การดื่มสุรา : เป็นกิจกรรมเข้าสังคม ??


การดื่มสุรา : เป็นกิจกรรมเข้าสังคม ??

ดร. ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

     การดื่มสุรา เป็นกิจกรรมที่คนในสังคมไทยหรือสังคมต่างประเทศก็ดื่ม โดยถ้าเป็นการดื่มที่ผู้ดื่มสามารถครองตัวได้ ไม่เสียความทรงจำ (ไม่เมา) ไม่ก่อความรำคาญหรือก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรมก็คงไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะในศีลข้อ 5 ที่บัญญัติห้ามดื่มสุราเมรัย เพราะโทษหรือพิษภัยของการดื่มสุรา มีมากมาย เป็นต้นว่า การดื่มสุรา ทำให้เสียทรัพย์ (ราคาแพง) ก่อการทะเลาะวิวาท เกิดโรค ถูกติเตือน และบั่นทอนต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ การดื่มสุรา ถ้าดื่มมาก และไม่ถูกกาลเทศะอาจทำให้เสียหน้าที่การงานได้ ดังจะขอยกตัวอย่างบอกเล่ากรณีข้าราชการดื่มสุราซึ่งเป็นการดื่มในเวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการ มีเรื่องเล่ามาว่า สองเกลอคืออรุณ และสำราญ (นามสมมุติ) เป็นเพื่อนกันมาก่อนตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่วิทยาลัยครูแห่งหนึ่ง (ต่อมาเป็นสถาบันราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชภัฏ) สมัยเป็นนักศึกษาทั้งสองคนเป็นนักดื่มตัวยง คอทองแดง พอมาเป็นครูก็ยังดื่มสุราเป็นอาจิณ เช่นเดิม ไม่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนหรือที่บ้าน ทั้งสองเป็นข้าราชการครู แต่คนละสายงาน อรุณเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนสำราญเป็นครูผู้สอน จะด้วยฟ้าลิขิต หรือเทพสังหรณ์ก็ไม่ทราบ อรุณได้รับแต่งตั้งให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ที่โรงเรียนวัดบางแก้ว ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สำราญ (เพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู) มาทำการสอนอยู่พอดี ทั้งสองคนเมื่อโคจรมาเจอกัน ต่างก็ดีอกดีใจพากันร่ำสุราทบทวนความทรงจำตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาและเป็นเพื่อนกันมาก่อน ทั้งครูและผู้ปกครองเมื่อเข้าใกล้ครูทั้งสองจะได้กลิ่นสุราจากปากครูทั้งสองเหม็นฉึ่ง นอกจากนี้ยังได้กลิ่นบุหรี่ด้วย คือเอาทั้งเหล้าทั้งบุหรี่ว่างั้นเถอะ อรุณ แต่ละสัปดาห์จะมาทำงานที่โรงเรียนเพียงวันสองวัน บางวันก็มาสาย บางวันก็มาเช้ากลับบ่าย วันที่ไม่มาทำงานแต่มาลงเวลาย้อนหลังก็มี นอกจากนี้แล้ว ยังมีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการเงินพัสดุโรงเรียน โดยมักจะอ้างกฎหมายหรือระเบียบที่ยกเลิกไปแล้วขึ้นมาโต้แย้งกับฝ่ายการเงินพัสดุโรงเรียนจนบางครั้งต้องทำเรื่องหารือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ก็มี ส่วนสำราญ ครูน้อยเกลอกัน ก็ดื่มสุราเป็นประจำอยู่แล้ว มีนักเรียนพบเห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าเวลาเมา ครูสำราญมักจะนอนที่เปลใต้ถุนบ้านพักครู จนทำให้ครูธิดาซึ่งสอนอยู่ห้องข้างเคียง ต้องไปดูเด็กแทนก็มี บางครั้งเดินสวนกันก็แสร้งถามว่า “ไม่ไปสอนหนังสือหรือ ?” ครูสำราญก็ตอบว่า “เดี๋ยวขอไปกรึ๊บก่อน” เป็นที่รู้กันดีว่า ครูสำราญไม่ค่อยเข้าสอนเพราะเมาสุรา เมื่อเข้าไปสอนเด็กนักเรียนก็บอกว่า สอนไม่รู้เรื่อง พูดซ้ำซาก วกไปวกมา ในวันทีไม่เข้าสอน ครูธิดา เคยให้นักเรียนไปตามที่บ้านพัก นักเรียนบอกกับครูสำราญว่า “ครูครับ ได้เวลาสอนแล้ว” ก็ได้รับคำตอบจากครูสำราญว่า “อย่ายุ่งได้ไหม ครูจะนอน” บางวัน นักเรียนเคยเห็น ผอ.อรุณ นั่งดื่มสุรากับครูสำราญ ณ บริเวณโต๊ะม้านั่งหินอ่อนใต้ต้นกระดังงา หรือบางวันก็พบที่ใต้ถุนบ้านพักครู จนครูในโรงเรียนต่างก็ให้ถ้อยคำยืนยันว่าดื่มเหล้าจนมึนเมาในขณะที่โรงเรียนก็ยังไม่เลิก บางครั้งก็เช้า บางครั้งก็สาย บางครั้งก็บ่าย มิหนำซ้ำวันที่นำนักเรียนไปแข่งขันกีฬาก็ไม่ดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่กลับใช้เวลาดังกล่าวไปดื่มสุราเมามายจนไม่สามารถนำนักเรียนกลับบ้านได้ ผู้ปกครองต้องไปรับกลับมาเอง จนกลุ่มผู้ปกครองให้ฉายา ผอ.อรุณ และครูสำราญว่า“เปิด ริน กิน นอน” 


      พอเปิดภาคเรียน ผู้ปกครองหลายคนก็เป็นห่วงว่า นักเรียนจะได้แบบอย่างที่ไม่ดีจากครูทั้งสอง จะทำให้เด็กขาดความรู้และหมดโอกาสที่จะไปเรียนต่อโรงเรียนอื่นที่มีชื่อเสียง ผู้ปกครองจึงได้มาจับกลุ่มหารือกันและต้องการให้คนทั้งสองเลิกกินเหล้าจึงขอให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ในวันนั้นมีคนเห็นอรุณและสำราญนั่งที่โต๊ะหินอ่อนข้างๆโรงเก็บรถจักรยาน บนโต๊ะมีขวดเหล้าตั้งอยู่และมีแก้วสองใบ ผู้ปกครองเชิญทั้งสองครั้ง ก็ไม่ยอมเข้าประชุม โดยอ้างว่าไม่ว่าง แต่กำลังดื่มเหล้า มีผู้ได้ยิน ผอ. อรุณพูดต่อหน้าคณะกรรมการสถานศึกษาว่า “เขตฯ ทำอะไร ผอ.ไม่ได้หรอก เพราะ ผอ.เป็นคนของเขตฯ ไม่มีใครจะเอา ผอ.ออกจากราชการได้ ผู้ปกครองจะมาใหญ่กว่า ผอ.ได้อย่างไร” 


   ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาและเจ้าอาวาสวัดบางแก้ว มี
ความเห็นว่า ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้จะทำให้นักเรียนได้แบบอย่างที่ไม่ดีและเสียโอกาสทางการศึกษา จึงพร้อมใจกันเดินขบวนร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ขอให้ย้ายครูทั้งสองไปที่โรงเรียนอื่น ไม่เช่นนั้น จะย้ายนักเรียนไปเรียนที่อื่นหมด ถึงแม้ว่าจะลำบากในการรับส่งบุตรหลานก็ยอม ทั้งก่อนหน้านี้ ผอ.อรุณและครูสำราญก็เคยบวชเหล้าเข้าพรรษาเป็นเวลาสามเดือนมาแล้ว แต่ปรากฏว่าสึกออกมายังดื่มหนักกว่าเดิมทั้งคู่ จะเห็นว่าพฤติกรรมของอรุณและสำราญ ซึ่งเป็น ผอ.และครูผู้สอนและเป็นเกลอกัน เป็นความผิดวินัย ต่อมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและสอบสวนวินัยอรุณและสำราญ เรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การดื่มสุราเป็นเรื่องปกติของผู้ชาย ใครๆ ก็ดื่มกันทั่ว หากจะลงโทษปลดออกก็จะกระทบต่อครอบครัวและคนรอบข้าง ทำให้เดือดร้อน จึงได้มีมติลงโทษ
ตัดเงินเดือน 5 %เป็นเวลาสองเดือนทั้งคู่


เรื่องนี้ได้รายงานผลการดำเนินการทางวินัยไปยัง ก.ค.ศ.ที่ประชุมเห็นว่า นายอรุณดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ คือดื่มสุราในบริเวณโรงเรียนและโรงเรียนยังไม่เลิกหรือดื่มสุราจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นความผิดวินัยตามมาตรา 97 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และก็ได้รายงานผลการดำเนินการทางวินัยไปยัง ก.ค.ศ.



     ที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นว่า นายอรุณดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการคือดื่มสุราในบริเวณโรงเรียนและโรงเรียนยังไม่เลิก หรือดื่มสุราจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นความผิดวินัยตามมาตรา 94 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กรณีประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือกรมเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีที่ นว 208/2496 ลงวันที่ 3 กันยายน 2496 เรื่อง แนวทางการลงโทษข้าราชการเล่นการพนันและเสพสุรา ซึ่งมีมติว่าให้ ลงโทษผู้กระทำผิดกรณีเสพสุราใน 3 กรณีต่อไปนี้ อาจเป็นความผิดวินัยร้างแรง คือ

1. เสพสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ

2. เมาสุราเสียหายต่อราชการและ

3. เมาสุราในที่ชุมชนจนเกิดเรื่องเสียหายหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่

    มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวใช้ คำว่า “อาจ” เป็นความผิดวินัยร้ายแรง จึงเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาและองค์กรคณะผู้พิจารณาความผิด (คือ อ.ก.ค.ศ.เขตฯ หรือกศจ.ในปัจจุบัน หรือ ก.ค.ศ.) ว่าเป็นโทษในระดับร้ายแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นราย ๆ ไป 


    กรณี   นายอรุณ ตำแหน่งเป็นถึงผู้บริหารสถานศึกษา ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา กลับมากระทำผิดเสียเอง เสพสุราในสถานที่ราชการ ละเว้นไม่ว่ากล่าวตักเตือนครูสำราญ ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ยอมเข้าประชุมชี้แจงคณะกรรมการสถานศึกษา จนทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจถึงกับเดินขบวนขับไล่ จึงถือว่าเกิดเรื่องเสียหายแก่ราชการแล้ว นอกจากนี้แล้ว ยังผิดวินัยไม่ร้ายแรงกรณีไม่ลงเวลา ลงเวลาย้อนหลัง เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการตามมาตรา 85 วรรคหนึ่งกรณีทอดทิ้งหน้าที่ไม่อุทิศเวลาหรือละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 87 วรรคหนึ่ง (มาทำงานแต่ไปนั่งดื่มสุรา) กรณีดื่มสุรามึนเมาในโรงเรียน มีกลิ่นสุราเหม็นออกจากตัวเป็นการไม่ประพฤติตนให้เป็นอบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคมตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง และกรณีเป็น
ผู้บังคับบัญชา ต้องว่ากล่าวตักเตือน ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ละเลยไม่ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาตามมาตรา 94 วรรคเจ็ด (เมื่อลงโทษวินัยร้ายแรงแล้ว โทษกรณีไม่ร้ายแรง เป็นอันพับไป ไม่ลงโทษในสถานเบาซ้ำอีก)

  กรณีนายสำราญ มีพฤติกรรมเหมือนนายอรุณ เป็นความผิดวินัย เช่นเดียวกันคือกรณีประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ส่วนกรณีไม่ร้ายแรง คือ การทอดทิ้งหน้าที่ ไม่อุทิศเวลาหรือละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 87 วรรคหนึ่งฯ เช่นเดียวกับนายอรุณ ตามแนวพิจารณาของ ก.ค.ศ. ความผิดกรณีเสพสุราเทียบเคียง กับกรณีของข้าราชการครูทั้งสองรายดังกล่าวข้างต้น คือ 
โทษปลดออกจากราชการ 


บทวิพากษ์


    การดื่มสุราเพื่อเข้าสังคมโดยทั่วไป ย่อมเป็นธรรมดาของลูกผู้ชายอย่างที่กล่าวข้างต้น อาจไม่ผิดปกติ (แม้ผู้หญิงก็มีสิทธิเสมอกับชายก็ดื่มได้ แต่ถ้าไม่ดื่มได้จะเป็นการดียิ่ง) ถ้าดื่มมากหรือเกินขอบเขตตามตัวอย่างที่ยกมา ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหาย เป็นต้นว่าเสียสุขภาพและบุคลิกภาพของตนเอง เป็นที่น่ารังเกียจของคนรอบข้าง เกียรติยศชื่อเสียง ความก้าวหน้าในทางราชการ และอุบัติภัยหรือ อาจถูกลงโทษปลดออกจากราชการได้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้ว่าข้าราชการผู้ใดเสพสุรามึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ ซึ่งอาจทำให้เสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการให้พิจารณาการลงโทษตามควรแก่กรณี ส่วนข้าราชการผู้ใดเสพสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือเมาสุราเสียราชการหรือเมาสุราในที่ชุมชนจนเกิดเรื่องเสียหายหรือเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการอาจถูกลงโทษสถานหนักถึงปลดออก หรือไล่ออกจากราชการได้ ซึ่ง ก.ค.ศ. สมัยที่เป็น ก.ค. (เดิม) ได้เคยมีมติให้ซักซ้อมความเข้าใจกรณีข้าราชการครูเสพสุรา โดยให้ข้าราชการครูระมัดระวังเกี่ยวกับการเสพสุรา ให้ผู้บังคับบัญชาควบคุมดูแล กวดขัน แนะนำ หรือว่ากล่าวตักเตือนข้าราชการครูที่ชอบเสพสุราและประพฤติตนไม่เหมาะสม ถ้าปรากฏว่าข้าราชการครูผู้ใดกระทำผิดกรณีเสพสุราและผู้บังคับบัญชาไม่อาจลงโทษในสถานหนักตามมติคณะรัฐมนตรีได้ หรือผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีแล้ว แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผู้บังคับบัญชาก็อาจพิจารณาให้ข้าราชการครูผู้นั้นออกจากราชการกรณีประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการได้ อนึ่ง พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอร์ พ.ศ. 2551 ได้ให้นิยามว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ” หมายความว่า สุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


มาตรา 27 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
1. วัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
2. สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและ
ร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา
3. สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร
4. หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
5. สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้้วยการศึกษาแห่งชาติ
6. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ํามันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
7. สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป 8. สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ


มาตรา 31 หามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
1. วัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา
2. สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและ
ร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล 3. สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้่เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี 4. สถานศึกษา (โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ) ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ


5. สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร่านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6. สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
7. สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบาย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันการดื่มสุราในที่บางแห่ง และลดละการดื่มสุรา (แม้การสูบบุหรี่ก็เช่นกัน มีกฎหมายกำหนดไว้ให้แสดงเครื่องหมาย “ห้ามสูบบุหรี่ หรือ NO SMOKING” ในสถานที่ตามที่กฎหมายกำหนด ดังเช่น สุราตามที่กล่าวแล้ว (ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับ แต่ก่อน ปรับ 2,000 บาท ปัจจุบันปรับ 5,000 บาท)

   จึงพอสรุปได้ว่า การดื่มสุรา จะเป็นกิจกรรมเพื่อเข้าสังคมหรือไม่ นั้น จะต้องหันมาทบทวน และปรับเปลี่ยนพาราดามหรือวิสัยทัศน์ใหม่และช่วยกันรณรงค์ปลูกจิตสำนึกหรือมาตรการเสริมแรง เช่น เจ้าหน้าที่หรือข้าราชการท่านใดไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นความดีความชอบหรือถือว่าเป็นผลงานเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ ในตำแหน่งหน้าที่การงาน จึงจะทำให้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอร์ พ.ศ. 2551 เกิดสัมฤทธิผล



----------------

เอกสารอ้างอิง : วารสารข้าราชการครู ปีที่ 34 เดือนมกราคม 2557 หน้า 37-40 


https://opac.psu.ac.th/BibDeta...


http://old.ddc.moph.go.th/law/showimg5.php?id=77

หมายเลขบันทึก: 645763เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2018 03:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2018 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for a good story.

The pictures are irrelevant (to the story - only related to the story teller).

This "...เจ้าหน้าที่หรือข้าราชการท่านใดไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นความดีความชอบหรือถือว่าเป็นผลงานเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ..." is a novel idea and should be explored further, perhaps!

The Buddha taught that "we should learn NOT to consume alcohols and other addictive drugs" because doing so can impair our thinking and ability to conduct ourselves in accordant to the other siilas (:learn NOT to kill, NOT to steal, NOT to destroy family relations, NOT to lie,...)

Modern reasons for drinking can be summed up as 'to be AS BAD AS the next guy'.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท