การเป็น mentor งานวิจัยของนักศึกษาปริญญาตรีช่วยเพิ่มผลงานวิจัยของอาจารย์



บทความในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐  ในคอลัมน์ Editor’s Choice เรื่อง More undergraduates, more publications ()    นำผมไปสู่รายงานผลการวิจัยฉบับเต็มชื่อ Increasing research productivity in undergraduate research experiences : Exploring predictors of collaborative faculty – student publications ()     เป็นรายงานผลงานวิจัยจาก University of Texas at El Paso   

คณะผู้วิจัยศึกษาอาจารย์ ๔๖๘ คน ที่ทำงานสาขา biomedical ในมหาวิทยาลัยวิจัย ๑๓ แห่งในสหรัฐอเมริกา     โดยใช้แบบสอบถาม cross sectional     ในช่วงปี ค.ศ. 2013/14    เพื่อดูว่า การทำหน้าที่เป็นอาจารย์พี่เลี้ยงด้านการวิจัย (mentor) ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี    มีผลดีต่ออาชีพอาจารย์หรือไม่    แน่นอนว่าคำตอบมีความแตกต่างกันมาก อย่างสุดขั้ว     แต่สรุปภาพรวมคือ มีผลดีต่ออาจารย์ 

สิ่งที่นักวิชาการอุดมศึกษาน่าจะเอาใจใส่คือ ในสหรัฐอเมริกา มีการทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับการจัดการศีกษา การทำหน้าที่อาจารย์ อย่างมากมาย    อ่านได้จากบทนำของเรื่อง     เขาบอกว่ามีการศึกษาผลของการทำวิจัยระดับปริญญาตรี ต่อตัวนักศึกษา    แต่ไม่ค่อยมีการศึกษาผลต่ออาจารย์     งานนี้ทำเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว      และเป็นงานสำคัญขนาด วารสาร Science เอามาแนะนำในคอลัมน์ Editor’s Choice  

บทสรุปในบทความแนะนำว่า  อาจารย์เพียงส่วนหนึ่งที่มีความสนุกกับการทำหน้าที่นี้    จึงควรหาทางเลือกจับคู่ นศ. ป. ตรี เฉพาะกับอาจารย์ที่รักงานนี้เท่านั้น    ก็จะทำให้ นศ. ได้เรียนรู้มาก  และอาจารย์ก็ได้ผลงานด้วย

ทำให้นึกถึงสมัยสอนที่ศิริราช    ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีนโยบายให้ นศพ. ปี ๒ ฝึกทำวิจัย  โดยทำเป็นทีม ทีมละ ๔ คน    มีนักศึกษา ๒ ทีมขอให้ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา     ทำวิจัยเรื่อง G6PD    ผลงานได้ลงตีพิมพ์ในสารศิริราชด้วย    การทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดังกล่าวให้ประโยชน์แก่ผมมาก    ผมจำไม่ได้แล้วว่า เพราะเหตุใดมาตรการนี้จึงยกเลิกไป 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๖๐

บนเครื่องบิน EVA Air จากนิวยอร์กไปไทเป  


 

 

หมายเลขบันทึก: 641325เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท