การกระทำความผิดเกี่ยวกับหุ้นของคนต่างด้าวในประเทศไทย


คนต่างด้าว

  ผู้เขียนมีแนวความคิดที่จะทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่องการกระทำความผิดของคนต่างด้าวเกี่ยวกับหุ้นในประเทศไทย โดยในการเขียนวิทยานิพนธ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ขอบเขตที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอนั้นต้องการที่จะนำเสนอการกระทำความผิดเกี่ยวกับหุ้นของบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลต่างด้าวในประเทศไทย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอยู่เองที่ในเบื้องต้นของการทำวิทยานิพนธ์ผู้เขียนต้องทำการศึกษาถึงคนต่างด้าวทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลต่างด้าวตามกฎหมายไทย ซึ่งกฎหมายที่ต้องใช้ในการพิจารณาคือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลอาจกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการศึกษาเลยที่เดียว ดังนั้น ผู้เขียนเองต้องการที่จะนำเสนอผลการศึกษาเพื่อที่จะได้เป็นความรู้แก่ผู้อ่านและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา

1.ความเป็นต่างด้าวของบุคคลธรรมดา  โดยพิจารณาจากกฎหมายที่เป็นอยู่ว่าด้วยสัญชาติไทย (Positive Nationality Law) ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งบุคคลธรรมดาที่เป็นต่างด้าวตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องมีลักษณะคือ

1.1 บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงที่กฎหมายให้เป็นเหตุให้ได้สัญชาติไทย โดยบุคคลธรรมดาที่ไม่มีข้อเท็จจริงที่กฎหมายให้เป็นเหตุให้ได้สัญชาติไทย ซึ่งได้แก่ การได้สัญชาติโดยการเกิด การได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ การได้สัญชาติไทยโดยการสมรส การได้สัญชาติไทยโดยการรับคืนเป็นบุคคลซึ่งกฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย    

1.2 บุคคลธรรมดาซึ่งมีข้อเท็จจริงที่กฎหมายให้เป็นเหตุให้เสียสัญชาติไทย เกิดจากการกรณีที่มีข้อเท็จจริงที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเหตุให้เสียสัญชาติไทย ซึ่งได้แก่ การแปลงสัญชาติ การสละสัญชาติ การถอนสัญชาติ การเสียสัญชาติโดยการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว                 

1.3 บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทยแต่ไม่มีเอกสารแสดงความเป็นไทย  

1.4 บุคคลไร้สัญชาต

 2. ความเป็นต่างด้าวของนิติบุคคล โดยพิจารณาจากพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ได้แก่

2.1 นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทย การกำหนดลักษณะความเป็นต่างด้าวจากการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายภายในของรัฐหนึ่ง(Incorporation) เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่จะไม่ปฏิเสธนิติบุคคลที่มีจุดกำเนิดจากกฎหมายของตน เพราะการปฏิเสธดังกล่าวจะหมายความว่ารัฐนั้น ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนาด้วย สำหรับประเทศไทยไม่มีกฎหมายบทหลักที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าด้วยสัญชาติของนิติบุคคล แต่จากคำสอนของนักนิติศาสตร์และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้ยืนยันหลักว่า ประเทศเจ้าของกฎหมายที่ก่อตั้งสภาพนิติบุคคลเป็นเจ้าของสัญชาติของนิติบุคคล ในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้กำหนดลักษณะความเป็นต่างด้าวของนิติบุคคลโดยอาศัยหลักการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลไว้ในมาตรา 4 (2)                       

2.2 นิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยการกำหนดความเป็นต่างด้าวจากหลักการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลนั้น ถือว่าเป็นหลัก แต่หากมีกรณีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลนั้นในประเทศไทย แต่ทุนหรือหุ้นของนิติบุคคลนั้นถือโดยคนต่างด้าวเป็นจำนวนตั้งแต่กึ่งหนึ่ง หรือมีการเข้าควบคุมอำนาจบริหารจากคนต่างด้าว ได้มีการกำหนดเป็นข้อยกเว้นให้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นต่างด้าวในการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการกำหนดความเป็นต่างด้าวตามหลักการควบคุม (In Control Test) ซึ่งเป็นหลักที่ให้นิติบุคคลมีสัญชาติของประเทศที่กลุ่มหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเสียงข้างมากในการบริหารนิติบุคคลและการควบคุมการกำหนดนโยบาย และการบริหารนิติบุคคลนั้นมีสัญชาติซึ่งประเทศไทยได้นำหลักดังกล่าวมาบัญญัติไว้เพื่อกำหนดความเป็นคนต่างด้าวของนิติบุคคลในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยกำหนดเป็นข้อยกเว้นในกรณีที่นิติบุคคลได้จดทะเบียนในประเทศไทยและมีลักษณะที่ต้องด้วยเหตุอันเป็นข้อยกเว้นที่ถูกควบคุมทำให้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว กล่าวคือ มีหุ้นอันเป็นทุนหรือลงทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวในการพิจารณาของทุนที่เข้ามาของคนต่างด้าวนั้น ได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎี เลขที่ 332/2535 ได้อธิบายถึงลักษณะของจำนวนทุนที่จะถือว่าเป็นคนต่างด้าวไว้ แม้จะเป็นการอธิบายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ก็นำมาเป็นกรณีศึกษาของการพิจารณาจำนวนทุนของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้ หรือ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนซึ่งมีหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นคนต่างด้าว                                           

2.3นิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในต่างประเทศ                       

จากการศึกษาถึงความเป็นคนต่างด้าวของทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตีความความเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาว่าเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ นั้นคงหนีไม่พ้นการที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้นเอง จึงอาจกล่าวได้ว่าหากทำความเข้าใจในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลอย่างถ่องแท้ และศึกษาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวประกอบแล้ว ปัญหาเกี่ยวความเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบันคงไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น

หมายเลขบันทึก: 64512เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท