ภูมิปัญญา 1


ภูมิปัญญา

เอกสารประกอบการสอนวิชา

895-171ภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิต

Wisdom  of  Living

หน่วยที่ 4 การใช้ชีวิตบนพื้นฐานคุณธรรมและจริยธรรม

โดย...ดร. อุทัย  เอกสะพัง

อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์  คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ

อาจารย์พิเศษ  ภาควิชาสารัตถศึกษา  คณะศิลปะศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ภาคการศึกษาที่ 1/2560

1.บทนำ

        การเกิดขึ้นมาของมนุษย์นั้นมีประเด็นให้คิดพิจารณาอยู่มาก ด้วยทิศทางมาของมนุษย์นั้นไม่รู้เป็นใครมาจากไหน และเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมองไปในอนาคตของชีวิตก็เต็มไปด้วยปัญหามากว่าจะเป็นไปอย่างไร ตายแล้วมนุษย์จะไปที่ไหน เพื่อประกอบการเรียนรู้จึงดึงโลกสมมุติขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ในขั้นแรกได้แบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละเท่ากัน เพื่อค้นหาคำตอบตามที่กลุ่มได้ใช้ความคิดวิเคราะห์แล้วเขียนสรุปเป็นรายงานกลุ่มแล้วออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนเพื่อเป็นการตามเวลาเหมาะสมที่กำหนดให้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และแต่ละกลุ่มนั้นมีอาจารย์ผู้สอนเป็นที่ปรึกษาให้ความคิดเห็นอยู่ด้วย

เมื่อจัดการแบ่งกลุ่มนักศึกษาได้แล้วต่อไปก็เชิญชวนให้นักศึกษานั่งสงบกายวาจาใจให้ดูแลหัวใจตนเองหรือเป็นการนั่งทำสมาธิ เพื่อทำความดีให้แด่ประเทศชาติ เพื่อทำความดีให้แด่ครอบครัวและเพื่อทำความดีให้แด่ตนเอง โดยนั่งทำสมาธิสงบกายสงบวาจาและสงบใจ หายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ หายใจออกยาว ๆ โดยใช้เวลาในการปฏิบัติจริยธรรมนี้ประมาณ 3-5 นาที หลังจากนั้นเชิญชวนให้นักศึกษาร่วมแผ่เมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

การกระทำดังกล่าวนี้ก่อเกิดผลดีคือต้องการให้นักศึกษาตั้งใจฟังคำบรรยายในเนื้อหาวิชา โดยการบรรยายแต่ละครั้งจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ

1.ช่วงบรรยายในเนื้อหาวิชา

2.ช่วงแสดงตัวอย่างประกอบการบรรยายที่อ้างอิงมาจาก เว็บไซค์หรือในยูทูปเป็นกรณีตัวอย่าง

3.ช่วงการถาม-ตอบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

4.ช่วงเป็นการบรรยายสรุปเนื้อหาที่ได้เรียนมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากการทำความดีทำสมาธิแผ่เมตตาปรารถนาดีต่อกันและกันแล้ว จะสังเกตเห็นว่าในห้องเรียนจะมีความเงียบพร้อมที่จะเริ่มบรรยายได้โดยนำเนื้อหาที่เตรียมมาเช่นกรณีเล่าความฝันดังต่อไปนี้

2.เรื่องความฝันที่ให้ทาย

        เมื่อคนเรานอนหลับแล้วทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝัน ภายหลังจากตื่นขึ้นมาแล้วมักจะมีบางคนยังจดจำความฝันของตนเองได้และเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังอย่างชนิดที่เป็นเหมือนความจริง

ในช่วงเช้าของวันนี้ผมเข้าห้องเรียนสอนหนังสือมีนิสิตอยู่ในห้องประมาณ ร้อยกว่าคน หลังจากทักทายกันและกันแล้ว ผมก็เริ่มเล่าความฝันให้มวลนิสิตฟัง ผมเล่าแบบสมมุติว่าในฝันนั้นเรานั่งอยู่ในเครื่องบินโดยสารลำหนึ่งที่มีผู้โดยสาร ร้อยกว่าคนที่กำลังไปด้วยกันโดยมีเครื่องบิน บินไปและบินไป ไม่รู้เหมือนกันว่าไปไหน และบินขึ้นมาจากสนามบินไหน ฮา ฮา

ภายในเครื่องบินลำนั้นมีผมผู้ฝันนั่งไปด้วยและหลายชั่วโมงผ่านไปได้สังเกตเห็นพฤติกรรมของผู้โดยสารเริ่มลุกไปคุยกันบ้างก็นอนหลับเอาเป็นว่าแยกคนเป็นกลุ่ม ๆ สมมุติได้ 5 กลุ่มคือ

1.กลุ่มคนจำพวกนี้ที่คุยกันโดยสนใจว่า เครื่องบินลำนี้มาจากไหนและจะไปไหน ใครสร้าง เป็นของใคร ใครเป็นคนขับ.?

2.กลุ่มคนจำพวกนี้ที่คุยกันว่าเรามากินมาดื่มกันให้มันไปเลยดีกว่าไปสนใจเรื่องอื่นทำไม..?

3. กลุ่มคนจำพวกนี้ได้ท่องมนต์วิงวอนขอพรพร้อมโศกเศร้าร้องไห้ดังไปทั่ว..?

4.กลุ่มคนจำพวกนี้กำลังเดินหาทางออกจากเครื่องบินว่ามันอยู่ไหนหวา..?

5.กลุ่มคนจำพวกนี้ที่หันมาสนใจในชีวิตตนเองค้นหาตนเองว่าทำอย่างไรตนจึงจะมีความสุขขณะนั่งอยู่ในเครื่องบินที่กำลังบินไปอยู่นี้..?

แล้วผมก็แบ่งกลุ่มผู้เรียนโดยทุกกลุ่มสุมหัวกันทำนายฝันของผมนั้น และให้เวลาทุกกลุ่มออกมานำเสนอคำทำนายฝัน วาว ๆ วันเวลาของการสอนคาบนี้หมดไปเร็วจังเลย.

3.เรื่องหวังน้ำบ่อหน้า

        สินกับสอนเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็กแล้ว เมื่อทั้งสองเติบโตขึ้นก็ชวนกันหางานทำเพื่อความเจริญแห่งชีวิต แต่งานไหน ๆ ก็ไม่ถูกใจเท่ากับการค้าขาย เขาทั้งสองจึงยึดอาชีพพ่อค้านำสิ่งของจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง โดยสินเป็นคนมีปัญญารอบรู้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ขณะสอนถนัดเรื่องการเตรียมสิ่งของ เมื่อกิจการเติบโตขึ้นเขาได้รับสมัครคนร่วมงานอีกสามคนมาเป็นลูกน้อง การเดินทางสมัยนั้นต้องใช้วัวเทียมเกวียนบรรทุกสินค้าเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารเป็นทะเลทรายขาดน้ำ เขาแก้ปัญหาโดยบรรทุกน้ำเต็มตุ่มไปด้วยเสมอ

ต่อมาเขากำหนดเดินทางไกลไปยังอีกเมืองหนึ่งหลังจากเตรียมสินค้าบรรทุกเกวียนพร้อมแล้วก็กำหนดวันเดินทาง แต่นายสินติดภารกิจสำคัญจึงให้นายสอนกับพวกนำสินค้าบรรทุกเกวียนล่วงหน้าไปก่อน แล้วจะตามไปภายหลัง

เมื่อเข้าเขตทะเลทรายไปได้ไม่ไกลนักลูกน้องคุยกันว่าสงสารวัวลากเกวียนมันเหนื่อยเพราะน้ำตุ่มนั้นมันหนักมาก ถ้าเกิดวัวมันล้มตายละจะทำยังไง จึงพากันปรึกษานายสอนผู้เป็นหัวหน้าขณะกำลังคุยกันอยู่นั้น พลันเห็นกองเกวียนกลุ่มหนึ่งกำลังสวนทางมาดูลักษณะเปียกปอนคนก็หนาวตัวสั่นอยู่บนเกวียนเลยร้องถามไปว่าทางข้างหน้าเป็นอย่างไรก็ได้รับคำตอบว่ามีฝนตกมากจนน้ำเจิ่งนองเป็นลำห้วยหนองคลองบึงเต็มไปหมดเลย

ได้การละทีนี้กลุ่มของนายสอนจึงตกลงเทน้ำในตุ่มทิ้งให้หมดจะทำให้เกวียนเบาวัวก็ลากไปได้ง่ายและไปเอาน้ำข้างหน้าโน้น

ครั้นไปยังเป้าหมายคาดว่าจะมีน้ำกลับไม่มีและไม่มีทีท่าว่าฝนจะตกลงมา ทั้งคนทั้งวัวก็เหนื่อยล้ากับการเดินทางดวงตะวันก็กำลังจะลาลับขอบฟ้าแล้ว กลุ่มของสอนจึงพักเอาแรงกลางทะเลทรายนั้น พอค่ำลงนั้นเองก็ได้มีกลุ่มโจรเข้ามาปล้นฆ่าคนทั้งหมดรวมทั้งวัวด้วย เมื่อนายสินเดินทางไปถึงบริเวณนั้นก็ได้เห็นซากศพของเพื่อนร่วมงานพร้อมทั้งเกวียนที่ถูกทำลายไปแล้ว.

ถามว่า ข้อคิดที่ได้จากการอ่านเรื่องนี้คือสิ่งใด..?

4.เรื่องเศรษฐีจากซากหนู

        สมหมายเป็นเศรษฐีประจำเมืองใต้ เขามีลูกน้องผู้จงรักภักดีหนึ่งคนชื่อสมใจ วันหนึ่งสมหมายกับสมใจเดินทางไปด้วยกัน สมหมายเห็นหนูตายอยู่ข้างทาง เขาจึงกล่าวว่า ใครเอาหนูตายตัวนี้ไปขายได้ ต่อไปภายหน้าผู้นั้นจะร่ำรวย สมใจลูกน้องคนสนิทได้ยินดังนั้น เขาได้นำซากหนูตัวนั้นไปขายให้คนเลี้ยงแมวในตัวเมือง โดยบอกคนเลี้ยงแมวว่าถ้าขายได้จะรวยในภายหน้าตามที่เจ้านายว่าไว้ คนเลี้ยงแมวสงสารเลยซื้อหนูตายตัวนั้นในราคา 100 บาท

ต่อมาเขาเห็นคนเก็บดอกไม้หาบดอกไม้มาเขาคิดว่าผู้คนเหล่านั้นคงหิวน้ำ เขานำเงินนั้นไปซื้อน้ำอ้อยแล้วแจกกลุ่มคนดังกล่าว ฝ่ายคนเก็บดอกไม้ตอบแทนเขาด้วยให้ดอกไม้คนละดอกสองดอก เขานำดอกไม้เหล่านั้นไปขายในร้านตลาดได้เงินมา 1,000 บาท จากนั้นไม่นานเกิดพายุพัดรุนแรงต้นไม้ในสวนเจ้าเมืองหักโค่น เขาจึงขันอาสานำไม้เหล่านั้นออกจากสวนโดยเขานำน้ำอ้อยแจกเด็กหลายร้อยคนที่เลี้ยงวัวควายอยู่ทุ่งนาแถวนั้นและวานให้ช่วยขนกิ่งไม้เหล่านั้นเอามากองไว้ด้านนอกวัง

ต่อมาเขาขายไม้ฟืนเหล่านั้นให้นายช่างทำหม้อได้เงินมา 10, 000 บาท เขานำเงินที่ได้ไปซื้อหญ้ามาแล้วขายให้คนเลี้ยงม้าได้เงินมา 100,000 บาท เขาทราบว่าจะมีเรือสำเภาเข้ามาจอดร้อยลำเขาจึงติดต่อซื้อสินค้าในเรือทั้งหมดและได้ขายต่อไปให้พ่อค้าคนกลาง เขาได้เงินมา 1,000,000. บาท

บัดนี้เขาได้รำลึกถึงคนชี้ขุมทรัพย์ให้คือสมหมายเจ้านายเก่าของเขาเอง เขานำเงินครึ่งล้านไปมอบให้สมหมายเพื่อขอบคุณที่บอกทางร่ำรวยให้ แต่สมหมายบอกว่าเอาไว้เป็นทุนต่อไปเถอะพร้อมยกลูกสาวให้แต่งงานกับสมใจและเมื่อสมหมายตายไปทรัพย์สมบัติทั้งหมดจึงตกมาถึงลูกเขยคือสมใจและเขาได้กลายเป็นเศรษฐีประจำเมืองใต้ในที่สุด.

5.เรื่องหีบทรัพย์ที่หายไป

        นายสอกับนายสีเป็นเพื่อนกันมีอะไรก็พึ่งพาอาศัยกันและกัน ทั้งสองร่วมกันทำมาค้าขายจนร่ำรวยแล้ว พออายุ 50 ปีนายสีคิดว่าควรจะมีเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจจึงตกลงแต่งงานกับสาวรุ่นชื่อกัลยา เช้าวันหนึ่งนายสีไปหานายสอชวนกันไปค้าขายสักครั้งก่อนอำลาอาชีพนี้ เขาทั้งสองสมัครหาลูกน้องได้ลูกน้องมาร่วมงานครั้งนี้ 98 คน เพื่อออกไปขายสินค้ายังต่างเมือง เมื่อถึงเวลากองคราวานของนายสีก็ออกเดินทางและได้ไปหยุดพักกลางป่าใต้ต้นไม้ใหญ่ พวกเขามองขึ้นไปเห็นผลไม้คล้ายมะม่วงสุกเหลืองอร่ามอยู่เต็มบนต้นไม้นั้น

ฝ่ายลูกน้องนายสีกล่าวว่า นายพวกผมอยากกินผลไม้สุกนั้น เดี๋ยวก่อนนะ นายสีว่าพลางมองดูผลไม้นั้นอย่างพิจารณา เอ๊ะ ธรรมดาผลไม้สุกย่อมมีสัตว์กัดกินแต่ผลไม้นี้ไร้สัตว์ใด ๆ มากิน ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า นายสีประกาศต่อไปว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องและกินผลไม้นั้นเป็นอันขาด เพราะกินแล้วจะเกิดอันตรายถึงชีวิต ทุกคนจึงได้แต่พักผ่อนหลับไปอยู่ใต้ต้นไม้นั้น

ครั้นพวกเขาตื่นขึ้นมาเพราะมีเสียงคุยกันของกลุ่มคนป่า และหัวหน้าคนป่าถามว่าทำไมสูเจ้าไม่กินผลไม้นั้น นายสีตอบว่า พวกเจ้าก็รู้อยู่แก่ใจแล้วนี่มาถามทำไม เท่านั้นเองพวกคนป่าก็รีบหนีเข้าป่าไป จากการสังเกตบริเวณนั้นนายสีกับนายสอรู้ว่าเคยมีกองคราวานมาที่นี้แล้วกินผลไม้นั้นไม่มีใครรอดสักคน พวกคนป่าเหล่านั้นก็มาเอาสินค้าต่าง ๆ ไปหมด

เมื่อพักผ่อนได้ที่แล้วกองคราวานของนายสีก็ไปขายสินค้าในเมืองเป้าหมายเสร็จแล้วเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ต่อมานายสีคิดว่าอันชีวิตคนเราไม่แน่นอนความม้วยมรณามีแน่ เมื่อตายไปแล้วเมียก็ยังสาวอยู่เขาคงไปมีผัวใหม่เดี๋ยวผลาญทรัพย์หมดคิดจะมอบทรัพย์ให้ลูก ลูกก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะเลยเรียกนายดำเลขาคนสนิทมาบ้านแล้วแจ้งนายดำให้รับทราบเป้าหมายนี้ พอตกกลางคืนทั้งนายสีและนายดำช่วยกันหามหีบทรัพย์นั้นไปฝังใต้ต้นเลียบโดยห่างไปทางทิศเหนือ 5 ศอกขุดหลุมลึก 1 เมตรแล้วฝังหีบทรัพย์นั้นไว้ แล้วสั่งกำชับนายดำว่าเมื่อลูกชายบรรลุนิติภาวะแล้วจงบอกให้เขามาเอาทรัพย์นี้

ต่อมาไม่นานนายสีก็ตาย

อยู่มาวันหนึ่งกัลยาเรียกลูกชายมาแล้วบอกว่า คืนวันหนึ่งพ่อเจ้ากับลูกน้องชื่อนายดำนำทรัพย์ลงจากบ้านไป นายดำเท่านั้นรู้ เจ้าจงไปถามดูเถิด ฝ่ายลูกชื่อดีก็ไปถามเรื่องนี้กับนายดำ นายดำก็นำไปที่ใต้ต้นเลียบแทนที่จะชี้บอกกับด่าว่าต่าง ๆ นา ๆ เองนี้ขี้เกียจ สันหลังยาว เอาแต่เล่น ไม่ทำมาหารับประทาน รอแต่จะได้เงินของคนอื่น เป็นคนใช้ไม่ได้ ว่าไปสารพัดแต่นายดีก็ไม่โกรธ จนนานแสนนานก็พากันกลับบ้านของตน

นายดีไปบอกแม่ว่านายดำด่าเอาจนหูชาไปหมดแล้ว ฝ่ายแม่กัลยาจึงให้ลูกไปพบสหายของพ่อชื่อนายสอ เมื่อพบแล้วก็เล่าความเป็นมาต่าง ๆ นายสอจึงแก้ปริศนาว่า ที่ตรงนายดำยืนด่านั้นละที่ฝังทรัพย์ นายดีจึงได้นำจอบไปขุดตรงนั้นและได้พบหีบทรัพย์ของพ่อ แล้วแบกกลับบ้านตรวจดูมีทรัพย์เต็มหีบใบนั้น พอวันรุ่งขึ้นแม่กัลยาและลูกชายก็จัดงานทำบุญนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูปมาสวดพระพุทธมนต์ฉันภัตตาหารเพลและแผ่ส่วนบุญกุศลให้คุณพ่อสีผู้จากไปแล้ว.

6.การใช้ชีวิตบนพื้นฐานคุณธรรมจริยธรรม

        การศึกษาจริยธรรมนั้นโดยเฉพาะจริยะและธรรมคำแรกมาจากภาษาบาลีส่วนคำหลังมาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดทางปรัชญาและศาสนาของชาวภารตะในชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน ศัพท์ว่าจริยะ หมายถึงความประพฤติ ส่วนศัพท์ว่า ธรรมะ หมายถึงคำสอนในทางศาสนา เมื่อการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานคุณธรรมจริยธรรมนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านตนเองของผู้มีจริยธรรมคือ ทำให้เพื่อนมนุษย์ในสังคมต่างยอมรับนับถือว่าเป็นคนดีคือ

มีศีลธรรมนำคุณพระ ไม่เลยละศีลธรรมนำสั่งสอน

องค์สมเด็จพระบดินทร์ชินวร ทรงตรัสสอนชี้นำแต่กรรมดี

บุคคลนั้นก็จะได้รับความไว้วางใจ เพราะมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานจริยธรรมที่ชาวโลกทุกศาสนาได้รับชี้นำสั่งสอนเหมือนหรือคล้ายกันคือการรักษาศีล 5 ประการ โดยตามกฎกติกาพื้นฐานสากลของผู้มีจริยธรรมข้อแรกคือการงดเว้นจากการฆ่าการเบียดเบียนกันนั้นแล.

สำหรับกฎกติกาของมนุษย์ในสังคมที่ควรมีไว้ประจำจิตใจนั้นคือศีล 5 ข้อดังนี้

ข้อที่ 1.บุคคลควรงดเว้นจากการฆ่าการเบียดเบียน

ข้อที่2.บุคคลควรงดเว้นจากการลักทรัพย์สินของผู้อื่น

ข้อที่3.บุคคลควรงดเว้นจากการประพฤติผิดในด้านกามคุณ

ข้อที่4.บุคคลควรงดเว้นจากการพูดโกหก

ข้อที่5.บุคคลควรงดเว้นจากการดื่มสิ่งเสพติดหรือน้ำเมาทั้งหลาย

ด้วยกฎกติกาดังกล่าวเป็นจริยธรรมพื้นฐานของชาวโลกเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมมนุษย์เป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน

อนึ่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ควรหลีกเว้นจากการนำพาตนเองเข้าไปสู่เส้นทางอบายมุข เพราะเส้นทางดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นเส้นทางแห่งความเสื่อมมี 6 ทางที่เปรียบเหมือนผี 6 ตัวดังนี้

ผีที่ 1 ชอบสุราเป็นอาจิณ ไม่ชอบกินข้าวปลาเป็นอาหาร

ผีที่ 2 ชอบเที่ยวยามวิกาล ไม่รักลูกรักบ้านรักเมียตน

ผีที่ 3 ชอบดูการละเล่น ไม่ละเว้นบาร์คลับละครโขน

ผีที่ 4 คบคนชั่วมั่วกับโจร หนีไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน

ผีที่ 5 ชอบเล่นม้ากีฬาบัตร สารพัดถั่วโปไฮโลสิ้น

ผีที่ 6 เกียจคร้านการทำกิน รวมทั้งสิ้น 6 ผีอัปรีย์..เอย.

3.เกี่ยวกับหลักการคิดของมนุษย์

สมดังคำโคลงโลกนิติที่ว่า

เว้นวิจารณ์ว่างเว้น สดับฟัง

เว้นที่ถามอันยัง ไป่รู้

เว้นเล่าลิขิตสังเกต ว่างเว้นนา

เว้นดั่งกล่าวว่าผู้ปราชญ์ได้ ฤามี.

ดังนั้นบุคคลจักต้องดูแลตนเองโดยใช้สติปัญญาความสามารถเพื่อการสร้างงานใหญ่ให้แก่ตน โดยปกติแล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องดูแลตนเองและเป็นที่พึ่งแห่งตนให้ได้ดังคำพระว่า อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ.ซึ่งแปลว่า ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็บุคคลอื่นใครกันเล่าที่จะเป็นที่พึ่งได้ ดังนั้นมนุษย์จึงสมควรแสวงหาแนวทางเพื่อเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตเช่นคาถาบทหนึ่งที่ว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตฺโต กะถัง โส ปัณฑิโต ภะเว. แปลว่าผู้เว้นจากการฟัง การคิด การถามและการเขียนแล้ว จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร

สำหรับหลักคิดในสองวัฒนธรรมคือฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตกนั้น จะมีฐานคิดคนละแบบกัน คือ ฐานคิดของชายทั้งสองอาจมีการถกเถียงกันกล่าวคือวัฒนธรรมทางเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือนั้นตั้งอยู่บนฐานเลข 0 จึงกล่าวสรุปได้ว่า ชาวเอเชียส่วนมากมีความเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แม้แต่การตัดสินใจก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เราจึงได้ยินคำว่าสุญญะตา อนัตตา จิตว่าง หรือแม้แต่คำว่าความมีในสิ่งที่ไม่มี เป็นต้น ส่วนวัฒนธรรมตะวันตกนั้นตั้งอยู่บนฐานเลขโรมันเพราะไม่มีเลข 0 เลย โดยถือกันว่าถ้าสิ่งใดพิสูจน์ไม่ได้ก็ถือว่าเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริงและไม่ควรให้ความเคารพนับถือต่อสิ่งนั้น

ด้วยจิตใจมนุษย์นั้นเป็นสภาพที่มีจิตใจสูงส่งชอบเอื้อเฟื้อแผ่เมตตาปรารถนาดีมายังทุก ๆ ท่าน โดยทุกท่านสามารถฝึกฝนอบรมตนได้ และมนุษย์ทั้งมวลล้วนมีใจเพียงสองห้องคือใจห้องข้างซ้ายบรรจุอารมณ์ความรู้สึก แต่ใจห้องข้างขวานั้นบรรจุสติปัญญาชอบเป็นผู้หาเหตุผมอยู่เสมอ และการศึกษาเรียนรู้เพื่ออ่านใจห้องข้างซ้ายด้วยศาสตร์ทางจิตวิทยา และอ่านใจห้องข้างขวาด้วยวิชาปรัชญาและศาสนานั้นแล.

7.เกี่ยวกับการแบ่งยุคของมนุษย์

นักปรัชญาได้แบ่งยุคของมนุษย์โลกออกเป็น 5 ยุคด้วยกันดังนี้

ยุคที่ 1 เป็นยุคมนุษย์ถ้ำถือว่าเป็นยุคแรก ๆ ที่มนุษย์มีความคิดมีความสงสัยแล้วเริ่มค้นหาคำตอบนับเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ จากการเจอปัญหาเฉพาะหน้าทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากปัญหาต่าง ๆ การรวมกลุ่มกันเป็นสังคมมนุษย์ก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาบางอย่างด้วยช่วยให้สังคมมนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้นและพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ แต่ปัญหาที่ใหญ่เช่นฝนตกหนักน้ำท่วมป่าเกินกำลังมนุษย์จะต้านทานไหวพวกเขาก็ยกให้เป็นความต้องการของพระเจ้าโดยเขาถือว่าการที่น้ำฝนหล่นลงมาจากฟากฟ้าเป็นจำนวนมากนั้นเป็นเพราะน้ำจากเขื่อนของพระเจ้าอยู่บนฟ้าแม้การเติมน้ำในเขื่อนมนุษย์ถ้าก็คิดว่ามาจากรุ้งกินน้ำเอาขึ้นไปเติมน้ำบนเขื่อนนั้นนับเป็นจินตนาการที่สิวิไลจริง ๆ

ในช่วงปลายของยุคที่หนึ่งนั้นสังคมมนุษย์เริ่มมีนักคิดนักปรัชญาได้ก่อตั้งสำนักขึ้นมามีลูกศิษย์ติดตามถามเอาความรู้มากขึ้นแล้วมีผู้เชื่อถือหวังพึ่งเจ้าสำนักนั้น แนวคิดที่มนุษย์หวังพึ่งเทพเจ้าเริ่มสั่นคอนไม่มั่นคงอีกต่อไปเพราะเริ่มมีผู้คนหันไปให้ความสำคัญแก่เจ้าสำนักผู้วิเศษต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ยังเคารพนับถือธรรมชาตินับถือเทพเจ้าไม่มีนะเพราะส่วนหนึ่งยังคงยึดมั่นอยู่กับแนวคิดเดิม ๆ ยังเป็นมนุษย์ถ้ำอยู่อย่างนั้น

ยุคที่ 2 เป็นยุคศาสนา ดังได้กล่าวมาแล้วว่ามวลมนุษย์เริ่มหันมาให้ความสนใจในคำสอนของเจ้าสำนักต่าง ๆ มากขึ้น คำสอนของเจ้าสำนักต่างให้ความหวังแก่การดำรงชีวิตที่ดี มนุษย์จึงยอมตนเป็นศิษย์ให้ความเคารพนับถือจึงกลายมาเป็นคำสอนของศาสนาต่าง ๆ โดยผู้นับถือต่างมีความรักหวงแหนในศาสนาของตนยึดมั่นในคำสอนของเจ้าสำนักหรือศาสดาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในประวัติศาสตร์ศาสนาต่างก็ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางความเชื่อจึงก่อเกิดสงครามศาสนาขึ้นดังกรณีสงครามครูเสดที่ศาสนิกของสองศาสนาต่างก็บุกทำลายล้างกันและกันนานกว่า 400 ปีมีจำนวนผู้ตายในสงครามศาสนานี้มากกว่า 10 ล้านคน

จากการปะทะก่อเกิดสงครามศาสนาระหว่างศาสนิกของศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลามดังกล่าวนั้นส่งผลให้มนุษย์ที่หวังพึ่งศาสนาแต่กับมาทำสงครามสู้รบกันอย่างนี้ทำให้มวลมนุษย์จำนวนมากเบื่อศาสนาเลิกให้ความสนใจหันไปสู่ที่พึ่งอื่นอันเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเขามีความสุขมีความสงบอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขความสบายอันเป็นจุดเปลี่ยนที่เข้าสู่ยุคใหม่อันเป็นความหวังใหม่ของมวลมนุษย์

ยุคที่ 3 เป็นยุควิทยาศาสตร์ อันเนื่องมาจากผู้คนชาวโลกบางส่วนเริ่มมองหาความหวังใหม่เพื่อจะเป็นที่พึ่งในการดำเนินชีวิตไม่ใช่มานับถือศาสนาแล้วถูกเกณฑ์ให้ออกรบสู้กันกับข้าศึกที่มีความเชื่อต่างจากตน การเกิดมาในยุคใหม่นี้เริ่มมาชัดเจนเมื่อชายคนหนึ่งไปนอนใต้ต้นแอบเปิ้ลแล้วผลมันหล่นลงมาพอดีได้เกิดมุมคิดถึงแรงโน้มถ่วงของโลก กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ผู้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มีชีวิตโดยอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องนำทางชีวิตในยุคนี้ชาวโลกมีความเป็นอยู่แบบก้าวกระโดดมากมีผู้คิดค้นเรื่องไฟฟ้า รถไฟ โทรเลข เรือเดินทะเลมหาสมุทรและ เรือเหาะมีวิทยาการอันทันสมัยมากทำให้ผู้คนหวังพึ่งวิทยาศาสตร์ แต่แล้วยุควิทยาศาสตร์มาดีแตกตอนที่มนุษย์บางคนเกิดมีความโลภอยากได้ทุกสิ่งเอาไว้ครอบครองจึงต้องมีการช่วงชิงแก่งแย่งกันทำให้เกิดความขัดแย้งกันใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผลิตอาวุธร้ายแรงถล่มกันกลายมาเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 และที่ 2 และผลของสงครามทำให้มวลมนุษย์ล้มตายมากกว่ายุคสงครามครูเสดอีกหลายร้อยเท่า ทำให้ผู้คนเริ่มแสวงหาที่พึ่งใหม่เพื่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของตนแล.

ในช่วงปลายของยุคที่ 3 กล่าวกันง่าย ๆ คือผู้คนเริ่มเบื่อสงครามแห่งความขัดแย้งกันจึงค้นหาที่พึ่งอื่นเพื่อความสุขในการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดองค์การใหญ่ที่หลายประเทศต่างมารวมกลุ่มกันขึ้นเป็นการนับถอยหลังละทิ้งยุคที่ 3 เพื่อเข้าสู่ยุคต่อไป

ยุคที่ 4 เป็นยุคสงครามเย็นเป็นประดุจดังน้ำนิ่งแต่ไหลลึกก่อเกิดการรวมตัวของประเทศเล็ก ๆ กลายเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจต่อกรได้กับประเทศอภิมหาอำนาจกล่าวคือในยุคที่ 4 นี้ก่อเกิดองค์การสหประชาชาติ แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ก่อเกิดกลุ่มอาเซียนขึ้นมามีพลังคานอำนาจบางอย่างกับประเทศที่ทรงอำนาจ แต่ถามว่าสิ่งที่ดำเนินไปอยู่นี้ดีไหม ก็ต้องตอบว่าดีที่เดียวแต่ผลที่เกิดทับซ้อนขึ้นมาในยุคนี้คือเกิดมีเศรษฐีใหม่ขึ้นมาแบบรวยกระจุกแต่จนกระจายเกิดคนรวยคนจนที่ห่างชั้นกันมากมีการผูกขาดการทำมาหากินทำให้เกิดปัญหาทางชนชั้นมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนเริ่มค้นหาเส้นทางใหม่ในการดำเนินชีวิตจนมาค้นพบธุรกิจแบบใหม่อันเป็นจุดเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ต่อไป

ยุคที่ 5 เป็นยุคไอที (IT= Information Technology ) คือยุคที่พวกเราอยู่กันในทุกวันนี้ทุกคนล้วนมีเครื่องมือสื่อสารกันมีข้อมูลอยู่ที่ปลายนิ้วกับมือถืออันเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เร็วฉับไว มีข่าวสารอะไรรวมกลุ่มกันส่งเข้าไปในไลน์กลุ่มแล้วนัดพบกันได้อย่างรวดเร็วทันใจนั่นแล

8.กำพืดเดิมของมนุษย์ การใช้ชีวิตของมนุษย์โลกล้วนเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ อาจจะกล่าวได้ว่าธรรมชาติได้สร้างมนุษย์ให้มาเป็นแบบที่เรารู้เราเห็นกันอยู่อย่างนี้ ถ้าผู้ใดเกิดมาแล้วอยู่ห่างไกลความเจริญเขาก็มีวิถีชีวิตเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่อาศัยนั้นยิ่งถ้าไม่ได้รับการศึกษาหาความรู้ด้วยแล้วเขาก็ใช้ชีวิตไปตามความรู้สึกนึกคิดที่ไม่แตกต่างจากสัตว์ทั่วไปกล่าวคือเมื่อสังคมที่เขาอยู่ทำอย่างไรเขาก็มักเลียนแบบทำตามอย่างนั้นหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเขาใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณของมนุษย์นั้น ถามว่าทำไมข้าพเจ้าจึงเขียนอย่างนี้เพราะเท่าที่สังเกตความเป็นไปตามธรรมชาติอย่างมีต้นมะม่วงออกผลมาเวลามันสุกแล้วเอามารับประทานจะมีรสอร่อยทั้งหอมทั้งหวานแต่ถ้านำบอระเพ็ดมาปลูกใกล้ต้นมะม่วงนั้นนานไปมะม่วงที่ว่าหวานกับขมได้ หรือปลูกเสาวรสแล้วรู้ว่าเวลารับประทานมันเปรี้ยวแต่เราใส่น้ำหวานรดต้นมันประจำเมื่อเวลาออกผลสุกแล้วเอามารับประทานปรากฏว่ามีรสหวานอมเปรี้ยวน้อย ๆ น่ารับประทานมาก สิ่งเหล่านี้เพราะสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของสรรพสิ่งไม่เว้นแม้แต่มนุษย์เราจึงมีคำกล่าวว่าคบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผลอย่างนั้น   กำพืดของมนุษย์เราในที่นี้คือสัญชาตญาณเดิมของคนเรานั้นมันติดตามตัวเราไปตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นสุดเมื่อเข้าโลงเลย อาจจะกล่าวว่ามันเป็นสันดารเดิมของคนเราก็ว่าได้ซึ่งทุกคนมีเหมือนกันหมดสุดแล้วแต่สัญชาตญาณตัวไหนที่มีอิทธิพลมากกว่ามันก็แสดงตัวตนออกมาให้เห็นได้ ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อ ดังนี้ 1.มนุษย์มีสัญชาตญาณอย่างก้อนดิน คือเป็นนิสัยของคนที่ชอบอยู่เฉย ๆ อยู่นิ่ง ๆ เหมือนก้อนดิน เมื่อเขาอยู่อย่างนี้แล้วเขามีความสุข เขาจึงเป็นคนที่ชอบอยู่เฉย ๆ   2.มนุษย์มีสัญชาตญาณอย่างพืช เป็นธรรมของพืชจะมีรากแสวงหาอาหารอยู่ตลอดวันตลอดคืน กล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นคนโลภมากอยากกินอะไรสารพัดอย่าง คือการเป็นคนที่ชอบกินแล้วมีความสุข 3.มนุษย์มีสัญชาตญาณอย่างสัตว์ เป็นคนที่ใช้ชีวิตไปตามอารมณ์ความรู้สึกของตนกล่าวคือเมื่อหิวก็หากิน ง่วงก็นอน ไม่แตกต่างจากสัตว์ทั่วไปเพราะเขาทำอย่างนี้แล้วมีความสุข 4.มนุษย์มีสัญชาตญาณอย่างผู้มีปัญญา คือเป็นคนที่ชอบคิดชอบสงสัยแล้วค้นหาความรู้ความเข้าใจ เหมือนเจ้าชายสิตธัตถะเป็นนักคิดนักปรัชญาแสวงหาคำตอบจากการเรียนรู้สังเกตความเป็นไปทุกสิ่งในธรรมชาติจนได้รู้แบบหายสงสัยแล้วเป็นศาสดานำมาเผยแผ่บอกต่อกลายมาเป็นศาสนาพุทธมีบันทึกหลักธรรมเป็นหมวดหมู่เหมือนตู้ยาแห่งชีวิตใครเป็นโรคอะไรก็ไปค้นหายาชนิดนั้น ๆ มาใช้แก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิตได้อย่างนั้น สำหรับสัญชาตญาณหรือกำพืดของมนุษย์ดังกล่าวนี้คงไม่ยากเท่าใดถ้าหากเราต้องใช้ปัญญาในการสังเกตเรียนรู้ว่าใน 4 ข้อดังกล่าวนั้นตนเองมีข้อใดที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์แห่งตนบ้าง.

9.ภูมิปัญญาในการใช้ชีวิต         ในช่วงที่เป็นเด็กน้อยเราย่อมไม่เข้าใจในหลายอย่างและเกิดความสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าการที่ใครทำอะไรแล้วทำไปทำไม กรณีตัวอย่างหนึ่งที่ยังคงติดตาเมื่อผู้เขียนมองดูบิดานั่งตอกสิ่งสกัดเข้าไปที่โคนต้นมะขามข้างบ้านของตนความลึกที่ทำเป็นรูเข้าไปในต้นมะขามนั้นประมาณ 1 คืบเห็นจะได้แล้วท่านใส่หัวน้ำตาลทรายเป็นเม็ดหรือก้อนสีขาว ๆ ลงไปจนหมดขวดเล็ก ๆ ใบนั้น ทีนี้ท่านก็นำไม้ที่เตรียมไว้แล้วมาตอกตีเข้าไปเป็นการปิดรูนั้นให้สนิทนานเท่าไหร่ไม่ทราบจนมะขามออกดอกให้ผลเมื่อมะขามมันสุกแล้วท่านก็นำมาให้กินกับข้าวเหนียวเออมันกลายเป็นมะขามหวานไปได้นะ การใช้ชีวิตของมนุษย์เรานี้ก็สลับซับซ้อนอยู่พอสมควรบางครั้งต้องศึกษามุมคิดของนักปราชญ์โบราณท่านเสนอแนะวิธีในการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง เนื่องจากสังคมไทยคนส่วนมากได้รับอิทธิพลทางความเชื่อทางศาสนาที่มาจากชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน ดังนั้นจึงขอแนะนำการใช้ชีวิตบนพื้นฐานจริยธรรม 4 รูปแบบดังนี้ 1.การใช้ชีวิตแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็เป็นการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีความคิดที่สูงส่ง ชอบค้นหาสัจธรรมแบบรู้แจ้งตนด้วยตัวของตนเอง โดยแบ่งช่วงอายุของตนออกเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงอายุ 25 ปีถ้าเกินกว่านั้นก็รวมยอดอยู่ในช่วงที่ 4 นั้น ในช่วงที่ 1 เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ ช่วงที่ 2 เป็นช่วงแห่งการแต่งงาน ช่วงที่ 3 เป็นช่วงทำงานหาทรัพย์สินเงินทองข้าวของเครื่องใช้สอยให้พอเพียงแก่ความต้องการ และช่วงที่ 4 เป็นช่วงสละปล่อยวางออกค้นหาสัจธรรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าสู่ธรรมชาติดังเดิม 2.การใช้ชีวิตแบบลัทธิจารวาก หรือโลกายัต เป็นการใช้ชีวิตไปตามอำนาจความพึงพอใจหรือตามกิเลสตนคืออยากทำอะไรก็ทำเพราะถือว่าตายแล้วสูญเปล่า เมื่อทำงานหาเงินได้แล้วก็ใช้จ่ายให้คุ้มค่ากับเงินที่หามาได้ อย่าเอาเก็บไว้ให้มากมายมหาศาลเพื่อให้ผู้คนกล่าวถึงว่าเป็นมหาเศรษฐีมีเงินหมื่นล้านแต่ใช้เงินไม่เป็นเพราะตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ หรือหาไว้ให้คนข้างหลังส่วนตัวเองไม่ต้องใช้จ่ายอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามหลักการใช้ชีวิตแบบจารวากนี้ 3.การใช้ชีวิตแบบศาสนาเชน เป็นการใช้ชีวิตที่ปกป้องจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์แต่เพียรพยายามทรมานกายของตนจนอยู่อย่างคนเปลือยเปล่าพร้อมเสมอที่จะตายไปจากโลกนี้ ด้วยทรัพย์สมบัติอันมีค่าใด ๆ ไม่มีติดตัวจะมีเพียงหม้อตักน้ำดื่มและพัดเอาไว้พัดวีไม่ให้แมลงสิ่งมรชีวิตเล็ก ๆ บินเข้ารูจมูกเวลาหายใจเพราะมันจะตายเป็นการทำลายชีวิตสัตว์ คือเป็นชีวิตที่อยู่อย่างอหิงสาธรรมหมายถึงความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายแต่ก็เบียดเบียนตนเองทรมานตนเอง 4.การใช้ชีวิตแบบศาสนาพุทธ เป็นการใช้ชีวิตที่พอเพียงเป็นผู้เลี้ยงง่ายผู้เขียนมักชอบชี้ชวนให้มองดูพระพุทธรูปแล้วตีปริศนาธรรมว่าเห็นอะไรบ้าง กรณีตัวอย่างทำไมพระพุทธรูปมีดวงตามองต่ำ อาจตีความได้ว่า เป็นการสอนให้มองตนเองศึกษาตนเองให้เข้าใจตนเองแล้วเรียนรู้ธรรมชาติแห่งตน ทำไมมีติ่งหูยาว ๆ อาจตีความได้ว่าเป็นการสอนคนให้ฟังหูไว้หูอย่าหูเบาเชื่อคนง่ายหัดตั้งใจฟังเรื่องราวที่ดี ๆ โดยเฉพาะท่านผู้รู้ที่เป็นนักคิดนักปรัชญาหรือนักปราชญ์ทั้งหลายเพราะท่านผ่านโลกมามากท่านมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตหรือท่านผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนเรา ทำไมจึงมีจมูกโด่ง ๆ ก็เอาไว้สูดดมสิ่งดีงามอยู่ตามธรรมชาติเพราะวิถีชีวิตพระพุทธเจ้าพระองค์ประทับอยู่ตามป่าตามเขาอยู่กับธรรมชาติย่อมหอมดอกไม้ป่าอยู่กับอากาศบริสุทธิ์ไม่ใช่เหมือนเราอยู่ในเมืองมีแต่สูดดมกลิ่นควันมีพิษทั้งนั้น ทำไมต้องมีลิ้นหรือชิวหาอันนี้ตีความได้หลายนัยอาจเป็นเรื่องการกล่าวสอนแต่เรื่องสัจธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาบอกต่อกลายเป็นคำสอนในพระไตรปิฎกนั้น ทำไมต้องมีกายอาจตีความได้ว่าท่านรักษากายเพื่อทำประโยชน์ให้กับชาวโลกให้ได้รู้ได้เห็นตามสภาพความเป็นจริงไม่ใช่ให้หลงใหลในเรื่องมายาภาพอยู่อย่างนั้น นับเป็นการสอนไปในตัวว่ากายนี้เป็นของอยู่ได้ไม่นานย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาจงอย่าประมาทในวัยเพราะวันเวลาย่อมล่วงเลยไปรัตติกาลย่อมผ่านพ้นไปช่วงแห่งวัยก็ต้องไปตามกาลเวลาจงรีบทำในสิ่งที่ควรทำขณะยังมีลมหายใจอยู่เพราะวันพรุ่งนี้อาจไม่มีเรา ทำไมต้องมีจิตใจอาจตีความได้ว่าเมื่อเรามีเราจงใส่ใจในการทำความดีเมื่อทำความดีแล้วอย่างน้อยก็ทำให้เราสุขใจที่ได้ลงมือทำแล้วแล การใช้ชีวิตใน 4 รูปแบบนี้ควรนำมาเทียบเคียงกับตนว่าเราชอบที่จะใช้ชีวิตแบบไหนบ้าง จะเลือกใช้ชีวิตแบบสุดขั้วทรมานตนก็ได้หรือจะเอาแบบสุดขั้วจงกินจงดื่มจงทำตามแรงอำนาจกิเลสตนเพราะตายแล้วก็สูญเปล่าก็ได้ หรือจะแบ่งชีวิตออกเป็น 4 ช่วงอายุก็ใช้ได้ทีเดียว แต่บางคนอาจสนใจการใช้ชีวิตแบบเดินตามทางสายกลางอยู่แบบศาสนาพุทธที่ชี้นำก็ย่อมทำได้อย่างนั้น.

10.สามสิบคำถามภูมิปัญญาในชีวิต 1.หลักการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานคุณธรรมของชาวโลกคืออะไร..? 2.หลักการคิดระหว่างชาวตะวันออกต่างจากชาวตะวันตกอย่างไร..? 3.คาถาบทหนึ่งว่า อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ แปลความหมายว่าอย่างไร..? 4.คาถาบทหนึ่งว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กะถัง โส ปัณฑิโต ภะเว แปลความหมายว่าอย่างไร..? 5.หลักการคิดที่กล่าวว่าเว้นที่ถามอันยัง ไป่รู้ มาจากอะไร..? 6.คำว่าใจมนุษย์ห้องข้างซ้ายธรรมชาติบรรจุอะไรให้..? 7.คำว่าใจมนุษย์ห้องข้างขวาธรรมชาติบรรจุอะไรให้..? 8.การอ่านห้องหัวใจข้างซ้ายได้ด้วยวิชาอะไร..? 9.การอ่านห้องหัวใจข้างขวาได้ด้วยวิชาอะไร..? 10.จริยธรรมมาจากรากศัพท์ภาษาอะไรบ้าง..? 11.ศัพท์ว่า จริยะ มีความหมายว่าอย่างไร..? 12.ศัพท์ว่า ธรรมะ มีความหมายว่าอย่างไร..? 13.กฎกติกาพื้นฐานสากลของผู้มีจริยธรรมข้อแรกคืออะไร..? 14.การใช้ชีวิตบนพื้นฐานคุณธรรมแห่งการอยู่รอดต้องใช้ชีวิตแบบใด..? 15.สิ่งใดคือประโยชน์ด้านตนเองของผู้มีจริยธรรม..? 16.ทางแห่งความเสื่อมแห่งการดำเนินชีวิตคืออะไร..? 17.นักปรัชญาแบ่งพฤติกรรมทางจริยธรรมมนุษย์ออกเป็นกี่ยุค..? 18.จริยธรรมของมนุษย์ถ้ำอยู่ในยุคใด..? 19.จริยธรรมของมนุษย์ที่นับถือศาสนาอยู่ในยุคอะไร..? 20.จริยธรรมของมนุษย์ที่ยอมรับวิทยาศาสตร์อยู่ในยุคอะไร..? 21.จริยธรรมของมนุษย์ที่ยอมรับ Information Technology ( IT )อยู่ในยุคอะไร..? 22.มนุษย์มีสัญชาตญาณครอบงำอยู่กี่สัญชาตญาณ..? 23.มนุษย์มีความขี้เกียจชอบอยู่เฉย ๆ แล้วมีความสุขจัดอยู่ในสัญชาตญาณใด..? 24.มนุษย์มีความโลภแล้วมีความสุขจัดอยู่ในสัญชาตญาณใด..? 25.มนุษย์ชอบกิน ถ่าย สืบพันธุ์ นอนแล้วมีความสุขจัดอยู่ในสัญชาตญาณใด..? 26.มนุษย์ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตแล้วมีความสุขจัดอยู่ในสัญชาตญาณใด..? 27.การใช้ชีวิตที่แบ่งตามช่วงอายุของมนุษย์นั้นถือว่าอยู่ในจริยธรรมอะไร..? 28.การใช้ชีวิตโดยอย่าให้กายมีอำนาจเหนือจิตใจตนนั้นอยู่ในจริยธรรมอะไร..? 29.การใช้ชีวิตอยากทำอะไรก็ทำเพราะตายแล้วสูญถือว่าอยู่ในจริยธรรมอะไร..? 30.การใช้ชีวิตเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานด้วยธรรมนั้นอยู่ในจริยธรรมอะไร..?

11.บทสรุป

        การตื่นขึ้นมารู้สึกตนเห็นสิ่งอยู่ใกล้จดจำได้แตะต้องได้นี่หรือคือชีวิตจริง หากวันใดหลับไปไม่ตื่นขึ้นมาทุกอย่างก็จบสิ้นแล้วสำหรับเรา ถ้าเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น ก็ไม่ใช่ของเราแล้ว เราไม่รับรู้แล้ว

ได้แง่คิดว่า...การตื่นรู้อยู่นี้คือชีวิตจริง ๆ ของเราและเป็นช่วงเวลาที่เรามีอิสระมีอำนาจจะทำอะไรจะใช้ชีวิตอย่างไรได้เพราะเรากำลังเป็นนายในชีวิตเรา จงมีสติอยู่ทุกเมื่อและไม่ประมาท ต้องรีบทำในสิ่งที่อยากทำโดยไม่เดือดร้อนทั้งตนเองและคนอื่นหรือสิ่งอื่น เพราะเมื่อเราหลับแล้วไม่แน่ว่าเราจะตื่นขึ้นมาอีก

Top of Form

 

12.เอกสารประกอบการเรียนการสอน

กมล ทองธรรมชาติ. 2513. การเมืองและประชาธิปไตยของไทย. พระนคร : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศ ไทย.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2542. การคิดเชิงวิพากษ์. กรุงเทพฯ : Success Media.

คณะผู้สอนวิชาการใช้เหตุผล ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550. การใช้เหตุผล: ตรรกวิทยาเชิงปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 9 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

คณะกรรมการวิชาศิลปะการดำเนินชีวิต ศูนย์วิชาบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2553. ศิลปะการดำเนินชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 10 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 2540. วัฒนธรรมไทยกับขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 2537. โลกานุวัตรกับอนาคตของประเทศไทย : พลวัตรแห่งศตวรรษใหม่ของการก้าวข้ามสู่ วิถีโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ : ผู้จัดการ.

ณรงค์วิทย์ แสนทอง. 2550. การบริหารเวลา...กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชีวิต. www.peoplevalue.co.th ณรงค์วิทย์ แสนทอง. 2550. เทคนิคการพัฒนาตนเอง : การบริหารเวลา. www.peoplevalue.co.th

ดร.มิธิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ. 2550. “การคิดเชิงบวก” นิตยสาร Leader Time มิถุนายน 2549 ฉบับที่ 67(6) หน้า 84-85.

เดือน คำดี. 2529. ศาสนศาสตร์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2543. พุทธศาสนาในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย.

บรรพต วีระสัยและคณะ. 2523. รัฐศาสตร์ทั่วไป. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ฝ่ายวิชาการ เอ็กซเปอร์เน็ท. 2544. เทคนิคการคิดและจำอย่างเป็นระบบ. Systematic Thinking & Mind Mapping. กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. 2546. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต ). 2538 . พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม . พิมพ์ครั้งที่ 8 . กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย .

ภัทรพร สิริกาญจน์ (บรรณาธิการ). 2546. ความรู้พื้นฐานทางศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์.

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. 2544. ท้องถิ่นวัฒนากับโลกาภิวัตน์. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก

http://www.midnight univ.org/miduniv2001/newpage5.htm (18 ตุลาคม 2550)

ยงยุทธ พีรพงศ์พิพัฒน์. 2547. การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ : ดีโฟ คอนซัลแท็นส์.

ยุด ศรีอาริยะ. 2537. โลกาภิวัตน์ 2000: Globalization. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.

ระวี ภาวิไล. 2540. ชีวิตดีงาม. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ.

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. 2538. สังคมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2550: ยุทธศาสตร์การพัฒนาในกระแส โลกานุวัตร. กรุงเทพฯ : คบไฟ และไว้ลาย.

เรียม ศรีทอง. 2542. พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน. กรุงเทพฯ : เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น.

วิทย์ วิศทเวทย์. 2520. ปรัชญาทั่วไป มนุษย์ โลก และความหมายของชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ:

อักษรเจริญทัศน์.

________. 2519. จริยศาสตร์เบื้องต้น: มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม.กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

ศุลีมาน นฤมล วงศ์สุภาพ. 2550. “มนุษย์กับโลกาภิวัตน์” ใน มนุษย์กับสังคม. หน้า 136-165,

ภาควิชาสารัตถศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

สมภาร พรมทา. 2548. พุทธปรัชญากับปัญหาจริยศาสตร์: ทำแท้ง โสเภณี และการุณยฆาต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

________.2545. มนุษย์กับการแสวงหาความจริงและความหมายของชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ศยาม.

--------------. 2559. พุทธปรัชญาในอภิธรรมปิฎก. นนทบุรี : บริษัทปัญญฉัตร์ บุ๊คส์ บายดิ้ง จำกัด.

สำนักงานวิชาการ กรมอนามัย. 2542. การพัฒนาทักษะการคิด. กรุงเทพฯ : โครงการตำรา สำนักที่ปรึกษา

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.

สุรชัย หวันแก้ว. 2543. “โลกาภิวัตน์กับแก่นสารของสังคมวิทยา” ใน วารสารสังคมศาสตร์. เชียงใหม่ (15-42).

Hall Vrban. 2547. มีชีวิตที่ดี. แปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร. กรุงเทพฯ : 108 สุดยอดไอเดีย.

________. 2548. ชีวิตดีขึ้นได้. แปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร. กรุงเทพฯ : 108 สุดยอดไอเดีย.

Staples W.D. Think Like a Winner. 1992. Louisiana: Peligan Publishing Company, Inc.,

หมายเลขบันทึก: 638359เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีเนื้อหาน่าเรียนมากเลยครับ

อาจารย์สบายดีนะครับ

ขอบคุณครับ  อาจารย์ขจิต  ฝอยทอง

เตรียมไว้สอนอยู่ในกรอบนี้ละครับ  

ฮา ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท