เรื่องราวอันรองเรืองของดอกดาวเรือง...ผลิดอก ด้วยพลังความคิดและแรงศรัทธาของคนตัวเล็กๆ (๒)


นักเรียนเห็นด้วยกับความคิดนี้ และค่อยๆ เปิดสมุดโครงงานของตัวเอง นำเสนอเรื่องเล่าของตนเองทีละคน หากเพื่อนๆ สนใจงานของใครก็จะนำมาเป็นต้นเรื่องในการทำละครหุ่นเงา จนมาถึงเด็กหญิงกะทิ ที่นำเสนอเรื่องราวของ พระเจ้าอยู่หัวกับชาวนาไทย​ เพื่อนๆ ทุกคนดูท่าทางสนใจและอยากทำละครเรื่องนี้ แต่เพื่อนคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า “แต่เรื่องที่กะทิเขียนมามันสั้นเกินไป และไม่ค่อยสนุก เพราะมีแต่เนื้อหาความรู้”

 ต่อไปนี้คือบันทึกที่มาที่ไปของละครหุ่นเงาที่เล่าขาน....



ก่อนปิดภาคเรียนวิริยะ คุณครูและเด็กๆ ได้ร่วมกันทำโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ คุณครูต้อง  คุณครูท็อป คุณครูหน่วยวิชาแสนภาษา และคุณครูชมพู่ คุณครูหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ รับหน้าที่เป็นครูประจำกลุ่มหุ่นเงาและลายไทย   ปรากฏว่ามีนักเรียนให้ความสนใจเรียนรู้เรื่องลายไทยและหุ่นเงาเป็นจำนวนมาก นักเรียนกลุ่มหุ่นเงาลงความเห็นร่วมกันว่า จากการชมละครหุ่นเงาในการนอนค้างคืนภาคสนามทำให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจอยากทดลองทำหุ่นเงาดูบ้าง นักเรียนบางคนประทับใจแสงเลเซอร์ที่ฉายเป็นดวงดาว บางคนชื่นชอบเสียงดนตรีและเนื้อร้องทำนองเพลง อยากทดลองแต่งเพลง อีกหลายคนที่อยากทำหุ่นเงา บางคนสนใจว่าเงาเกิดขึ้นได้อย่างไร บางกลุ่มอยากรู้ว่าหุ่นของไทยนั้นมีหุ่นแบบใดบ้าง คุณครูจึงพาเด็กๆ ออกไปค้นหาคำตอบและทดลองทำในสิ่งที่เขาสนใจอยากรู้ ส่วนตัวครูต้องได้มีโอกาสนำพาเด็กๆ ทำละครหุ่นเงา


 นักเรียนทุกคนเริ่มแสดงความคิดเห็นกันว่า อยากให้มีสิ่งใดในละครหุ่นเงาของพวกเขา ซึ่งความเห็นของเด็กๆ เป็นดังนี้

เด็กหญิงจากห้องสาม : “ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ข้าว และชาวนา เพราะพวกเราไปทำนามา ต้องมีเรื่องนี้อยู่ สำคัญมาก”

เด็กชายจากห้องสอง : “ต้องมีงูอยู่ในเรื่องนะครับ ผมชอบงู อยากทำหุ่นเงารูปงูครับ”

เด็กหญิงจากห้องสี่ : “หนูอยากฉายเลเซอร์ค่ะ ต้องสร้างฉากที่มีดวงดาวด้วยนะคะ”

เด็กหญิงจากห้องสอง : “หนูอยากได้เรื่องซึ้งๆ ความหมายดีๆ ต้องสร้างเพลงประกอบด้วยนะ” ฯลฯ


คุณครูบันทึกสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในละครหุ่นเงาของนักเรียนทุกคนขึ้นกระดาน หลังจากนั้นเมื่อทุกคนเห็นว่าต้องมีสิ่งใดบ้างในละครหุ่นเงาของพวกเขา ครูก็ถามขึ้นว่า “แล้วเราจะทำเรื่องอะไรดีคะ” นักเรียนทุกคนเงียบอยู่นานเพราะคิดไม่ออก เมื่อดูจากสิ่งที่ต้องมีอยู่ในเรื่องราวบทละครที่เยอะแยะมากมาย เวลาผ่านไปนานพอควรยังไม่มีความคิดของใครที่ถูกใจเพื่อนๆ 


คุณครูจึงเสนอว่า จากการบ้านโครงงานข้อที่ ๒ ที่นักเรียนเคยไปหาข้อมูลความรู้ ตำนาน เรื่องเล่า และความสนใจต่างๆ ในเรื่องข้าวมา อาจจะมีของใครในกลุ่มนี้ที่โดนใจเพื่อนๆ ก็ได้นะคะ 


นักเรียนเห็นด้วยกับความคิดนี้ และค่อยๆ เปิดสมุดโครงงานของตัวเอง นำเสนอเรื่องเล่าของตนเองทีละคน หากเพื่อนๆ สนใจงานของใครก็จะนำมาเป็นต้นเรื่องในการทำละครหุ่นเงา จนมาถึงเด็กหญิงกะทิ  ที่นำเสนอเรื่องราวของ พระเจ้าอยู่หัวกับชาวนาไทย  เพื่อนๆ ทุกคนดูท่าทางสนใจและอยากทำละครเรื่องนี้ แต่เพื่อนคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า “แต่เรื่องที่กะทิเขียนมามันสั้นเกินไป และไม่ค่อยสนุก เพราะมีแต่เนื้อหาความรู้” 


เด็กผู้หญิงข้างกะทิเลยกล่าวว่า “ไม่ยาก เราก็แต่งใหม่เสียเลย” นักเรียนทุกคนเริ่มนำหัวมารวมกัน ช่วยกันคิดบทละครที่อยากทำขึ้นมาใหม่ เด็กๆช่วยกันแบ่งหน้าที่ ได้แก่ ฝ่ายบันทึกบทจากคำพูดของเพื่อนๆ และนักเรียนที่คอยสังเกตว่าคำที่ใช้เล่าเรื่องไพเราะแล้วหรือยัง ฝ่ายจดตัวละครเพื่อนำไปทำหุ่น ฝ่ายจดอุปกรณ์ และฝ่ายที่คอยดูว่ามีสิ่งที่อยากให้เกิดในละครครบถ้วนแล้วหรือยัง ใช้เวลาไม่นานนักบทละครก็เสร็จ นักเรียนเริ่มแบ่งหน้าที่ตามความสนใจ ทั้งในส่วนของการทำหุ่น การทำดนตรี และการเขียนบท นักเรียนกลุ่มเขียนบทรับผิดชอบหลักจำนวน ๕ คนเสนอว่าเราควรแต่งกลอนประกอบเรื่องด้วย เพื่อนำไปทำเป็นเพลงดนตรีประกอบเรื่องให้น่าสนใจและไพเราะมากยิ่งขึ้น คิดได้ดังนั้นทั้งห้าคนก็เริ่มแต่งกลอนเพิ่มเติมในแต่ละฉาก


เด็กๆ นั้นมีทักษะการแต่งกลอนสี่ที่ได้เรียนรู้จากห้องเรียนมาแล้ว คุณครูลองเสนอว่าการแต่งกลอนสี่นั้นใช้คำได้น้อย เด็กๆ ลองเพิ่มจากวรรคละสี่พยางค์ เป็นหกพยางค์ดีไหมคะ จะได้เพิ่มคำที่อยากแต่งให้มากขึ้นได้ เด็กๆ เห็นด้วย แต่ก็มีเด็กๆ สงสัยว่าถ้าเพิ่มเป็นหกพยางค์แล้วตำแหน่งคำที่เสียงจะคล้องจองกันจะเป็นอย่างไร คุณครูบอกว่าไม่ต้องกังวล ตำแหน่งที่คล้องจองกันเหมือนกับกลอนสี่ทุกประการ หากเด็กๆ จำไม่ได้ว่าคล้องจองตำแหน่งไหน ครูขอให้นักเรียนท่องกลอนสี่พ่อค้าผู้ไม่ละความเพียรซึ่งถือเป็นบทครูของนักเรียนชั้น ๒ แล้วเด็กๆ จะจำได้เอง เด็กๆ เริ่มสนุกและรู้สึกว่าท้าทายที่จะลองแต่งกลอนที่มีหกพยางค์ และดูเหมือนการแต่งกลอนจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป จนมีเพื่อนๆ กลุ่มอื่นให้ความสนใจแวะเวียนมาดูและช่วยแต่งด้วยอย่างสนุกสนาน คุณครูทำหน้าที่เพียงนั่งอยู่กับเขา คอยเป็นกำลังใจและบางครั้งที่นักเรียนคิดคำคล้องจองไม่ออก ครูจะถามชี้ชวนว่าหากคิดไม่ออกแล้วตอนอยู่ในห้องเรียนนักเรียนจะทำอย่างไร เด็กๆ ร้องอ๋อ!!!! แล้วทดคลังคำที่คล้องจองไว้ข้างๆ สมุด แล้วเลือกคำที่ชอบและเหมาะสมที่สุดมาแต่งกลอนต่อไปได้ เด็กๆ สนใจการแต่งกลอนและนัดเวลากันนอกเวลาเรียนเพราะแต่ละคนอยู่ต่างห้องกัน มาช่วยกันแต่งจนสำเร็จ ใช้เวลาทั้งหมดภายในสองวันเท่านั้น และยังเสนอขอพิมพ์บทด้วยตัวเอง โดยให้คุณครูเปิดคอมพิวเตอร์ให้และจะช่วยกันพิมพ์เอง

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เด็กๆ จะสนุกสนานและมีความสุขกับการแต่งกลอนเช่นนี้ เส้นทางที่จะนำพาให้เด็กๆ รู้สึกว่าการแต่งกลอนเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไปและใครๆ ก็สามารถทำได้นั้น คุณครูภูมิปัญญาภาษาไทยระดับชั้น ๒ ได้ร่วมกันวางแผนการสอน ศึกษาแผนการสอนของปีที่ผ่านมา หาปัจจัยความสำเร็จและพูดคุยกันว่าจะพัฒนาสิ่งใดเพิ่มเติม เมื่อครูทั้งสองคนมีสายตาเดียวกันและเข้าใจวัตถุประสงค์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตรงกันแล้ว ครูจึงนำพาเด็กๆ ก้าวขึ้นบันไดการเรียนรู้ที่ละขั้น จุดเริ่มต้นของบันไดขั้นแรกคือ การสร้างให้เด็กๆ สนุกและอยากค้นหาคำและความหมายของคำต่างๆ เด็กๆสะสมคลังคำไพเราะได้เยอะแยะมากมาย เมื่อเด็กๆ มีขุมทรัพย์คลังคำเพียงพอแล้ว แต่ยังไม่สามารถแต่งกลอนสี่ได้ทันที 


เด็กๆ ได้ทดลองแต่งกลอนเพลงซึ่งลักษณะพิเศษของกลอนเพลงคือ การจำลองรูปแบบของกลอนสี่  ในหนึ่งบทของกลอนเพลงจะมีสี่วรรค แต่ละวรรคมีสี่พยางค์ การแต่งกลอนเพลงนั้นจะต้องนำคำไพเราะ(คำซ้อน) มาใช้ในการแต่ง และในแต่ละวรรคจะใช้การสลับคำไปมาเพื่อให้เกิดเสียงที่ไพเราะ คุณครูให้เด็กๆ ได้สังเกตรูปแบบของกลอนเพลงและทดลองเลือกคำที่ชอบมาแต่งกลอนเพลงของตนเอง ลักษณะของกลอนเพลงอีกประการคือ ก่อนการแต่งกลอนเด็กๆ ต้องนำคำไพเราะมาผันวรรณยุกต์ (ออกเสียงดนตรี) ให้ถูกต้อง การทำกิจกรรมแต่งกลอนเพลงในครั้งแรกนั้นเมื่อให้นักเรียนสังเกตลักษณะกลอนเพลงจากตัวอย่างของครู มีนักเรียนจำนวนมากที่แต่งไม่ได้ และบอกว่ายากมากเลย ฉันจึงสังเกตเด็กกลุ่มที่ทำไม่ได้ซึ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่านและการสะกดคำเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อสังเกตตัวอย่างของกลอนเพลง (กลอนเพลง ฝนตกเปาะแปะ ของครูต้อง) คำที่ใช้คือคำว่า “เปาะแปะ” ซึ่งเป็นสระประสม


 ฉันคาดเดาว่านี่อาจเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการอ่านเมื่อมาเจอสระที่อ่านยากๆ จึงคิดว่าอ่านไม่ได้และถ้าจะแต่งให้สลับที่กันอีกคงยากไปกันใหญ่ ดังนั้นเราจึงทดลองทำตัวอย่างกลอนเพลงเพิ่มขึ้นอีก ให้เป็นสระที่อ่านง่ายขึ้น คือ กลอนเพลงเต่าเดินต้วมเตี้ยม (บทนี้มีที่มาจากการที่เราเรียนเรื่องกระต่ายกับเต่า) ครูชวนนักเรียนที่บอกว่ายากในครั้งก่อน มาลองอ่านกลอนเพลงก่อนจะนำไปใช้ในห้องเรียนจริง นักเรียนสามารถอ่านได้แต่ยังต้องสะกดช้าๆ เพราะเป็นสระอัวลดรูป และสระเอีย ฉันจึงแต่งเพิ่มอีกหนึ่งบทให้ครั้งนี้เป็นสระเดี่ยวที่อ่านง่ายที่สุดและไม่มีวรรณยุกต์ผสมเลย คือ กลอนเพลงเป็ดเดินโซเซ


การสอนในครั้งที่สอง ครูมีตัวอย่างให้นักเรียนดูถึงสามแบบด้วยกันนักเรียนคนใดถนัดที่จะอ่านกลอนเพลงบทใดก็ได้ เมื่อครูให้นักเรียนลองแต่งกลอนในครั้งที่สอง ก็ไม่พบปัญหาอุปสรรคในการทำงานเลยแม้แต่น้อย นักเรียนสนุกกับหาคำมาแต่งกลอนเพลง บางคนใช้เวลาที่มีแต่งกลอนเพลงได้ถึงแปดบท และนักเรียนที่บ่นว่ายากมากๆ ก็แต่งได้ถึงสี่บทจากโจทย์ที่ครูให้แต่งคนละ ๑ บทเท่านั้น การจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งที่สองทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า ครูจะต้องคอยสังเกตมองว่าว่าอุปสรรคของนักเรียนคืออะไร อะไรคือเรื่องยากที่เขาไม่สามารถข้ามผ่านได้ และครูจะคอยช่วยเหลือสนับสนุนให้เขาข้ามผ่านอุปสรรคนั้นไปให้ได้ 


แผนการเรียนรู้นี้ฉันได้สอนเป็นครั้งที่สามแล้ว ยิ่งได้สอนก็ยิ่งทำให้มองเห็นและเข้าใจได้ลึกซึ้งมากขึ้น และพวกเราได้ปรับเปลี่ยนอยู่ทุกครั้ง หาวิธีการที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้เรียน เป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในกิจกรรมนี้คือ ประการที่หนึ่งคือ การสร้างความรู้สึกว่าการแต่งกลอนเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่นำคำมาสลับกันให้เกิดเสียงที่ไพเราะก็เป็นกลอนได้แล้ว เมื่อเขาพบเจอกับปัญหาในการคิดคำจะนำมาแต่งกลอนไม่ได้ในอนาคต วิธีการสลับคำไปมาอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ ประการที่สองคือ การเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ได้ซึมซับรูปแบบของกลอนสี่โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย เพราะเมื่อนำคำมาสลับไปมาแล้วจะเกิดเป็นรูปแบบของเสียงที่คล้องจองกันนั่นเอง ประการที่สาม คือ การฝึกฝนให้เด็กๆ ได้ทดลองผันเสียงวรรณยุกต์ของคำให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องวรรณยุกต์ เด็กๆเข้าใจว่าวรรณยุกต์คือเครื่องกำกับเสียงดนตรีในอักษรไทยให้เกิดเสียงที่ไพเราะต่างกันไป ซึ่งความรู้ความเข้าใจทั้งหมดได้ผสมผสานรวมกันอย่างแนบเนียน


ครูได้นำพาให้เด็กๆ ก้าวตามบันไดการเรียนรู้ทีละขั้นๆ ขั้นต่อไปก่อนการแต่งกลอนสี่ได้ พวกเขาได้ทำความรู้จักกว่าที่บทกลอนต่างๆ ไพเราะ และเขาสามารถจดจำบทกลอนหรือบทเพลงที่เป็นกลอนได้นั้น เพราะในบทกลอนต่างๆ มีคำที่มีเสียงคล้ายกัน ที่เราเรียกว่า “คำคล้องจองนั่นเอง” ภาคเรียนนี้ครูเพิ่มเติมให้นักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นจากการเล่นเกมสนุกๆ หาคำที่คล้องจองกับชื่อของตนเอง ไม่น่าเชื่อเลยว่ากิจกรรมเล็กๆ ที่สร้างขึ้นนี้ก่อเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เด็กๆ เข้าใจเรื่องเสียงคล้องจองอย่างรวดเร็ว และชื่นชอบการหาคำที่คล้องจองกับชื่อของตนเองมาก เด็กๆหลายคนรู้สึกขำขันที่ชื่อของตัวเองคล้องจองกับคุณครู เพื่อน หรือพ่อแม่ ฉันได้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องยากหรือซับซ้อนเกินไป การเรียนรู้แบบง่ายๆ และเข้าถึงผู้เรียนได้ดี เริ่มต้นจากตัวของเขาเอง และขยายออกไปหาสิ่งที่อยู่รอบตัวของผู้เรียนนั่นเอง เด็กๆ เริ่มสนใจคิดเกมขึ้นมาเล่นกันเอง คือการเล่นต่อคำกันโดยให้ต่อคำเป็นคำคล้องจอง เช่น ไปนา  ตาปู   งูใหญ่  เป็นต้น


ครูคู่วิชาทั้งสองคนคือฉัน และคุณครูกิ๊ฟ จิตตินันท์ มากผล ได้ร่วมกันวางแผนการสอนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน มีการพูดคุยทำความเข้าใจแผนการสอนร่วมกัน ออกแบบแผนและสร้างสื่อการสอนของตัวเอง เข้าสังเกตการณ์สอนของกันและกัน และร่วมสะท้อนผลการสอนอย่างละเอียด ทั้งยังร่วมตรวจงานและแลกเปลี่ยนวิธีการตรวจงาน การสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน การเรียนรู้ของแต่ละห้องเรียนเป็นอย่างไร และแลกเปลี่ยนวิธีการที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละแบบ หรือให้คำปรึกษาเมื่อพบปัญหาในการสอน ทำให้เราทั้งคู่ได้ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง และเด็กๆ ทั้งสี่ห้องเรียนไปพร้อมๆ กันด้วย


เมื่อมาถึงวันที่ต้องแต่งกลอนสี่จริงๆ สิ่งที่ผู้เรียนได้สะสมมานั้นถูกนำมาใช้ทั้งหมด นักเรียนร้องกลอนสี่พ่อค้าผู้ไม่ละความเพียรซึ่งเป็นบทกลอนจากภาคเรียนฉันทะที่เด็กๆ จำกันได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นบทกลอนที่คอยย้ำเตือนเรื่องความพยายามให้เด็กๆได้นึกถึงอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นบทครูที่จะทำให้เด็กๆ เริ่มต้นแต่งกลอนสี่ได้ด้วย เขานำคำและความรู้ที่มีทั้งหมดมาใช้แต่งกลอนสี่ จากการสังเกตห้องเรียนทุกห้อง ไม่มีนักเรียนคนใดสะท้อนออกมาว่า กลอนสี่เป็นเรื่องยาก นักเรียนชื่นชอบและแต่งกลอนกันอย่างสนุกสนาน เด็กๆ หลายคนที่เจอปัญหาเรื่องการหาคำคล้องจองไม่ได้ ครูก็สอนวิธีที่ครูเคยทำคือ การหาคำที่คล้องจองกันหลายๆ คำมาทดไว้ข้างสมุด แล้วเลือกคำที่ชอบที่สุด คล้ายกับการทดเลขข้างสมุดนั่นเอง ครูมองเห็นว่านักเรียนแต่ละคนพยายามหาวิธีการแก้ปัญหาของตนเองอย่างไม่ย่อท้อ นักเรียนที่หาคำคล้องจองไม่ได้เลยบางคนของแต่งแบบไม่คล้องจองทุกวรรค คุณครูจะยืดหยุ่นให้เขาได้ทำตามความสามารถ และไม่บังคับให้แต่งให้ได้ภายในเวลานั้นแต่จะขอให้เขาทำและฝึกฝนบ่อยๆ สุดท้ายก็จะทำได้เอง บางคนที่ยังไม่มั่นใจมากพอ จะแต่งเป็นกลอนเพลงก็ได้เช่นกัน เมื่อหมดเวลาเด็กๆ จะมีงานที่ทำจากฝีมือของตนเองส่งคุณครูทุกคน เป็นงานที่สะท้อนความเต็มที่ของการทำและ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคนอย่างชัดเจน


เด็กๆ รู้สึกสนุกกับการออกมาแลกเปลี่ยนและนำเสนอกลอนที่ตัวเองเป็นคนแต่ง อีกทั้งเพื่อนๆ ร่วมห้องก็ตั้งใจฟัง แสดงความคิดเห็นทั้งชื่นชม และแนะนำการแต่งกลอนของเพื่อน บรรยากาศของห้องเรียนสนุกสนานมากขึ้นเมื่อมีเพื่อนๆ บางคนที่อารมณ์ดีและแต่งกลอนสนุกๆ ออกมานำเสนอ เด็กคนหนึ่งออกมานำเสนอ กลอนสี่ ห้องมืดตึ๊ดตื๋อ มีใจความว่า “ห้องมืดตึ๊ดตือ  มีมือมาจับ  มาหยิบหมูสับ ไปดับไฟฟ้า” สร้างเสียงหัวเราะให้เพื่อนดังมากๆ เด็กชายคนหนึ่งพูดว่า “ฟังแล้วหอมกลิ่นหมูสับลอยมาเลย” ทำให้เพื่อนๆ อีกหลายคนอยากแต่งกลอนต่อจากเพื่อนคนนี้บ้าง คราวนี้ไม่ว่าอะไร เด็กๆ ก็มองเห็นเป็นบทกลอนเสมอๆ เช่น เมื่อร้องเพลงตอนเช้าก็จะคอยฟังว่ามีท่อนไหนที่คล้องจองกัน เพลงนี้เป็นบทกลอนอะไร บางคนจะยกนิ้วขึ้นมานับว่ามีกี่พยางค์ เด็กๆเริ่มซึมซับและสะสมความชอบในการแต่งกลอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงคาบเรียนเกือบสุดท้าย วันนั้นคุณครูเล่านิทานเรื่องหมาเก้าหาง ให้เด็กๆช่วยกันคิดคำไพเราะ แล้วนำมาแต่งนิทานของตนเอง นักเรียนหลายคนนำเสนอว่าขอแต่งนิทานแต่จะไม่เขียนบรรยายเล่าเรื่อง ขอเขียนเป็นกลอนสี่แทนก็มี.....


ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่ครูร้อยเรียงจุดประสงค์การเรียนรู้ (Objective) ครูออกแบบและดำเนินกระบวนการเรียนรู้ (Learning) ที่นำผู้เรียนไปสู่จุดประสงค์การเรียนรู้ที่ได้ตั้งไว้อย่างแม่นยำ และครูประเมินได้ว่าพวกเขาเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างงดงามเพียงใด(Evaluation) ปัจจัยความสำเร็จของเรื่องเล่านี้ที่สำคัญคือ  บันได้ของการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบจัดวางให้ร้อยเรียงกัน โดยมีครูคู่วิชา (และคุณครูของครูอีกทีก็คือครูใหม่ที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำอยู่ตลอดเวลา) ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างบันไดที่ละขั้นจากพื้นฐานสำคัญ คือ การมองที่เป้าหมายหลักของครู นั่นคือ ผู้เรียน เมื่อครูเข้าใจกระบวนการจัดการเรียนรู้ และได้ทำอย่างจริงจัง ความงอกงามแห่งการเรียนรู้ในตัวผู้เรียนจึงค่อยๆ ผลิบานออกให้ครูได้ชื่นชม....ชื่นใจ....

   


คุณครูต้อง - นฤตยา  ถาวรพรหม บันทึก




หุ่นเงา


หมายเลขบันทึก: 638971เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2017 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2017 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท