๕๑. จากบ้านหนองผือ ถึงบ้านนาสร้าง..ความเหมือนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง..


ณ วันนี้..บ้านหนองผือ..ต่างจากบ้านนาสร้างในทุกกระบวนท่า และยังไม่พร้อมที่จะก้าวไปได้ไกลแบบนาสร้าง ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจมากกว่านี้ แต่ที่เหมือนกัน ..คืออุดมการณ์ความคิด..”ไม่มีหินก้อนใดไร้ค่า ไม่มี เด็กคนใดที่เราจะทิ้งเขาไว้ข้างหลัง แต่เราจะนำพาเขาไปสู่เป้าหมายพร้อมกัน...”

        ผมมีเพื่อนรุ่นพี่ที่เกษียณแล้ว ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น “ครูผู้ทรงคุณค่า”ที่โรงเรียนบ้านนาสร้าง..อยู่อำเภอเมืองนครปฐม..เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเด็กไม่ถึง ๑๐๐ เหมือนหนองผือ

        พี่..ศรัทธาในความพอเพียง..ของหนองผือ ส่วนผม..ก็ศรัทธาที่พี่เขานำพาโรงเรียนออกนอกกรอบ..ไปทีละน้อย พี่ชวนผมออกนอกกรอบด้วย..

        ตอนแรก..ผมก็ไม่รู้ว่า..นอกกรอบเป็นอย่างไร?..จึงถามพี่ให้ช่วยอธิบายรูปแบบ หลักการและทฤษฎี มีโรงเรียนต้นแบบในใจไหม? เผื่อว่าผมพร้อมและครูสนใจ..

        พอพี่ส่งเอกสารมาให้ศึกษา..ผมเห็นชื่อโรงเรียนที่มีส่วนผลักดันให้”บ้านนาสร้าง”ออกนอกกรอบ คือ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา..โรงเรียนที่มีคุณภาพจริงๆ ณ พ.ศ.นี้..

        พี่เล่าให้ฟังว่า..จุดเริ่มต้นอยู่ที่ปี ๒๕๕๙ บ้านนาสร้างเป็นโรงเรียนสุขภาวะ ที่ต้องศึกษาเรื่องราวของ จิตศึกษา pbl และ plc ซึ่งบ้านนาสร้างสนใจและเข้าสู่กระบวนการพัฒนาครูให้มีความรู้และเข้าใจ ปีการศึกษา ๒๕๖๐ เริ่มบังเกิดความงอกงามในตัวเด็กอย่างน่าทึ่ง

        คำว่า”จิตศึกษา” เป็นคำที่ผมได้ยินมาจาก..ครูใหญ่.“วิเชียร  ไชยบัง”โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ท่านบอกว่า...

        “เมื่อครูใช้กระบวนการจิตศึกษาเพื่อขัดเกลาเด็ก ในขณะเดียวกันนั้นครูได้ขัดเกลาตนเองไปด้วย “จิตศึกษา” จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียนในการพัฒนาครู เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของครูให้มี “หัวใจของความเป็นครู” อย่างแท้จริง”                

        จิตตปัญญาศึกษา เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักการของจิตตปัญญาศึกษา เข้ามา มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพทางด้านการศึกษา   ที่ส่งเสริมให้ครูมีคุณภาพจากภายในคือ จิตใจ  ปลูกฝังสิ่งดีงาม อย่างลุ่มลึกลงภายในจิตใจ แล้วจะค่อย ๆ เกิดการปรับความคิด และเปลี่ยนจิตใจของตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้อื่นในระดับสังคมต่อไป     

         หากพิจารณาใคร่ครวญให้ดี จะพบว่า เราในฐานะครู อาจมีอะไรขาดหายไปบางอย่าง ดังนั้นสิ่งที่จะตอบโจทย์การปรับเปลี่ยนพื้นฐานทางด้านความคิดและจิตใจ ต้องหาเหตุปัจจัยที่ทำให้ตนเองนั้นเห็นความสำคัญเสียก่อน เพื่อยกระดับความคิด ใคร่ครวญตนเอง ตระหนักรู้ และเห็นคุณค่าของการส่งเสริมเพื่อยกระดับตนเอง ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้อื่นได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนจะทำให้ครูตระหนักถึงความรัก และความเมตตา เพื่อเกิดการหล่อหลอมความดี บนพื้นฐานของความจริง และความงาม

        ในส่วนของ PLC..เป็นกระบวนการที่ผมพอจะรู้ ส่วน PBL ที่บ้านนาสร้างใช้อยู่คืออะไร?..ผมจึงสอบถามพี่ให้ช่วยอธิบายต่อ....

        PBL (Problem-based Learning : การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน) คือ การเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหา เป็นเทคนิคการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือ ปฏิบัติด้วยตัวเอง เป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาความรู้ เผชิญหน้ากับปัญหาด้วยตัวเอง และรู้จักการทำงานร่วมกัน 

        กิจกรรมตามตารางประจำวันของนักเรียนอนุบาลจนถึงชั้น ป.๖..ของโรงเรียนบ้านนาสร้าง..จึงประกอบด้วยแบบฝึกทักษะ การคิดวิเคราะห์ โครงงาน..ที่นักเรียนร่วมคิดร่วมแก้ปัญหา แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง นักเรียนมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์ผลงานอยู่ตลอดเวลา...

        การสร้างแรงบันดาลใจในกระบวนการประจำวันกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงผลักดันตนเองในการที่จะเรียนรู้ให้ไปพร้อมกับเพื่อนๆ ครูจะเป็นผู้จัดสรร รายละเอียดในขั้นตอนการฝึกทักษะ ทั้งนี้ ครูมีตัวชี้วัดและเกณฑ์ต่างๆในมือย่อมจะคิดค้นแนวทางสู่ความสำเร็จได้อย่างหลากหลายแบบมืออาชีพ ผู้บริหารเพียงอำนวยการ สื่อ วัสดุ ที่จำเป็น และอาจจะให้แนวทางที่ทำได้จริง ง่าย แก่ครูได้ หากครูต้องการคำปรึกษา

        ก่อนที่นักเรียนชั้น ป.๖ จะจบการศึกษา ทุกคนต้องทำ project  โดยนำเสนอเอกสารและจัดนิทรรศการโครงงาน อธิบายกระบวนการและขั้นตอน ให้ครูและเพื่อนได้เข้าใจในความรู้นั้นๆ พลังของเด็กๆได้เปล่งประกายจนเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่มาพบเห็น และนี่คือ อีกความงอกงาม ที่ประจักษ์แก่สายตาของทุกคน..เป็นผลงานของเด็กล้วนๆ          

        การบริหารจัดการ..ในกระบวนวิธีสอนแบบนี้..ที่บ้านนาสร้าง สร้างรากฐานผลสัมฤทธ์ิที่ยั่งยืนในอนาคตอย่างแน่นอน กระบวนการที่นักเรียนได้รับการฝึก เช่นการค้นคว้า การลงมือค้นหาคำตอบด้วยตนเองเป็นทักษะที่จำเป็นต่อศตวรรษที่21 และสิ่งนี้มักจะเกิดการตกผลึกความรู้ที่คงทนและต่อมาจะถึงขั้นการนำไปใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ หากการสอบโอเนตมีแนวทางการวัดผลเช่นนี้ ความคาดหวังว่าเด็กจะทำข้อสอบได้..ย่อมสามารถเป็นไปได้

        ณ วันนี้..บ้านหนองผือ..ต่างจากบ้านนาสร้างในทุกกระบวนท่า และยังไม่พร้อมที่จะก้าวไปได้ไกลแบบนาสร้าง ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจมากกว่านี้  แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ..อุดมการณ์ความคิด..”ไม่มีหินก้อนใดไร้ค่า ไม่มี เด็กคนใดที่เราจะทิ้งเขาไว้ข้างหลัง แต่เราจะนำพาเขาไปสู่เป้าหมายพร้อมกัน...”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๔  มีนาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 645619เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2018 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2018 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท