ชีวิตที่พอเพียง 3061. ศิลปะของการเปลี่ยนสมอง



ศาสตราจารย์ James E. Zull ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน แห่งมหาวิทยาลัย Case Western Reserve เขียนหนังสือชื่อ The Art of Changing the Brain : Enriching the Practice of Teaching by Exploring the Biology of Learning ไว้ตั้งแต่ปี 2002  

ผมค้น ไฟล์ที่ผู้เขียนสรุปเรื่องนี้ไว้ที่ ()    จึงนำมาบอกต่อ

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ปี 2002   ซึ่งหมายความว่าต้นฉบับใช้ความรู้ที่มีอยู่จนถึงราวๆ ปี 2000     ในตอนนั้นก็รู้กันแล้วทั้งจากโดยการทดลองในสัตว์ และโดยการทดลองในคน    ว่าการเรียนรุ้เป็นการสร้าง การเปลี่ยนแปลงในสมอง   

เขาบอกว่า การเปลี่ยนสมองต้องการปัจจัยสำคัญ ๒ อย่างคือการฝึก (practice)  กับอารมณ์ (emotion)     สมองส่วนการเรียนรู้ กับส่วนอารมณ์สัมพันธ์กัน    อารมณ์ระรื่น (pleasure)  และอารมณ์พอใจ (satisfaction) ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้    และผมขอเพิ่มเติมประสบการณ์ส่วนตัวว่า อารมณ์มุ่งมั่น มุมานะ เพื่อเป้าหมายที่กำหนด ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้    และเมื่อบรรลุ “เป้าหมายรายทาง” ก็จะได้อารมณ์สมหมาย     เป็นกำลังใจให้มุ่งมั่นต่อ

อารมณ์ที่สำคัญคือ แรงจูงใจ (motivation)  หรือสูงขึ้นไปอีกก็คือ แรงบันดาลใจ (inspiration)    จึงมีคำแนะนำง่ายๆ ว่า การศึกษาที่ดีต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความสุข    และมีข้อแนะนำเชิงปฏิบัติ ๒ ข้อ   (๑) บทเรียนต้องนำผู้เรียนสู่ความรู้สึกว่าตนมีความก้าวหน้า หรือความสำเร็จ  (๒) นักเรียนต้องได้เรียนในประเด็นที่ ตนชอบและ/หรือสนใจ    

อย่าอธิบาย (don’t explain)    เมื่อครูอธิบายครูอธิบายด้วยสมองของผู้เชี่ยวชาญ (expert brain)    นักเรียนรับด้วยสมองของเณรน้อย (novice brain)    สื่อกันยากมาก    จึงควรเลิกอธิบาย หันไปใช้การสาธิต  การทำโจทย์  การทำงานในสถานการณ์จริงหรือเสมือนจริง ฯลฯ แทน    แล้วไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) ร่วมกัน

เรียนจากความผิดพลาด (build on errors)   ที่จริงต้องเรียนทั้งความสำเร็จและความผิดพลาด    เอาสมมติฐาน และขั้นตอนการดำเนินการ และผลที่เกิดขึ้นแต่ละขั้นตอนมาตีความ ทำความเข้าใจร่วมกัน    แต่ความผิดพลาดมักกระตุกอารมณ์รุนแรงกว่า     การเรียนจากความผิดพลาดจึงมักจารึกเข้าสมองได้ดีกว่า

ใช้สมองเต็มกระโหลก (engage the whole brain)    วิธีการเสนอโดย David Kolb (1984)  โดยการดำเนินการตามวงจร ๔ ขั้นตอน คือ (๑) ประสบการณ์ตรง direct experience)  (๒) ไตร่ตรองสะท้อนคิด  (reflection) (๓) สังเคราะห์เป็นความเข้าใจเชิงนามธรรม (abstraction)   (๔) นำไปทดสอบในสถานการณ์จริง (active testing)    แต่ละขั้นตอนสมองต่างส่วนทำหน้าที่หลัก

สรุปว่า เปลี่ยนสมองด้วยวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด

วิจารณ์ พานิช       

๑๑ พ.ย. ๖๐


 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 643009เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2017 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2017 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท