สถูปทรงหม้อน้ำ


“สถูปทรงหม้อน้ำ” พุทธศิลป์ของเจติยะสถาน

….

.

“สถูปทรงหม้อน้ำ” (Pot-Shaped Stupa) เป็นอีกพัฒนาการหนึ่งของรูปแบบการสร้าง “เจติยะสถาน” (สถานแห่งการระลึกถึงคุณความดี) หรือ “อุเทสิกเจดีย์” (แทนพระพุทธองค์) แตกต่างไปจากการสร้างสถูปเจดีย์ในแบบเดิม ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมของการสร้างเป็นรูปเนินดินโค้งหรือครึ่งวงกลมคว่ำ ในความหมายของ “ครรภะ – พิช” (พระธาตุ) หรือที่เรียกว่า “อัญฑะ” (Anda) (ภาพ ๑)

.

รูปแบบของการสร้างสถูปเริ่มเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๖ – ๗ เมื่อสถาปนิก นายช่างแห่งนครมถุราและแคว้นคันธาระ ได้เริ่มพัฒนารูปแบบของเนินดินอัญฑะ ให้กลายมาเป็นภาชนะทรงหม้อน้ำ หรือ “หม้อกลศกฤต” (ที่บรรจุลูกพิชหรือพระบรมสารีริกธาตุ) แทนเนินดินฝังศพ (Burial Mound) ทรงโค้ง ในยุคแรก ๆ อย่าง สถูปสาญจี เมืองโบปาล 

...

การสร้างสถูปทรงหม้อน้ำของสถูปในอินเดีย มีความหมายตามคตินิยมเชิงสัญลักษณ์ ส่วนโดมถือเป็นศูนย์กลางของสถูปที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล คือเป็น “ครรภธาตุ” หรือภาชนะบรรจุพระธาตุ รูปทรงของโดมที่คล้ายหม้อจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่เสริมความหมายของภาชนะบรรจุพระธาตุ และรูปทรงหม้อนี้เกี่ยวข้องกับหม้อน้ำ “กลศกฤต” หรือ “ปูรณฆฏ” สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเสริมความหมายของโดมให้เป็นศูนย์กลางจักรวาลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังที่พุทธคัมภีร์ภาษาสันสกฤตโบราณ “กริยาสังคหะ” ว่าด้วยการสร้างสถูป

..

สถูปรูปหม้อน้ำในยุคแรก ๆ ของศิลปะอินเดีย พัฒนาขึ้นมาจากภาชนะกลม ตามแบบภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น หม้อทรงกลม ตลับหรือผอบ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในสถูป ในยุคกุษาณะ พุทธศตวรรษที่ ๗ – ๘ (ภาพ ๒) หรือรูปสลักและสถูปในถ้ำอชันตา กันเหรี (ภาพ ๓) ถ้ำเกาตามิปุตร ที่วางรูปโค้งของส่วนเรือนธาตุอัญฑะ ให้เป็นรูปหม้อน้ำกลม ด้านบนประดับเครื่องสูงเป็นฉัตรวลี

.... 

รูปแบบของความนิยมสถูปทรงหม้อน้ำ สืบทอดต่อมาในยุคศิลปะคุปตะ – วากาฏกะ อมราวดี ปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๓ ) เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังภาพสถูปสลักบนแผ่น มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่ศรีเกษตร พุกาม (ภาพ ๔) สถูปหม้อน้ำทรงกลม บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครปฐม นำเข้ามาจากอินเดีย ในยุควัฒนธรรมทวารวดี (ภาพ ๕) สถูปจำลองที่เมืองโบราณยะรัง ชวาและคาบสมุทรมลายู

.

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ รูปแบบของสถูปหม้อน้ำ ถูกดัดแปลงพัฒนาเป็นรูปทรงกรวยแหลม (คล้ายพุ่มบายศรี) ประกอบเข้ากับส่วนแกนกลางของใบเสมา ที่นิยมในเขตภาคอีสาน (ตามภาพ ๖ – ๗ ) ส่วนในภาคกลาง ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ สถูปหม้อน้ำ ถูกดัดแปลงลดขนาดเป็นแบบลดหลั่น ปรับรูปแบบภาชนะทรงต่าง ๆ ( ทรงกลม มีสันที่ขอบ ทรงกรวยแจกัน ฯ) มาต่อยอดแบบต่อเนื่องกัน นำมาใช้เป็นส่วนยอดด้านบนสุดของเรือนธาตุพระสถูปแบบเนินดินที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของชั้นฐานจากเนินโค้งมาเป็นองค์ระฆังกลม เช่นสถูปหม้อน้ำแบบต่อชั้น เมืองโบราณอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง (ภาพ ๘)

.

ภาชนะมงคลรูปหม้อ มีฝา ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (พีช) ในยุคเก่าแก่ ได้พัฒนามาเป็นหม้อมงคล ในนามของ “ปูรณฆฏะ” (กลศกฤต) ที่แสดงพวยดอกไม้ พรรณพฤกษา ที่กำลังเติบโตจากภายในขึ้นมาจากปากหม้อ หมายถึงความเจริญงอกงามและความอุดมสมบูรณ์ เป็นคติที่เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ อย่างเช่นหม้อปูรณฆฏะ – มนุษย์นาค ที่โปโลนนาลุวะ ในลังกา (ภาพ ๙ ) และส่งทอดมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อย่างที่พบที่ล้านนา (ภาพ ๑๐) และที่วัดเจดีย์สี่ห้อง สุโขทัย (ภาพที่ ๑๑) 

.

เจดีย์ทรงหม้อน้ำในยุคปัลลวะ/ทวารวดี จัดแสดงกลางแจ้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (ภาพที่ ๑๒) เชื่อกันว่าเคยเป็นยอดของสถูปพระปฐมเจดีย์ในยุคทวารวดี พัฒนารูปแบบจนหม้อน้ำเล็กลง ส่วนฉัตรที่ปักเหนือหม้อขยายชั้นใหญ่ ชะลูดสูงขึ้นกลายมาเป็นปล้องไฉน – วงแหวนซ้อน  

.

หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖  รูปแบบพุทธศิลป์ของสถูปทรงหม้อน้ำ เริ่มหมดความนิยม แต่ก็ยังมีการนำมาใช้เป็นยอดสูงสุดของเจติยะตามคติผสม (มหายาน – วัชรยาน – เถรวาท) ในศิลปะแบบขอมลุ่มเจ้าพระยา (เจดีย์ทรงยอดหม้อทรงดอกบัวคูมที่สุโขทัย ละโว้ สุวรรณปุระ)  ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (รูปที่ ๑๓) หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏสถูปเจดีย์ที่มีรูปทรงหม้อน้ำอีกเลย

.

สถูปเจดีย์ในยุคหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หันมานิยมรูปแบบของเนินดินโค้งที่พัฒนามาเป็น “องค์ระฆัง” ที่มีฐานบัลลังก์ด้านบนตามแบบลังกา ทั้งหมดครับ 

.

.

.

วรณัย พงศาชลากร  

EJeab Academy 

เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

คำสำคัญ (Tags): #สถูปทรงหม้อน้ำ
หมายเลขบันทึก: 641879เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2017 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2017 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท