ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ: การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 บริบทและความท้าทายวงการการศึกษาและแรงงานยุคใหม่


ในช่วงเวลาต่อไปคนที่ทำงานตรงสาขาที่เรียนมาจะมีน้อยลง เพราะเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะทำให้ลักษณะงานที่เคยมีมานานเปลี่ยนไป

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

บริบทและความท้าทายวงการศึกษาและแรงงานยุคใหม่

เรียบเรียงโดย อรรถการ สัตยพาณิชย์

            จากการบรรยายของ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในหลักสูตรการพัฒนานักบริหารมหาวิทยาลัยสายวิชาการระดับสูง (นบม.) รุ่นที่ 28 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส กรุงเทพฯ มีเนื้อหาที่น่าสนใจ โดยได้กล่าวถึงการปรับตัวอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งมีผลโดยตรงต่อแรงงานที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นหน้าที่ขององค์กรธุรกิจ รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่ต้องจับตาบริบทและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

โลกผ่านการปฏิวัติอุตฯ มาแล้ว 3 ครั้ง

                อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้กล่าวถึงพัฒนาการของการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง 3 ครั้งว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1784  ซึ่งในครั้งนั้น กระบวนการการผลิตจะใช้น้ำและไอน้ำเป็นพลังงานหลัก โดยเข้ามาทดแทนแรงงานคนและสัตว์ที่ใช้กันมาก่อนหน้านี้

                ต่อมาในปี ค.ศ.1870 ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2  มีการใช้ไฟฟ้าเพื่อการผลิตขนาดใหญ่ หลังจากนั้นได้เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เมื่อ ค.ศ.1969 จากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ต  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง  3 ครั้ง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมมนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะเมื่อการผลิตเปลี่ยนแปลง ย่อมทำให้วิถีการดำรงชีพ การทำงาน การประกอบอาชีพ การบริโภค ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล วัฒนธรรม ฯลฯ ย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

                โดยเฉพาะผลที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม จนเกิดเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT ขึ้น นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการฝากถอนผ่านเครื่อง ATM หรือการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แล้ว   อีกด้านหนึ่งยังทำให้กระบวนการผลิตสินค้ามีต้นทุนที่ลดต่ำลง  และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในมิติทางสังคม จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนได้ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากแต่ละคนมีชีวิต และใช้ประโยชน์ในหลายๆ รูปแบบ ผ่านสมาร์ทโฟนของตัวเองมากขึ้น

 

                                                       

                                                                   รูปภาพจาก www.ryt9.com


ปฏิวัติอุตฯ ครั้งที่ 4: คาดเดาอะไรยากมากขึ้น

                ดร.วรากรณ์ อธิบายภาพรวมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ว่าจะเป็นการต่อยอดและผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้านที่ได้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 และจะเป็นยุคที่ได้เห็นเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิต และสังคมของมนุษย์ รวมทั้งมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม Internet of Things (IoT) Nanotechnology เป็นต้น

                ต่อไปจะได้เห็นรถยนต์ที่ไม่ใช้คนขับ เครื่องมือตรวจร่างกายแทนแพทย์ หุ่นยนต์ทำงานรับใช้งานบ้าน  ยาเม็ดขนาดเล็กที่มีวงจรไฟฟ้าขนาดมองไม่เห็นเพื่อรักษาโรคและแก้ไขยีนส์ เซ็นเซอร์ที่เป็นเม็ดยา เมื่อกลืนลงไปในกระเพาะแล้วจะช่วยให้ย่อยสลายยาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ใบพัดหมุนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากลม ปรับรูปใบตามทิศทางกระแสลมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ฯลฯ แต่ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ บางอย่างยากที่จะคาดเดาว่าจะมีผลในด้านบวก หรือด้านลบต่อมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์ เชื้อโรคร้ายแรงที่เกิดจากวิศวพันธุกรรม ฯลฯ

                การตื่นตัวต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีมากจนถึงขั้นการประชุม World Economic Forum 2016 ถึงกับจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Mastering The Fourth Industrial Revolution” ซึ่ง WEF เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นการประชุมประจำปีที่รวมบรรดานักธุรกิจ นักการเมือง นักคิดทั่วโลก และในวาระการประชุม ประจำปี 2016 เป็นการพูดคุยกันถึงการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการเฉพาะ

 

ผลวิจัยผลกระทบปฏิวัติอุตฯ ครั้งที่ 4 มีทั้งคุณและโทษ

                ดร.วรากรณ์ได้กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้า (ประมาณ ค.ศ.2019-2020) ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการประชุม WEF 2016  โดยที่มาของข้อมูลได้มาจากการสัมภาษณ์นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกัน 13.5 ล้านคน ครอบคลุม 371 สถานประกอบการขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทั่วโลก รวมทั้งประชาคมอาเซียน

              ผลการศึกษาพบว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะมีทั้งคุณและโทษต่อตลาดแรงงาน เพราะนอกจากสร้างโอกาสในการทำงานและมนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และทำให้ตำแหน่งงานจำนวนไม่น้อยหายไป เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่แทนที่แรงงานมนุษย์ และที่สำคัญถ้าแรงงาน รวมทั้งสถานประกอบการใดไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก็จะประสบปัญหาเป็นอย่างมาก

                งานวิจัยนี้ยังระบุว่าในการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในขั้นต้นจำเป็นต้องมีทักษะและลักษณะบางประการดังต่อไปนี้ (1) ทักษะการแก้ไขปัญหา (2) ทักษะการคิดวิเคราะห์ (3) ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (4) ทักษะการบริหารจัดการบุคคล (5) ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (6) ทักษะการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) (7) ทักษะการตัดสินใจ (8) ทักษะการเจรจาต่อรอง (9) การมีใจรักบริการ และ (10) ความยืดหยุ่นทางความคิด

                ดร.วรากรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ทักษะและลักษณะสำคัญข้อ 1 ถึงข้อ 8 เป็นทักษะหรือความสามารถในการกระทำที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝน มิได้เกิดจากความเฉลียวฉลาด แต่ ‘การมีใจรักบริการ’ นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะก้าวหน้าอย่างใด แต่การได้รับบริการที่ดีเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ และเทคโนโลยีก็ไม่สามารถมาแทนที่ได้ และข้อที่ 10 ‘ความยืดหยุ่นทางความคิด’ ดร.วรากรณ์มองว่าเป็นคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการปฏิวัติครั้งที่ 4 ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

                ดร.วรากรณ์เชื่อว่าในช่วงเวลาต่อไปคนที่ทำงานตรงสาขาที่เรียนมาจะมีน้อยลง เพราะเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะทำให้ลักษณะงานที่เคยมีมานานเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น Digital Marketing หรือการตลาดดิจิทัล ซึ่งเพิ่งจะมีหลักสูตรสอนกันในมหาวิทยาลัย แต่ผู้ที่เรียนด้านการตลาดโดยไม่เข้าใจหรือไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลเลย หรือคนที่เรียนด้าน IT มา แต่ไม่สนใจเรื่องการตลาด ก็จะทำงานนี้ไม่ได้ เฉพาะคนที่มีความยืดหยุ่นทางความคิด รู้จักปรับตัวปรับใจเรียนรู้ใหม่เพิ่มเติมเท่านั้นที่จะไปได้ดีกับงานลักษณะใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

             คุณสมบัติทั้ง 10 ข้อ ดร.วรากรณ์มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นมาจากการมีประสบการณ์และการฝึกฝน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หน่วยงานหนึ่งที่ต้องเข้ามามีบทบาทก็คือ สถาบันการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับกิจกรรมนักศึกษา โดยจะต้องเป็นสนามฝึกที่สำคัญในช่วงชีวิตของการเป็นนักศึกษาให้มากขึ้น

 

       โลกเราเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งที่สูงขึ้น และยากที่จะคาดเดามากขึ้น “แรงงาน” ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอยู่ท่ามกลางภาวะสุ่มเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในการทำงานเพิ่มขึ้น การปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมาขบคิดและหาคำตอบให้ได้ว่าจะใช้ชีวิตกับการทำงานในยุคปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กันได้อย่างไร ถึงจะมีความมั่นคง


หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากการได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรการพัฒนานักบริหารมหาวิทยาลัยสายวิชาการระดับสูง (นบม.) รุ่นที่ 28 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)

หมายเลขบันทึก: 644325เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2018 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2018 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท