การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ครั้งที่ ๔ : 1. คำกล่าวรายงาน



 

คำกล่าวรายงานพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ “การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ครั้งที่ ๔”

วันจันทร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พศ. ๒๕๖๐ โดย ศ.รอ.หญิง.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว

 

กราบเรียน ฯพณฯ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ท่านผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษาผู้มีเกียรติทุกท่าน  Distinguished guests, Lady and Gentleman

ดิฉัน ศาสตราจารย์เรืออากาศเอกหญิงแพทย์หญิง วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขานุการ คณะอนุกรรมการการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ “การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพครั้งที่ ๔” ขอต้อนรับ ผู้มีเกียรติทุกท่านเข้าสู่การประชุมในวันนี้

       

สืบเนื่องจากฉันทมติสมัชชาสุขภาพในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย” พ.ศ. ๒๕๕๗ รับรองร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ในศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๕๗ - พ.ศ. ๒๕๖๑) และ ในปีเดียวกันคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯดังกล่าวซึ่งมี ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นประธานและให้มีการจัดประชุมวิชาการ ระดับชาติขึ้นเป็นประจำทุกปีซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ

 

การประชุมวิชาการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของเครือข่ายบุคลากรด้านสุขภาพทั้ง ๙ สาขาวิชาชีพ ได้แก่ วิชาชีพพยาบาล สาธารณสุข เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทย เภสัชกร ทันตแพทย์ และแพทย์ ตลอดจนองค์กรผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิต จากทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ การจัดการองค์ความรู้และขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อมุ่งขจัดปัญหากระบวนการเรียนรู้แบบแยกส่วนนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ศึกษาวิจัยแบบสหสาขาวิชาชีพ

 

สืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติทั้ง ๓ ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ได้ข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายด้านการปฏิรูปสถาบันและปฏิรูปการเรียนรู้ในการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ ตลอดจนด้านการทำงานเป็นทีมให้สามารถพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน (Institutional, Instructional Reform และ Interprofessional Education)  ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์โลกว่าด้วย การพัฒนากำลังคน ค.ศ. ๒๐๓๐ และ แผนปฏิบัติการ ๕ ปี ของคณะกรรมาธิการระดับสูงจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเน้นประเด็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากําลังคนด้านสุขภาพ และยกฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 การประชุมวิชาการในครั้งนี้จัดขึ้น ๓ วัน  มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดการประชุม และ ศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ และทีมงานวิชาการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอข้อแนะนำเชิงนโยบาย โดยจัดการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกำลังคนแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อหลัก คือ  “เทคโนโลยีสารสนเทศ เสริมพลัง สร้างวิชาชีพสุขภาพ (ICT to empower health professional education)” การประชุมวิชาการวันนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๕๓๐ คน จากทั้งในและต่างประเทศจำนวน ๑๐  ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับสากล

โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจาก

Dr. Poonam Khetrapal Singh

ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แสดงปาฐกถาทางวิดิทัศน์ เรื่อง “Transformative Health Workforce and Technology in SEAR”

นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

แสดงปาฐกถา เรื่อง “Digital is different”

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แสดงปาฐกถา เรื่อง  “ICT for Education and Professional Development in Thailand: How far we go”

และ ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงปาฐกถาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เรื่อง “Education 4.0 in Thailand: How to reach”

ตลอดจนผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ คณะแพทยศาสตร์ Li Ka Shing มหาวิทยาลัยฮ่องกง องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และมหาวิทยาลัยกุนมา ประเทศญี่ปุ่น

 

การประชุมนี้นับว่าเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวและการวางแผนกำลังคนแห่งชาติตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา ตลอดจนร่วมแสดงข้อคิดเห็นเเนวทางการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศสู่การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ นอกจากนี้ยังมี การนำเสนอนวัตกรรมการเรียนการสอน หรือ “District Health System Academy” ภายใต้ความร่วมมือของบุคลากรในสถาบันการศึกษาในมิติผู้ผลิตบัณฑิตกับสถาบันในระบบบริการสาธารณสุขชุมชนในมิติผู้ใช้บัณฑิตและเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) ในมิติผู้นำระบบสุขภาพอำเภอในเขตบริการสุขภาพทั้ง ๑๒ เขต และเขตกรุงเทพมหานคร โดยริเริ่มจากผู้นำระบบสุขภาพอำเภอในเขตบริการสุขภาพที่ ๑๒ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ขยายไปยังเขตบริการสุขภาพที่ ๑ กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เขตบริการสุขภาพที่ ๒ กับมหาวิทยาลัยนเรศวร เขตบริการสุขภาพที่ ๔ และ ๕ กับมหาวิทยาลัยมหิดล เขตบริการสุขภาพที่ ๖ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตบริการสุขภาพที่ ๗ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขตบริการสุขภาพที่ ๙ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี   และเขตบริการสุขภาพที่ ๑๐  กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  และคาดว่าจะดำเนินการครบทั้ง ๑๒ เขตในเร็ววัน     เพื่อส่งเสริม ให้เกิดความร่วมมือและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรสุขภาพแบบสหสาขาวิชาชีพเชื่อมโยงกับ "กลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ" (Primary care cluster) เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างบูรณาการ ลดค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพในระยะยาว  ด้วยการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงานในชุมชน การเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของในการจัดการศึกษาอันจะนำไปสู่การเข้าถึงบริการของทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

 

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การเภสัชกรรม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือ JICA และ มูลนิธิไชน่าเมดิคัลบอร์ด มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการ วิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการประชุมในครั้งนี้

 

        ในวันนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ฯพณฯ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี   ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของประเทศและเป็นประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมาเป็นประธานพิธีเปิดและองค์ปาฐกพิเศษในวันนี้ 

 

ขอกราบเรียนเชิญท่านรองนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานและแสดงปาฐกพิเศษค่ะ

 

ผมนำคำกล่าวรายงานนี้มาเป็นบันทึกแรก ในชุด  การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ครั้งที่ ๔   เพื่อให้ท่านที่สนใจได้เห็น ภาพรวม ของการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ   ซึ่งมีการจัดการโดยกลไก “ภาคส่วนที่สาม” (The Third Sector)   หรือภาคประชาสังคม   ที่เราตั้ง มูลนิธิมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ขึ้นมาทำหน้าที่ประสานงานความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ     ที่มาร่วมกัน ทำงานให้แก่บ้านเมืองในลักษณะอาสาสมัคร  ไม่มีค่าตอบแทน    ซึ่งน่าจะถือเป็น กิจกรรม “ประชารัฐ” ได้อย่างหนึ่ง    

รายละเอียดของการประชุมดูได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิ http://www.healthprofessionals...

วิจารณ์ พานิช

๖ พ.ย. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 643014เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2017 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2017 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท