ดื่มน้ำมาก ทำให้ปัสสาวะบ่อยใช่หรือไม่


ดื่มน้ำมาก ทำให้ปัสสาวะบ่อยใช่หรือไม่

ดร.ถวิล  อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

            การดื่มน้ำมากกับการปวดปัสสาวะ มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ และถ้ามี

ความสัมพันธ์กัน จะมากน้อยเพียงใด

            ผู้เขียน มีความสนใจในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นคนดื่มน้ำเก่ง บางครั้ง

ขวดลิตร ก็ดื่มหมด รู้สึกว่า ดื่มน้ำอร่อย โดยเฉพาะน้ำเปล่า แช่เย็นด้วยยิ่งดี มีความรู้สึก

ซู่ซ่า เมื่อได้ดื่มน้ำเย็น ไม่ชอบดื่มน้ำอัดลมทุกชนิด และไม่ชอบดื่มน้ำหวานทุกชนิด แต่

ชอบดื่มน้ำชาที่ปราศจากน้ำตาล แต่อ่านดูแล้วจะมีคาเฟอินด้วย 15 ใน 100 มิลลิลิตรหรือมากกว่านี้ประมาณนี้ ดื่มแล้วทำให้มีอาการกระปรี้กระเปร่าประมาณนี้

           บางครั้งทานข้าวไปด้วยดื่มน้ำไปด้วย ก็มี

           ไปศึกษาเรื่องปัสสาวะ ทำให้ทราบว่า

           ปัสสาวะเป็นสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจากร่างกาย โดยไตจะกรองเอาของเสียและสิ่งที่มากเกินพอออกจากเลือด และขับออกมาเป็นปัสสาวะ ถ้าไตไม่ทำงาน จะมีของเสียคั่งในเลือด ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน สะอึก หอบเหนื่อย บวม เป็นต้น

         ปัสสาวะเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคตับ โรคกระเพาะ ปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

        การสังเกตปัสสาวะของตนเอง โดยดูจาก จำนวน สี ความขุ่น และกลิ่นของปัสสาวะ ก็จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติหลาย ๆ อย่างของร่างกายได้เช่น

 

จำนวนของปัสสาวะ

      คนปกติจะถ่ายปัสสาวะวันละ 3 ถึง 5 ครั้ง ควรถ่ายปัสสาวะส่วนใหญ่ในเวลากลางวัน ตั้งแต่ตื่นนอนเช้าถึงก่อนเข้านอน ส่วนกลางคืนหลังเข้านอนแล้วไม่ควรถ่ายปัสสาวะอีกจนถึงเช้า นอกจากจะดื่มน้ำมากหรือในเด็กเล็ก หรือคิดมาก นอนไม่หลับ อาจถ่ายปัสสาวะในเวลากลางคืนได้อีก

      การถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ อาจเป็นเพราะ ความวิตกกังวลซึ่งกระตุ้นให้อยากถ่ายปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่ได้เป็นโรคไต หรือโรคของทางเดินปัสสาวะก็ได้ ถ้าปัสสาวะบ่อยเป็นประจำกะปริบกะปรอย อาจเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือเป็นโรคไตพิการเรื้อรัง

       ปกติเด็กอายุ 1 ถึง 6 ขวบ จะถ่ายปัสสาวะวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามส่วนของหนึ่งลิตร (ประมาณ 1 แก้วครึ่ง) และไม่ควรมากกว่าหนึ่งลิตร

      เด็กอายุ 6 ถึง 12 ขวบ ควรถ่ายปัสสาวะวันหนึ่งไม่น้อยกว่าครึ่งลิตรและไม่ควรเกินสองลิตรผู้ใหญ่ควรถ่ายปัสสาวะวันละเกือบลิตร และไม่ควรเกินสองลิตร

ถ้าถ่ายปัสสาวะน้อยไปส่วนใหญ่เกิดจาการดื่มน้ำน้อย หรือเกิดจากการเสียน้ำทางอื่นเช่น เหงื่อออกมาก ท้องเดินท้องร่วง อาเจียนมาก เป็นต้น ส่วนน้อยเกิดจากโรคไต โรคหัวใจ และอื่น ๆ

         ถ้าถ่ายปัสสาวะมากไปส่วนใหญ่มักเกิดจากาการดื่มน้ำมาก หรือพบในโรคเบาหวาน เบาจืด โรคเกี่ยวกับระบบประสาท โรคไตพิการเรื้อรังบางระยะ การกินยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

       บางครั้งพบว่าไม่มีปัสสาวะเลยหรือทั้งวันถ่ายปัสสาวะได้น้อยกว่า 1 ใน 10 ส่วนของลิตร (น้อยกว่า 1 ถ้วยแก้ว) ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ, โรคเป็นพิษเนื่องจากปรอท, โรคไตอักเสบอย่างรุนแรง, ภาวะช็อค (เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ) เป็นต้น

        สำหรับอาการผิดปกติในการขับปัสสาวะ เช่น ปวดท้องน้อยในขณะถ่ายปัสสาวะ แสบที่ช่องถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะแล้วรู้สึกไม่สุดอยากจะถ่ายอีกทั้ง ๆที่ไม่มีปัสสาวะ ปัสสาวะขัด อาจมีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 

สีของปัสสาวะ

      ปัสสาวะปกติมีสีเหลืองอ่อนเหมือนฟางข้าว ถ้าดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะก็น้อยทำให้สีเข้มขึ้นถึงสีเหลืองอำพัน ถ้าดื่มน้ำมากปัสสาวะก็มากทำให้สีอ่อนลง จนเหมือนไม่มีสีได้

      ถ้าปัสสาวะมีสีผิดปกติไปจากนี้ เช่น สีเหลืองอำพันแดง อาจเกิดจากสีของยูโรบิลิน ซึ่งเกิดจากการที่เม็ดเลือดแดงในเส้นเลือดแตกมากกว่าปกติ

      สีเหลืองน้ำตาลหรือเหลืองเขียว มีฟองสีเดียวกับน้ำปัสสาวะ อาจเป็นสีของน้ำดี จะพบในภาวะดีซ่านของโรคตับหรือท่อน้ำดี

     สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ อาจเป็นสีของเลือดซึ่งออกมาจากบาดแผลส่วนใดส่วนหนึ่งของทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดจากนิ่วหรือเกิดจากการอักเสบหรืออาจปนเปื้อนมาจากปากช่องคลอดซึ่งเป็นรอบเดือนของผู้หญิงก็ได้

         สีคล้ายน้ำนมอาจเป็นสีของหนอง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของทางเดินปัสสาวะหรืออาจเป็นสีของไขมัน ซึ่งเกิดจากการที่ท่อน้ำเหลืองอุดตัน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเท้าช้าง

      อาหารและยาบางอย่างทำให้สีปัสสาวะเปลี่ยนไป แบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นสีที่เป็นโรค เช่นกินมะละกอสุกจำนวนมาก หรือยาขับปัสสาวะบางอย่างจะทำให้ปัสสาวะเป็นสีเหลืองส้ม ยาที่มีส่วนผสมเมทิลีนบลู จะทำให้ปัสสาวะเป็นสีน้ำเงิน เมื่อผสมกับสีเหลืองของปัสสาวะอาจเพี้ยนไปเป็นสีเขียวได้ ยาบางอย่างทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดงแต่ไม่ขุ่น หรือกินอาหารที่ผสมสีเช่น ไส้กรอก ขนมใส่สีบางอย่าง ทำให้ถ่ายปัสสาวะมีสีต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

 

ความขุ่นของปัสสาวะ

       ปัสสาวะที่ถ่ายใหม่ ๆจะใส ถ้าตั้งทิ้งไว้จะขุ่นได้ เนื่องจากปัสสาวะเป็นอาหารที่ดีสำหรับแบคทีเรีย แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นมากมายอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัสสาวะขุ่นได้

       สาเหตุความขุ่นอีกอย่างหนึ่งคือแบคทีเรียจะเปลี่ยนยูเรียในปัสสาวะให้เป็นแอมโมเนีย แอมโมเนียจะทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง ด่างก็จะช่วยตกตะกอนของสารบางอย่าง เช่น พวกฟอสเฟท ยูเรท ทำให้ปัสสาวะขุ่นได้ เช่นเดียวกัน ถ้าปัสสาวะที่ถ่ายใหม่ขุ่น เช่น ขุ่นและมีสีแดง ปัสสาวะอาจมีเลือดปนปัสสาวะขุ่นคล้ายนมอาจเกิดจากหนองหรือไขมัน

        บางครั้งความขุ่นของปัสสาวะเกิดจากอาหารและยา ซึ่งเป็นสาเหตุของการตกตะกอนของสารบางชนิดได้เช่นเดียวกัน เช่น ยาซัลฟา กินแล้วไม่ได้ดื่มน้ำมาก ๆ อาจจะตกตะกอนเป็นผงหรือผลึก ทำให้ปัสสาวะขุ่น ถ้าอาการปวดท้อง ปวดดื้อ จนถึงปวดรุนแรงเป็นพัก ๆ จนบิด ปัสสาวะน้อยและขุ่น จำทำให้นึกถึงโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

 

กลิ่นของปัสสาวะ

       ปกติปัสสาวะเมื่อถ่ายออกมาสด ๆ จะมีกลิ่นหอมกำยาน และถ้าตั้งทิ้งไว้ค้างคืน จะมีกลิ่นแอมโมเนีย อาหารและยาทำให้กลิ่นปัสสาวะเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สะตอ สตือ ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน

       กลิ่นปัสสาวะใหม่ ๆสด ๆ บางกลิ่นสามารถเดาได้ว่าเป็นปัสสาวะของโรคอะไร เช่น กลิ่นน้ำนมแมวมักจะพบในปัสสาวะของคนที่เป็นเบาหวานที่เป็นมากและไม่ได้รักษากลิ่นเหม็นเน่าเกิดจากการติดเชื้อมักจะพบปัสสาวะขุ่นเป็นหนองด้วย

กลิ่นแอมโมเนียของปัสสาวะใหม่สด แสดงถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 

ถ้าปัสสาวะผิดปกติจะเก็บไปตรวจทำอย่างไร

       1. ก่อนที่จะเก็บปัสสาวะ ควรจะต้องทราบเสียก่อนว่า จะเก็บเพื่อตรวจหาอะไร เช่น ต้องการดูสีควรงดอาหารและยาที่ทำให้เกิดสีก่อนสักวันสองวัน เป็นต้น

      2. ก่อนถ่ายปัสสาวะเพื่อเก็บตรวจ ควรล้างปากช่องอวัยวะที่จะถ่ายให้สะอาด หรือจะใช้สำลีชุบน้ำเช็ค ถ้าเป็นหญิงต้องเช็ดจากหน้าไปหลังเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากช่องคลอดหรือทวารหนัก

     3. ควรเก็บปัสสาวะครั้งแรกที่ตื่นนอนเช้า ก่อนกินอาหารหรือน้ำใด ๆ เพราะมีความเข้มข้นมากที่สุด

    4. ควรเก็บปัสสาวะระยะกลาง ๆ ของการถ่ายมาดู ระยะนี้ปัสสาวะออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ ส่วนระยะเริ่มแรกถ่ายกับตอนสุดท้ายที่ขมิบ ควรจะใช้ภาชนะแยกอีกใบหนึ่งหรือสองใบรองไว้ สังเกตการขุ่น ซึ่งอาจจะปนเปื้อนมาจากช่องคลอด ไม่ได้เกิดจากความขุ่นของปัสสาวะก็ได้

      5. ควรส่งตรวจทันทีเมื่อถ่ายใหม่ ๆ ภายใน 3 ชั่วโมง

 

 เรามาหนีห่างจากโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะกัน

1. อย่ากลั้นปัสสาวะเมื่อเวลาปวด ถ้ากลั้นบ่อย ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะปัสสาวะและถ้ากลั้นต่อไปอาจทำให้เกิดการอักเสบถึงกรวยไตและในที่สุดถึงไตได้

2. พยายามทำความสะอาดบริเวณขับถ่ายปัสสาวะอยู่เสมอ (โดยใช้น้ำสะอาดทั่วไป) ถ้าปล่อยให้สกปรกแล้ว อาจมีเชื้อโรคเข้าไปทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาจลุกลามไปถึงไตได้.

3.  การกินยาที่อาจเป็นพิษต่อไต ต้องรู้วิธีแก้ไข เช่น ยาซัลฟา ถ้ากินยานี้แล้วดื่มน้ำน้อยไป จะทำให้ยานี้ตกตะกอนในไต หรือในส่วนต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะได้ เมื่อจะกินยาเหล่านี้ ต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อละลายยาไม่ให้ตกตะกอน แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไตที่มีปัสสาวะน้อยและห้ามดื่มน้ำมาก ก็ไม่ควรใช้ยานี้

4.  หญิงที่ใช้กระดาษเช็ดเมื่อปัสสาวะเสร็จ อย่าเช็ดช่องถ่ายปัสสาวะด้วยกระดาษที่ไม่สะอาด และต้องเช็ดจากหน้าไปหลัง มิฉะนั้นอาจจะติดเชื้อแบคทีเรียจากช่องคลอดหรือทวารหนักได้

5.  อย่ากินอาหารเค็มจัดเสมอ ๆ  (ผมชอบรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มพอสมควร เปรี้ยวมาก และ
      ชอบรสขม  แต่ไม่ชอบรสหวาน และรสมัน)

      ผมยังไม่ได้คำตอบแน่ชัดว่า การดื่มน้ำมาก มีความสัมพันธ์กับการปัสสาวะบ่อยไหม เพียงใด ดื่มน้ำ แล้วปัสสาวะ อยากดื่มน้ำแล้วปัสสาวะ

      อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความเชื่อส่วนตัวว่า น่าจะมีความสัมพันธ์กัน เพราะถ้าดื่มน้ำมากแล้วไม่ปัสสาวะ จะทำให้ท้องใหญ่แน่นอน เพราะน้ำไปขังในท้อง ถ้าไม่ปัสสาวะออกมา แต่ตัวผมเอง เวลาดื่มน้ำมากจะปัสสาวะ และเวลาดื่มน้ำหวาน ก็ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยด้วยด้วย

        การดื่มน้ำมาก สังเกตได้ประการหนึ่งเวลาทานอาหารที่มีผงชูรสมาก ก็เป็นสาเหตุทำให้ดื่มน้ำมาก และจะปัสสาวะมากตามมา

        เพราะฉะนั้น ควรสร้างความสมดุลในการดื่มน้ำ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และน้ำหวานก็ไม่ควรดื่มมาก อาหารก็ไม่ควรใส่ผงชูรสมาก เพราะจะทำให้มีอาการอยากดื่มน้ำมากตามมาหรือทำให้กระหายน้ำตามมา

       นี้ผมสังเกตตัวผมเอง ข้อเสียของผม คือชอบดื่มน้ำชา (ปราศจากน้ำตาล) ดื่มมากด้วย ในเซเว่น ผมน่าจะเป็นลูกค้าที่ชอบซื้อมาดื่มมากคนหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.doctor.or.th/artic...6076

ชื่อไฟล์: 39-004

นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่: 39

เดือน/ปี: กรกฎาคม 2525

คอลัมน์: โรคน่ารู้

นักเขียนรับเชิญ: ผศ.รัตนา ฤทธิมัต

หมายเลขบันทึก: 639680เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2017 03:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2017 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท