๗๑๐. ​บ้านของพ่อแม่คือบ้านของลูก แต่บ้านของลูกไม่ใช่บ้านของพ่อแม่


"การที่ลูกตัดเยื่อใยความเป็นลูกกับแม่ ทำให้แม่ได้รู้แก่นแท้ของขีวิต มนุษย์ยังขาดความสมบูรณ์ของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม แม่ยังได้เรียนรู้ถึงความสงบของจิตใจ ไม่วิตกกังวลใดๆ และคิดได้ว่าไม่มีลูกอีกแล้ว"

            เรื่องจริงที่เล่าต่อกันมา..ไม่ปรากฏนามผู้เล่า แต่มันก็สะท้อนให้เห็นสภาพครอบครัวในสังคมปัจจุบัน  ที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากเดิม..

            จากเรื่องเล่าเร้าพลังนี้ ผู้เขียนมิอาจมองว่าใครผิด? แต่อยากจะฝากท่านผู้อ่าน ได้เตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมบางสิ่งบางอย่างไว้บ้าง เพื่อความไม่ประมาท..

            ท้ายที่สุด..อย่าพยายามมองว่าใครผิด?..แต่จง “คิดบวก” เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและจิตวิญญาณให้ทรงพลัง..ต่อไป 

            เรื่องมีอยู่ว่า มีแม่หม้ายคนหนึ่ง ชั่วชีวิตยึดอาชีพครูเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่ ตอนยังเล็ก ลูกคนนี้เป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย ต่อมาแม่ได้ส่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา.. 

            เมื่อจบการศึกษาก็ได้การงานที่ดี ซื้อบ้าน แต่งงานและมีลูก 1 คน มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย เป็นครอบครัวที่มีความสุข และพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

            ส่วนแม่ที่ว่านั้น..เหงา..โดดเดี่ยว  ได้คิดตรึกตรองกับตัวเองว่า หลังจากเกษียณ ถ้าได้ไปอยู่กับลูกที่อเมริกา ชีวิตบั้นปลายคงมีความสุขไม่น้อย คิดแล้วก่อนเกษียณ 3 เดือน ก็ตัดสินใจเขียนจดหมายถึงลูกชาย..    

            เล่าความในใจที่อยากใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับลูก เพื่อนๆแม่รู้คงจะอิจฉา คิดแล้วก็มีความสุข ขณะเดียวกันก็จัดการทรัพย์สินการงานต่างๆ เพื่อเตรียมตัวย้ายไปอยู่กับลูกชายที่อเมริกา 

            ก่อนเกษียณไม่นาน ก็ได้รับจดหมายตอบกลับจากลูกชาย เมื่อเปิดซองอ่านดู สิ่งแรกที่เห็นคือตั๋วเงิน 30,000 เหรียญ แรกเห็นก็รู้สึกแปลกใจ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ลูกไม่เคยส่งเงินมาให้แม้แต่ครั้งเดียว ด้วยความสงสัย เมื่อเปิดจดหมายอ่าน หัวใจของแม่แทบแตกสลาย ข้อความในจดหมายบอกว่า.... 

           "แม่ครับ... ผมกับภรรยาปรึกษากันแล้วว่า ถ้าแม่จะมาอยู่อเมริกากับผมและครอบครัวคงไม่เหมาะ เพราะเราไม่ชอบถ้ามีคนอื่นมาอยู่ด้วย ถ้าแม่คิดว่าลูกไม่กตัญญูรู้คุณ แต่ผมได้คำนวณดูแล้ว ว่าที่แม่เลี้ยงดูผมมาคงเสียเงินเสียทองไปไม่น้อย แต่คงไม่เกิน 30,000 เหรียญ แต่ผมได้เติมให้ครบแล้ว ต่อไปแม่ก็ไม่ต้องเขียนหรือพูดอะไรต่อความยาวให้ยืดเยื้ออีก" 

            เมื่ออ่านจดหมายของลูกแล้ว น้ำตาของแม่ก็พรั่งพรูออกมาดังสายฝน แล้วรำพึงรำพันกับตัวเองว่า เราคงต้องอยู่อย่างอ้างว้างเดียวดายไปจนแก่เฒ่า เธอรู้สึกเจ็บปวดไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ..

            แต่ต่อจากนั้น..เธอก็ได้ศึกษาธรรมะ  ต่อมาก็รู้ และเข้าใจแก่นแท้ของชีวิต  เมื่อคิดได้ก็เอาเงินที่ลูกให้มา 30,000 เหรียญท่องไปในโลกกว้าง ในระหว่างที่ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ได้เห็นโลกกว้างใหญ่ พบผู้คน และได้ประสบการณ์มากมายในชีวิต..

            หลังจากกลับมา เธอจึงเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงลูก ข้อความว่า.... 

            "ลูกรัก...ลูกบอกไม่ให้แม่เขียนจดหมายถึงลูกอีก แต่แม่มาคิดดูแล้ว แม่ก็มีบางอย่างต้องบอกลูกเหมือนกัน แต่ก่อนตอนที่ได้รับตั๋วเงินจากลูก ก็ได้นำเงินทั้งหมดไปท่องเที่ยวทั่วโลก แม่รู้สึกว่าควรจะขอบใจลูกที่ทำให้เข้าใจ หูตาสว่าง รู้จักปล่อยวาง..."         

            "แม่มองเห็นธาตุแท้ของคน รากฐานของจิตใจ มิตรภาพและความรักของคนเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย เอาแน่ไม่ได้  ทุกสิ่งในโลกนี้ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถ้าแม่มองไม่เห็นทางสว่าง ในใจมีแต่ความเคียดแค้นเกลียดชัง เจ็บปวด คงจะไม่มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้แน่ บางทีแม่อาจฆ่าตัวตายไปแล้วก็ได้" 

            "การที่ลูกตัดเยื่อใยความเป็นลูกกับแม่ ทำให้แม่ได้รู้แก่นแท้ของขีวิต มนุษย์ยังขาดความสมบูรณ์ของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม แม่ยังได้เรียนรู้ถึงความสงบของจิตใจ ไม่วิตกกังวลใดๆ และคิดได้ว่าไม่มีลูกอีกแล้ว"

            เจ้าฝู่ซู นักปราชญ์จีนได้กล่าวไว้ว่า....

            "บ้านของพ่อแม่คือบ้านของลูก แต่บ้านของลูกไม่ใช่บ้านของพ่อแม่  การให้กำเนิดลูกเป็นหน้าที่ การเลี้ยงดูลูกเป็นความผูกพัน  ผิดอย่างมหันต์ถ้าคิดพึ่งลูก"

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๙  เมษายน  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 646534เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2018 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2018 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พี่อยากแชร์ประสบการณ์ของการเป็นพ่อ-แม่คน...เป็นได้เพียงเลี้ยงให้เขาอยู่รอดได้ในสังคมก็พอ แต่อย่าได้คิดพึ่งพาในยามแก่เฒ่า...เป็นพ่อ-แม่คนควรรู้ว่าทำได้แค่เลี้ยงให้เขาสามารถเติบโตได้ เป็นคนดีต่อสังคม แต่ไม่ควรคิดถึงผลประโยชน์อะไรจากพวกลูกๆ นี่คือ หน้าที่ของแม่จากความรู้สึกของพี่เองค่ะ...พี่ว่า สังคมไทยเรายังเป็นแบบที่อาจารย์เล่าอีกเยอะนะคะ สำหรับการเลี้ยงลูกเพื่อหวังพึ่งพาในยามแก่เฒ่า

เรียน อาจารย์

  • ในแง่ของผู้มีสถานภาพ พ่อ แม่ในสังคมปัจจุบัน ไม่ควรคาดหวังการพึ่งพาลูกในอนาคต ก็จะทำให้ไม่ผิดหวัง เป็นทุกข์

ในแง่ของศาสนาพุทธ สอนให้คนพ้นทุกข์ เราพุทธศาสนิกชนต้องกราบไหว้ พระรัตนตรัย และพ่อแม่ตามลำดับ (ผู้ให้กำเนิดชีวิต เปรียบเสมือนพระ) นั่นหมายถึง ยึดถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณ มิเช่นนั้นเป็นบาป 

ปัจจุบันสังคมไทยเราปฏิบัติตัวแบบต่างชาติที่ไร้วัฒนธรรม และสร้างค่านิยมว่า นั่นคือ ความเจริญ(ทางวัตถุ) แต่เป็นความตกต่ำทางจิตใจ ไม่ว่า จะถูกส่งไปเรียนเมืองนอก หรือมาทำงานในเมืองหลวง ก็มีแบบไม่เอาพ่อแม่ เป็นจำนวนมาก

แม้พ่อแม่ไม่คิดพึ่งพาลูก แต่เมื่อยามแก่ชรา มีโรคภัยไข้เจ็บ ใครควรเป็นผู้ดูแลเขา บ้านพักคนชรา วัด ฯลฯ เช่นนั้นหรือ แบบนี้ เมืองไทยเราก็ยังต้องละทิ้ง ความเจริญทางวัฒนธรรมศาสนาของเรา แล้วรีบทำตามมหาอำนาจที่กำลังจะเป็นอดีต...

  • บางที เรารับเอาสิ่งต่างๆมา แม้ผ่านการพิจารณา ผิดชอบชั่วดี อย่างมีสติ เหมาะกับ กาลเทศะ ก็น่าจะดีมิใช่น้อย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท