จุดคานงัดของการปฏิรูปการศึกษา : ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย


ทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน คือการหาจุดคานงัดจากการคิดอย่างเป็นระบบ

 

การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ต้องทำอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ (1) และกลุ่มเป้าหมายหลักของการเรียนรู้คือ นักเรียนนิสิตนักศึกษา ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ได้แก่ ตัวนักเรียนนิสิตนักศึกษาเอง ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ สถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทำให้มีเรื่องที่ต้องปฏิรูปมากมายไปหมด ทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนคือ การหาจุดคานงัดจากการคิดอย่างเป็นระบบ (2) ถ้าหาจุดคานงัดได้ จะช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แม้จะน้อย ก่อให้เกิดผลตามมาได้มากและเร็ว เพราะมีความเชื่อมโยงไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านปัจจัยอื่นๆ     

นักเรียนนิสิตนักศึกษาตระหนักดีว่า จุดวิกฤตในชีวิตการเรียนของตนคือการสอบ และที่ยอดวิกฤตคือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย  ผู้ปกครองก็รู้ ครูอาจารย์ สถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาก็รู้ จึงน่าจะใช้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นจุดคานงัดในการปฏิรูปการเรียนรู้ได้ ทั้งนี้โดยใช้การปฏิรูปข้อสอบเป็นเครื่องมือ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง 

OECD ได้พัฒนาการทดสอบ PISA ขึ้นมา และจัดให้มีการทดสอบทุก 3 ปี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมด้วยตั้งแต่การทดสอบครั้งแรก  (3) จุดเด่นของการทดสอบ PISA คือเป็นการทดสอบการใช้ความรู้ของเด็กอายุ 15 ปี โปรดสังเกตว่า เป็นการทดสอบการใช้ความรู้ ไม่ใช่การทดสอบความรู้  จะเรียกว่า เป็นการปฏิรูปวิธีการออกข้อสอบก็ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กไทยได้คะแนนตำ่มาตลอด เพราะการศึกษาของเราเป็นเรื่องการให้ความรู้ ต้องปฏิรูปเป็นการใช้ความรู้ (คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น) เราน่าจะรู้เรื่องนี้มา 17 ปีแล้ว มีความพยายามแก้ไขกันบ้างพอสมควร แม้แต่ข้อสอบโอเนตก็ปรับตามนี้แล้ว แต่ยังไม่มากพอและยังไม่เห็นผลเพราะแม้แต่คะแนนโอเนตก็ยังไม่ดีขึ้น ข้อสำคัญการใช้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่เป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาไทย (1) จำเป็นต้องหาทางเพิ่มแรงกระตุ้นให้มากกว่าเดิม จึงขอเสนอให้ดำเนินการที่จุดยอดวิกฤตของนักเรียนนิสิตนักศึกษาคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยทำให้ข้อสอบในทุกวิชาที่จัดสอบเป็นข้อสอบการใช้ความรู้ ซึ่งจะมีผลดีตามมา ดังนี้ 

หนึ่ง มหาวิทยาลัยจะได้นิสิตนักศึกษาที่ใช้ความรู้ คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น 

สอง นักเรียนที่สมัครสอบ รู้ตัวก่อนแล้วว่าต้องแข่งขันกันด้วยการใช้ความรู้ จำเป็นต้องแสวงหาความรู้ตามแนวนี้ 

สาม โรงเรียนกวดวิชาจะปรับตัวเร็วสุด ซึ่งไม่ควรรังเกียจเพราะเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดี 

สี่ โรงเรียนมัธยมไม่ปรับตัวไม่ได้แล้ว 

ห้า ข้อสอบเข้าโรงเรียนมัธยมจะปรับตาม 

หก โรงเรียนประถมจะปรับตาม 

เจ็ด คะแนนโอเนตมัธยมปีที่หกของบางโรงเรียนจะสูงขึ้น เป็นแรงกระตุ้นให้โรงเรียนอื่นทำตาม และในปีต่อๆมาจำนวนโรงเรียนที่คะแนนสูงขึ้นจะเพิ่ม อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าในโครงการโรงเรียนคุณธรรมของโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม (4)  ใช้เวลาเพียงสามปีก็เห็นคะแนนโอเนตสูงขึ้น  

แปด คะแนนการทดสอบ PISA ของไทยจะเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ 

สรุปว่า น่าจะมีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีรูปธรรมในเวลาไม่นานเกินรอ

อ้างอิง        

(1)  ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ การศึกษาในยุค Thailand 4.0. Http://www.chiangmainews.co.th...

(2) Peter Senge. The Fifth Discipline, p.32. Http://www.wz.uw.edu.pl/pracow...

(3) PISA THAILAND. Http://pisathailand.ipst.ac.th...

(4) เกษม วัฒนชัย โรงเรียนคุณธรรม Http://moralschools.org/wp-con...

หมายเลขบันทึก: 638658เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2017 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยิ่งใช้ TCAS ยิ่งเหลื่อมล้ำ ...  สวนทางกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท