ชีวิตที่พอเพียง : 3165. คุณค่าของการประเมิน



วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ ในการประชุมคณะกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์  มีการนำเสนอผลการประเมินผลงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลในรอบ ๑๐ ปี    โดยทีมงานของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  นำโดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

เป็นการประเมินที่มีเป้าหมายเน้นการเรียนรู้ และหาข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานพัฒนาเยาวชนด้านการพัฒนาคุณลักษณะ (character building) ในระยะต่อไป  

สไลด์นำเสนอของคุณหมอสมศักดิ์ ที่เป็นหัวใจของเรื่อง    คือการแตก “character” ออกเป็นองค์ประกอบย่อยตาม ๔ แนวคิด คือของ (1) Clifton, (2) Peterson & Seligman, (3) Executive Function, (4) Grit   โดยจัดองค์ประกอบเป็น ๔ กลุ่มคือ  Executing, Influencing, Relationship Building และ Strategic Thinking   ดังข้างล่าง



ข้อความที่อยู่ในกล่องสีต่างๆ คือ character ที่มีการกล่าวถึงในรายงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล  และของภาคี   

ผมตีความว่า เป็น “การประเมินที่เหนือการประเมิน”    คือไม่ใช่เพื่อตัดสินได้-ตก ดี-ไม่ดี    แต่เพื่อแสวงหาแนวทางทำงานที่ดียิ่งขึ้นในช่วงสิบปีที่สอง    

ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า    ข้อเรียนรู้จากการทำงานสิบปีแรก ผสานกับข้อเรียนรู้จากผลการประเมิน   น่าจะนำไปสู่การออกแบบการทำงานในช่วงสิบปีที่สอง ที่ใช้ทรัพยากรเท่าเดิม ก่อผลกระทบต่อสังคมไทยสิบเท่าของช่วงสิบปีแรก    ผมบอกคุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ในภายหลังว่า ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ ... ผลกระทบต่อสังคมสูงขึ้นเป็นสิบเท่า    ผมเชื่อว่าทำได้ 

เพราะว่าการตั้งเป้าเชิงยุทธศาสตร์  กำหนดจุดดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์  เลือกภาคีดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์  จะทำอย่างโฟกัสชัดเจน และเชื่อมโยง    ก่อผลเชิงสนธิพลัง (synergy) กัน   ให้ก่อผลเรียนรู้ และยกระดับผลงานอย่างต่อเนื่องยั่งยืน  

มีคนแนะให้โฟกัสเป้าที่เด็กเล็ก    และเน้นโฟกัสที่คุณลักษณะด้าน discipline   รวมทั้งทำ mapping ภาคีเครือข่ายให้โยงกับองค์กรเชิงนโยบายด้วย  

ผมมองว่าการทำงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลนอกจากเล็งเป้าหมายผลกระทบที่เยาวชนแล้ว    ต้องเล็งเป้าหมายที่นโยบายการดำเนินการพัฒนาเยาวชนด้วย    ซึ่งหมายความว่า ผลของการทำงานต้องมีการค้นพบโจทย์เชิงนโยบาย   สำหรับป้อนเป็นโจทย์วิจัยเชิงนโยบาย สำหรับทำ evidence synthesis   และหากยังขาด primary data ก็มีการตั้งโจทย์วิจัย primary research       

ต่อจากนี้ไป จะเป็นกระบวนการตั้งโจทย์ ร่วมกับภาคีที่หลากหลาย    เพื่อให้โจทย์คมชัด   แล้วเอาไปขอความเห็นจากคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล (ซึ่งก็คือคณะกรรมการ CSR ของธนาคารนั่นเอง) เป็นระยะๆ        

คุณเปาถามผมว่า หมายความว่าเลิกทำเรื่องเยาวชนอายุวัยรุ่นเลยใช่ไหม   คำตอบของผมคือใช่   แต่จะมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ๒ - ๓ ปี    

ผมเสนอต่อที่ประชุมให้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการประเมิน ทั้งที่เป็นภาษาไทย   และลงในวารสารวิชาการเป็นภาษาอังกฤษ    ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบให้ทำได้   นี่คือการแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ต่อวงการพัฒนาเยาวชนไทยและนานาชาติ  

ผลงานเด่นที่สุดของมูลนิธิสยามกัมมาจลใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ในสายตาของผม คือกระบวนการเรียนรู้จากการทำงาน ... ซึ่งก็คือ KM นั่นเอง 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๖๑

 


หมายเลขบันทึก: 646875เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2018 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2018 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท