๗๐๑. ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน..ย้อนรอยประวัติศาสตร์


ผมคิดว่า..น่าจะเกิดจาก ผู้รู้จริง..เขียนเนื้อหาหลักสูตร แต่ไม่ได้สอน..คนสอนที่เรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ แต่ละเขตพื้นที่ก็มีไม่กี่คน..ครูประจำชั้นที่สอนทุกวิชา..รู้หรือไม่? ยังไงก็ต้องสอน.. เรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทย น่าสนใจ ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน ต้องใช้เทคนิคในการสอน..แต่การศึกษาไทยปัจจุบัน..ใช้เวลาหมดไปกับ..เรื่องไม่เป็นเรื่อง..

            หลายคน..มองว่าเป็นกระแสของละคร “บุพเพสันนิวาส” จึงทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดลพบุรี มีผู้คนไปศึกษาและเที่ยวชมแน่นขนัด..มาหลายสัปดาห์แล้ว

          ผมเองไม่ได้มองเช่นนั้น..ละครอาจจะมีส่วนบ้าง แต่ไม่ได้มากมาย..ผมคิดว่าคนไทย..มีเหตุผล มิได้ลุ่มหลงตามกระแส..แต่ด้วยหัวใจที่แท้จริงต่างหาก.. ที่เป็นไป

          จากข้อมูล..พบว่า..ผู้ชมละครแล้วย้อนรอยฯ..เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นหนุ่มสาวและวัยกลางคน เป็นผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ..

          เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น..เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เพียงติดตามฉาบฉวยแต่ไม่ซาบซึ้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของยุคสมัย แต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะศึกษาเรียนรู้และเปรียบเทียบ..

        แฟนพันธ์ุแท้..ที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ใน “บุพเพสันนิวาส” ผมคิดว่าน่าจะผ่านการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ จากหลักสูตรเก่า แบบเข้าถึงและเข้าใจ..

          พอได้เห็นภาพเล่าเรื่อง ได้ยินได้ฟังซ้ำอีก ผสมผสานสีสันของฉากและตัวละคร จึงอยากทบทวนและเติมเต็ม..ในสิ่งที่เคยรู้เคยเห็น และจากมานมนาน..

        โดยเนื้อแท้ของคนไทยที่รักสงบ มีอิสรภาพและรักชาติบ้านเมือง มีประเพณีและศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีเอกลักษณ์ทางภาษาและการแต่งกาย..

          วิถีชีวิตในชุมชนท้องถิ่นยังมีวัดเป็นศูนย์กลาง การคมนาคมทางน้ำกับข้าวปลาอาหาร..ยังเป็นมนต์เสน่ห์ให้คนไทยระลึกนึกถึงอย่างโหยหา..ที่จะกลับไป..

          ละคร”บุพเพสันนิวาส” จึงมาถูกที่ถูกเวลา ให้คนไทยที่รักการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ได้ขับเคลื่อนความสุขอีกครั้ง..ด้วยความรักและเข้าใจ..ในแผ่นดินเกิด

          ผมเชื่อว่า..นี่คือจุดเริ่มต้นที่สวยงาม ของเส้นทางย้อนรอยฯครั้งยิ่งใหญ่ และยาวนาน..ทำอย่างไร? จะให้บรรยากาศแบบนี้..ต่อเนื่องไปจนถึงเด็กรุ่นใหม่..

          หลายกระทรวงฯขยับแล้ว ที่จะบูรณาการ “บุพเพสันนิวาส” เพื่อช่วยขับเคลื่อนงาน/โครงการ..ให้ยั่งยืนและส่งเสริมภาพลักษณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจไทย..

          ผมไม่รู้ว่ากระทรวงศึกษาธิการคิดอะไร?อย่างไร? แต่ถ้าจะคิดและถูกต้องตรงกันกับผม ก็คือ..เราพยายามปรับกระบวนการเรียนรู้สังคมศึกษา และประวัติศาสตร์ มาหลายครั้งแล้ว..

          และทุกครั้ง..นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน..ก็ยังไม่ทำให้เด็กไทย..สนใจใคร่รู้

          ผมคิดว่า..น่าจะเกิดจาก ผู้รู้จริง..เขียนเนื้อหาหลักสูตร แต่ไม่ได้สอน..คนสอนที่เรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ แต่ละเขตพื้นที่ก็มีไม่กี่คน..ครูประจำชั้นที่สอนทุกวิชา..รู้ประวัติศาสตร์หรือไม่? ยังไงก็ต้องสอน..

          เรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทย น่าสนใจ ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน ต้องใช้เทคนิคในการสอน..แต่การศึกษาไทยปัจจุบัน..ใช้เวลาหมดไปกับ..เรื่องไม่เป็นเรื่อง..

          บางเรื่องเป็นของฝรั่ง และบางเรื่องก็เป็นเทคโนโลยีที่เด็กไทยท้องถิ่นยังเข้าไม่ถึง..ผมเสียดายเวลา ที่บางครั้งเราหลงลืมที่จะสอนเรื่องราวความเป็นมา..ของเราเอง..

          กราบขอบพระคุณ..ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน สอนให้เราท่องสอนให้เราจำ ดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์อย่างมีมนต์ขลังและศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่มีสิ่งใดมารบกวน..

          ครูให้เราเล่นละคร..แบบบทบาทสมมุติ..ที่นับวันจะห่างหายไปจากหลักสูตรใหม่ ใครเล่นเป็นตัวละครตัวใด? ได้พูดและแสดงท่าทาง.. ทำให้เพื่อนสนุกสนานเฮฮา..การเรียนรู้ช่างมีความสุขเหลือเกิน

          ละครสั้นและกระบวนการกลุ่มจากการเรียนประวัติศาสตร์..ยังอยู่ในความทรงจำตลอดเวลา พอโตขึ้น เราก็รักสามัคคีกันและรักในความเป็นไทย..

          ผมจึงใคร่นำเสนอ..เพื่อให้การเรียนการสอน..ประวัติศาสตร์น่าสนใจและทันสมัยในยุคนี้..นอกเหนือจากการศึกษาเอกสาร ภาพถ่ายและเรียนนอกสถานที่..

          ครูน่าจะทดลองทำ หนังสั้น..ความยาว  ๕-๑๐ นาที..เน้นตอนใดตอนหนึ่ง ที่มีตัวเอกและตัวประกอบไม่มาก ..ครูเขียนบทให้..ต่อไปก็ให้นักเรียนคิดเองเขียนเองและถ่ายทำกันเอง..

          โดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือ ส่วนโลเกชั่น.ก็อยู่ในโรงเรียน วัด และแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้าน..ถ่ายทำเสร็จ ตัดต่อและบันทึกให้เรียบร้อย..ฉายให้ดูทั้งโรงเรียนไปเลย..รับรองได้แจ้งเกิดอีกหลายคนและหลายโรงเรียน อย่างแน่นอน

          งานนี้..เรื่องราวในประวัติศาสตร์จะอยู่คู่เด็กไทย..ไปตลอดกาล เป็นตำนานเล่าขานยิ่งกว่า..บุพเพสันนิวาส..เสียอีก..ไม่เชื่อก็ลองดู

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  เมษายน  ๒๕๖๑

 

        

          

หมายเลขบันทึก: 646147เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2018 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2018 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"แต่การศึกษาไทยปัจจุบัน  ใช้เวลาหมดไปกับ เรื่องไม่เป็นเรื่อง"

ผมชอบจัง...

ผมสนใจวิชาประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เรียนระดับประถม. ต่อมาหาอ่านหนังสือนอกตำราในวิชาที่เรียนเป็นส่วนใหญ่

...ผมคิดว่า บางครั้งผมเองก็สับสนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเรา หลักฐานการบันทึกมาจากการ"สันนิฐานว่า..."ซะเป็นส่วนใหญ่

...ผมว่าของเราไม่ค่อยชัดเจนเหมือน จีน อินเดีย เวียตนาม แม้แต่ พม่า และ กัมพูชา หรือ มาลายู จนถึงแถบตะวันออกกลาง

..ประเทศในยุโรป และอเมริกา มีการบันทึก ไว้ชัดเจนและที่สำคัญ ยอมรับความเป็นจริง แม้จะขมขื่นบ้าง แต่นั่นคือเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นมาแล้ว

...ระยะหลังผมมาสนใจประวัติศาสตร์สงครามใน ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2. โดยเฉพาะ "ยุทธภูมิในแปซิฟิค"อย่างจริงจังระดับหนึ่งเท่าที่พอค้นคว้าหาหนังสืออ่านได้ ครับ

...ผมอาจจะตกเทรนเกี่ยวกับคำว่า"ออเจ้า"  ก็ไม่เคยดูละครใน ทีวี แม้แต่เรื่องเดียว ดาราไม่ค่อยรู้จักใคร ตรงนี่ยอมรับครับว่าไม่รู้เรื่องจริงๆ

...ขอบคุณครับ. ผมตามอ่านเรื่อง ของท่าน ผอ.  ทุกครั้ง มีประโยชน์และแง่คิดดีๆมากมาย

....ประเทศเรามี อาจารย์. เช่นท่าน เชื่อว่าการศึกษาศึกษาพื้นฐานของเด็กไทยคงไปไกลกว่านี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท