ครูเพื่อศิษย์วันละคน _ ๑๐๓ : อาจารย์กรรณนิการ์ "การได้ใจนักเรียนสำคัญที่สุด"


ในเวที PLC ครูภาษาไทยของ อบจ.ขอนแก่น วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ (ผมเขียนบันทึกไว้ที่นี่) ครูกรรณิการ์ จิตตภานันท์  โรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานดูแลช่วยเหลือนักเรียนของท่าน ... ผมขอนำเอามาเล่าแบ่งปันต่อ และขอเชิญชวนให้ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือนักการศึกษาที่ (บังเอิญ) ได้มาอ่านบันทึกนี้ ยกระดับ PLC ของครูภาษาไทยโดยเชิญท่านไปร่วมแลกเปลี่ยนเป็นวิทยากรครับ


ความสำเร็จของท่านเป็นผลลัพธ์รูปธรรม ทั้งการเปลี่ยนแปลงจากภายในใจนักเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เขียนออกมาเป็นตัวเลขผ่านกระบวนการประเมินแบบได้ตก (Summative Assesments) เช่น

  • นักเรียนสนุก มีความสุขที่ได้เรียน อยากมาเรียน มีใจอยากอ่านอยากเขียน
  • ผลการทดสอบโอเน็ตสูงสุดของ อบจ.ขอนแก่น สูงกว่าระดับประเทศ ๓ ปีซ้อน แม้จะมีนักเรียนเพียง ๓ คนที่อยู่เหนือเส้นระดับพอใช้ในเบื้องต้น 
  • ผลการวัดด้วยแบบคัดกรองการอ่านเขียนของนักเรียนที่มีปัญหา สูงกว่าร้อยละ ๗๐ ทุกคน และหนึ่งคนที่สูงถึงร้อยละ ๙๕ 
  • ฯลฯ 

... "ปัญญาปฏิบัติ" ของท่านจึงมีคุณค่าที่จะนำมาบันทึกเผยแพร่อย่างยิ่ง

ท่านถอดบทเรียนตนเองลงบนกระดาษปลู๊ฟดังรูปนี้

ผมนำมาวาดด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator ได้ภาพด้านล่างนี้


จับประเด็น

ผมจับประเด็นจากการฟังเทปเสียงที่บันทึกไว้ในมือถือของตนเอง  อยากให้ครูผู้อ่านฟังเองจะดีที่สุดครับ คลิกดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่นี่ครับ

เริ่มที่แบบคัดกรอง แยกกลุ่มอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ใช้ชุดเขียนตามคำบอก ๕๐ คำ ที่นำมาจากชีวิตประจำวัน มีทั้งยากทั้งง่าย แต่ใกล้ตัว เช่น เข้าพรรษา พฤษภาคม เตาแก๊ส ฯลฯ   อาจไม่ทำในวันเดียว  เมื่อครบ ๕๐ คำ นำมาประเมิน ถ้าไม่ถึง ๒๕ คำ นำมาเข้าโครงการ เด็กส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องอ่าน แต่ปัญหาเรื่องเขียน  ปีละ ๑๐ กว่าคน เด็กขั้น "โคม่า" ท่านจะรับดูแลเอง  ใช้เวลาหลังเลิกเรียนสอนเสริม และกระตุ้นให้เรียนรู้อยู่ตลอดทุกที่ที่เจอ โดยรวมแล้วกระบวนการของท่านไร้รูปแบบ ไร้กระบวนท่า เน้นที่สุดคือศรัทธาต่อตนเอง ต่อเป้าหมาย และศรัทธาต่อคุณครู

  • ๑) สร้างความไว้วางใจ
    • เด็กใหม่จะมีความกลัวเป็นพื้นฐาน
    • ใช้เวลาลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ 
    • ใช้ภาษาง่าย ภาษาถิ่น ภาษาวัยรุ่น เหมือนเราเป็นพี่เป็นน้อง เป็นพ่อ เป็นแม่เขา
    • ครูต้องปรับบุคลิกให้เข้ากับเด็ก ใช้เพลงที่เขาฟัง คุยกับเขาได้ทุกเรื่อง ครูต้องร่าเริงแจ่มใสไปกับเด็ก
    • เล่านิทานก้อมให้ฟัง 
    • พูดเชิงบวก  ห้ามพูดเชิงลบต่อว่า เช่น ทำไมบึกแท้ แค่นี้ก็ทำไม่ได้ 
    • เป็นกันเอง จำชื่อเล่นเขาให้ได้ 
    • ให้เขาได้มีส่วนร่วม ใช้เพลงลูกเสือ 
  • ๒) สร้างความตระหนัก
    • ทำไมเขาต้องมาเรียน อ่านให้คล่อง เขียนให้คล่อง 
    • บอกความสำคัญ สำคัญต่ออนาคต อาชีพ 
    • ความตั้งใจของครู ทำไมครูต้องมาสอนมาช่วยนักเรียน  ครูไม่ต้องการเงินทองอะไร ขอแค่เพียงพวกเขาตั้งใจเรียน 
  • ๓) วางแผนปฏิบัติ
    • ทำคนเดียวไหวหรือไม่  จะต้องให้ใครช่วยหรือไม่ เช่น เพื่อนครู นักเรียน ฯลฯ
    • ต้องใช้เวลาเท่าไหร่  เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการ  (ปีที่แล้วนักเรียนผ่านทุกคน ๖ คน ผ่าน ๙๕ คะแนน ๑ คน) 
    • ดูว่าจะต้องใช้สื่อแบบไหนประเภทไหน ... สื่อที่ทาง ศน. ส่งไปให้ดีมาก...เลือกใช้ให้เหมาะสม
  • ๔) ปฏิบัติตามแผน
    • มีเวลาที่ไหน ถามได้ ทักได้ทันที 
    • ใช้สื่อใกล้ตัวที่สุด เช่น ป้ายต่าง ๆ ตามโรงเรียน พาดหัวข่าว 
  • ๕) ประเมิน
    • ทุกครั้งที่เราให้เด็กทำงาน เราต้องตรวจ 
    • สร้างเกณฑ์ประเมินใหม่ทุกครั้ง 
  • ๖) เสริมแรงใจ/ให้กำลังใจ
    • ชมด้วยวาจา
    • ใช้คอมพิวเตอร์ทำเป็นการ์ดเล็ก ใช้ภาพชูนิ้ว พิมพ์ข้อความ เช่น ขอชื่นชม ดีใจที่สุด เธอเป็นลูกศิษย์ที่ครูภูมิใจที่สุด ฯลฯ  ปริ๊นท์แล้วนำไปวาง 
  • นั่งอยู่ในใจลูกศิษย์ให้ได้ ถ้าได้ เขาสู้เพื่อครู เมื่อใจเขาสู้ ครูก็จะมีความสุข 
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ผมตีความสำเร็จของอาจารย์กรรณิการ์ มาจากปัจจัยแห่งความสำเร็จ ๗ ประการ ได้แก่ 

๑) การให้ความสำคัญกับ "ฐานใจ"

กระบวนการสองขั้นตอนแรกที่เน็น "ฐานใจ" ทำให้โมเดลของท่านแตกต่างจากโมเดลทั่วไปคือ  การมุ่งไประเบิดจากข้างใน ระเบิดจากใจของเด็กเสียก่อน ความใส่ใจเมตตากรุณา แสดงออกทางภาษาถิ่น ภาษาง่ายสไตล์วัยรุ่น และบุคลิกที่ร่าเริง แจ่มใส  ประกอบกับคำพูดเชิงบวก โทนเสียง และอากัปกิริยาที่ท่านแสดงออกมา นักเรียนน่าจะสัมผัสและรับรู้ได้ไม่ยากเลย  .... 

ท่านบอกว่า "...การได้ใจนักเรียนสำคัญที่สุด หากนักเรียนมีใจให้เราแล้ว อะไร ๆ ก็จะง่ายไปหมด..." 

ผมเข้าใจว่า การแก้ปัญหานักเรียนต้องให้ความสำคัญกับ "ฐานใจ" เหมือน ๆ กับที่อาจารย์กรรณิการ์ทำให้ดูแล้วดังกล่าวนี้ 

๒) สร้างความสำเร็จให้นักเรียนรายบุคคลได้ตลอดเวลา

ผมชอบที่สุดคือจุดนี้ ....   ท่านทำให้นักเรียนรู้สึกมีเป้าหมายและตระหนักถึงเป้าหมายนั้นอย่างสม่ำเสมอ  เป็นเป้าหมายที่ทั้งใกล้ ไกล ยืด หดได้ และหลากหลาย แต่เป็นเฉพาะ เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน .... ลองทายซิครับว่าท่านทำได้อย่างไร??????.....

วิธีการของท่านคือ เน้นให้นักเรียนรู้ถึงความตั้งใจทุ่มเทและเสียสละของครู  ทำให้นักเรียนรู้ว่าพวกเขาสำคัญต่อครูมากแค่ไหน อุปมัยเหมือนคนไทยทำดีเพื่อในหลวง ร.๙ ฉันใด นักเรียนของท่านก็ตั้งใจเรียนเพื่อท่านฉันนั้น  เป็นการปรับเป้าหมายเชิงเหตุผล (ซึ่งคนทั่วไปมักจะใช้อธิบายสร้างความตระหนัก) เป็นความศรัทธากับกัลยาณมิตรที่ทำเพื่อศิษย์เสมอ เหมือน ๆ กับที่ในหลวง ร.๙ ทรงทำเพื่อคนไทยนั่นเอง 

ข้อดีของวิธีนี้คือ  เมื่อนักเรียนทำเพื่อท่าน คำพูดของท่านจึงถือเป็นความสำเร็จของนักเรียน ทุกครั้งที่นักเรียนได้รับคำชม จะรู้สึกถึงความสำเร็จทุกครั้ง ... แยบยลยิ่งนัก ... ผมตีความว่า ด้วยกลยุทธ์นี้  คำชมเชยของท่าน จึงมีพลังอย่างยิิ่ง ทำให้นักเรียนชอบ สนุก และมีความสุขในการตั้งใจเรียน 

๓) ใช้เครื่องมือ/สื่อที่เหมาะสม

การถอดบทเรียนครั้งนี้ ไม่ได้เจาะลึกถึงวิธีเลือกสื่อ อย่างไรก็ดี ผมตีความว่า ปัจจัยของความสำเร็จของท่านประการสำคัญคือ การเลือกใช้สื่อหรือเครื่องมือที่ทางทีม อบจ. ขอนแก่น ส่งหนุนเสริมมาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ....  คงเหมือน เมื่อจะขุดดินก็เลือกจอบ เมื่อจะตัดกิ้งไม้ก็เลือกมีด เมื่อจะตัดไม้ใหญ่ก็ใช้เลื่อยไฟฟ้า ฯลฯ 

๕) การประเมินเด็กเพื่อพัฒนา (Transformative Learning)

ท่านบอกว่า ทุกครั้งที่มอบให้ทำชิ้นงานหรือแบบฝึกหัด จำเป็นจะต้องตรวจแก้ไขและอธิบายให้ถูกต้องเสมอ  และสำคัญท่านจะตั้งเกณฑ์ประเมินใหม่ให้นักเรียน "ขึ้นบันได" ของการพัฒนาตนเองต่อไป

๕) ความใส่ใจในรายละเอียด (ทักษะการคิดละเอียดละออ)

ผมสังเกตการบันทึกรายงานผลการแก้ปัญหาอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ที่ทีมท่าน ศน.เทวา สำรวจไปในแต่ละโรงเรียน  ผมถ่ายภาพมาเป็นตัวอย่างงานของอาจารย์กรรณิการ์ ดังภาพครับ 


ผมอ่านแล้วรู้สึกว่า ท่านลุ่มลึกและลงรายละเอียด ... การลงรายละเอียดและคิดอย่างละเอียดละออแบบนี้ คือคีย์แห่งความสำเร็จที่ขาดไม่ได้

๖) ความต่อเนื่อง

ปัจจัยข้อนี้ คือ คีย์ที่หายไปของการปฏิรูปการศึกษาไทย แม้ทุกคนจะยอมรับคำของผู้ใหญ่ ที่บอกว่า "กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การศึกษาก็เป็นไปฉันนั้น"  แต่นักการศึกษาไทยยังขาดความภูมิใจในการพึ่งตนเองอย่างต่อเนื่อง ยาวนานเพียงพอ ที่จะรอให้กล้วยไม้ออกดอก ....

อาจารย์กรรณิการ์ ครูตุ๋มศิริลักษณ์ และคุณครูเพ็ญศรี ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความต่อเนื่องเนิ่นนานเพียงพอนั้น ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับการรอคอยเพียงใด

๗) จิตวิทยาเชิงบวก

ตลอดระยะเวลาที่กระโดดเข้ามาลุยงานด้านการศึกษา ผมไม่เคยเห็นครูเพื่อศิษย์ท่านใด ไม่ใช้ "จิตวิทยาเชิงบวก" ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเลย เพียงแต่เทคนิควิธีของแต่ละท่านจะแตกต่างกันไป อาจารย์กรรณิการ์ สร้างศรัทธาให้เด็กแก้ปัญหาของตนเองสำเร็จได้ด้วยสไตล์การ "โค้ชชิ่ง" ... ลองฟังเสียงและท่วงทำนองของท่านได้ที่นี่ครับ (ไฟล์เดียวกับลิงค์ใต้โมเดล) โดยเฉพาะตอนท้าย ๆ ของการนำเสนอ

อยากให้ฟังครับ ... แรงบันดาลใจของท่านมาจากการช่วยหลานของท่านเอง โชคดีของผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม.... ขอบูชาคุณครูเพื่อศิษย์ครับ

หมายเลขบันทึก: 640580เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2017 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2017 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท