ต้นทางของนิทรรศการ “ตามรอยบาทบรมนาถบพิตร” (๑)


ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับชั้น ก่อให้เกิดชิ้นงานสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลาย แต่ทว่าทุกชิ้นล้วนกลั่นออกมาจากใจที่เชื่อมั่นในคุณงามความดีในการดำเนินชีวิตตามรอยบาทบรมนาถบพิตรพระองค์นั้น ​


 

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ เป็นวันเปิดภาคเรียนจิตตะ ซึ่งถัดไปอีก ๒วัน ก็จะถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ  คุณครูภูมิปัญญาภาษาไทยช่วงชั้น ๒ จึงได้รวมกลุ่มกันสร้างร่วมกันบทเรียนจากเหตุการณ์สำคัญนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และจารึกเรื่องราวความคิด อารมณ์ และความรู้สึกที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  ให้ตราตรึงไว้ในความทรงจำของนักเรียนตลอดไป

 


ตอนตั้งต้นคิดแผนการจัดการเรียนรู้ คุณครูได้ชวนกันคิดว่า นักเรียนควรรู้จักเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ บ้างในที่สุดก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า เราควรเริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับพระนามของพระองค์ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ความหมายและพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขของพวกเราชาวไทย โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันพระราชสมภพ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานต์เออเบิร์น (Mount Auburn) ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลเคมบริดจ์ (Cambridge Hospital) ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา ๐๘.๔๕ น. ของวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ตรงกับปีเถาะ


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเล่าถึง การตั้งพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในหนังสือ "เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์" ว่า "หลังจากที่พระโอรสประสูติได้ไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ทูลหม่อมฯ  ทรงรีบส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า "ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย"


สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า "ภูมิพลอดุลเดช" (โปรดสังเกตว่า สะกดแบบไม่มี "ย")


หลังจากนั้นสมเด็จพระพันวัสสาฯ จึงมีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ถึงหม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ อดีตอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งทรงย้ายกลับมากรุงเทพฯ แล้ว เพื่อทรงแจ้งเรื่องพระนามที่พระราชทาน โดยทรงแนบลายพระราชหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ไปให้ด้วย และทรงขอให้ส่งโทรเลขตอบกลับไป


"โทรเลขภาษาอังกฤษที่หม่อมเจ้าดำรัศฯ ทรงส่งไปคือ "Your son's name is Bhumibala Aduladeja" แม่บอกว่า เมื่อได้รับโทรเลขฉบับนี้แล้ว ไม่ทราบว่า ลูกชื่ออะไรกันแน่ในภาษาไทย คิดว่าชื่อ "ภูมิบาล"


ด้วยเหตุนี้เองจึงทรงสะกดพระนามของพระโอรสในสูติบัตรว่า Bhumibal Aduldej Songkla หรืออ่านเป็นภาษาไทยตามที่ทรงเข้าใจในขณะนั้นได้ว่า "ภูมิบาลอดุลเดช สงขลา" ส่วนพระอิสริยยศเมื่อเสด็จพระราชสมภพ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า


สำหรับคำว่า "อดุลเดช" นั้นเป็นการสะกดเหมือนกับพระนามของพระบิดาซึ่งสะกดแบบไม่มี "ย" มาแต่ต้น คือ มหิดลอดุลเดชฯ แต่ต่อมามีการเขียนแบบ "อดุลยเดช" ด้วย ในที่สุดจึงนิยมใช้แบบ "อดุลยเดช" ทั้งสองพระองค์


นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่า พระนามของสมเด็จพระเชษฐภคินี สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการตั้งให้มีความคล้องจองกัน คือ กัลยาณิวัฒนา อานันทมหิดล ภูมิพลอดุลเดช จะต่างกันตรงที่ ผู้พระราชทานพระนามสมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ถึงความหมายของพระนาม "ภูมิพล" ไว้ว่า "อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากเธออยู่กับดิน"


ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนนีเคยรับสั่งว่า "เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานให้ทำงานแก่ประชาชน"  (นิตยสาร "สารคดี" ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๒๗๔ เดือนธันวาคม ๒๕๕๐  หน้า ๘๐)

 

จากนั้นครูให้นักเรียนได้ชมภาพและวีดิทัศน์ขณะที่พระองค์และในหลวงรัชกาลที่ ๘ เล่นกับพระสหาย  การเล่นกับธรรมชาติ  จึงชวนนักเรียนสังเกตและคิดว่า พระองค์เล่นอย่างไร คิดอย่างไร และการเล่นอย่างนั้นส่งผลอย่างไรต่อพระองค์เมื่อทรงเจริญวัยบ้าง 


เมื่อนักเรียนได้รับชมสื่อชุดนี้นักเรียนสังเกตเห็นว่า “พระองค์เล่นอยู่กับธรรมชาติ เล่นกับดิน และคิดทดลองแบบเด็ก รวมทั้งพระองค์อยู่อย่างพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย แม้จะใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศซึ่งมีความสะดวกสบายมากมาย แต่พระองค์ก็ใช้ชีวิตอย่างสามัญชนธรรมดาได้”  


จากนั้นครูให้นักเรียนคาดเดาว่า คนที่เกิดและเติบโตในต่างประเทศตั้งแต่ยังเล็กจะเขียนภาษาไทยได้แค่ไหน นักเรียนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า  “ต้องใช้ภาษาไทยได้ไม่ดีและออกเสียงไม่ชัดเจน เขียนสะกดไม่ถูกต้อง และเรียบเรียงได้ไม่ดีแน่ๆ”  


ครูชวนนักเรียนอ่านบทพระราชนิพนธ์ชิ้นแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมอบให้ไว้แก่วงวรรณกรรมเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม ... มาสู่สวิทเซอร์แลนด์” พร้อมชวนสังเกตการใช้ภาษาไทยของพระองค์  เมื่อนักเรียนอ่านเสร็จจึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน นักเรียนค้นพบว่า “บทความที่ในหลวงพระราชนิพนธ์สามารถทำให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามและจินตนาการภาพตามไปได้ อ่านแล้วเพลินไม่รู้สึกเบื่อ มีการเรียบเรียงภาษาได้ดี และเล่าเรื่องราวเป็นลำดับชัดเจน”

 

กิจกรรมต่อไปครูได้ให้นักเรียนอ่านพระราชดำรัสที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ในวันภาษาไทยแห่งชาติว่า


“...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ไม่ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรมาตั้งคำศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

           

ครูชวนนักเรียนสังเกตว่า พระราชดำรัสที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานไว้นั้นสะท้อนให้นักเรียนเห็นอะไรได้บ้าง นักเรียนตอบว่า “พระองค์เห็นความสำคัญของภาษาไทย แม้ว่าพระองค์จะเกิดและเติบโตในต่างประเทศแต่พระองค์ก็ไม่เคยลืมความเป็นคนไทย มีสำนึกในความเป็นไทยและคุณของแผ่นดินไทยอย่างชัดเจน พระองค์จึงทรงเป็นต้นแบบในทุกๆ ด้านอย่างแท้จริง”

           

เมื่อนักเรียนเกิดความเข้าใจและเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักและสำนึกในความเป็นคนไทย โดยเริ่มต้นจากการเห็นความสำคัญของ “ภาษาไทย” แล้ว ครูในแต่ละระดับชั้นจึงสร้างสรรค์โจทย์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปตามศักยภาพและสมรรถนะของผู้เรียนอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามหลักสูตรการเรียนการสอนดังต่อไปนี้

           

ระดับชั้น ๔  เรียนเรื่องการเขียน

ครูชวนนักเรียนสังเกตการใช้ลีลาภาษาเขียนในงานเขียนชิ้นที่แล้วที่มีชื่อว่า “เรื่องของดอกดาวเรืองอันรองเรือง” ของเพื่อนร่วมชั้นที่มีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันไป ในรูปแบบลีลาที่แตกต่างกัน เช่น ร้อยแก้ว ร้อยกรอง รูปภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานชิ้นใหม่ที่มีพัฒนาการและมีความแตกต่างไปจากงานชิ้นงานเดิม

 

ระดับชั้น ๕  เรียนเรื่องคำซ้อน

ครูให้นักเรียนได้อ่านบทพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙   อ่านประพันธ์ที่กวีถ่ายถอดถึงพระองค์  แล้วดึงคลังคำซ้อนจากบทประพันธ์ออกมา จากนั้นจึงนำถ้อยคำที่ทุกคนแบ่งปันกันมาแต่งเป็นบทร้อยกรองในหัวข้อ “สัมผัสรสบทกวี ... บทประพันธ์นี้ถึงพ่อหลวง”


ระดับชั้น ๖  เรียนเรื่องการเขียนสื่อความหมาย

ครูให้นักเรียนได้เห็นรูปแบบการสื่อสารต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน เช่น บทความร้อยแก้ว บทกวี เพลง คลิปเสียง ฯลฯ  ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสะท้อนเหตุการณ์ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙  ผลงานทุกชิ้นล้วนถ่ายทอดความรู้สึก ความประทับใจ และเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นคุณงามความดีของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างชัดเจน    


จากนั้นจึงชวนกันค้นหาลักษณะเด่นของการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ว่าทำไมผู้สื่อสารจึงเลือกสรรวิธีการนี้ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและความประทับใจของตนเอง พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าสื่อแต่ละประเภทนั้นมีวิธีการและลักษณะที่แตกต่างไปอย่างไร  เมื่อได้เข้าใจการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ แล้ว จึงให้นักเรียนเลือกสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบที่ตนเองสนใจ โดยมีเงื่อนไขว่า รูปแบบนั้นต้องสามารถถ่ายทอด ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และความประทับใจที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ชัดเจนและดีที่สุด เพื่อจารึกความทรงจำนี้เอาไว้ในใจเราของตลอดไป

 

            ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับชั้น  ก่อให้เกิดชิ้นงานสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลาย  แต่ทว่าทุกชิ้นล้วนกลั่นออกมาจากใจที่เชื่อมั่นในคุณงามความดีในการดำเนินชีวิตตามรอยบาทบรมนาถบพิตรพระองค์นั้น 



วันที่ ๔ ธันวาคม ๖๐

คุณครูรวบรวมผลงานการเรียนรู้ของนักเรียนมาจัดแสดงนิทรรศการ "ตามรอยบาทบรมนาถบพิตร" เพื่อน้อมนำเอาพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เข้ามาไว้ในชีวิต

หมายเลขบันทึก: 643039เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2017 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2017 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท