๖๖๕..ศาสตร์พระราชา..รายวิชาใหม่ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อไหร่ฝันจะเป็นจริง..


ผมจึงมองว่าหลักสูตรการศึกษาของชาตินี่แหละ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความสำคัญยิ่ง..ที่จะทำให้เด็กไทยเข้าใจ และเข้าถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙

          ผมรู้สึกขำๆ มากกว่าจะเครียด เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ประชาสัมพันธ์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับชั้นป.๑ – ม.๖ เริ่มใช้ปีการศึกษา ๒๕๖๑

        ส่วนใหญ่ก็จะปรับสาระ..ในรายวิชาคณิตศาสตร์ และปรับปรุงเพิ่มเติมในสาระวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้..วิชาภูมิศาสตร์

        เมื่อปรับหลักสูตร..ตัวชี้วัดก็ต้องเปลี่ยนแปลง แต่โครงสร้างเวลาเรียนยังคงเหมือนเดิม อัดแน่นกันตั้งแต่ชั้น ป.๑..ด้วยเนื้อหาที่ครูผู้สอนเข้าใจดีว่า..ไม่ธรรมดา

         ที่ผมไม่อยากเครียด ก็เพราะว่า..เป็นเรื่องของผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศ เขาก็คงคิดดีหวังดีนั่นแหละ..ไม่ใช่คิดอะไรมา..ก็ผิดหมด..

         จะสอดคล้องกับเป้าประสงค์หรือไม่ ก็ต้องดูกันยาวๆ เจตนาที่ต้องปรับเปลี่ยน เห็นบอกว่า..ให้สอดคล้องกับวิทยาการของโลกที่เปลี่ยนไป

        อีกทั้ง..ยังบอกด้วยว่า หลักสูตรที่ปรับใหม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วย..แต่ผมเชื่อว่า..เขาต้องการให้สัมพันธ์กับแผนพัฒนาชาติมากกว่า...

       การจะก้าวไป..ให้เป็นประเทศไทย ๔.๐ การศึกษานี่แหละ มีส่วนผลักดันที่สำคัญ..การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้..จึงเป็นการปรับทั้งระบบ...

      แต่ผมคิดว่ามันคงยาก..ในการวาดหวังการปฏิรูปการศึกษาไทย..แม้ว่าจะใช้หลักสูตรใหม่เป็นเงื่อนไขแล้วก็ตาม..เพราะ..โครงสร้างของสังคมและการศึกษา ในส่วนภูมิภาค..ไม่ได้มีความพร้อมเลย..

       โรงเรียน..ยังขาดครูมากมาย..ความถนัดและความสนใจของครูแต่ละโรงเรียน ยังมีความผกผันกับความต้องการของหลักสูตร...

       เศรษฐกิจชุมชน..ในระดับรากหญ้า แทบไม่มีอะไรเคลื่อนไหว..ผู้ปกครองยากจนเต็มบ้านเต็มเมือง..แต่เราให้ลูกหลานเขาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ รู้มากขึ้น เหมือนจะให้เก่ง แล้วไปเข้ามหาวิทยาลัย...

      นักเรียนเรียนรู้(มาก) สู้สิ่งยาก..ก็จะไม่มีเวลาปฏิบัติ..ในสิ่งที่เป็นบริบทของชุมชนและครอบครัว ห่างไกลชีวิตจริงเข้าไปทุกที..รู้สารพัด..แต่อาจรู้ไม่จริง และไม่รู้จักตนเองมากพอ เพราะจะรู้แต่ในตำรา ที่ท่องไว้สอบเอาคะแนน..

       ผมเป็นครูบ้านนอก..จึงรู้สึกขำๆ ว่าผู้ใหญ่..เขามองการศึกษาอย่างไร.?.จะแข่งขันกับอาเซียนไปทำไม? ในเมื่อ..วัฒนธรรมไทย..เป็นของเรา..ปัญหาของชาติบ้านเมืองเรา..มันสาหัสมากกว่า..ที่จะแก้ด้วยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

        ผมอยากเห็น แต่ตอนนี้ยังมองไม่เห็น..สักวันหนึ่ง..จะมีอัศวินขี่ม้าขาว..เข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติ โดยใช้หลักสูตรการศึกษาอย่างแท้จริง เพียงแค่ใช้ “ศาสตร์พระราชา” เป็นรายวิชาใหม่ แยกสาระให้ชัดเจน มีตัวชี้วัด..ภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม..เท่านี้ก็จบแล้ว

       เริ่มสอนกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล.เพื่อเตรียมความพร้อม จากนั้นชั้น ป.๑ – ๖ ระบุไว้ให้เรียนแค่ไหน..ให้น้ำหนักเนื้อหาและกิจกรรม เป็นขั้นบันได ไต่ระดับไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นลึกซึ้งและตระหนัก ในระดับมัธยมศึกษา

       นักการศึกษาก็มักจะอ้างว่า..ได้บูรณาการสอดแทรกศาสตร์พระราชาไว้ในรายวิชาต่างๆแล้ว แต่เท่าที่ผมศึกษา..ยังเป็นนามธรรมมาก..เพราะเงื่อนไขความรู้และเวลา ทำให้ครูเข้าไม่ถึง

       ศาสตร์พระราชา..ต้องเป็นรายวิชาในหลักสูตร แยกสาระ(หน่วย)ให้ชัดเจน กำหนดตัวชี้วัดได้ จึงจะเป็นโครงสร้าง ที่ครูจะศึกษาและเข้าใจได้ตลอดแนว ไม่ใช่พูดกันแค่สวยหรู หรือใช้แค่เพียงบูรณาการเท่านั้น..

       ก่อนหน้านี้..เราพูดกันมิใช่หรือว่า..จะสานต่องานที่พ่อทำ คำถามคือ..เราสานต่อหรือยัง? และสานต่อด้วยงานอะไร..ใครทำ..?และใช้นวัตกรรมใดเข้าไปเกื้อหนุน..

        ผมจึงมองว่าหลักสูตรการศึกษาของชาตินี่แหละ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความสำคัญยิ่ง..ที่จะทำให้เด็กไทยเข้าใจ และเข้าถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙

       เราเป็นชาติที่มั่นคง มีแผ่นดินที่สงบสุข..ก็เพราะมีพ่อหลวง ทำไมเราถึงไม่ศึกษาโครงการพระราชดำริของท่านให้ถ่องแท้ สืบสานพระราชปณิธานของพ่อ..เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

       แต่ละโครงการฯของพ่อ ล้วนมีศาสตร์ให้ศึกษาได้ในทุกแขนง ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ ให้ทั้งคุณธรรม นำไปปรับใช้ได้

       บ้านเมืองเรามีคนเก่งเยอะ ก็ลองวิเคราะห์ดูก็ได้ ว่าศาสตร์พระราชา กับโครงสร้างหลักสูตร จะพบว่ามีแนวทางที่เป็นไปได้สูงมาก...

       เขาบอกว่า..ถ้าจะคิดวิจารณ์ และมองแค่ปัญหา ก็คงไม่พอ..ต้องบอกวิธีการด้วยว่า..จะปฎิรูปการศึกษาอย่างไร?ให้ได้ผล ผมก็เลยบอกว่า..ใช้ศาสตร์พระราชา..กำหนดไว้ในรายวิชาของหลักสูตร..รับรองประเทศไทยไปรอดแน่..ได้มากกว่า ๔.๐ เสียอีก

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๘  มกราคม  ๒๕๖๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 644242เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2018 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2018 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รายวิชานี้ต้องกำหนดในหลักสูตรตั้งแต่ประถมถึง ป.ตรี  ...  และกระจายไปทั่วโลก

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท