งาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๒ : ห้องเรียนดีๆ มีขึ้นได้อย่างไร (๑)


ครูต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เราต้องเข้าใจเด็กก่อนว่าเด็กเพิ่งเป็นอนุบาลมา เข้าถึงคือทำให้เด็กไว้วางใจเราและรักเรา การพัฒนา ภาษาไทยคือทักษะ ไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องเท่ากันหมด แต่เราจะต้องมีการเปิดโจทย์ที่หลากหลายมากขึ้นตามความสามารถของเด็ก แต่เราจะมีธงอยู่แล้วว่าต้องการให้เด็กได้อะไร ปีนี้มีการเปิดโจทย์ตามศักยภาพของเด็กเยอะมาก

หลังจากที่คุณครูเล็ก - ณัฐทิพย์ นำเสนอเส้นทางการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนเพลินพัฒนา ตลอดช่วงระยะเวลา ๑๔ ปีที่ผ่านมา และฉายคลิปนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในปีการศึกษา ๒๕๖๐ จบลงแล้วก็มาถึงช่วงของการสัมภาษณ์บุคคลต้นเรื่องทั้ง ๕ คน ซึ่งเป็นคุณครูน้องใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการทำห้องเรียนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  และเป็นครูที่สามารถที่จะพัฒนาวิธีการเรียนรู้และพัฒนาความรู้ของตนเองได้  ด้วยการพัฒนาตนไปในกระบวนทัศน์ของ PLC ที่มีทั้ง KM + Lesson Study + OLE เป็นแรงขับเคลื่อน  ขึ้นมาเป็นแขกรับเชิญของเวที  "ห้องเรียนดีๆ มีขึ้นได้อย่างไร"


  


บุคคลในภาพ จากซ้าย คุณครูเล็ก - ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์ หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒ คุณครูเต่า -  สุจิตรา เลิศพิพัฒน์วรกุล  ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและเอกชน  คุณครูขวัญ - ชลธิชา เจริญรักษ์  วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาประมง  คุณครูนก - รุ่งนภา  ไทยเจริญ วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาสัตวศาสตร์  คุณครูนิ้ง - นันท์ณิชา พัดเกร็ด  อักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาภาษาไทย  คุณครูนุ่น  - จริญญา จันทะดวง  ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาภาษาไทย คุณครูหนึ่ง - ศรัณธร แก้วคูณ หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๑

คุณครูหนึ่ง   ในฐานะที่ครูนิ้งและครูนุ่นเป็นครูใหม่  ที่ไม่เคยสอนมาก่อนเลย  และจะต้องลงสอน  ทั้งสองคนมีวิธีในการเตรียมตัวเองอย่างไรในการลงห้องเรียน  ตอนที่มาสัมภาษณ์จำได้ว่าครูนุ่นใส่เสื้อขาวและกระโปรงคล้ายๆ ชุดนักศึกษา

คุณครูนุ่น   เมื่อก่อนก็ไม่คิดว่าจะเป็นครูเลย  ตอนเรียนเลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ  หลายคนถามว่าเมื่อเราจบไปแล้วจะทำอะไรที่เลือกเรียนเอกไทย  วันนึงที่อยู่ปีสี่ มีงานjob fairเห็นบูธโรงเรียนเพลินพัฒนา มีโอกาสสัมภาษณ์และสอบสอน ในวันที่มาสอบสอนเราค้นพบตัวเองว่าจริงๆแล้วการเป็นครูก็สนุกดี การที่ได้มาสอนทำให้รู้ว่าเราชอบ และเราอยากจะลองดูกับอาชีพนี้ 

การเตรียมตัวในการมาสอนจริง โรงเรียนให้เข้าสังเกตการสอนของรุ่นพี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากกว่าการเรียนครูมาสี่ถึงห้าปีด้วยซ้ำ นุ่นมีโอกาสได้สังเกตการสอน ๒ เทอมก่อนที่จะลงสอนจริง  คิดว่าการสังเกตเป็นการเรียนรู้ที่ได้เห็นผลและนำมาใช้จริงได้เวลาที่เราต้องลงสอนเอง

การเห็นแผน การเปิดตัวเอง และเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด  เท่าที่ได้ลงสอน ปีนี้ด้านการเรียนรู้ไปได้ช้ากว่าปีที่แล้ว  มาคุยกับพี่นิ่งพี่นิ้งก็แนะนำว่าจะต้องปรับแผนเยอะ เมื่อเราลองปรับใช้ คุยกับครูหลายท่าน รู้สึกว่าเด็กเราเรียนรู้ได้ ไม่เครียด มีความสุขไม่กดดัน

คุณครูเล็ก เมื่อเห็นเด็กช้า ครูไม่ได้โทษที่เด็ก แต่กลับมาดูที่แผน  แล้วก็ค้นหาวิธีการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ 

คุณครูนิ้ง  เป็นโชคดีที่มีพี่ใหม่  ก่อนสอนเราจะคุยแผนกับพี่ใหม่ก่อน  และพอมีพื้นฐานความเข้าใจเด็กอยู่บ้างว่าเด็กเป็นอย่างไร  ในแผนการสอนที่เราก็เห็นว่าแผนดีและไปกันได้ดีกับเด็กรุ่นที่แล้ว แต่อาจจะไม่ดีกับเด็กรุ่นนี้  ในระหว่างที่น้องนุ่นสอน นิ้งก็จะเข้าไปสังเกต เราจะส่งสัญญาณกับน้องเลยว่าเราต้องเปลี่ยนแผน  สิ่งที่ดีของน้องคือ น้องสังเกตอย่างละเอียดและนำมาปรับใช้  น้องเป็นคนเปิดใจเรียนรู้ 


คุณครูเล็ก  น้องนุ่นมีความละเอียดมากในการสังเกตเด็กที่ดี อยากถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้น้องสังเกตเด็ก

คุณครูนุ่น  มันเป็นอัตโนมัติ  ทำไปเอง  จะพยายามมองตอนเด็กทำงานจริง และพยายามเข้าไปคุย ฟัง  และนอกห้องเรียนก็จะพยายามทำความเข้าใจกับเด็กนอกห้องเรียนให้มากขึ้น  พอเด็กไว้วางใจเรา เด็กก็จะกล้าถาม เด็กให้ใจเรา และให้ความร่วมมือกับเรา

คุณครูเล็ก เวลาสังเกตในตารางจะมีแค่ห้องเรียน แต่เท่าที่รู้น้องทั้งสองคนสลับกันเข้าสังเกตการสอนกันตลอดทุกคาบ ทั้งๆ ที่ในตารางระบุไว้ให้สังเกตเพียงห้องเดียว

คุณครูนุ่น  เนื่องจากเราใหม่มาก จึงคิดว่าต้องทำความเข้าใจแผนให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถถ่ายทอดได้ดี ทำให้อยากเห็นการนำแผนลงไปใช้จริงในห้อง อื่นๆ ก่อนที่เราจะต้องสอนเอง  ทำให้ได้เห็นว่าพี่นิ้งนิ่งมาก ใจเย็นมาก  ทำเราได้ปรับอารมณ์เราเองว่าควรจะรอคอยเด็กๆ แค่ไหน

คุณครูนิ้ง  ครูต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา  เราต้องเข้าใจเด็กก่อนว่าเด็กเพิ่งเป็นอนุบาลมา  เข้าถึงคือทำให้เด็กไว้วางใจเราและรักเรา  การพัฒนา   ภาษาไทยคือทักษะ ไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องเท่ากันหมด  แต่เราจะต้องมีการเปิดโจทย์ที่หลากหลายมากขึ้นตามความสามารถของเด็ก แต่เราจะมีธงอยู่แล้วว่าต้องการให้เด็กได้อะไร  ปีนี้มีการเปิดโจทย์ตามศักยภาพของเด็กเยอะมาก

ครูเล็ก   ทำให้รู้สึกว่าอยากอ่านแผนของเด็กชั้น ๑ มาก

คุณครูหนึ่ง  การได้คุยแผนกับพี่ใหม่  พี่ใหม่จะให้ตัวอย่างที่น้องสามารถไปซอยละเอียดต่อได้  หรือบางครั้งให้ละเอียดไปเลย เมื่อคุยแผนแล้ว  ทั้งสองคนต้องไปตีความว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้างอย่างละเอียด  หลังจากนั้นไปวางแผนเตรียมสื่อ  และพิมพ์แผนออกมา  เข้าไปในห้องเรียน โดยห้องเรียนแรกพี่สอน  น้องสังเกตการณ์สอน  เกิดอะไรขึ้นในชั้นเรียน  และจุดที่พี่ทำได้ดีทำได้อย่างไร  ต้องมีการสะท้อนหลังสอน 

         


ปัจจัยความสำเร็จ

ปัจจัยพื้นฐานของน้องทั้งสองคนนี้  ทั้งคู่จะมีความร่วมกันอยู่  คือ 

  • สนใจและใส่ใจการเรียนรู้ของเด็ก
  • มีความละเอียดอ่อน  และนุ่มนวล  
  • มีความใส่ใจและสังเกตเด็กอย่างละเอียด

เคล็ดลับการโค้ชชิ่ง


ทุกครั้งที่คุยแผนกันครูใหม่จะให้เอาสมุดงานเด็กมาด้วยและจะให้พูดถึงงานเด็กในสมุด  และจะรู้ว่าเอาใจใส่  จะเล่าได้ว่าขณะที่ทำงาน  เด็กเป็นอย่างไร  ซึ่งข้อมูลพวกนี้สำคัญ  และจะคุยกันว่าเด็กตอนนี้ทำเรื่องนี้ได้แล้วหรือยัง  ถ้าทำได้แล้วก็จะไปต่อ ถ้ายังทำไม่ได้ก็จะหเติมาทางปรับกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้ทบทวนความรู้ก่อนแล้วจึงฝึกฝนเพิ่ม

 

ทุกครั้งที่น้องไปหา ครูใหม่จะต้องพาน้องตีความไปทีละเรื่องว่า เราทำกิจกรรมนี้ทำไม  เด็กเรียนเรื่องนี้ทำไม และเด็กเรียนรู้อย่างไร  จากชิ้นงานที่เด็กทำตอนนี้ความรู้ ความสามารถและทักษะของเขาแต่ละคนอยู่ที่ไหนแล้ว  ในตอนแรกจะ "อ่าน" ชิ้นงานของเด็กให้น้องดูเป็นตัวอย่างก่อน  ตอนหลังๆ ก็ตั้งประประเด็นให้น้อง ๆ ลอง "อ่าน" ดูเอง  และครูใหม่จึงเพิ่มเติมให้  ดังนั้น การพบกันแต่ละครั้งจึงมีคุณค่าและช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการเข้าชั้นเรียนได้มาก  ซึ่งโค้ชต้องรู้ว่าตอนนี้ครูถึงเวลาที่จะเรียนรู้เรื่องใด


หมายเลขบันทึก: 641525เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท