๗๐๒. จากผู้อำนวยการ...ถึงอาจารย์ใหญ่..?


ครูใหญ่..ในความหมายของผม..คือ เป็นทั้งครูผู้สอน และเป็นหัวหน้าของครู ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนขนาดเล็ก.. อาจารย์ใหญ่..ในความหมายของผม..คือ เป็นทั้งอาจารย์ผู้สอน และเป็นหัวหน้าอาจารย์ ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนขนาดกลาง..

           ผมเกิดในยุคก่อนที่โครงสร้างทางการศึกษาจะเปลี่ยนแปลง..แล้วเมื่อเข้ารับราชการครู การศึกษาก็เริ่มขยับตัวบ้างแล้ว..ตอนนั้นโรงเรียนขึ้นตรงต่อ สปช.ศธ.

          ครู แต่ละจังหวัดจะอยู่ในสังกัด สปจ. หรือสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด...ตอนนั้นยังมีตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด..ยังไม่มีขตพื้นที่การศึกษาแต่อย่างใด..

            พอผมเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาเต็มตัว โครงสร้างก็เปลี่ยนทันที แบบไม่ต้องมีสำนักงานการศึกษาทั้งที่จังหวัดและอำเภอ..

            ตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอและจังหวัด..กลายเป็นตำนานให้เล่าขาน โรงเรียนและครู ต้องมาสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา..แต่ละจังหวัดจะมีสำนักงานเขตฯไม่เท่ากัน..

            ผมยังไม่ทันเกษียณ ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารอีกครั้ง เป็นที่โจษจันกันไปทั่ว เมื่อ คสช.ประกาศใช้ ม.๔๔ กลับไปมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเหมือนเดิม

            เขตฯยังคงมีบทบาทหน้าที่ แต่อำนาจสั่งการและแต่งตั้งส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ท่านศึกษาธิการจังหวัด ที่สังกัดปลัดกระทรวงฯ แต่เขตพื้นที่ฯสังกัด สพฐ. ก็ว่ากันไป...

            ในแต่ละจังหวัดจึงมีผู้ใช้อำนาจ(เจ้านาย)มากมาย..ผู้ที่ปฏิบัติงานในระดับรากหญ้าก็ทำงานไป..แต่สำหรับผมไม่ค่อยจะรู้สึกอะไร?..เพราะผมมีโรงเรียนเป็นของตัวเอง..

            แปลกใจอยู่นิดเดียว..ที่การศึกษาไทย ย้อนยุคมาได้ถึงจุดนี้ได้อย่างไร? เป็นเรื่องจริง ยิ่งกว่าละคร "บุพเพสันนิวาส”เสียอีก..

            ผมคิดว่า..๒ – ๓ ปีมานี้ จุดบอดการศึกษาไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น แม้ว่า..จะถอยหลังเข้าคลองมานานแล้วก็ตาม..กว่าจะได้ปรับเปลี่ยนอีก ผมคงจะเกษียณไปแล้ว..

            วันนี้..ที่หยิบยกมาพูด เพราะคิดถึงตำแหน่ง “ครูใหญ่” กับ “อาจารย์ใหญ่” เป็นถ้อยคำที่ผมชื่นชอบมาก อยากเห็นหน้าคนที่คิดสองคำนี้จัง..เข้าใจคิดดีจริงๆ

            ครูใหญ่..ในความหมายของผม..คือ เป็นทั้งครูผู้สอน และเป็นหัวหน้าของครู ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนขนาดเล็ก..

            อาจารย์ใหญ่..ในความหมายของผม..คือ เป็นทั้งอาจารย์ผู้สอน และเป็นหัวหน้าอาจารย์ ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนขนาดกลาง..

            ปี พ.ศ ๒๕๔๓ วันที่ผมสอบเป็นผู้บริหาร..ผมมีตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศก์ ระดับ ๕..เงินเดือนสูงกว่าขั้นของครูใหญ่..ผมจึงต้องเลือกสอบเป็นอาจารย์ใหญ่

            ตอนนั้น..มีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว แต่จะมีในโรงเรียนขนาดใหญ่ เด็กเยอะๆ ส่วนใหญ่จะเปิดถึงชั้น ม.๓ (ขยายโอกาสทางการศึกษา)

            ผมสอบที่ สปจ.กาญจนบุรี มีครูผู้สมัครนับร้อยคน มีครูสอบผ่านเกณฑ์ ๓๓ คน ผมสอบได้ที่ ๑..ดีใจที่สุดในชีวิต..เพราะจะได้เป็นอาจารย์ใหญ่สมใจนึก

            จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่ ระดับ ๗..แล้วสถานการณ์ในเวลานั้นต้องถูกประเมินและส่งผลงานฯ เพื่อเลื่อนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ(ซี ๘)..พร้อมๆกับเป็นช่วงเวลาที่ปิดฉากตำแหน่งครูใหญ่อาจารย์ใหญ่พอดี..

            ช่วงที่เป็นผู้อำนวยการ..จากวันนั้นถึงวันนี้..คิดถึงอาจารย์ใหญ่มาตลอด และยังจำบทบาทหน้าที่ได้ดี ทั้งในตำแหน่งที่เป็นอาจารย์ใหญ่จนถึงเป็น ผอ.โรงเรียน..

            ชาวบ้านและผู้ปกครองมาหา..จะพูดว่า..ครูใหญ่..อยู่ไหม? วันที่ย้ายมาอยู่บ้านหนองผือในช่วงแรก ผู้ปกครองก็ยังเรียกครูใหญ่อยู่เลย..ซึ่งผมเองก็ชอบ..

            จริงๆแล้ว..จะเปลี่ยนชื่อตำแหน่งไปเพื่อ..?ในเมื่อโรงเรียนใหญ่ๆ ครูเยอะ มีสายบังคับบัญชาหลายชั้น..ใช้คำว่าผู้อำนวยการ..ก็ถูกต้องแล้ว กำกับดูแลนิเทศติดตาม..

            ส่วนโรงเรียนเล็กๆ เด็กไม่ถึงร้อย..มีครูไม่มาก..ผู้บริหารโรงเรียนก็เป็นครูใหญ่ คือเป็นใหญ่ด้วยและก็ช่วยกันสอนหนังสือ..

            โรงเรียนขนาดกลางๆ..ก็เลื่อนฐานะขึ้นมาเป็นอาจารย์ใหญ่ คราวนี้ถ้ามีผลงานบริหารดีมีความเป็นเลิศด้านการสอน ทั้งครูใหญ่และอาจารย์ใหญ่ ก็สามารถเลื่อนซีได้

            จึงไม่น่าแปลกใจเลย ว่าทำไมครูสมัยนี้ อยากเป็น ผอ.รร.กันจัง อาจเป็นเพราะ โรงเรียนเล็กกลางใหญ่..ก็มีผอ.รร.เหมือนกันหมด และโดยทั่วไปก็ได้รับการอบรมมาว่าไม่ต้องสอนหนังสือ..ทำหน้าที่มอบหมายและสั่งการ

            อีกทั้ง..เข้าสู่ตำแหน่งได้เร็วอีกด้วย ครูชำนาญการ (ระดับ ๖) ก็เป็น ผอ.รร.ได้แล้ว..ผมจึงยังคงคิดถึงอาจารย์ใหญ่อยู่ดี..ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ด้านการเรียนการสอนยิ่งนัก

            ดูอย่างท่านอาจารย์ใหญ่..ที่โรงพยาบาลศิริราช..ที่นิสิตแพทย์เคารพบูชา เป็นตำแหน่งที่ทำคุณประโยชน์อเนกอนันต์ สอนคนให้เป็นแพทย์มานับร้อยปี

            ผมคงไม่ได้เป็นอาจารย์ใหญ่อีกแล้ว แต่ทุกวันนี้..ติดตามเรื่องราวของอาจารย์ใหญ่ และชื่นชมคนที่อุทิศร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่เสมอมา..

            เพราะอาจารย์ใหญ่ คือ ผู้ที่ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนในการบริจาคร่างกายไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ร่างกายของตัวเองในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง มหกายวิภาคศาสตร์ หรือระบบของร่างกาย นั่นเอง...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓  เมษายน  ๒๕๖๑


         








          

           

           

           

            

หมายเลขบันทึก: 646208เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2018 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2018 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย คล้าย การเปลี่ยนผ่านและวนกลับของแฟชั่น หรือเปล่าครับ ท่าน ผอ. ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท