขานตำนานของคนตำบลเทพนิมิตครั้งเก่าก่อน

            ธีรวุฒิ สุทธิกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียนบ้านเกษมสุข กล่าวถึงผืนนาแห่งนี้ว่า แม้จะไม่ใช่พื้นที่ของทางโรงเรียน แต่เจ้าของนาก็อนุญาตให้โรงเรียนนำไปใช้ประโยชน์ในการทำนาได้ฟรี เพื่อนักเรียนจะได้เรียนรู้การทำนาจริงๆ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวตำบลเทพนิมิต โดยตอนนี้ไม่มีใครทำนากันแล้ว

            ทางคณะครูที่ที่นาแปลงนี้ ฝึกนักเรียนให้มีความรับผิดชอบ ตั้งแต่ชั้น ป.4-ม.3 จะผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล จนเกิดทักษะ ได้เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบทุกกระบวนการ ว่ากว่าจะได้ข้าวมากินนั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง เพื่อให้รู้คุณค่า รู้ถึงวิถีชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

            ส่วนผลผลิตข้าวที่ได้จากนาแปลงดังกล่าว ถือว่าต่ำมาก คือประมาณ 50-60 ถังเท่านั้น แต่เมื่อคิดถึงการเรียนรู้และเพิ่มทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง

            สายพิณ สอนประเทศ ครูชำนาญการ ผู้รับผิดชอบในการพาเด็กๆ ทำนา กล่าวว่า กระบวนการทำนาสำคัญกว่าผลผลิต แปลงนาผืนนี้เด็กจะได้เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้งนาโยน นาหว่าน ผลผลิตไม่ต้องสวยงาม แต่ให้นักเรียนได้ฝึก ได้เรียนรู้ ได้สร้างความสัมพันธ์กลุ่ม และต่อยอดเป็นทักษะในการใช้ชีวิตจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเป็นครูต้องการ และนี่คือประโยชน์ที่แท้จริงของนาผืนนี้

            แต่ผลผลิตข้าวที่ได้ ก็นับว่ามีคุณูปการสูงทีเดียว เพราะถูกนำไปสมทบโครงการอาหารกลางวันให้เด็กๆ ได้รับประทาน ซึ่งไปสอดประสานเข้ากับโครงการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนที่ทางโรงเรียนบ้านสุขเกษมได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า โดยโรงเรียนได้จัดสรรพื้นที่ ที่มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด ให้นักเรียนได้ช่วยกันปลูกและดูแลพืชผักในสวนพอเพียง เช่นเดียวกับการปลูกข้าวที่ปลอดภัยไว้บริโภคในโครงการอาหารกลางวัน

            กัสมา สิทธิกุล ครูชำนาญการ กล่าวว่า ได้แบ่งพื้นที่ให้เด็กช่วยกันปลูกและดูแล โดยทุกๆ ระดับชั้นจะต้องส่วนร่วมตามความสามารถที่ทำได้ ซึ่งผักที่ปลูกเน้นที่ดูแลง่าย เก็บเกี่ยวเร็ว เช่น ผักบุ้ง มะเขือ คะน้า กวางตุ้ง ชะอม เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่ได้จำนำไปเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารกลางวัน โดยเราสังเกตเห็นว่าเมื่อเด็กได้ใกล้ชิดผัก เขาก็เคยชิน กินผักง่ายขึ้น ไม่เขี่ยทิ้งเหมือนเมื่อก่อน

            นอกจากเขาจะได้ทานผักและผลไม้ที่ปลอดภัยแล้ว เขาจะเกิดทักษะ ตั้งแต่การเตรียมดิน การไถพรวน การหยอดเมล็ด การให้น้ำ และเฝ้าดูการเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยว ซึ่งสามารถไปปลูกที่บ้านต่อไปได้ด้วย

          นอกเหนือจากทักษะในการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ซึ่งพืชผัก ข้าวปลา อาหารปลอดภัยได้รับประทานแล้ว สิ่งสำคัญ คือ เด็กๆ เลือดเนื้อเชื้อไขทั้ง 122 คน ได้รักษาไว้ซึ่งที่นาผืนสุดท้ายไว้คอยเล่าขานตำนานของคนตำบลเทพนิมิตให้คนรุ่นหลังได้รับรู้สืบไป

 



ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ครับ

-เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรง

-ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ดี นี้ครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท