Smart Bus and Smart City ที่ ม.ขอนแก่น : ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Aday


ในการพัฒนาบางที “ความคุ้มค่า” อาจเป็นเรื่องรองมาจาก “คุณค่า” ที่เกิดขึ้น แต่การพัฒนา ก็จำเป็นต้องสูญเสียไปเหมือนกัน...

วานก่อนตอนอยู่นครปฐม นายกจีฟ ทศพล แจ่มวิจักษณ์ น้องรักโทรศัพท์ไปหา ผมรับสายแล้วรีบพูดว่า “มีอะไรให้รับใช้ครับเจ้านาย” ... ต้นสายไม่รอช้า รีบบอกว่า “พอดีมีคนจากนิตยสาร Aday โทรหาจะขอสัมภาษณ์เรื่องเกี่ยวกับ KKU Shuttle Bus ผมเลยบอกเขาไปว่า ผมเรียนจบนานแล้ว ผมจะให้เขาสัมภาษณ์พี่ยอดแทนได้ไหม เดี๋ยวผมขออนุญาตให้เบอร์พี่ยอดนะครับ เดี๋ยวเขาจะโทรหา” ต้นสายร่ายจบ ปลายทางมีหรือจะปฏิเสธได้ลง จากการเอ่ยอาสาจะรับใช้ตั้งแต่ต้น วางสายจากนายกจีฟไม่นาน ก็มีสายเข้าจากคุณเนย แนะนำตัวกันสั้นๆ นัดหมายกันว่าช่วงเย็นๆวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ จะขอไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สักหนึ่งชั่วโมงเรื่องราวเกี่ยวกับ Smart Bus ของ มข. ผมก็รับปากอย่างรวดเร็ว ไม่กังขา คงจะด้วยสองสาเหตุหลัก หนึ่งคือชื่นชอบนิตยสาร Aday เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (เริ่มรู้จัก Aday สมัยเรียน ป.ตรี จากเพื่อนรักนามว่า “ปอน้อย” ผู้หญิงตัวเล็กๆที่มีนิสัยอินดี้ใหญ่กว่าขนาดตัว)......ส่วนเหตุผลที่สอง เก็บไว้ในใจดีกว่า

เย็นอาทิตย์ จึงนัดกับคุณเนยว่าเจอกันในมหาวิทยาลัยขอนแก่น น่าจะสะดวก...เมื่อใกล้ถึงเวลาคุณเนยกับผมเลยนัดกันที่ร้านกาแฟ หอศิลปวัฒนธรรม ... คุณเนยมากับเพื่อนอีกคน ผู้ชายร่างท้วม เราแนะนำตัวกัน ...ขณะเขียนบันทึก กลับลืมชื่อเขาไปเสียสนิท เนยบันทึกเสียง เพื่อเอาไว้ไปทำสกู๊ปแทนการจดบันทึก เนยบอกว่า มาขอนแก่นได้สี่วันแล้ว มาจัดและมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนของเทศบาลนครขอนแก่น... เลยอยากสัมภาษณ์ข้อมูลของ Smart Bus ของ ม.ขอนแก่น ไปเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง

การสนทนาที่มีอารมณ์สุนทรีย์ ก็ทำให้การพูดคุยแบบสาระบันเทิงเกิดขึ้น...เนยถามผมเรื่องราวของ Smart Bus  หรือที่ มข. ตั้งชื่อว่า Khon Kaen University Smart Transit  : KST แต่พวกเราเรียกกันจนติดปากว่า Shuttle Bus ... ที่ไปที่มา แนวคิด และประโยชน์ของ Smart Bus เป็นอย่างไรบ้าง? ผมจึงเท้าความไปถึง Shuttle Bus ยุคแรกของ มข. ที่เรามีใช้กัน จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน หากตอบแบบง่ายๆว่า มข.เองก็อยากมีรถขนส่งมวลชนดีๆไว้ใช้ ที่ว่าดีๆนั้นเป็นแบบไหน เราเคยอยากมีรถคันเตี้ยๆ คล้ายรถกอล์ฟ ขึ้นลงสะดวก คันไม่ใหญ่ ไม่เทอะทะ คล่องตัว ไปในย่านชุกชุมของรถในเขตการศึกษา...แต่เมื่อมีข้อเสนอที่ดีกว่าคือ จะมีแอร์เย็นๆ wifi ดีๆ ระบบเดินรถที่ทันสมัย มีกล้อง CCTV ที่ช่วยจับภาพเพื่อความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบได้ มี Application ที่ตอบโจทย์ยุค IT และมีเรื่องราวดีๆที่ช่วยลดมลภาวะของโลก เช่น การใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อน การมอบทุนการศึกษาเพื่อเป็นแรงจูงใจในการใช้งาน หรือแม้แต่วัฒนธรรมการกล่าว “ขอบคุณครับ/ขอบคุณค่ะ” ของชาว มข. ที่จะกล่าวทุกครั้งก่อนก้าวลงจากรถ... เป้าหมายลึกๆไกลๆกว่านั้น คงเป็นการลดปริมาณการใช้รถในพื้นที่แออัดทางการศึกษาที่นักศึกษาและคณาจารย์/เจ้าหน้าที่ มีใช้กันเกือบทุกคน และที่สำคัญคือ การช่วยส่งเสริม/สนับสนุนการเดินทางของคนที่ไม่ใช้รถ (ไม่มีรถใช้) การปรับพฤติกรรมของคน มข. ให้หันมาใช้ ขสมข. = ขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราต้องรู้ว่าพฤติกรรมของชาว มข. นั้นต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น มข.มี Campus ที่กว้างใหญ่มาก อีกอย่างนักศึกษา มข. ไม่ต้องเร่งรีบในการเดินทางเหมือนที่อื่น การใช้ ขสมข. จึงยังสำคัญน้อยสำหรับคนหมู่มาก แต่เรื่องราวของ KST ที่ผมแอบเล่าให้เนยและเพื่อนเขาฟัง และทำให้เขาสนใจคือ เรื่องการใช้ความรู้และเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรามีอยู่ ผสมผสานกับ KST เช่น การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ออกแบบตกแต่งรถ จนได้ผู้ชนะแล้วนำมาแต่งเติมสีสันข้างรถที่ใช้กันอยู่ การนำมูลสัตว์ในฟาร์มคณะเกษตรศาสตร์มาใช้ทำเชื้อเพลิงสำหรับเติมให้ KST วิ่งรับ-ส่งชาว มข. การพัฒนา Application ที่ทำร่วมกัน หรือการปรับปรุงเพิ่มเติมจุดจอด และปรับเส้นทางการเดินรถให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ก็เป็นเรื่องที่ได้เล่าให้น้องๆสองคนฟัง... น้องๆถามว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดอย่างไรถึงกล้าตัดสินใจจัดบริการ ขสมข. “ฟรี” แก่ทุกๆคน เพราะใครๆก็ขึ้นได้ ไม่จำกัดแค่คน มข. แล้วมันคุ้มค่าไหม ผมจึงถือวิสาสะ (เพราะไม่ใช่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย) ตอบเขาไปว่า เราอยากเห็นบ้านเรามีของดีๆ การลงทุนย่อมไม่สูญเปล่า มันอาจจะไม่เห็นผลทันตา แต่เราก็ค่อยๆปรับพฤติกรรมกันไป เพราะอีกไม่นาน ขอนแก่นจะกลายเป็นมหานคร เป็นเมืองมากขึ้น ขนส่งมวลชนและบริการสาธารณะจะมีความสำคัญ การมี ขสมข. จะช่วยแบ่งเบาภาระของหลายๆคน ช่วยอำนวยความสะดวก หรือมองแบบฉาบฉวยก็มองในแง่เรื่อง Green Campus ที่ช่วยลดมลภาวะก็ได้ มหาวิทยาลัยกล้าลงทุน...เพื่อเป็นต้นแบบของหลายๆที่ เพื่อเป็นต้นแบบขนส่งมวลชนของประเทศ ก็ถือว่าคุ้มค่า... เพราะนครขอนแก่นก็เริ่มมี City Bus ตามมา เราอยากเห็นกรุงเทพมหานคร พัฒนา ขสมก. ให้ดีขึ้น KST จะเป็นต้นแบบที่ดี หาก กทม. ทำได้

 

ผมเลยได้เล่าไปถึงการพัฒนาเมืองขอนแก่นแบบก้าวกระโดด ... แต่การที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มันน่าสนใจพอๆกับการพัฒนาเมือง เทศบาลนครขอนแก่น ทำงานเรื่องนี้ได้ดี ทั้งกับภาคราชการ เอกชน และองค์กรพัฒนาชุมชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มจิตอาสา ... เราคุยกันเล่นๆ ยาวไปถึงเรื่อง “วัฒนธรรม” และความมีน้ำใจของคนขอนแก่นและคนอีสาน...เนยถามผมว่า “ทำไมคนขอนแก่นจึงมีจิตใจงดงาม อัธยาศัยไมตรีดี และต้อนรับคนทั่วๆไปจากต่างแดน” ผมเลยคิดแบบเร็วๆว่า “ขอนแก่นไม่ใช่เมืองโบราณที่อยู่มาหลายร้อยปีหลายพันปี แต่ขอนแก่นเป็นเมือใหม่ที่มีอายุสองร้อยกว่าปี เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่มาตั้งรกราก การเดินทางอพยพอันแสนลำบาก อาจทำให้คนในอดีต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ดูแลกันในยามยาก และอาจส่งต่อนิสัยอันงดงามนั้นมาถึงคนยุคปัจจุบันก็เป็นได้” และผมก็ได้เล่าถึง Khon Kaen New Spirit ที่พี่สุ้ยและทีมงาน สร้างเวทีแห่งการเรียนรู้สำหรับคนทำงานจิตอาสาในเมืองขอนแก่น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีหลายกลุ่มที่ผมยกตัวอย่างให้น้องสองคนฟัง และน้องก็สนใจ แต่ผมพูดให้น้องฟังว่า เราคงไม่ได้ตั้งใจจะมารวมตัวกันเพื่อทำอะไรใหญ่ๆหรอก เพราะจริงๆ หลายๆคนทำเรื่องเล็กๆที่ยิ่งใหญ่การช่วยประคับประคอง “เมือง” มาโดยตลอด แต่การมีเวทีสองสามครั้งที่เกิดขึ้น กลับเป็นเวทีที่เราได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวอันงดงาม มาเล่ามิติของการทำงานจิตอาสาตามความถนัดหรือความสนใจของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม แต่ที่สำคัญที่สุดคือการมาเติมกำลังใจให้กันและกัน ที่สำคัญ “มันอิ่มใจ” แล้วทุกคนก็กลับไปทำภารกิจของตนเองต่อไป “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นจุดที่จะช่วยประคับประคองให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืน... รากเง้าทางวัฒนธรรมมันสำคัญต่อการพัฒนาเชิงวัตถุของ “เมือง”

ในการพัฒนาบางที “ความคุ้มค่า” อาจเป็นเรื่องรองมาจาก “คุณค่า” ที่เกิดขึ้น แต่การพัฒนา ก็จำเป็นต้องสูญเสียไปเหมือนกัน... เนยถามว่า ทำไม KST ของ มข. จึงกล้าให้ใช้ฟรี ผมรีบตอบว่า ไม่ฟรีหรอก มหาวิทยาลัยก็ใช้งบประมาณที่เป็นเงินของทุกๆคนนั่นแหละ ไปจ่ายค่าสัมปทานมาให้ใช้ แต่ยอมจ่ายแพงหน่อย เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ของดีมีคุณค่า... และเราไม่ต้องแบกรับภาระค่าคนขับรถ ค่าซ่อมบำรุง ...

 

เรื่องราวของ Smart Bus และ Smart City ในมุมของลุงภารโรงก็ยาวยืด เอาเป็นว่า เขียนแค่นี้ก็คงพอ... ยาวมากไปแล้ว

 

ณ มอดินแดง, 11 กุมภาพันธ์ 2561

ขอบคุณภาพจาก อ.ขนุน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร

 

หมายเลขบันทึก: 644661เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2018 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยี่ยมมากค่ะ  เป็นจดหมายเหตุบันทึกประวัติศาสตร์ มข.  เชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาเมืองขอนแก่น

เป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาคนที่จะกระจายออกไปทำงานที่ต่าง ๆ ให้มีจิตสำนึกติดใจไปในเรื่อง จิตสาธารณะด้วยนะคะ

ขอบคุณที่มาแบ่งปันให้เห็นแนวคิดเบื้องหลังการมี ขสมข. นะคะ  วันว่าง ๆ จะลองไปนั่งเล่นบ้าง ^_,^

ดีมากค่ะ ขอบคุณที่เขียนให้ได้อ่านกัน ทำให้หนูได้ทราบถึงเป้าหมายที่แท้จริงของ shuttle bus เพราะมันไม่ใช่แค่เพื่อคนในมข แต่เพื่อคนจังหวัดขอนแก่นต่างหาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท